"ปีเตอร์+สราวุธ ยอมเสี่ยงเพื่อกอบกู้ SVI"


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

ปีเตอร์ รอสคัม กรรมการผู้จัดการคนใหม่ของบริษัทเซมิคอนดัคเตอร์ เวนเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (SVI) ประกาศกลางที่ประชุมบรรดาโบรกเกอร์ว่า "ผมจะไม่มานั่งตรงนี้ หากไม่มีความเชื่อว่าการถอดป้าย SP บริษัทเซมิฯ จะมีขึ้นในเร็ววันนี้"

วันนั้นปีเตอร์พาคณะผู้บริหาร SVI มาแถลงเกี่ยวกับการกอบกู้ผลการดำเนินงานที่ขาดทุนของบริษัทฯ และเปิดเผยแผนงาน 3 ปี และประมาณงบดุลให้เหล่าโบรกเกอร์ซักถาม ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากโบรกเกอร์พอประมาณ

ปีเตอร์วางจุดยืนของเขาและสราวุธ มณีเสาวนพ รองกรรมการผู้จัดการ-"คู่ใจ" ที่ร่วมงานกันมานานตั้งแต่สมัยที่เข้าไปพัฒนากิจการพัทยาฟู้ดแล้วออกมาฟื้นฟู SVI ว่าเขาสองคนจะมีฐานะเป็นมืออาชีพที่เข้ามากอบกู้กิจการนี้เท่านั้น

"ผมและพรรคพวกมานั่งกัน ณ ที่นี้เพื่อให้พวกคุณประเมินว่า เราสามารถ TURN THE COMPANY AROUND ได้หรือไม่?" นี่เป็นคำประกาศที่ดูราวกับคำท้าทายต่อข่าวด้านลบของ SVI ซึ่งมีอยู่ตลอดเวลาที่หุ้นตัวนี้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ปีเตอร์เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ผมได้รับการทาบทามเข้ามาบริหาร SVI จากสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง" เขาหมายถึงธนาคารเอเชียที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของ SVI และพยายามหาทางแก้ปัญหาลูกหนี้รายนี้ในเรื่องของการบริหารและการถือหุ้น

ปีเตอร์และสราวุธมีสัญญาการบริหารงานที่ SVI นาน 3 ปี ตลอดอายุของสัญญาจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ แม้จะมีการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นก็ตามและ สัญญานี้สามารถต่ออายุได้อีก

คนทั้งสองเข้ามาบริหาร SVI ตั้งแต่ 13 สิงหาคม 2534 ทำหน้าที่แทนเคล้า ชูลส์กรรมการผู้จัดการคนเดิมที่เข้ามาทำงานได้ประมาณ 1 ปีแต่ไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์บริษัทให้ดีขึ้นได้

ในเวลา 6 เดือนที่ผ่านมาปีเตอร์ได้ดำเนินการปรับปรุงหลายอย่างตั้งแต่ละจำนวนพนักงานลงประมาณ 650 คน ทบทวนโครงสร้างการผลิตใหม่มีการรวมบางแผนกงานเข้าด้วยกันเพื่อลดขั้นตอนการติดต่อ และมีการจ้างวิศวกรเพิ่มขึ้นจำนวนหนึ่ง

ทำการจัดระบบการเก็บวัตถุดิบใหม่ ตรวจเช็กทุกเดือน การซื้อวัตถุดิบใช้ระบบรวมศูนย์ มีหน่วยงานจัดซื้อเพียงหน่วยเดียว เจรจาโดยตรงกับผู้ขายโดยไม่ได้ผ่านทางแอพซิลอนที่เป็นบริษัทในเครือและเคยเป็นผู้จัดซื้อวัตถุดิบให้ SVI ในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังมีการเข้มงวดเกี่ยวกับระบบควบคุมภายใน การจัดทำรายงานผลการดำเนินงานของบริษัทเป็นรายเดือนเพื่อนำมาเปรียบเทียบกับประมาณการที่ตั้งไว้ และยังมีการปรับปรุงทางด้านบัญชีโดยเฉพาะเรื่องวิธีคำนวณต้นทุนสินค้า จัดทำประมาณการใช้เงินทุนหมุนเวียน

