สมาชิก "อินทนนท์กอล์ฟแลนด์" ร่วม 200 คนแห่คืนค่าสมาชิก เพื่อเรียกร้องสิทธิ์และทวงถามเจ้าของโครงการ
เวลาผ่านมาปีกว่าไม่มีอะไรคืบหน้าแถมยังมีปัญหาเรื่องฟ้องร้องจนถึงขั้นอายัดโฉนดที่ดินกันวุ่นวาย
ระหว่างหุ้นส่วนกับธนาคารทหารไทยผู้สนับสนุนโครงการมาตั้งแต่ต้น
อินทนนท์ กอล์ฟแลนด์แอนด์ คันทรีคลับเป็นอีกโครงการหนึ่งที่เกิดขึ้นตามสมัยนิยมเมื่อปี'33
ในสถานที่ใกล้เคียงวนอุทยานดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ บนพื้นที่ 1,700
ไร่ ด้วยความร่วมมือของวีระจิตราภิรมย์และชาญไชย ภัทรานนท์ มีทุนจดทะเบียน
120 ล้านบาท และสนับสนุนโครงการโดยธนาคารทหารไทย จำกัด มีระยะเวลาเสร็จสิ้นโครงการประมาณเดือนตุลาคม
2535 นี้
โครงการดังกล่าวได้แบ่งพื้นที่กว่า 1,000 ไร่นี้ออกเป็นแปลง ๆ ละ 1 ไร่ขายในราคา
800,000 บาทได้เริ่มต้นขายพื้นที่บนกระดาษโดยใช้ระยะเวลาเพียง 6 เดือน กล่าวกันว่าโครงการก็ขายหมดไปกว่า
60% ทั้งนี้เพราะเจ้าของโครงทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในวงกว้าง
ชาญ ไชยภัทรานันท์มีสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นในสายทหารเป็นอย่างดี แม้แต่
"คุณหญิงหลุยส์" (ภรรยา พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ) ยังเจียดเงินซื้อโครงการนี้ไม่น้อยกว่า
3 แปลงด้วยกัน และในวันเปิดตัวโครงการผู้บัญชาการทหารสูงสุดและ ผบ. ทบ. ได้มาเป็นประธานในวันเปิดตัวอีกด้วย
สมาชิกส่วนใหญ่กว่า 50% เป็นฝีมือของชาญแทบทั้งสิ้น
ในขณะที่ฝ่ายวีระ จิตราภิรมย์ ซึ่งเป็นคนเมืองเหนือที่ร่ำรวยมาจากงานรับเหมาก่อสร้างกินอาณาเขตภาคเหนือมาตั้งแต่หนุ่มมีประสบการณ์เกี่ยวกับงานก่อสร้าง
และโครงการต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 30 ปี เขาจึงเป็นผู้ที่รู้จักกันดีในสายของหน่วยงานราชการ
พ่อค้า นักธุรกิจ และนักการเมืองมากมาย
ทั้งชาญแลวีระได้จับมือร่วมกันทำโครงการนี้ขึ้นมาเพราะเห็นศักยภาพของกันและกัน
นอกจากนี้ตลาดธุรกิจนี้ยังอยู่ในความสนใจของประชาชนทั่วไป คนกรุงอยากมีสถานที่ต่างอากาศและสนามกอล์ฟเป็นของตนเองยังมีอีกมาก
ส่วนนักเก็งกำไรก็มีเช่นกัน ชาญจึงรับหน้าที่ในการทำตลาดหาสมาชิกในขณะที่วีระรับงานก่อสร้างโครงการ
อย่างไรก็ตามโครงการนี้มีทีท่าว่าจะไปได้สวยหรูหากไม่สะดุดปัญหาที่เป็นเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องเสียก่อน
นั่นคือความแตกแยกของหุ้นส่วนระหว่างวีระกับชาญ ถึงขนาดมีการฟ้องร้องกันขึ้นโรงขึ้นศาล
ซึ่งมีผลกระทบไปถึงโครงการสนามกอล์ฟที่ต้องสะดุดหยุดลงด้วย
"ตอนนี้พวกเราคิดว่าจะขอคืนสัญญายกเลิกการซื้อขายสมาชิก เพราะเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคงต้องใช้ระยะเวลากว่า
5 ปีคดีจึงจะคลี่คลาย และในระหว่างเป็นคดีฟ้องร้องและอายัดที่ดินกันอยู่นี้
