หลังการมรณะกรรมของเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง ภารกิจดูแลรักษาอาณาจักรธุรกิจอันยิ่งใหญ่ในบริษัทกระจกไทย-อาซาฮีได้ตกอยู่กับชัยคีรี
ศรีเฟื่องฟุ้ง ทายาทคนโตที่เพิ่งขึ้นมาเป็นกรรมการอำนวยการแทนสมบัติ พานิชชีวะตั้งแต่การปรับโครงสร้างการบริหารระดับสูงกลางปีที่แล้ว
การเปลี่ยนแปลงภายในบริษัทครั้งนั้นเป็นการผ่องถ่ายอำนาจการบริหารจากเกียรติสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง
โดยชัยคีรีได้ถูกคาดหวังให้ดำเนินบทบาทสำคัญนี้สืบต่อไป
"หลังจากที่มีการปรับโครงสร้าง ท่านได้วางไว้แล้วว่าให้คุณสมบัติเป็นประธานกรรมการและคุณชัยคีรีเป็นกรรมการอำนวยการในกระจกไทย-อาซาฮี
คุณชัยนรินทร์ไปดูแลด้านธนาคารมหานครส่วนคุณชัยณรงค์จะอยู่ในโรงงานบางกอกโฟลทกลาส"
วิฑูร เตชะทัศนสุนทร ลูกหม้อเก่าที่ทำงานกับเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้งเล่าให้ฟัง
ไม่ต่ำกว่าสามทศวรรษตั้งแต่ดำเนินธุรกิจผูกขาดในปี 2506 เกียรติประสบความสำเร็จอย่างสูงกับผลดำเนินงานของกระจกไทย-อาซาฮี
และได้สร้างรากฐานอันมั่นคงแก่ลูกหลานไว้แล้ว
ภารกิจข้อหนึ่งของชัยคีรีคือ การแตกกิจการอุตสาหกรรมกระจกให้ครบวงจรอย่างสมบูรณ์แบบ
ตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงสายการผลิตและจัดจำหน่ายเพื่อรักษาสถานภาพความเป็นยักษ์ใหญ่ผู้นำต่อไป
ปัจจุบันด้านวัตถุดิบ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากทรายแก้ว จ. ระยอง หินโดโลไมท์จากกาญจนบุรีและหินฟันม้าจากตากส่วนที่เหลือ
20% คือโซดาแอซและโซเดียมซัลเฟตที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
ส่วนของการผลิตบริษัทกระจกไทย-อาซาฮี มีโรงงาน 3 แห่ง ตั้งอยู่บนเนื้อที่
168 ไร่ ที่สมุทรปราการ
โรงที่หนึ่ง-ผลิตกระจกชีทมีกำลังการผลิต 1,277,500 หีบต่อปี (หยุดการผลิต)
โรงที่สอง-ผลิตกระจกชีทมีกำลังการผลิต 600,000 หีบต่อปี
โรงที่สาม-ผลิตกระจกโฟลทมีกำลังผลิต 3,500,000 หีบต่อปี
นอกจากนี้ยังมีโรงงานผลิตกระจกเงา 5,400,000 ตร. ฟุต/ปี และผลิตกระจกสะท้อนแสง
725,760 ตร. ฟุต/ปี รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่นกระจกนิรภัย (บริษัทไทยเซฟตี้กลาส)
กระจกเงา กระจกแกะสลักลวดลาย และกระจกเทียม (บริษัทไดอะกลาส)
ส่วนด้านการจัดการด้านการตลาดสินค้าก็มีการแยกตั้งเป็นบริษัทใหม่ชื่อ "บริษัทกลาสเวย์"
จัดการด้านตลาดสินค้ากระจกแปรรูป และอุปกรณ์เกี่ยวกับกระจก รับเหมาติดตั้งกระจก
รวมทั้งนำเข้าและส่งออกกระจก
โครงการจัดตั้งคลังสินค้าในเขตภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อกระจายสินค้าอย่างสะดวกรวดเร็วก็เป็นโครงการหนึ่งที่ผู้บริหารบริษัทได้เร่งสร้างขึ้นให้ครบ
4 ภาค คือคลังสินค้าที่เชียงใหม่และพิษณุโลก กับอีกสองแห่งที่เสร็จแล้วคือขอนแก่นและหาดใหญ่
การขยายธุรกิจเข้าไปในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ต้องใช้กระจกเป็นวัตถุดิบ
ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ของชัยคีรีที่จะทำ เช่นโครงการกระจกนิรภัยสำหรับอาคารสูง
ซึ่งบริษัทได้ใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่าร้อยล้านบาท
ในช่วงบั้นปลายแห่งชีวิตเกียรติ ความเปลี่ยนแปลงจากนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองของรัฐบาลได้ส่งผลกระทบต่อการผูกขาด
และสายสัมพันธ์ทางการเมืองที่เคยมีมาเมื่อทางรัฐบาลได้ส่งเสริมให้เกิดสภาพการแข่งขันขึ้นด้วยการอนุญาตให้เปิดเสรีโรงงานกระจกได้
ยุคใหม่ภายใต้การนำของชัยคีรี จึงต้องเผชิญการท้าทายจากยักษ์ใหญ่รายใหม่
"บริษัทสยามการ์เดียน" ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างบริษัทปูนซิเมนต์ไทยกับบริษัทการ์เดียนอินดัสทรีแห่งสหรัฐอเมริกา
สงครามทางการค้าได้ขยายสนามรบสู่ภูมิภาคที่กว้างขวางและยกระดับเวทีการต่อสู้สู่ระดับโลก
แรงกดดันย่อมทบทวีเป็นอนันต์ ดูได้จากกรณีการเกิดสยามการ์เดี้ยนในประเทศไทยที่รัฐบาลพลเอกชาติชาย
ชุณหะวัณถูกแรงบีบจากพระราชบัญญัติการค้าของสหรัฐฯ มาตรา 301
นี่คือการบ้านข้อหนึ่งที่ชัยคีรีต้องคิดวางแผนให้รอบคอบ เพราะในสภาพการแข่งขันและกำลังผลิตในปีนี้จะทบทวีคูณ
(ดูจากตารางประกอบ) หลังจากสยามการ์เดียนเดินเครื่องผลิตในอนาคตได้และทุ่มตลาดในประเทศได้ครึ่งหนึ่งของกำลังผลิตนับ
131,400 ตัน/ปี ย่อมหมายความว่า ศึกหนักอกของชัยคีรีภายใต้แรงกดดันนี้ต้องมีทางออกที่ดี
ทางออกหนึ่งที่เกียรติได้ทำไว้คือ การซื้อกิจการบริษัทบางกอกโฟลทกลาสจาก
"ตังน้ำ" เจ้าของเดิมที่เป็นเอเยนต์ใหญ่ของกระจกไทย-อาซาฮีซึ่งถือว่าเป็นการรุกก้าวทางธุรกิจกระจกอีกก้าวหนึ่ง
ที่จะต้านแรงบีบจากสยามการ์เดียน เนื่องจากได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอในโครงการผลิตกระจกโฟลทกลาสเท่ากับกำลังผลิตของสยามการ์เดียนคือ
131,400 ตัน/ปี และมีแผนในอนาคตที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ก่อนหน้าที่จะสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากบีโอไอจะหมดภายใน
6 ปีนี้
แต่การบริหารงานบางกอกโฟลทกลาสได้มีความพยายามแยกเป็นอิสระ ภายใต้การนำของชัยณรงค์
ศรีเฟื่องฟุ้ง ซึ่งต้องลาออกจากกระจกไทย-อาซาฮี
"เรามีนโยบายเด็ดขาดที่จะแยกจากกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านคณะกรรมการหรือผู้บริหารในทางธุรกิจกระจกไทย-อาซาฮี
กับบางกอกโฟลทกลาสคือคู่แข่งซึ่งกันและกัน แม้จะมีผู้ถือหุ้นคล้ายกัน เพียงแต่การแข่งขันอาจจะไม่รุนแรงถึงขั้นขัดแย้ง
เพราะถ้าถึงจุดนั้นเราจะนั่งจับเข่าคุยกัน" ชัยคีรีเล่าให้ฟัง
สายสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวที่กระจายความรับผิดชอบแผ่ขยายอาณาจักรธุรกิจในหมุ่สามพี่น้องที่มีชัย
คีรีเป็นพี่ใหญ่คอยประสานความคิดและผลประโยชน์ ย่อมเป็นการบ้านที่เกียรติ
ศรีเฟื่องฟุ้งตั้งใจจะให้ชัยคีรีก้าวรุกไปข้างหน้าต่อไป เพื่อแผ่ขยายอาณาจักรธุรกิจให้ครบวงจรได้ในที่สุด