"ได้เปรียบต้นทุน อีก 5 ปีบางจากฯ ขอแชร์ตลาด 6%"


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (บางจาก) ในปัจจุบันได้กลายเป็นดาวดวงใหม่ในวงการน้ำมันที่ทอแสงเจิดจ้าขึ้นทุกขณะจากที่เคยทำธุรกิจเฉพาะ การกลั่นก็ขยายสู่ตลาดค้าปลีกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

"ปี 2535 เป็นต้นไป เราจะรุกอย่างรวดเร็ว" สุมิตร ชาญเมธี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บางจากฯ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงทิศทางการตลาด ค้าปลีกว่าจะเข้าร่วมวงไพบูลย์กับผู้ค้ำน้ำมันรายใหญ่ 4 ราย ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เชลล์ เอสโซ่และคาลเท็กซ์ กระทั่งรายใหม่อย่างบีพี คิว-8

บางจากฯ ถือเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีโครงสร้างการบริหารในรูปแบบบริษัทที่มีกิจการโรงกลั่นถือหุ้นโดยกระทรวงการคลัง ปตท. และธนาคารกรุงไทย จึงเป็นโรงกลั่นแห่งเดียวที่เป็นของคนไทย 100% ต่างกับโรงกลั่นไทยออยล์ซึ่งมีเชลล์ คาลเท็กซ์ ร่วมทุนหรือเอสโซ่ก็เป็นของเอสโซ่โดด ๆ

ความเป็นโรงกลั่นของคนไทยนับเป็นจุดขาย และจุดเด่นของบางจากฯ ดังที่ผู้บริหารที่นี่จะยกกล่าวอยู่เนือง ๆ ขณะที่ตลาดค้าน้ำมันมักจะเป็นผู้ค้าบริษัทน้ำมันต่างชาติเสียเป็นส่วนใหญ่

ตรงนี้จึงเป็นช่องว่างในแง่จิตวิทยาทางการตลาดว่า ในเวทีตลาดน้ำมันยังไม่มีบริษัทน้ำมันของคนไทยอย่างแท้จริง แม้ว่าจะมี ปตท. เป็นเครื่องมือและกลไกของรัฐในเรื่องน้ำมันอยู่แล้วก็ตาม แต่สภาพที่ ปตท. ไม่มีโรงกลั่นและอยู่ภายใต้โครงสร้างรัฐวิสาหกิจ ถึงจะมีการผ่อนปรนระเบียบที่บังคับใช้ และ ปตท. ถือหุ้นในบางจากฯ ด้วยก็ตาม ทว่า..ตลอดเวลาที่ผ่านมาได้เกิดความขัดแย้งระหว่าง 2 องค์กรนี้อยู่เป็นระยะเสมอ

ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้มีการแข่งขันกันมากขึ้น บางจากฯ จึงเข้าสู่ตลาดค้าปลีกได้อย่างชอบธรรม

จะเห็นว่าบางจากฯ ได้เริ่มแผนประชาสัมพันธ์ด้านตลาดผ่านสื่อทุกชนิดว่าน้ำมันที่บางจากฯ ขายว่าเป็น "คุณภาพตรงจากโรงกลั่น" และเป็น "บริษัทน้ำมันของคนไทย" จนเป็นที่คุ้นเคยของผู้คนดี เมื่อปลายปีที่แล้ว บางจากฯ จึงเริ่มตั้งปั๊มน้ำมันโลโก "บางจาก" อย่างสมบูรณ์เป็นปั๊มแรก ซึ่งเป็นปั๊มของทหารอากาศ โดยมี พล. อ. อ. เกษตร โรจนนิลเป็นประธานเปิด

