"สมเจตน์แก้ กม. กนอ."


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

เพราะความที่เขาเป็นคนร่างเล็ก ใบหน้าดูอ่อนวัยเมื่อเขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในปลายปี 2533 พอไปปรากฎตัวที่ไหนก็มักจะมีปัญหาว่า เจ้าของงานหาตัว ดร. หนุ่มคนนี้ไม่เจอ

แต่เมื่อรู้ว่าสมเจตน์ ทิณพงษ์คนนี้นี่แหละคือประธานในงานที่ตนเชิญมา ต่างก็พากันอุทานด้วยความแปลกใจเนื่องเพราะบุคลิกที่ดูเรียบเข้ากับคนง่าย ช่างคุย ซึ่งออกจะตรงกันข้ามกับบุคลิกของผู้ว่า กนอ. คนเก่า ยิ่งกว่านั้น อายุ ณ วันที่รับตำแหน่งก็เพิ่งจะ 41 เท่านั้น ก็ยิ่งสร้างความตื่นเต้นแก่คนพบเห็น

สมเจตน์สำหรับในท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้วจะเป็นที่รู้จักดีมานาน เขาเป็นรองศาสตราจารย์ ระดับ 9 เคยเป็นผู้ช่วยและรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นหลายคนจึงคุ้นเคยกับการเรียกสมเจตน์ว่าอาจารย์

สมเจตน์เกี่ยวข้องกับงานวิศวะมาตลอด หลังจากที่จบปริญญาตรีด้านนี้จาก UNIVERSITY OF TASMANIA และปริญญาโทและเอกจาก ASIAN INSTITUTE OF TECHNOLOGY ก็เป็นอาจารย์อยู่หลายปี

พร้อมกันนั้น ก็มีกิจกรรมที่ส่งเสริมประสบการณ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นกรรมการบริหารของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ศูนย์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เป็นกรรมการบริษัทที่ปรึกษา CSA ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์-สถาปัตยกรรมยังไม่รวมถึงตำแหน่งเฉพาะกิจในราชการและรัฐวิสาหกิจอื่นอีกหลายแห่ง

ที่เกี่ยวข้องกับ กนอ. โดยตรงคือ ตำแหน่งกรรมการบริหารของที่นี่ จากความรู้ความสามารถ และการแสดงออกอย่างมีหลักการ เมื่อมีประเด็นโต้แย้งที่หาข้อสรุปกันไม่ได้ในที่ประชุม เล่ากันว่าสมเจตน์มักจะเป็นคนซึ่งที่ประชุมให้การยอมรับในแง่ของข้อมูลและความมีเหตุมีผลตลอดมา

เมื่อประทีบ จันทรเขตต์ผู้ว่าคนเดิมลาออก สมเจตน์จึงกลายเป็นตัวเต็งที่บอร์ด กนอ. หมายตาให้มาเป็นผู้ว่าแทน

แม้ว่าสมเจตน์จะดูหน้าเด็กดังที่หลายคนมักจะวิพากษ์อยู่เสมอว่า ไม่น่าเชื่อว่าเขาจะก้าวขึ้นมาได้เร็วขนาดนี้ แต่สำหรับการบริหารยุคใหม่แล้วผู้บริหารมิได้ถูกจำกัดเฉพาะเรื่องของอาวุโส หากขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ฝีมือและความสามารถเฉพาะตนมากกว่าและเสียงเล่าขานที่ว่าสมเจตน์เป็นคนเอาจริงก็ปรากฏให้เห็น

นั่นก็คือ การสั่งปิดโรงงานรวดเดียว 4 แห่งในนิคมบางปูช่วงปลายปีที่ผ่านมาซึ่งถูกระบุว่าก่อมลพิษในการปล่อยน้ำทิ้งจากโรงงานจนกว่าจะจัดการให้เรียบร้อย ได้แก่โรงงานของบริษัท เอเซียไฟเบอร์จำกัด บริษัท พีพีเคฟริกเมนท์ จำกัด บริษัท เจทีเอ็นเท็กไทร์ จำกัด และบริษัทจักรวาลเคมี จำกัด

สมเจตน์มองว่า ขณะที่แนวโน้มการขยายของอุตสาหกรรมมากขึ้น การเข้มงวดเรื่องปัญหามลพิษย่อมต้องสูงเป็นเงาตามตัวไปด้วย แต่ละโรงงานจะต้องรับผิดชอบในการป้องกันเรื่องมลพิษอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นของเสียประเภทใดจากโรงงาน ซึ่งจะกำหนดไว้เป็นกฎปฏิบัติอยู่แล้ว

การเอาจริงเป็นทางหนึ่งที่จะทำให้บรรดาโรงงานตระหนักเรื่องมลพิษอย่างเคร่งครัดมากขึ้น มิใช่คนทำดีกับคนทำผิดแล้วมีผลเหมือนกันแต่เมื่อฝ่าฝืนระเบียบก็ต้องลงโทษ อันเป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งที่กนอ. จะต้องควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

ยิ่งกว่านั้น ท่ามกลางการแข่งขันของตลาดโลกที่มุ่งสู่ระบบเสรี กนอ. เองจึงต้องปรับตัวให้สอดคล้องและรองรับกับสถานการณ์ที่ผันแปรไปอย่างรวดเร็วได้ทันท่วงทีด้วยการตั้งเขตการค้าเสรี

