'บัณฑูร'ลุ้น ศก.ปี 51กระเตื้อง รอ รบ.ใหม่ฟื้นบริโภค-ลงทุน


ผู้จัดการรายวัน(25 กันยายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

"บัณฑูร"ถอดใจเศรษฐกิจ 3 เดือนสุดท้ายของปีไม่มีแววกระเตื้อง ฝากความหวังรัฐบาลใหม่ช่วยฟื้นการลงทุน-บริโภค ขณะที่ธุรกิจสถาบันการเงินยังลำบาก ทั้งในด้านการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น และรองรับสถาบันประกันเงินฝากที่จะเกิดขึ้น ยันไม่หวั่นกรณีทางการให้ต่างชาติถือหุ้นแบงก์มากขึ้น แต่ก็ต้องปรับตัวให้พร้อมด้วย ด้านรมว.คลังเรียกผู้ว่าแบงก์ชาติหารือก่อนเริ่มใช้งบประมาณปี 51 หวังช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจเดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) เปิดถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ว่า ระยะ 3-4 เดือนต่อไปนี้ยังไปได้เรื่อยๆ ซึ่งก็ยอมรับว่าประชาชนต้องทำใจกับเศรษฐกิจปีนี้ แต่เชื่อว่าในปี 2551 หากมีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลใหม่ การลงทุนและการบริโภคน่าจะดีขึ้น ขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ในวันที่ 10 ตุลาคมนั้น กนง.น่าจะใช้ตัวเลขเศรษฐกิจและปัจจัยแวดล้อมอื่นๆในประเทศมาเป็นหลักในการพิจารณามากกว่า แต่ก็คงไม่สามารถระบุชัดเจนไม่ได้ว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่

"ถ้าจะมองถึงเศรษฐกิจในช่วง 3 เดือนนี้ยังต้องทำใจ เศรษฐกิจจากนี้ไปจะเรื่อยๆ รอรัฐบาลใหม่เข้ามาถึงจะดีขึ้น การลงทุนก็น่าจะดี ส่วนการลาออกของ 2 รัฐมนตรีเห็นว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่และเป็นเรื่องระหว่างบุคคล ขณะนี้เอกชนรอรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนตัวยืนยันไม่สนใจการเมือง และไม่มีใครทาบทามให้เล่นการเมืองด้วย"นายบัณฑูร กล่าว

ส่วนแนวโน้มธุรกิจสถาบันการเงินในปีหน้านั้น คงจะดำเนินธุรกิจไม่ง่ายนัก โดยจะต้องหาแนวทางการปล่อยสินเชื่อให้ได้โดยไม่ต้องเสี่ยง ซึ่งในการดำเนินธุรกิจการเงินนั้นหากปล่อยสินเชื่อเร็วเกินไปก็จะเสี่ยงมาก แต่หากปล่อยช้าไปก็จะไม่ได้ผลตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ นอกจากนี้ ยังจะมีการแข่งขันระหว่างสถาบันการเงินมากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันระดมเงินฝาก ภายหลังการมีสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย จึงไม่สามารถคาดเดาปฏิกิริยาของผู้ฝากเงินได้ และบนสมมุติฐานว่าสถาบันคุ้มครองเงินฝากไม่ได้คุ้มครองเงินทั้งจำนวน ทำให้สถาบันการเงินต้องสร้างความน่าเชื่อถือ รวมทั้งจะเกิดการแข่งขันในการหาเงินฝาก โดยแต่ละแห่งต้องพยายามหาเงินทุนที่มีต้นทุนไม่แพงเกินไป ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

สำหรับ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินฉบับใหม่ แม้ว่าจะเปิดโอกาสให้ต่างชาติมากขึ้น ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาเพราะในช่วงที่ผ่านมาต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในสถาบันการเงินไทยในสัดส่วนที่สูงกว่า 49% แต่ก็ยังไม่พบว่ามีต่างชาติรายไหนที่ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นในการเข้ามาลงทุน ทั้งนี้ มองว่าธุรกิจสถาบันการเงินยังคงเป็นของคนไทย และคนไทยก็ยังรักษาสัดส่วนของความเป็นผู้ถือหุ้นไว้ในระดับหนึ่ง และมีส่วนแบ่งการตลาดที่สามารถทำให้คนไทยสามารถยืดหยัดอยู่ได้ในธุรกิจนี้

"ตลาดการเงินไทยก็ยังบริหารโดยคนไทย ผู้ถือหุ้นต่างชาติก็มีเข้ามาแล้วก็มีออกไป แต่ในส่วนของคนไทยก็ยังถือเป็นตัวหลักสำคัญในการบริหารธุรกิจอยู่ และที่ผ่านมายังไม่เห็นต่างชาติรายไหนที่เข้ามาแล้วจะประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น"ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าว

อย่างไรก็ตาม การเปิดให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นได้มากขึ้น ยอมรับว่าเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องยอมรับและต้องเผชิญ ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นแต่ทุกประเทศก็เจอลักษณะดังกล่าวเช่นเดียวกัน ในที่สุดแล้วนโยบายทางการเมืองจะเป็นตัวกำกับ เพราะหากมีสิ่งใดที่รัฐบาลรังไม่ไหวก็จะออกกฎเกณฑ์มาสกัดกั้น โดยสถาบันกันการเงินก็ต้องทำการเตรียมพร้อมในการแข่งขันให้พร้อมและดีที่สุด