ว่าไปแล้วการดำเนินงานต่าง ๆ ของปีเตอร์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ยังไม่มีอะไรแตกต่างไปจากสิ่งที่ชูลส์เคยให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการ" ฉบับกรกฎาคม 2534 เกี่ยวกับแผนการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ใน SVI ที่เขาคิดว่าจะทำแต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากมายนักเพราะถูกให้ออกเสียก่อนในเดือนสิงหาคมถัดมา

ปีเตอร์เปิดเผยถึงปัญหาสำคัญของ SVI ที่เกิดขึ้นก่อนที่เขาจะมารับงานว่าอยู่ที่การบริหารงานที่ผิดพลาดของกรรมการชุดก่อน ไม่ว่าจะเป็นกรณี SEAGATE PROJECT ซึ่งเมื่อ SVI ได้ออร์เดอร์มานั้น ไม่ได้มีการประมาณตนว่าสามารถทำงานที่สลับซับซ้อนขนาดนั้นได้หรือไม่ และเมื่อลงมือทำจริง ๆ ก็ไม่สามารถทำได้ ในที่สุดออร์เดอร์นี้ก็หลุด

หรือการที่ผู้บริหารชุดเก่าบอกกับลูกค้าว่า SVI จะทำการผลิตสินค้าหรือมีผลิตภัณฑ์ของตนเอง ทำให้ลูกค้ากลัวไปว่า SVI จะทำการผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของตนเอง ทำให้ลูกค้ากลัวไปว่า SVI จะใช้เทคโนโลยีของเขาไปผลิต

อันที่จริงแล้ว SVI แม้จะเป็นบริษัทอิเล็กทรอนิกส์แต่ก็เป็นเพียงผู้ประกอบชิ้นส่วนหรือรับจ้างผลิตชิ้นส่วนตามออร์เดอร์ที่ได้รับเท่านั้น (SUBASSEMBLY BUSINESS) ไม่มียี่ห้อทางการค้า (BRAND NAME) เป็นของตนเอง

ปีเตอร์ย้ำว่า "SVI มุ่งเป็นผู้รับจ้างประกอบแผงวงจรไม่ใช่ผู้ผลิตภัณฑ์ของตนเอง"

สราวุธอธิบายเสริมด้วยว่า "พวกลูกค้าจะมีการ SUPPLY วัตถุดิบมาให้ SVI ด้วย และจะบอกหมดว่าให้ SVI ทำสินค้าหรือประกอบอย่างไร บอกมาด้วยว่าจะสร้างสายการผลิตอย่างไร"

แผนกวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ มีอยู่นั้นทำหน้าที่เป็นผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์และกำหนดกรรมวิธีการผลิตอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เป็นไปตามที่ลูกค้ากำหนดก่อนที่จะมีการผลิตจริง แผนกฯ ยังจะทำงานร่วมกับลูกค้าในการออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกรณีที่ลูกค้าไม่มีหน่วยวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองธุรกิจหลักของ SVI คือการเป็นผู้ประกอบแผงวงจรไฟฟ้าซึ่งปีเตอร์เปิดเผยว่าจะมีการนำเทคนิคใหม่ที่เรียกว่า SURFACE MOUNT TECHNOLOGY/SMT คือการติดตั้งอุปกรณ์ บนพื้นแผ่น PRINTED CIRCUIT/PC โดยไม่ต้องเจาะรู แต่ใช้เทคนิคในการเชื่อมหรือบัดกรี