การดำเนินงานก่อสร้างในที่ดินที่มีปัญหาก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการใด ๆ ต่อไปได้
ไม่รู้ว่าจะต้องรอไปนานเท่าไร ทั้ง ๆ ที่เขาสัญญาว่าโครงการนี้จะเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ถ้าเรื่องเป็นอย่างนี้แล้วคงยืดเยื้อแน่นอน"
เป็นคำกล่าวของสมาชิกท่านหนึ่งโอดโอยให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวคือการฉ้อฉลของฝ่ายวีระ โดยชาญเป็นโจทย์ยื่นเรื่องต่อศาลฟ้องวีระเป็นจำเลยในข้อหาปลอมแปลงเอกสาร
ยกเลิกลายเซ็นกรรมการผู้มีอำนาจเบิกจ่ายเงินซึ่งต้องมี 2 ลายเซ็นขึ้นไปเป็นมีอำนาจเซ็นเบิกจ่ายเงินลำพังเพียงคนเดียว
ทำให้วีระสามารถเบิกเงินไปใช้โดยพลการได้
"ว่ากันว่ามีการนำเงินไปใช้ผิดประเภท เช่น ซื้อที่ดินในนามของตนเองเป็นต้น"
สมาชิกท่านหนึ่งเล่าให้ฟัง "ไม่จริงหรอกเอาที่ไหนมาพูด" เป็นคำปฏิเสธจากวีระทันทีเมื่อมีการสอบถาม
ซึ่งวีระท้าให้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเขาได้ทันที
นอกจากนี้บรรดาสมาชิกยังมีความคลางแคลงใจต่อวีระในเรื่องของการซื้อที่ดิน
ซึ่งกำหนดทั้งโครงการมี 1,700 ไร่แต่ในความเป็นจริงมีเพียง 1,400 ไร่เท่านั้น
เพราะยังมีที่ดินบางส่วนที่โครงการยังซื้อไม่ได้แต่ทำเป็นแปลงแบ่งขายไปแล้ว
ซึ่งในที่สุด เมื่อมีการเจรจาขอซื้อที่ดินดังกล่าวกับเจ้าของที่ดินไม่ได้
จึงต้องมีการโยกย้ายเปลี่ยนแปลงไปบางส่วนโดยไม่มีการแจ้งให้สมาชิกรู้อีกด้วย
8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาจึงเสมือนเป็นการเปิดตัวของวีระให้บรรดาสมาชิกซักฟอกในกรณี
ที่มีข้อสงสัยและได้มีการพาสมาชิกไปดูสถานที่ที่ทำโครงการ ซึ่ง 1 ปีที่ผ่านมาเพิ่งเริ่มกรุยทางถางป่า
กำหนดหลุมก่อนหน้าที่จะมีการพาสมาชิกมาดูสถานที่เพียง 37 วันเท่านั้น
"เขายอมลงทุนซื้อตั๋วเครื่องบินไปกลับกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ให้สมาชิกเลยทีเดียว
นอกจากนี้ยังจัดบริการรถรับส่งและพาเที่ยวเมืองเชียงใหม่อีกด้วยคาดกันว่างานนี้วีระทุ่มไปไม่ต่ำกว่า
500,000 บาทรวมทั้งงบประชาสัมพันธ์ด้วย" สมาชิกกล่าว
แม้ว่าบรรดาสมาชิกสนามกอล์ฟจะติดปัญหาเรื่องที่ดินโดนอายัดและยังเป็นคดีความที่ยังต้องรอการพิจารณา
ซึ่งเขาต้องการคำตอบแต่สิ่งที่ได้มาคือ
"ถึงแม้ผมจะติดคุกโครงการนี้ก็จะยังคงดำเนินต่อไป" วีระพันธ์
จิตราภิรมย์ ลูกชายผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของวีระกล่าวย้ำอย่างหนักแน่น แต่นั่นไม่ใช่คำตอบที่สมาชิกพอใจในการขอคืนสิทธิ์การเป็นสมาชิกในขณะนี้เริ่มทะยอยเป็นกระแสโต้คลื่น
จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองกันว่าภายในกลางเดือนมีนาคมนี้ คดีนี้จะมีการตัดสินกันอย่างไร
และโครงการ 1,360 ล้านบาทนี้จะอยู่ต่อไปหรือไม่