เผยหลังวิกฤติ ศก.ธรรมาภิบาลเกิด

นอกจากนี้ นายบัณฑูร ได้ กล่าวปาฐกถาพิเศษในพิธีเปิดสถาบันธุรกิจเพื่อสังคมว่า ตั้งแต่ช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 เป็นต้นมา บริษัทจดทะเบียนต่างหันมามีจิตสำนึกถึงความเสียหาย จึงได้เร่งทำระบบเกี่ยวกับธรรมาภิบาลเพื่อหันมารับผิดชอบสังคมต่อสังคมกันมากขึ้น โดยจุดเริ่มต้นมาจากการที่ผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนในตลาดหลักทรัยพ์เกิดความเสียหาย

ดังนั้น สิ่งแรกที่เริ่มในระบบธรรมภิบาล คือ การไม่ให้ฝ่ายบริหารใดๆทำการหลอกหรือต้มตุ๋นผู้ถือหุ้นอย่างที่เคยเกิด เช่น การไม่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและสถานภาพที่แท้จริงของบริษัทให้แก่ผู้ถือหุ้นทราบ โดยในระยะหลังนี้ได้มีความเข้มงวดกับเรื่องดังกล่าวมากขึ้น โดยบริษัทจะต้องแสดงตัวเลขทุกอย่างที่สะท้อนความเป็นจริง รวมถึงไม่อยากให้มีการตุกติกมีการโยกย้ายทรัพย์ เพราะในอดีตมีเกิดขึ้นไม่น้อยและการโยกย้ายทรัพย์นี้ถือเป็นการต้มตุ๋นผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ด้วย ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถือเป็นการวัดเบื้องต้นว่าบริษัทไหนเป็นบริษัทที่มีธรรมาภิบาลในเบื้องต้น

โดยที่ผ่านมามีผู้วิเคราะห์เกี่ยวกับการจัดการธรรมาภิบาลว่าสายงานที่ดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้นคือสายงานไหน ซึ่งคำตอบคือสายงานประชาสัมพันธ์ แสดงว่าธรรมาภิบาลเป็นเรื่องของภาพพจน์องค์กร ดังนั้น ถ้าใครไม่ทำเรื่องดังกล่าวก็จะรู้สึกเสียหน้าหากมีการพูดในเวทีต่างๆ ประกอบกับในขณะนี้มีการแข่งขันทำธรรมาภิบาล เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพยายามรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีการกรอกเอกสารในแบบฟอร์มต่างๆมากมายว่ามีการได้ทำโครงการอะไรบ้าง เช่น ปลูกป่าไปกี่ต้น ทำน้ำสะอาดไปกี่คลอง ช่วยเด็กไปกี่คน

"ผมไม่รู้ว่าการทำสิ่งเหล่านี้ให้คุณค่าในเชิงธุรกิจเพิ่มขึ้นหรือไม่ ผมไม่แน่ใจ แต่ผมรู้แค่ว่าผมได้หน้า และโครงการที่หลายบริษัททำออกมานั้นได้ให้สังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้นหรือไม่ ก็ไม่เห็นมีการวัดผลทางวิทยาศาสตร์ได้เลยว่าคุณภาพชีวิตของคนดีขึ้นหรือไม่ ป่าที่ปลูกช่วยไม่ให้โลกร้อนเพราะที่เห็นป่าก็ยังโดนตัดมาก น้ำก็ยังเห็นเน่าทั้งในและนอกสภา ดูแล้วยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้น การจัดตั้งโรงเรียนดัดสันดานเด็กก็มีเพิ่มอีกหลายแห่ง"นายบัณฑูรกล่าว

โดยการทำธุรกิจในยุคปัจจุบันทุกคนล้วนติดกับดักทุนนิยมทั้งสิ้น ส่งผลให้เป้าหมายหลักในการทำธุรกิจคือ ผลกำไรซึ่งจะเป็นตัวตัดสินบริษัทนี้ดีและมีความน่าลงทุนหรือไม่ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวถือว่าเป็นความจริงที่ทุกคนต้องเผชิญ อย่างไรก็ตาม มองว่าการทำเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมนั้น คือการที่บริษัททำเพื่อธุรกิจ คิดค้นผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมใหม่ๆ ให้บริษัทสามารถอยู่รอดได้ แรงงานอยู่รอดได้ เศรษฐกิจก็จะดีตามไปด้วย ซึ่งถือเป็นการรับผิดชอบต่อสังคมส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญ และเมื่อบริษัทอยู่รอดได้และมีกำไรก็สามารถจะไปช่วยเหลือสังคมในส่วนอื่นๆได้อีกโดยไม่เป็นภาระกับบริษัท

คลังหารือ ธปท.อัดฉัดงบปี 51

นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง กล่าวภายหลังการประชุมกับนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ว่า การหารือกับธปท.ในครั้งนี้ ก็เพื่อซักซ้อมความเข้าใจร่วมกันระหว่างธปท.กับกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับงบประมาณประจำปี 2551 ที่จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2550 ที่จะถึงนี้ เนื่องจากการเข้าสู่งบประมาณใหม่ก็มีความเกี่ยวข้องกับธปท.ทั้งในเรื่องของการก่อหนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณ และสภาพคล่องในระบบ ทั้งนี้ เพื่อให้ภาพรวมเศรษฐกิจเดินหน้าไปอย่างมีประสิทธิภาพ

"แบงก์ชาติเป็นผู้แลเศรษฐกิจโดยภาพรวม ซึ่งก็มีความเกี่ยวข้องกับการกับงบประมาณ ดังนั้น จึงต้องมีการพูดคัยกันเป็นระยะๆ เพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณได้ผล"รมว.คลัง กล่าว

ส่วนทางด้านนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนนั้น นายฉลองภพกล่าวว่า ขณะนี้ถือว่าค่าเงินบาทเสถียรภาพ แต่ก็ยังต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากเกินไป โดยเฉพาะในช่วงที่เงินดอลลาร์อ่อนค่า


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.