แต่ SVI ก็ให้ความสนใจในตลาดชิ้นส่วนนาฬิกาแขวนและนาฬิกาข้อมือ รวมทั้งการผลิตผลิตภัณฑ์การบันทึกข้อมูล (TRANSPONDER) ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ชิ้นส่วนเล็ก ๆ ที่ใช้ฝังในตัวสัตว์เพื่อบันทึกข้อมูลและบัตรประจำตัวเภทต่าง ๆ (SMART CARD) โดยกรรมวิธีการ ประกอบชิ้นส่วนเหล่านี้จะใช้แบบ SMT และ THRU-HOLE

ตลาดประเภทหลังนี้คือ ตลาดสินค้าเครื่องอุปโภคหรือ OEM

ปีเตอร์เปิดเผยว่ามีการจัดตั้งบริษัทเพื่อเป็นตัวแทนด้านการตลาดขึ้นในยุโรป ซึ่งเป็นแหล่งลูกค้าหลักของ SVI โดยเฉพาะในเยอรมนี ฮอลแลนด์และอังกฤษ

รายละเอียดเหล่านี้ความจริงเป็นเรื่องที่ไม่แตกต่างจากแผนงานของชูลส์เลยสักนิดผิดแต่ว่าปีเตอร์อาจจะมีการดำเนินงานไปบ้างแล้ว ขณะที่ชูลส์ไม่สามารถทำกำไรตามที่ COMMIT ไว้เป็นจำนวน 77 ล้านบาทสำหรับปี 2534 ได้

ปีเตอร์และสราวุธมีเวลา 3 ปีในการกอบกู้บริษัทฯ ตามแผนการเดิมที่วางไว้ เขาทั้งสองอาจโชคดีกว่าชูลส์ตรงที่มีเวลามากกว่า

ครั้งนี้คนทั้งสอง COMMIT การขาดทุนสุทธิในปีแรกที่เข้ามาดำเนินงานไว้ที่ 25 ล้านบาท โดยไม่กล่าวถึงผลการขาดทุนดั้งเดิมที่ผ่านมา ขณะที่ในอีก 2 ปีถัดไปจะสามารถทำกำไรสุทธิได้ 25 และ 50 ล้านบาทในปี 2536 และ 2537 ตามลำดับ

ทีมผู้บริหารที่มีหัวหน้าทีมชุดใหม่คือปีเตอร์มีข้อได้เปรียบบางอย่างต่างไปจากสมัยชูลส์เป็นผู้บริหารเป็นต้นว่า เรื่องเครื่องจักรซึ่งมีการลงทุนไปก่อนหน้านี้แล้วดำเนินการติดตั้งเรียบร้อยแต่บางส่วนยังไม่ได้ใช้ทำการผลิต

ปีเตอร์คาดหมายว่า "SVI จะดำเนินการผลิตได้เต็มความสามารถในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้" ซึ่งมีผลให้เขาคาดหมายว่า SVI จะมีกำไรสุทธิเฉพาะไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ประมาณ 1.4 ล้านบาท

นอกจากนี้ในประมาณการงบแสดงการเปลี่ยนแปลงฐานะทางการเงินยังปรากฏว่า SVI ไม่มีปัญหาเรื่องเงินทุนหมุนเวียน เพราะมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น

ว่าไปแล้วฐานะทางการเงินของ SVI ก็ไม่ใช่จะเลวร้ายจนเกินกว่าจะกอบกู้ขึ้นใหม่ได้ปีเตอร์รับปากว่าหนี้สินจำนวน 76 ล้านบาทที่ค้างชำระมาเป็นเวลานานนั้นจะสามารถเรียกเก็บได้ในเร็ววัน บริษัทฯ จะไม่ตัดเป็นหนี้สูญเด็ดขาด

ปีเตอร์และสราวุธจะสามารถกอบกู้ชื่อเสียงของ SVI กลับคืนมาได้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป แม้ว่าคนทั้งสองจะไม่เคยมีประสบการณ์ในตลาดชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาก่อน แต่ต่างมีความชำนาญในการบริหารโรงงานมาเป็นอย่างดี

เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความสามารถของคนทั้งสองในครั้งนี้ !!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.