"แล้วการค้าสิทธิใบจองฮุนไดก็จะเกิดขึ้น คอยดู"

โดย สุพัตรา แสนประเสริฐ
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมาเคยมีข่าวครึกโครมเกี่ยวกับการขายใบจองรถฮอนด้าทั้ง 2 รุ่นไม่ว่าจะเป็น ฮอนด้า ซีวิค หรือฮอนด้า แอคคอร์ดก็ตาม ซึ่งรถฮอนด้าทั้ง 2 รุ่นนี้จัดได้ว่าเป็นรถชั้นดี มีสมรรถนะเป็นเยี่ยม จนต่างเป็นที่กล่าวขวัญในหมู่ผู้ใช้รถเป็นอย่างมาก

รถฮอนด้าสามาถสร้างส่วนผสมได้อย่างลงตัวระหว่างความหรูหรากับสมรรถนะของเครื่องยนต์ โดยเฉพาะสมรรถนะเครื่องยนต์ได้รับการยอมรับมาก ฮอนด้าจึงได้เน้นจุดนี้มาตลอด เห็นได้จากการลงทุนเป็นสปอนเซอร์ฟอร์มูล่า 1 และได้รับความสำเร็จมาตลอด

ฮอนด้าในช่วงนั้นจึงได้วางกลยุทธ์การขายของตนเองใหม่ให้เหมาะสมกับความเป็นรถที่มีภาพพจน์ที่ดี ด้วยการพยายามสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า โดยใช้กลยุทธ์การบริการหลังการขายเช่นการซ่อมบำรุงคือการติดตามผลการใช้รถของผู้ซื้อหลังจากนำไปใช้แล้วว่าเป็นอย่างไร ตามด้วยความพอใจในบริการหลังการขาย

การเอาใจใส่ต่อผู้ซื้อรถของฮอนด้าขั้นตอนแรกเริ่มด้วยการจดชื่อที่อยู่ของผู้ซื้อรถฮอนด้า และถือเสมือนเป็นสมาชิกของบริษัท ขั้นต่อมาได้มีการส่งจดหมายไปยังสมาชิกเหล่านั้นถามถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับการใช้รถฮอนด้าว่ามีหรือไม่ ถ้ามีปัญหาประการใดให้รีบมาติดต่อที่ศูนย์บริการ กลยุทธ์นี้นับเป็นความสำเร็จของฮอนด้าเพราะได้รับการตอบสนองด้านคุณภาพในการให้บริการที่ดีจากลูกค้า

การเข้าสู่ตลาดของเริ่มแรกของฮอนด้า ไม่เน้นการขายมากนักเพราะรู้ตัวว่าประกอบได้จำนวนจำกัด แต่ความนิยมดังกล่าวเพิ่มขึ้นจนการผลิตรถฮอนด้าเข้าขั้นผลิตไม่ทันขาย ยอดการผลิตต่อเดือนของฮอนด้าเมื่อปี' 29 มีเพียง 300 คันต่อเดือนตลอดปีขายได้ 870 คัน แต่ในปี' 30 ยอดขายกลับพุ่งสูงขึ้นถึง 200% หรือ 3,400 คันต่อปี และประมาณ 5,000 คันในปี' 31

เล่ากันว่าในช่วงปลายปี 31 และต้นปี 32 ซึ่งเป็นช่วงเศรษฐกิจในประเทศบูมสุดขีดนั้น ตลาดรถก็บูมสุดขีดด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะค่ายฮอนด้าได้ขยับจากอันดับที่ 5 ขึ้นสู่อันดับ 3 โดยใช้เวลาเพียงปีเดียว

เมื่อการผลิตคงที่ ขณะที่ยอดขายพุ่งราวจรวด กลยุทธ์การเจาะตลาดประสบความสำเร็จแล้วเมื่อความต้องการของลูกค้ามีมาก ค่ายฮอนด้าจึงได้เพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเป็น 1,000 คันต่อเดือน หลังจากเข้าตลาดได้ 2 ปี แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อได้ ยอดความต้องการของลูกค้ากลายเป็นเดือนละกว่า 2,000 คัน

ยุทธการใบจองจึงเกิดขึ้นในช่วงนั้นคือช่วงไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2531 เป็นต้นมา ซึ่งหมายถึงการซื้อรถฮอนด้าจะต้องเริ่มจากการวางเงินเพื่อสั่งจองก่อน หลังจากรับรถที่สั่งจองแล้วจึงชำระเงินที่เหลือ การเกิดกระบวนการใบจองซื้อรถฮอนด้านี้ เนื่องจากภาวะความต้องการซึ่งมีมากกว่าปริมาณรถที่มีอยู่

ช่วงนั้นผู้ซื้อต้องใช้เวลานานเกือบครึ่งปี (5-6 เดือน) กว่าจะได้รถมาหลังจากการทำใบจองไว้ในราคา 10,000 บาท (เป็นราคาจอง) ซึ่งเท่ากับที่ฮุนไดเปิดจองอยู่ในขณะนี้เช่นกัน

ใบจองรถมีทั้งผลดีและผลเสียในเชิงที่เท่า ๆ กัน ด้านผลดีในแง่ของผู้ผลิตสามารถรู้จำนวนหรือปริมาณความต้องการของลูกค้าอย่างคงที่ ส่วนผลเสียที่ตามมาคือเมื่อลูกค้าเกิดความเบื่อหน่ายในการรอคอยรถ การขายสิทธิ์ใบจองไปยังผู้ที่มีความต้องการมากกว่าก็เกิดขึ้นทันที

ราคาของการจองรถ 10,000 บาท แต่ราคาขายสิทธิ์ใบจองเริ่มต้นจาก 5,000 บาทขึ้นไปจนล่าสุดมีการปั่นราคาเป็น 10,000 บาท ในขณะที่ราคารถซีวิคขณะนั้นราคา 530,000 บาท

การเก็งกำไรใบจองสิทธิ์รถฮอนด้าจึงมีผลเสียทำให้ผู้ซื้อต้องมีต้นทุนสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น

กรณีดังกล่าวนี้เป็นประวัติศาสตร์การค้ารถในตลาดเมืองไทยซึ่งฮอนด้ากล่าวอ้างว่าไมเคยคาดคิดมาก่อน

กลับมามองที่ฮุนไดการผลิตที่จำกัดไว้เดือนละ 300 คัน ขณะที่ยอดขายตามใบจองสูงถึง 1,000 คัน ซึ่งกิตติบอกว่าผู้สั่งจองจะต้องรออย่างต่ำ 3-4 เดือนนั้น เมื่อโยงกลับเข้าไปหาภาพในอดีตของฮอนด้าจะเห็นว่า มันเป็นเทคนิคการตลาดที่เหมือนกัน ซึ่งผลในท้ายสุดก็คือ ตลาดการค้าใบจองสิทธิ์ฮุนไดก็จะต้องเกิดขึ้นตามมา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.