|
โบรกเกอร์ต่างชาติร้องตลาดหุ้นไทยจี้ทบทวนค่าคอมฯ
ผู้จัดการรายวัน(24 กันยายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
โบรกเกอร์ต่างชาติ 6 แห่งที่มีสำนักงานในไทยรวมตัวยื่นหนังสือร้องเรียนต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ โอดไม่ได้รับความเป็นธรรมถูกคิดค่าคอมมิชชั่นสูงกว่าโบรกเกอร์ต่างชาติที่ไม่มีสำนักงานในไทย วอนให้ทบทวนการทำสัญญา Exclusive Partner พร้อมระบุ การทำเฮียริ่งขาดความโปร่งใส ด้านนายกสมาคมบล.ชี้บอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมถกข้อร้องเรียนในการประชุมเดือนนี้ แต่จะมีการทบทวนหรือไม่ขึ้นอยู่การพิจารณาจากเป็นผู้ออกเกณฑ์ดังกล่าว
นายกัมปนาท โลหเจริญวนิช นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ (สมาคมโบรกเกอร์) ในฐานะรองประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศที่มีสำนักงานประกอบธุรกิจในประเทศไทย ได้มีการยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้ทบทวนเรื่องการทำสัญญาการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนในลักษณะคู่ค้า (Exclusive Partner)
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเดือนนี้ จะหยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพิจารณา ส่วนผลจะออกมาอย่างไรนั้นต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ
"ที่ผ่านมาสมาคมโบรกเกอร์ได้มีการเชิญโบรกเกอร์ต่างๆ หารือในเรื่องข้อดีข้อเสียของการทำ Exclusive Partner แต่จากการที่โบรกเกอร์ต่างชาติมีการร้องเรียนเรื่องดังกล่าวนั้นจะต้องให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นผู้พิจารณา เพราะถือเป็นผู้ออกหลักเกณฑ์ดังกล่าว" นายกัมปนาท กล่าว
แหล่งข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า กลุ่มโบรกเกอร์ต่างประเทศที่มีสำนักงานประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทยจำนวน 6 บริษัท ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อขอให้ทบทวนกฎเกณฑ์การทำสัญญา Exclusive Partner ใหม่ เนื่องจากมองว่าการทำสัญญาในลักษณะดังกล่าวไม่มีความเป็นธรรม เพราะโบรกเกอร์ทั้ง 6 แห่งเป็นโบรกเกอร์ต่างประเทศที่ลงทุนมาตั้งสำนักงานในประเทศไทยจะถูกคิดค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ (คอมมิชชัน) ในอัตราปกติที่ 0.25%
ขณะที่โบรกเกอร์ต่างประเทศบางรายที่ไม่ได้ลงทุนตั้งสำนักงานในประเทศไทย แต่ได้มีการทำสัญญา Exclusive Partner กลับได้รับค่าคอมมิชชั่นในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราปกติ อาทิ บล.บัวหลวง และ Morgan Stanley Asia Limited (MSAL) ได้ทำสัญญา Exclusive Partner จะมีการคิดค่าคอมมิชชันกับ MSAL ในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของอัตราค่าธรรมเนียมที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดเท่านั้น
นอกจากนี้ รวมถึงโบรกเกอร์ต่างชาติทั้ง 6 แห่งไม่ทราบรายละเอียดการทำสัญญา Exclusive Partnerมาก่อน จึงมองว่าการสำรวจความคิดเป็น (เฮียร์ริ่ง)ในเรื่องดังกล่าวไม่ถูกต้องโปร่งใสจึงต้องการให้มีการทบทวนในเรื่องนี้
"การทำเฮียร์ริ่งเรื่องนี้นั้นทำถูกต้องตามขั้นตอน แต่อาจเป็นไปได้ว่าโบรกเกอร์เหล่านี้ไม่ได้มาประชุมในวันที่มีการทำเฮียริ่ง และโดยมากโบรกเกอร์ต่างประเทศก็ไม่ค่อยมาประชุมเองมักจะส่งเจ้าหน้าที่มาประชุมแทน เนื่องจากเห็นว่ากฎเกณฑ์ส่วนใหญ่จะเป็นกฎที่เกี่ยวกับผู้ลงทุนในประเทศซึ่งไม่ตรงกับฐานลูกค้าของโบรกเกอร์เหล่านี้ จึงไม่ค่อยให้ความสนใจที่จะมาร่วมประชุมสมาชิกเท่าไรนัก"แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับก่อนหน้านี้โบรกเกอร์ทั้ง 6 แห่ง ได้ขอให้สมาคมโบรกเกอร์ หยิบรายละเอียดของกฎเกณฑ์นี้ขึ้นมาทบทวนกันใหม่ ซึ่งทางสมาคมฯ ก็ได้เชิญสมาชิกที่เกี่ยวข้องมาหารือ และจากการประชุมในวันดังกล่าวสมาชิกทุกรายมีความเห็นว่ากระบวนการทำเฮียริ่งเป็นไปด้วยความถูกต้องโปร่งใส จึงไม่ได้นำเกณฑ์นี้มาทบทวนใหม่ ทำให้โบรกเกอร์ทั้ง 6 รายต้องทำหนังสือยื่นร้องเรียนไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแทน
อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ เชื่อว่าทางตลาดหลักทรัพย์จะหยิบขึ้นมาทบทวนใหม่อย่างรอบคอบ โดยดูว่าขั้นตอนการทำเฮียริ่งเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่ ขณะเดียวกันก็คงดูผลกระทบจากการทำสัญญาในลักษณะดังกล่าวด้วย หากพบว่ามีผลกระทบจริง ก็เป็นไปได้ที่ตลาดหลักทรัพย์จะลงมาดูรายละเอียดของกฎเกณฑ์นี้ใหม่
นายจงรัก ระรวยทรง กรรมการผู้อำนวยการสมาคมโบรกเกอร์ กล่าวว่า ทั้ง 6 โบรกเกอร์ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังตลาดหลักทรัพย์เพื่อขอให้ทบทวนกฎเกณฑ์ในเรื่องเอ็คซ์คลูซีฟพาร์ทเนอร์ใหม่จริง ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ก็คงต้องหารือกับโบรกเกอร์สมาชิก เพื่อดูว่าจะดำเนินการอย่างไรกับเรื่องเหล่านี้ ซึ่งกระบวนการทำเฮียริ่งในกฎเกณฑ์ดังกล่าวถือว่าเป็นไปด้วยความโปร่งใส โดยมีการทำเฮียริ่งไปพร้อมกับเรื่องโครงสร้างค่าคอมมิชชัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|