สมเจตน์พยายามผลักดันให้ตั้งเขตการค้าเสรีในเขานิคมส่งออกเพื่อให้ไทยก้าวสู่ศูนย์กลางการค้าย่านอินโดจีนแทนสิงคโปร์ เพราะเขาเชื่อว่า "FREE TRADE ZONE" นี้จะเป็นตัวช่วยดึงนักลงทุนได้อย่างมากจากเดิมที่จะมีแค่เขตส่งออกทั่วไปในนิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น

ดังนั้นเมื่อจะให้บทบาทของ กนอ. เปลี่ยนไป จึงต้องแก้ไข พ.ร.บ. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 เพื่อเพิ่มเขตการค้าเสรีซึ่งจะดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องการค้าเช่นเดียวกับสิงคโปร์

การจัดตั้งเขตการค้าเสรีผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าโดยไม่ต้องมีการชำระภาษีขาเข้า ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง และจะเป็นตัวดึงดูดให้นักลงทุนเข้าสู่ไทยมากขึ้นดังเช่นที่นักธุรกิจสนใจสิงคโปร์ในช่วงที่ผ่านมา เชื่อว่าการตั้งเขตการค้าเสรีได้เร็วเท่าไร ก็จะทำให้ไทยยกระดับขึ้นทัดเทียมกับสิงคโปร์ได้มากขึ้น

เขตการค้าเสรีที่ว่านี้จะเข้าไปตั้งในนิคมอุตสาหกรรมที่มีเขตส่งออกทั่วไปในเบื้องต้นก่อน ซึ่งควรจะมีความพร้อมในเรื่องที่ดินท่าเรือโดย กนอ. ไม่ต้องใช้งบประมาณอะไรแค่กำหนดเขตพร้อมปล่อยให้พื้นที่ปลอดภาษีเท่านั้นเหมือนกับในสหรัฐฯ หรือสิงคโปร์

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมต่อเนื่องยิ่งจะได้ประโยชน์เพราะประหยัดค่าก่อสร้างโกดังเก็บสินค้า และช่วยลดขั้นตอนที่ซับซ้อนได้มากทีเดียว

นิคมที่น่าจะเริ่มต้นได้ก่อนและเป็นตัวนำร่องก็คือนิคมแหลมฉบัง นิคมชลบุรีซึ่งมีความพร้อมมากกว่าที่อื่น

ฝันของสมเจตน์เริ่มเป็นจริง เมื่อ ครม. อนุมัติเขตการค้าเสรีของ กนอ. ขณะนี้อยู่ระหว่างรอเข้าสภานิติบัญญัติร่าง พ.ร.บ. นิคมอุตสาหกรรม (เพิ่มเติม) และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ต่อไปคาดว่าจะเสร็จทันในรัฐบาลชุดนี้

ขณะที่กลุ่มประเทศอาเซียนก็ได้ประกาศจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ขึ้นนั้นสมเจตน์ยืนยันว่าไม่ซ้ำซ้อนและมีความต่างกันชัดเจน

เนื่องจากเขตการค้าเสรีของ กนอ. จะค้ากับทุกประเทศทำธุรกิจทั้งอุตสาหกรรมและบริการ เป็นการค้าส่งซึ่งกันและกัน จะไม่มีการค้าปลีกซึ่งเดิมหากจะค้าขายกันข้ามโรงงานจะต้องเสียอัตราศุลกากรทั้ง 2 ด้าน แต่เมื่อแก้ไข พ.ร.บ. ใหม่แล้วก็บังคับใช้ได้เลย คล้าย ๆ กับเป็นการประกอบอุตสาหกรรมนอกประเทศ แต่เมื่อนำสินค้าเข้ามาขายในประเทศก็ให้ดำเนินการเหมือนกับการนำเข้าธรรมดา แต่ AFTA จะมุ่งค้าเฉพาะกับกลุ่มอาเซียนเพียง 6 ประเทศ และจำกัดอยู่แค่ 15 กลุ่มอุตสาหกรรม

นอกจากนี้เขตการค้าเสรีของ กนอ. จะจัดสรร กำหนดพื้นที่แน่นอนตามที่จะได้ดำเนินการต่อไป ส่วน AFTA จะไม่กำหนดพื้นที่เฉพาะ และสามารถค้าได้ทั่วประเทศ

ส่วนความแตกต่างของเขตการค้าเสรีกับเขตส่งออกทั่วไปของ กนอ. จะต่างกันก็คือ ปัจจุบันเขตส่งออกทั่วไปเป็นการนำเข้าและส่งออก เช่นบริษัทหนึ่งนำเข้ามาเพื่อผลิตและส่งออกไป แต่เขตการค้าเสรีเป็นเรื่องของบริษัทที่นำเข้ามาผลิต แล้วขายต่อให้บริษัทอื่นเป็นทอด หรือขายส่งนั่นเอง

สมเจตน์เชื่อว่าความตั้งใจที่เริ่มขึ้นคงจะเป็นจริงอย่างสมบูรณ์ก่อนเสร็จการเลือกตั้ง 22 มีนาคมนี้ ตามประสาหนุ่มไฟแรงที่อยากเห็นมิติใหม่ ๆ ของ กนอ. ไปก้าวทันโลก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.