ฟูจิเริ่มรุกอย่างจริงจัง หลังประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะขึ้นบัลลังก์สู่ความเป็น
1 ของตลาดฟิล์มภายใน 3 ปีนี้ให้ได้ วางแผนเปิดเดโปทั่วประเทศครอบคลุมทุกภูมิภาค
เพื่อย่นระยะเวลาในการขนส่งและประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่าย ในขณะที่โกดักผู้นำตลาดคุยเปิดเพียงศูนย์บริการเท่านั้นก็สามารถสตอกสินค้าได้เหมือนกัน
สมพันธ์ จารุมิลินท ผู้จัดการทั่วไป บริษัทฟูจิโฟโต้ฟิล์ม(ประเทศไทย) จำกัด
เปิดเผย "ผู้จัดการ" ว่าเขาได้วางแผนการลดต้นทุนของสินค้าและประหยัดเวลาการขนส่งด้วยการลงทุนสร้างเดโป
(คลังสินค้า) ขึ้นในแต่ละภูมิภาค ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้ปัญหาในเรื่องการส่งสินค้าให้ร้านค้าทั่วไปได้ตามกำหนดเวลาโดยเริ่มจากภาคเหนือเป็นแห่งแรก
และจะทยอยเปิดที่ภาคใต้และอีสานเป็นรายต่อไป
ในช่วงปกติทางสาขาของฟูจิในแต่ละจังหวัดจะส่งสินค้าให้ร้านค้าได้ในแต่ละครั้งอย่างเร็วที่สุดต้องใช้เวลาถึง
3 วัน หากเป็นช่วงฤดูเทศกาลจะใช้เวลาถึง 1 สัปดาห์ทั้งนี้เพราะความต้องการในช่วงนั้นจะมีสูงมากกว่าปกติ
อย่างไรก็ตามการสร้างเดโปซึ่งต้องใช้งบลงทุน 4 ล้านบาทขึ้นมาเพื่อรองรับการสตอกสินค้านี้
สามารถตอบสนองความต้องการของร้านค้าได้ทันที นั่นคือการประหยัดเวลาในการส่งสินค้าให้กับร้านค้าโดยใช้เวลาประมาณ
2 ชั่วโมงเท่านั้น ในขณะที่การส่งให้จังหวัดอื่น ๆ ในเขตภาคเหนือจะใช้เวลาในการส่งผ่านถึงมือร้านค้าเพียง
1 วัน "นั่นหมายถึงว่าสั่งเช้าได้เย็น" สมพันธ์กล่าว
อาณาเขตความรับผิดชอบของเดโปที่เชียงใหม่นี้จะครอบคลุมเขตภาคเหนือได้ถึง
8 จังหวัดคือลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย แพร่ พะเยา และน่าน
โดย 3 จังหวัดหลังเพิ่งจะเริ่มดำเนินการได้อย่างสมบูรณ์เมื่อประมาณต้นเดือนมีนาคม
สมพันธ์ให้เหตุผลในการเลือกเชียงใหม่เป็นศูนย์ และคลังสินค้าเพราะเขาเห็นว่าภาคเหนือเป็นตลาดที่มีศักยภาพโดยปีที่ผ่านมาฟูจิสามารถทำยอดขายได้ถึง
8.5% ของยอดขายรวมฟูจิทั่วประเทศ ซึ่งในปี 35 คาดกันว่ายอดขายจะสูงขึ้นถึง
10% เลยทีเดียว ทั้งนี้เพราะเดโปและศูนย์บริการจะมีส่วนช่วยในการผลักดันให้ฟูจิขายได้มากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา
ประเด็นที่สำคัญของการมีเดโปอีกประการหนึ่งนอกเหนือจากการมีส่วนช่วยเพิ่มยอดขายได้แล้ว
ยังมีผลถึงร้านค้าของฟูจิด้วย นั่นคือทางร้านค้าไม่ต้องสตอกสินค้าไว้มาก
ๆ เหมือนอย่างกรณีที่ยังไม่มีเดโป แม้ว่าทางฟูจิจะต้องใช้งบและบุคลากรเพิ่ม
8-10 คนเพื่อบริการก็ตามแต่สิ่งที่จะได้มาในอนาคตอันเป็นเป้าหมายหลักคือความเป็นอันดับ
1 ของตลาดฟิล์มก็เป็นสิ่งที่น่าลงทุนอยู่มิใช่น้อย
แต่ทางด้านโกดักผู้นำตลาดปัจจุบันกลับมองเห็นว่าเขาไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีคลังสินค้าขนาดใหญ่
(เดโป) เขามีเพียงแค่ศูนย์บริการในแต่ละภาคเท่านั้นก็นับว่าสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ทันท่วงทีเช่นกัน
"ศูนย์โกดักที่เพิ่งเปิดดำเนินการเมื่อเดือนที่ผ่านมานี้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ตรงจากสำนักงานใหญ่
ทำให้สามารถตรวจสอบสตอกสินค้ากับสำนักงานใหญ่ และเก็บสตอกสินค้าได้ประมาณ
1 สัปดาห์ขณะเดียวกันก็เป็นศูนย์ฝึกอบรมเรื่องการขาย การบริการการใช้และการซ่อมบำรุงอีกด้วย"
เสกสรรค์วิจิตรทฤษฎี ผู้จัดการฝ่ายขายผลิตภัณฑ์บริษัทโกดัก (ประเทศไทย)จำกัด
กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
แม้ว่าโกดักจะไม่สนใจเรื่องการมีคลังสินค้าเช่นที่ฟูจิทำอยู่ แต่สิ่งหนึ่งทั้งโกดัก
และฟูจิให้ความสนใจที่ตรงกันคือการบุกเข้าตลาดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งตลาดนี้เป็นตลาดที่มีความผันแปรตามเทศกาลตลอดเวลา
ไม่ใช่ตลาดที่ขยายตัวอย่างคงที่เช่นในตลาดกรุงเทพฯ ทว่าฝ่ายใดจับตลาดนี้ได้อย่างถาวรเป้าหมายของความเป็นอันดับ
1 ก็คงหนีไม่พ้น
ทั้งนี้เพราะแหล่งท่องเที่ยวที่โกดักและฟูจิให้ความสำคัญถึงขนาดต่างฝ่ายต่างเข้าไปสร้างเดโปหรือศูนย์บริการของตนเองเช่น
อีสานที่โคราช อุดรธานี หรือภาคใต้ที่หาดใหญ่ ภูเก็ตเป็นต้นนั้น อัตราการขยายตัวของตลาดเหล่านี้จะขึ้นสุดในช่วงเทศกาลและลงต่ำสุดเมื่อหมดเทศกาล
"เรียกได้ว่าขายแบบ 6 เดือน ที่เหลืออีก 6 เดือนนอนเล่นเพราะตลาดจะเงียบมาก"
เอเยนต์รายหนึ่งในวงการแล็ปสีในภาคเหนือกล่าว
อย่างไรก็ตามความคาดหมายของตลาดฟิล์มในปีนี้ ต่างคาดการณ์กันว่าจะมีอัตราขยายตัวโดยรวมได้ถึง
10%-12% เฉพาะในเขตต่างจังหวัด 10% ในขณะที่ในเขต กทม. จะสามารถขยายตัวได้ถึง
15% โดยมีอัตราใช้งบโฆษณาทั้งระบบประมาณ 400 ล้านบาท