|
คาดธุรกิจประกันชีวิตปี51โต10% เน้นขายผ่านแบงก์-ดบ.ขาลงหนุน
ผู้จัดการรายวัน(24 กันยายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
รัฐ-เอกชนประสานเสียงธุรกิจประกันชีวิตปี 51ยังขยายตัวได้ดีคาดโตไม่ต่ำกว่า 10% โดยผ่านช่องทางการขายผ่านธนาคารเป็นหลัก ส่วนช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาโต 17% โดยการประกันประเภทกลุ่มรุ่งสุดมียอดเพิ่ม 30% แนะผู้ประกอบการเน้นให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและการบริการที่ดีมีความซื่อสัตย์ ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต
นางสาวชำเลือง ชาติสุวรรณ นักบริหาร 9 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิต ปี 2551 ว่า การเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตในปี 2551 นั้นมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 10 % อย่างแน่นอน โดยช่องทางการขายผ่านธนาคาร (Bancasurance) จะเป็นช่องทางที่ส่งผลให้เบี้ยประกันของระบบเติบโตได้อย่างดี
ทั้งนี้ ปัจจัยที่สำคัญของการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตอยู่ที่การให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและการให้บริการที่ดีมีความซื่อสัตย์ จะช่วยผลักดันให้ผู้เอาประกันภัยและประชาชนได้รับประโยชน์จากความคุ้มครองของระบบประกันชีวิต ทำให้ประชาชนมีมั่นใจในการทำประกันซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจมีการเติบโตและมีอัตราการขยายตัวอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต
สำหรับภาพรวมของธุรกิจประกันชีวิตในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมานั้น ธุรกิจมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 17% โดยประเภทของการทำประกันชีวิตที่ขยายตัวค่อนข้างมาก ได้แก่ การประกันประเภทกลุ่มมีการขยายตัวถึง 30% และการประกันประเภทสามัญที่มีการขยายตัว 20% จึงทำให้ภาพรวมของธุรกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของยอดขายประกันชีวิตประเภทสามัญเบี้ยรับปีแรกนั้นมาจากการขายผ่านช่องทางตัวแทน 60.3% Bancasurance 31.8% เทเล มาร์เก็ตติ้ง 4.5% และผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น ไดเร็คเมล์ 3.4%
"การที่ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกค่อนข้างมากและโยงไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำนั้นทำให้ประชาชนต้องเลือกประเภทของการออมที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดและไม่มีการใช้จ่ายเงิน รวมถึงความไม่มั่นใจเกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่หากเกิดขึ้นได้จริงก็จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาอีกครั้งนั้นทำให้ประกันชีวิตจึงมีแนวโน้มจะขยายตัวได้ดีขึ้น เพราะนอกจากความคุ้มครองเมื่อเสียชีวิตแล้ว ยังมีส่วนของเงินออมเก็บสะสมไว้เมื่อยังคงมีชีวิตอยู่ โดยได้รับผลตอบแทนที่ดีอีกด้วย" นางสาวชำเลือง กล่าว
นางสาวชำเลือง กล่าวอีกว่า ช่องทางการขายผ่าน Bancasurance และเทเล มาร์เก็ตติ้งนั้น เป็นช่องทางที่มีการเติบโตสูง เพราะในปัจจุบันเบี้ยประกันรับปีแรกที่จำหน่ายผ่านช่องทางธนาคารพาณิชย์มีการเติบโตขึ้นมาก โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 30% ของเบี้ยประกันชีวิตทั้งระบบ ส่วนเทเล มาร์เก็ตติ้งนั้น เป็นอีกช่องทางที่คาดว่าจะสามารถทำเบี้ยประกันชีวิตให้แก่ธุรกิจได้ค่อนข้างมากในปี 2551 ถึงแม้ในระยะเริ่มต้นจะมีปัญหาเกิดขึ้นบ้าง แต่ทางบริษัทประกันชีวิตได้พัฒนาและปรับปรุงจนดีขึ้น อีกทั้งกรมการประกันภัยได้เข้ามาดูแล โดยบริษัทประกันชีวิตจะต้องส่ง Script คำเสนอขายให้กับกรมการประกันภัยพิจารณาก่อน รวมทั้งข้อมูลที่จำเป็นที่บริษัทประกันชีวิตจำเป็นต้องรับรู้จากประชาชนเพื่อประกอบการพิจารณารรับประกันชีวิตเพื่อเป็นการปกป้องและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนในเบื้องต้นซึ่งทำให้ช่วยลดข้อขัดแย้งระหว่างผู้เอาประกันและบริษัทประกันชีวิตได้
นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวในการเสวนาหัวข้อ "โอกาสและอุปสรรคของช่องทางการขายใหม่"ว่า ธุรกิจประกันชีวิตยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากเนื่องจากคนไทยซึ่งมีอยู่ประมาณ 65 ล้านคน มีอัตราของผู้ที่ทำประกันชีวิตอยู่เพียง 17% เท่านั้น จึงยังมีช่องทางการทำตลาดอยู่มาก โดยจะทำผ่านช่องทางตัวแทนเป็นหลัก และจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถนำรายได้ค่าธรรมเนียมในการขายประกันบันทึกเป็นรายได้นั้นทำให้ธนาคารมีการรุกตลาดในส่วนนี้อย่างจริงจัง อีกทั้งในส่วนของเทเลมาร์เก็ตติ้งและไดเร็คเมล์นั้นยังถือว่าไปได้ดี และการที่กระทรวงศึกษาธิการได้บรรจุธุรกิจประกันชีวิตไว้ในหลักสูตรนั้นทำให้ประชาชนคนไทยมีความเข้าใจประกันชีวิตว่ามีความสำคัญอย่างไรมากขึ้นด้วย
ด้านนายบัณฑิต เจียมอนุกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ บริษัทไทยพาณิชย์ นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การขายประกันผ่านช่องทางธนาคาร หรือ Bancasurance นั้นมีบทบาทสำคัญกับการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตเป็นอย่างมาก โดยในสิ้นเดือนมิถุยายนปีนี้ธุรกิจประกันชีวิตในส่วนของเบี้ยประกันรับปีแรกมีการเติบโตถึง 43 % ซึ่งในส่วนของ Bancasurance มีการเติบโตถึง 98 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 28 % ของช่องทางการจำหน่ายทั้งหมด ซึ่งทิศทางของช่องทางนี้ยังค่อนข้างสดใส และมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาโดยตลอด เพราะฐานลูกค้าธนาคารจำนวนมากยังไม่ได้มีการถือกรมธรรม์ประกันชีวิต ดังนั้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะเห็นถึงการพัฒนาทางการตลาดและรูปแบบกรมธรรม์ที่หลากหลายเพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าของธนาคาร
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|