"ชีวิตรันทดของอเมริกันที่ลุ่มน้ำฮัดสัน"


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

ในช่วงประวัติศาสตร์ของอเมริกายุคสมัยใหม่ มรสุมเศรษฐกิจปี 1992 ดูเหมือนจะรุนแรงเอามาก บริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัท ไม่ว่าจะเป็นแพนแอม, เจนเนอร์รัลมอเตอร์ ฯลฯ มีข่าวปรากฎตามหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวันว่า LAY OFF (ไล่ออกคน) งานจำนวนมาก

บางธุรกิจต้องยุบตัวเองไปเลยก็มี ยังไม่ต้องพูดถึงธุรกิจห้างร้านขนาดเล็กร้านอาหาร ภัตตาคาร ก็ต้องพลอยรับสภาพย่ำแย่ทางเศรษฐกิจในขณะนี้ไปด้วย

CHEF ซึ่งเป็นหัวหน้ากุ๊กต้องลดตัวเองลงมาล้างจาน ไม่เช่นนั้นตกงานแน่นอน คนที่ทำงานในโรงงานรอบเวลากลางวันบริษัทก็บีบให้มาทำรอบกลางคืนเพื่อให้พนักงานลาออก

ด้วยสภาพเช่นนี้ปรากฏว่าทำเอาสมาชิกในอพาร์ตเมนต์หัวใจวายตายไปสองคนหมอลงความเห็นว่า "หัวใจวาย" แต่สอบถามจากเพื่อนข้างห้องซึ่งเป็นชาวโคลัมเบีย เขาบอกว่าเปลี่ยนงานมาทำรอบดึกสภาพร่างกายปรับตัวไม่ทัน

NO JOB, NO WORK เป็นคำทักทายของบรรดาแรงงานชั้นต่ำของชาวอเมริกาใต้ที่ไหลเข้ามาทำงานในนิวยอร์กคนพวกนี้ส่วนใหญ่มาจากโคลัมเบีย, โดมินิกัน, เม็กซิโก จัดเป็นละตินที่พูดภาษาสเปน คล้าย ๆ แรงงานอีสานบ้านเรา

เมื่อไม่มีงาน, ไม่มีเงิน ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านซักรีดดูเหมือนจะลดความคึกคักลงไปคนที่แวะมาส่วนใหญ่จะถือกระดาษหนึ่งแผ่นเขียนคุณสมบัติ, ความสามารถของตัวเองพร้อมติดไว้ตามร้านซักรีด, ร้านขายของชำ

มีนามบัตรของอเมริกันชนนายหนึ่งชื่อ PAUL'S เดินแจกไปทั่ว JACKSON HEIGHTS เดินประกาศไปตามร้านค้าไปทั่วว่า PLEASE GIVE ME SOME JOB ให้งานทำกับฉันบ้างเถิดทำได้ทุกอย่าง ไม่มีงานอะไรทำไม่ได้ ชีวิตของนาย PAUL'S คนนี้ดูจะสะท้อนชีวิตภาวะเศรษฐกิจอเมริกันยามนี้ได้ดี

สภาพที่ต้องดิ้นรนเพื่อให้มีงานทำ เพราะต้องอาศัยอาหารมากิน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊ส ค่าโทรศัพท์ ค่าอะไรอีกมากมายในสังคมทันสมัย ทำให้ชีวิตหยุดไม่ได้เสียแล้ว

ตกงานนั้นหมายถึงชีวิตต้องโดนกระหน่ำด้วยเงื่อนไขเหล่านี้แน่นอน คนในนิวยอร์กยามนี้ดูเหมือนจะดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อหางานและเงิน

มีชาวอินเดียซึ่งมาอยู่นิวยอร์ก 15 ปี แล้วจูงภรรยาเดินออกจากบ้านไปติดป้ายโฆษณา เพื่อรับเลี้ยงเด็ก ไม่มีแม้กระทั่งเงินที่จะพิมพ์โฆษณาขายแรงงานของตัวเองเลยเอากระดาษมาเขียนเองแล้วมีหมายเลขโทรศัพท์ฉีกเป็นริ้ว ๆ หากใครต้องการติดต่อกลับมา

สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะสะท้อนการดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตอยู่ มีขนมปังกิน มีไส้กรอกให้ลูกกินไปโรงเรียนได้สะใจมาก ๆ

ตกงาน, ไม่มีงาน, ไม่มีเงิน อาชญากรรมเพิ่มขึ้นแน่นอนยิ่งนิวยอร์กแล้วไม่ต้องพูดถึงติดอันดับโลกอยู่แล้ว ปล้นชิงวิ่งราวท่ามกลางฝูงชนที่วิ่งบนถนนแมฮัตตันเลย เอากับมันซิ !