สุมิตรกล่าวว่ารูปธรรมที่เกิดขึ้นถือว่าบางจากฯ ทำในสถานะที่เป็นกลไกด้านตลาดของรัฐและบางจากฯ จะปฏิบัติใน 2 ทิศทาง คือ เป็นบริษัทคนไทยที่เข้าไปมีบทบาทแข่งขันเรื่องน้ำมันของประเทศในระดับที่จะมีส่วนครองตลาดเกิน 10% ในระยะยาวเพื่อกระตุ้นการแข่งขันและเป็นกลไกเสริมตลาดให้บริษัทเอกชนไทยมีส่วนครองตลาดมากขึ้นกว่าปัจจุบัน ซึ่ง 91% จะเป็นตลาดของผู้ค้ารายใหญ่และผู้ค้าต่างประเทศ

แต่ถ้าดูส่วนครองตลาดขณะนี้ ปตท. ครองตลาดน้ำมันเป็นที่ 3 รองจากเอสโซ่และเชลล์ในระดับ 20% เศษ

นับแต่นี้ไป การกระจายสัดส่วนตลาดจะเป็นเป้าหมายของบางจากฯ โดยจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกที่จำเป็นก็คือ "การกระจายสู่คนจน และเกษตรกร หรือปั๊มน้ำมันเกษตร ด้วยการดึงสหกรณ์การเกษตร ที่มีอยู่ 1,400 แห่งทั่งประเทศเข้ามาขายน้ำมันเพื่อสมาชิกของตนตลาดส่วนนี้จะใช้น้ำมันปีละ 800 ล้านลิตรหรือประมาณ 3% ของทั่วประเทศ" สุมิตรกล่าวถึงแผนกระจายตลาดน้ำมันสู่ชนบท ขณะนี้ทำไปแล้ว 22 แห่ง และปีนี้จะทำให้ได้อีกประมาณ 100 แห่ง

วิธีการก็คือ ติดต่อแต่ละจังหวัด ถ้าทางจังหวัดเห็นด้วยและตกลงจะทำ ก็จะทำพร้อมกันทั้งจังหวัด

ส่วนที่ 2 คือตลาดปั๊มน้ำมันทั่วไป หรือปั๊มโลโกบางจากรูปใบไม้นั่นเอง

"ปั๊มบางจากที่เปิดไปแล้วคือที่ดอนเมือง ที่อยุธยา 2 แห่ง ลพบุรีและนครปฐม จังหวัดละหนึ่งแห่ง และจะสร้างปั๊มตัวอย่างที่ลงทุนเองทั้งหมดบริเวณหน้าโรงกลั่นให้เป็นต้นแบบของปั๊มบางจากทั่วไป ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในเร็ว ๆ นี้" สุมิตรกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมสู่ตลาดค้าปลีก

ทั้งนี้ ตั้งเป้าไว้ว่าปีนี้จะสร้างปั๊มอีก 50 แห่ง และทยอยสร้างให้ครบ 400 แห่งในอีก 5 ปีหรือประมาณปี 2539

สุมิตรวาดหวังว่าเมื่อครบ 400 แห่ง บางจากฯ จะมีส่วนครองตลาดประมาณ 10% ของตลาดค้าปลีก หรือประมาณ 10% ของตลาดค้าปลีก หรือประมาณ 6% ของตลาดน้ำมันทั้งประเทศ ถ้ารวมส่วนของตลาดเพื่อเกษตรกรอีก 1% ก็จะเป็น 7% ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมกลยุทธ์เพื่อเดินสู่เป้าหมาย

นอกจากนี้ บางจากฯ ยังได้ออกผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นสำหรับรุกตลาดอย่างครบวงจรเรียกว่า "บางจากกรีน่า" คือ

กรีน่า ดี-วัน น้ำมันเครื่องดีเซลสูตรพิเศษเกรดรวม SAE 15 W-40 ใช้สำหรับงานหนักอย่างรถบรรทุก

กรีน่า ดี-ทู น้ำมันเครื่องดีเซลสูตรมาตรฐาน ผสมสารเพิ่มคุณภาพ เพื่อเพิ่มสมรรถนะให้กับเครื่องยนต์ใช้งานหนักทุกประเภท

