|
SMEอาการหนักขาดสภาพคล่อง ธพว.อัดเงินสกัดหนี้เสีย
ผู้จัดการรายวัน(27 กันยายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
นายพงษ์ศักดิ์ ชิวชรัตน์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) เปิดเผยว่า จากการที่ธนาคารมีสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่ผ่านมากว่า 40 % ของสินเชื่อรวมทั้งหมดคิดเป็นมูลค่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทางธนาคารสามารถ ดำเนินการลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลของเอสเอ็มอีแบงก์ ไปได้จำนวน 3,000-4,000 ล้านบาท โดยการปรับลดหนี้เอ็นพีแอลในครั้งนี้ สืบ เนื่องมาจากการปรับนโยบายและบทบาทของแบงก์ที่มีการเข้าหาลูกค้ามากขึ้น และคอยให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารจัดการ ในกรณีที่ลูกค้าไม่สามารถนำเงินมาชำระให้ทางแบงก์ได้
ทั้งนี้ จากการทำงานเชิงรุกของธนาคาร มั่นใจว่ายอดเอ็นพีแอลจนถึงสิ้นปี 2550 จะสามารถลดลงได้เหลืออยู่ในสัดส่วนประมาณ 30% หรือ18,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การที่เอ็นพีแอลจะลดลงหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศด้วย โดยในปี 2550 ได้มีการตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อ อยู่ที่ 10-15% วงเงิน 30,000 ล้านบาท เชื่อว่าจะทำได้ใกล้เคียงเป้าหมาย
โดยขณะนี้ปล่อยสินเชื่อได้แล้วกว่า 20,000 ล้านบาท สำหรับปัญหาที่ธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ประสบอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่คือ การขาดสภาพคล่อง อย่างไรก็ตาม ธนาคารฯพร้อมเข้าไปช่วยเหลือ เพราะผู้ประกอบการยังมั่นใจในการทำธุรกิจเต็มที่
ส่วนกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ปรับลดดอกเบี้ย 0.5 % เชื่อว่าดอกเบี้ยไทยยังคงที่ หรือลดลง 0.25-0.5 % และการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น ก็มีมุมที่เป็นประโยชน์ในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรได้ และเชื่อว่าปี 2551 ดอกเบี้ยจะขยับขึ้น และหากจำเป็นต้องกู้เงิน ทางธนาคารคิดว่า ผู้ประกอบการควรที่จะพิจารณากู้เงินระยะยาว และพยายามอย่าลงทุนเกินตัว รอให้ได้รัฐบาลใหม่ บรรยากาศการลงทุนในประเทศน่าจะดีขึ้น
"ภาวะเศรษฐกิจขณะนี้หลายคนจะมองว่าเหนื่อย แต่ตนก็ยังเชื่อมั่นในตัวของผู้ประกอบการที่มีใจเต็มร้อย ที่พร้อมจะต่อสู้กับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงอัตราการลดเอ็นพีแอลของเอสเอ็มอีแบงก์ที่มีเปอร์เซ็นต์ลดลงอย่างต่อเนื่อง เกิดจากการให้ความร่วมมือของลูกค้าธนาคาร เป็นอย่างดี ซึ่งตนเชื่อมั่น หากพฤติกรรมของลูกค้าเป็นเช่นนี้ จะทำให้เอ็นพีแอลของแบงก์ลดลงได้"
นายไสว บุญมา อดีตนักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก กล่าวต่อภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันว่า เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาจทำให้ผู้ประกอบการตามไม่ทัน ดังนั้น จะต้องติดตามข่าวสารและปรับตัวอย่างรวดเร็ว ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถอยู่รอดได้ สำหรับปัญหาหนี้เสียในส่วนของสินเชื่อประเภทด้อยมาตรฐาน (ซับไพรม์) ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ เชื่อว่าจะยังขยายตัวต่อเนื่องไปอีกหลายปี และจะส่งผลกระทบไปยังกำลังซื้อของสหรัฐฯ เนื่องจากในปัจจุบัน ตลาดสหรัฐฯคิดเป็นสัดส่วน 25-30 % ของตลาดทั่วโลก เมื่อความต้องการของสหรัฐฯลดลง ทั่วโลกย่อมได้รับผลกระทบแน่นอน ดังนั้น ธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยควรเตรียมตัวในการหาช่องทางการส่งออกสินค้าไปยังตลาดใหม่ ๆ เพื่อชดเชยตลาดสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาซับไพรม์ จะส่งผลกระทบต่อภาพเศรษฐกิจไทย แต่คาดว่าความรุนแรงจะไม่หนักเท่ากับวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เนื่องจากผู้ประกอบการไทยได้รับทราบข้อมูลข่าวสารกันอย่างแพร่หลาย และได้มีการเตรียมตัวที่จะรับปัญหานี้แล้ว แต่ในขณะที่วิกฤตปี 2540 ทุกคนไม่ได้เตรียมตัว ทำให้ภาพธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ต้องปิดกิจการลงหลายราย
"ปัญหาซับไพรม์อยากให้ผู้ประกอบการมองเป็นโอกาส และมองปัญหาในทางกลับกัน ซึ่งเชื่อว่า จะทำให้วิกฤตนี้คลี่คลายลงไปได้ ในทางกลับกัน ผู้ประกอบการควรจะต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้า และหาทางออกให้กับธุรกิจตนเองโดยเฉพาะการบริหารจัดการให้ธุรกิจอยู่รอด ผมอยากให้ผู้ประกอบการแบ่งเวลาเพื่อตัวเองในการติดตามข้อมูลข่าวสารเพื่อจะได้ปรับตัวได้ทันถ่วงนี้ ส่วนการจะหวังพึ่งตลาดภายในประเทศนั้น คงเป็นเรื่องลำบากเช่นกัน เพราะหากทั่วโลกมีปัญหา ตลาดในประเทศก็จะไม่เติบโตเช่นกัน ทั้งนี้ ไทยยังมีปัญหาหนี้สินครัวเรือน ปัจจัยการเมือง และปัญหาพลังงานที่ราคาสูงขึ้น และความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติจากภาวะโลกร้อนที่อาจทำให้เกิดปัญหาอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ดังนั้น เอสเอ็มอีจะต้องพยายามปรับตัวเองให้ได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|