รถยนต์ที่นั่งส่วนบุคคลที่จอดอยู่ตามถนน ต้องเขียนป้ายติดไว้ข้างรถเลยว่า NO RADIO ต้องบอกให้โจรพันธุ์นิวยอร์กรู้ว่ารถคันนี้ไม่มีวิทยุ ไม่ต้องมางัด

บางรายยิ่งกว่านั้นเขียนบอกโจรที่จะมางัดแงะเสียสุภาพเลยว่า NO RADIO PLEASE! เอากับมันซิ

คนอเมริกันตอนนี้ดูเหมือนจะพุ่งเป้าไปที่ทีมงานของบุช ที่แก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้ไม่ได้ บ้านตัวเองแท้ ๆ ยังมีคนอดอาหาร, มีคนไร้บ้าน มีขอทาน (HOMELESS) บนรถไฟขบวนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 10 คน

แต่ในมุมกลับกันข่าวตามทีวีที่ออกมามีเรื่องที่อเมริกาขนอาหารเต็มลำเรือส่งไปช่วยเหลือรัสเซีย

เห็นทีโรมันล่มสลายคราวนี้เป็นแน่! อเมริกันยอมไม่ได้กับการไม่รักษาหน้าตาในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ แต่อย่าให้ดูภายในประเทศเลยภาพการ์ตูนล้อเลียนที่ปรากฎในหนังสือพิมพ์ในนิวยอร์กรอบเช้าของวันที่ 10 ก.พ. 1992

เขียนล้อเลียนว่า "เป็นไงวันนี้ท่านยังสบายดีอยู่หรือ"

เกิดอะไรขึ้นกับอเมริกาหรือในขณะนี้ ? สองสามวันก่อนบุชไปญี่ปุ่นโดนคนญี่ปุ่นด่ากลับมาเสียหมดศักดิ์ศรีเลย หาว่า "คนอเมริกันขี้เกียจ ทำงานน้อย แต่อยากได้เงินมาก" หมดกันศักดิ์ศรีของมหาอำนาจอันยิ่งใหญ่ผู้กรำศึกมาจากทะเลทรายตะวันออกกลาง

เซลส์แมน ขายรถของอเมริกันที่ติดตามบุชไปโดยหวังว่าจะตีตลาดรถอเมริกันในญี่ปุ่น กลับบ้านมือเปล่า ขายไม่ออกสักคัน เอารถไปขายให้เขา แล้วดันไม่เปลี่ยนพวงมาลัยให้เขาด้วย

เฮ่อ! ไม่รู้จะพูดอย่างไรดี OH MY GOD! GOD SAFE AMERICA!

บุชขายรถไม่ออก กลับจากญี่ปุ่น แถมเสียหน้าเสียมวยมาอีก กลับมาบ้านบริษัทใหญ่ ๆ ในอเมริกา รวมตัวกันเลยสนับสนุนให้คนอเมริกันหันมาใช้แต่รถของอเมริกาโดยลดภาษีให้, ให้สินเชื่อระยะยาว, คนงานของบริษัทคนไหนต้องการซื้อรถอเมริกาบริษัทจะให้กู้เงินระยะยาว

คราวนี้ก็หันมาปลุกเลือดชาตินิยมเข้าแล้วเพราะหมดทุกวิถีทางแล้วก็จะแก้ปัญหา

เดินฝ่าหนาวผ่านถนนผ่านแมนฮัตตัน แหงนหน้าขึ้นมองตึกสูง ๆ หวังจะชื่นชมกับสถาปัตยกรรมของยุโรปพันธ์อเมริกา

มองแล้วมองอีกด้วยความไม่แน่ใจนัก นึกว่าเดินอยู่ในโตเกียวหรือไม่ก็กรุงโซลเพราะแทนที่จะเขียนภาษาอังกฤษกำกับชื่อตึก แต่กลายเป็นว่าตัวหนังสือญี่ปุ่นตัวอักษรเกาหลีถูกเขียนกำกับไว้แทน สำเนียงพูดภาษาอังกฤษย่านแมนฮัตตันก็เริ่มเปลี่ยนสำเนียงแปร่ง ๆ

อาโน กูดมอนิ่ง, ฮาวอายูโด, เท้งคิวเด

เดินขึ้นรถไฟใต้ดินจะกลับมาบ้านฝั่งควีนส์ นึกภูมิใจอยู่ตลอด "ไม่มีขอทานในนิวยอร์กที่เป็นคนเอเชียเเลยครับ"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.