กรีน่า ทู-ที โลว์สโมคน้ำมันเครื่องรถมอเตอร์ไซค์ 2 จังหวะ ผสมสารสังเคราะห์ PIB ใช้ลดควันขาว

กรีน่า จี-อี น้ำมันเครื่องเบนซินเกรดรวม SAE 20 W-50 ซึ่งจะทนแรงกดดันและอุณหภูมิสูง ๆ ของไทยได้ดี

บางจากฯ ใช้สโลแกนเปิดตัวน้ำมันเครื่องเหล่านี้ว่า "รู้จักเมืองไทย รู้ใจคนขับ" โดยเริ่มวางตลาดตามปั๊มน้ำมันบางจากทุกแห่งและร้านค้าทั่วไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ภาพลักษณ์เหล่านี้คือความเคลื่อนไหวที่บางจากฯ ประกาศให้รู้ว่าตนเริ่มลงสู่ตลาดค้าปลีกอย่างเต็มตัวแล้ว

เป้าหลักที่ต้องการก็คือ "การกระจายส่วนครองตลาดจากผู้ค้ารายใหญ่ 4 รายไปสู่รายอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันในระบบราคาน้ำมันลอยตัวเป็นเรื่องจำเป็นและควรจะมีผู้ค้ารายใหญ่ที่มีส่วนครองตลาดไม่น้อยกว่า 10% ต่อราย หรือทั้งหมดประมาณ 8 ราย เพื่อว่าจะได้มีการแข่งขันในเรื่องราคามากขึ้น จะไม่มีใครกำหนดอะไรได้ตามใจชอบ และด้านความมั่นคงในการจัดหาก็จะมากขึ้น" สุมิตรฉายภาพตลาดในอุดมคติโดยบางจากฯ จะเป็นแหล่งผู้ค้าให้กับบริษัทต่างชาติและคนไทยรายใหม่

ที่สำคัญ บางจากฯ จะเป็นหนึ่งในผู้ค้ารายใหญ่ คือครองตลาด 10% ขึ้นไปในระยะยาว แต่ในระยะ 5 ปีนี้ ขอแค่ 6% ก็พอใจ

อย่างไรก็ตาม บางจากฯคงต้องใช้ความพยายามและเวลาในการพิสูจน์สมมุติฐานและฝันใหม่ที่ถักทอขึ้นมาอย่างมากทีเดียว…!

ด้วยเหตุว่า ในแง่ของการแข่งขันเสรีเต็มตัวแล้ว "คงไม่อาจไปกำหนดให้ผู้ค้าแต่ละรายมีส่วนครองตลาดในปริมาณที่เท่า ๆ กันได้ แต่จะขึ้นกับฝีมือและความสามารถในการรุกตลาดของแต่ละบริษัท" แหล่งข่าวระดับสูงวงการน้ำมันตั้งข้อสังเกต

"เพราะขณะนี้บางจากฯ ยังเพิ่งจะเริ่มต้นในตลาดค้าปลีกยังไม่ต้องลงทุนในเรื่องของคนและเครื่องมือที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นต้นทุนที่จะเกิดขึ้นกับบางจากฯ เมื่อทำตลาดค้าปลีกในปริมาณมาก และไม่น่าที่จะทำให้บางจากฯ ขายน้ำมันถูกกว่ารายอื่นถึงลิตรละ 10-20 สตางค์ได้ตลอดไป ที่ทำได้ตอนนี้เพราะโรงกลั่นบางจากไม่ต้องเสีย 2% ของรายได้แก่รัฐเหมือนโรงกลั่นอื่น นับเป็นจุดที่ถัวต้นทุนกันได้"

วันเวลาคงจะเป็นตัวพิสูจน์ว่าบางจากฯ จะเดินไปถึงเป้าหมายได้อย่างภาคภูมิใจหรือไม่ ..!?!?



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.