|
คลังปล่อยชาตรีขายACLจ่อทิ้งหุ้นTMBหลังเพิ่มทุน
ผู้จัดการรายวัน(27 กันยายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การเจรจาขายหุ้นของธนาคารสินเอเซีย จำกัด (มหาชน)ACL ระหว่างธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BBL และพันธมิตรในต่างประเทศจำนวน 19% จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้คือ ธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินการในประเทศจะต้องถือหุ้นธนาคารพาณิชย์ได้เพียงแห่งเดียว เพื่อไม่ให้การดำเนินการขัดแย้งกัน
ส่วนการขายหุ้นให้นักลงทุนต่างประเทศจะต้องถือหุ้นได้ไม่เกิน 25% ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งหากธนาคารสินเอเซียต้องการให้ถือได้ไม่เกิน 49% เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์บางแห่ง จะต้องขออนุญาตกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธปท.จะต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าการให้ถือหุ้นเกิน 25% แต่ไม่เกิน 49% จะขัดต่อกฎหมายหรือไม่
“ที่ผ่านมาที่ทางการอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นได้เกิน 25% แต่ไม่เกิน 49% เนื่องจากเป็นการเข้ามาเพื่อฟื้นฟูฐานะของแบงก์และเพื่อให้การดำเนินกิจการของแบงก์พาณิชย์ในประเทศ
สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างราบรื่น โดยในเบื้องต้นต่างชาติที่เข้ามาเจรจากับแบงก์กรุงเทพเพื่อซื้อหุ้นของแบงก์สินเอเซียก็ไม่เกิน 25% สักราย” นายฉลองภพกล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังอยู่ในระหว่างผลักดันพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. ... เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งหากกฎหมายฉบับนี้ผ่านสนช.ได้การเข้าถือครองหุ้นของธนาคารพาณิชย์ไทยไม่เกิน 49% โดยนักลงทุนต่างชาติคงไม่มีปัญหาแต่อย่างใด รวมทั้งกรณีของธนาคารสินเอเซีย เพราะในข้อกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ว่าต้องเข้ามาฟื้นฟูสถานะของธนาคารพาณิชย์แต่อย่างใด
นโยบายของกระทรวงการคลังในระยะกลาง ไม่มีความต้องการที่จะถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์จำนวนมาก ซึ่งการที่กระทรวงการคลังและกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(FIDF)เข้าถือหุ้นธนาคารพาณิชย์หลายแห่งในปัจจุบันเนื่องจากเป็นการเข้าไปพยุงและฟื้นฟูฐานะของธนาคารพาณิชย์จากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมกระทรวงการคลังก็จะขายหุ้นในธนาคารพาณิชย์ที่ถืออยู่ออกอย่างแน่นอน
สำหรับการเข้ามาซื้อหุ้นของธนาคารพาณิชย์ไทยโดยชาวต่างชาติทั้งหมด ล้วนมีจุดประสงค์เดียวกันคือต้องการมีอำนาจในการบริหารจัดการในธนาคารพาณิชย์เหล่านั้น แต่การที่จะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจควบคุมเต็ม ที่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังจะต้องพิจารณาให้รอบคอบต่อการเข้ามามีอำนาจควบคุมของต่างชาติว่า จะสามารถสร้างมูลค่าและความแข็งแกร่งให้แก่ธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งนั้นๆ ได้หรือไม่
สำหรับ นักลงทุนต่างประเทศที่สนใจซื้อหุ้นสินเอเซีย ICBC จากจีน กับ CIMB จากมาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันธนาคารกรุงเทพถือหุ้นสินเอเซีย 19.2% กระทรวงการคลัง 30.6% และสถาบันการเงินต่างประเทศ 21.7%
เมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา นายชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า มีความตั้งใจที่ขายหุ้นที่ถืออยู่ออกไปให้ทันในสิ้นปีนี้ แต่กระทรวงการคลังไม่เห็นด้วย ขณะเดียวกัน หากขายหุ้นไม่ทันสิ้นปี ต้องโดนค่าปรับจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงอยากขายหุ้นออกไปในตลาด
“กรณีของสินเอเซียหรือธนาคารพาณิชย์อื่นๆ หากต่างชาติต้องการเข้ามามีอำนาจควบคุมและบริหารจัดการอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแล จะต้องดูความสามารถของต่างชาติที่เข้ามาว่าจะทำได้ดีแค่ไหน ถ้าเข้ามาแล้วทำให้สินเอเซียสถานะย่ำแย่ ก็จะเป็นผลเสียต่อสินเอเซียเอง เรื่องนี้ต้องมีความรอบคอบอย่างมาก เพราะประสบการณ์หลังวิกฤตเศรษฐกิจแบงก์ต่างชาติ ที่เข้ามาถือหุ้นไทยแล้วประสบความสำเร็จก็มีและที่บาดเจ็บกลับไปก็มีหลายรายเช่นกัน” นายฉลองภพกล่าวและว่า เรื่องนี้ต้องทำให้การแข่งขันของระบบธนาคารพาณิชย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามแผนแม่บทสถาบันการเงิน หรือมาสเตอร์ แพลน เฟส 2 ที่ต้องสร้างความเป็นธรรมและหลากหลายให้แก่ผู้ใช้บริการของธนาคารพาณิชย์
นายฉลองภพยังกล่าวถึงกรณีของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) TMB ที่กลุ่ม ไอเอ็นจี กรุ๊ป จากเนเธอร์แลนด์จะเข้ามาว่า กระทรวงการคลังจะใช้หลักเกณฑ์ที่คล้ายๆ กันกับการดำเนินการของธนาคารสินเอเซียอย่างรอบคอบ โดยในขั้นแรกกระทรวงการคลังจะยังคงรักษาสิทธิการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารทหารไทย ก่อนที่จะทยอยขายในเวลาและในราคาที่เหมาะสมต่อไป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|