"30 ล้านเหรียญที่ริโอ ทำไมจึงเกิดขึ้นที่นั้น?"


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

เหลือเวลาอีกเพียงไม่ถึง 3 เดือน ก็จะถึงการประชุมครั้งสำคัญของสหประชาชาริเรื่องสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนา -UNITED NATIONS CONFERENCE ON ENVIRONMENT AND DEVELOPMENT (UNCED) หรือเรียกกันว่า EARTH SUMMIT ที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล

สมัชชาสหประชาชาติกำหนดให้สมาชิกประเทศระดับประมุข หรือหัวหน้ารัฐบาลตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรอาสาสมัคร องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคธุรกิจ เข้าร่วมการประชุมในระหว่างวันที่ 1-12 มิถุนายน 2535 เพื่อสร้างความร่วมมือระดับโลก ทั้งจากประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้ว บนพื้นฐานความจำเป็นและประโยชน์ร่วมกันเพื่ออนาคตของมนุษยชาติและโลกใบนี้

ความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมโลกมิใช่เป็นเรื่องที่พูดกันมากเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น ทว่าสหประชาชาติได้ตระหนักถึงปัญหานี้มานานเกือบ 20 ปี และหยิบยกพูดคุยครั้งแรกในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ 113 ประเทศว่าด้วยเรื่อง สิ่งแวดล้อมของมนุษย์- UNITED NATIONS CONFERENCE ON THE HUMAN ENVIRONMENT เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2515 ที่ สตอกโฮล์ม โอเปร่า เฮาส์ ประเทศสวีเดน

ในครั้งนั้นประเทศบราซิลในฐานะตัวแทนของประเทศกำลังพัฒนา แสดงเจตจำนงว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมอันดับแรกที่สำคัญสุด คือความยากจนและความด้อยพัฒนา รวมทั้งยังยืนยันว่าการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจแต่จะต้องไม่ส่งผลกระทบและขัดขวางต่อการพัฒนาของประเทศด้วย

แม้ว่าการประชุมที่สตอกโฮล์มท่าทีของประเทศต่าง ๆ จะเห็นด้วยในหลักการแต่ในทางปฏิบัติแล้วมีความคืบหน้าน้อยมาก จนกระทั่งเวลาล่วงเลยไปถึง 15 ปี คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาโลกเสนอรายงานการศึกษา OUR COMMON FUTURE ในการประชุมสามัญของสมัชชาสหประชาชาติ พ.ศ. 2530 ชี้ชัดว่ามนุษยชาติต้องตกอยู่ในภัยอันตราย ถ้ายังฝืนมุ่งแต่พัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบที่เป็นอยู่โดยปราศจากการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมโลก

สมัชชาสหประชาชาติตอบรับด้วยการลงมติในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2532 ให้จัดการประชุมสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนา หรือ UNCED ขึ้นมุ่งหมายหาหนทางสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืน ดังข้อเสนอแนะของ OUR COMMON FUTURE หรือที่ต่อมามักเรียกกันว่า BRUNDT LAND COMMISSION ซึ่งได้มาจากชื่อของประธานคณะกรรมาธิการ คือ อดีตนายกรัฐมนตรี GRO HARLEM BRUNDTLAND ของประเทศนอร์เวย์

นอกจากนี้แล้วสมัชชายังตกลงใจรับคำเชิญของประเทศบราซิลให้เป็นประเทศจัดเตรียมการประชุม UNCED ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ในการประชุมครั้งแรกที่กรุงสตอกโฮล์ม

"อีกเหตุผลหนึ่งดิฉันคิดว่า เพราะบราซิลมีพื้นที่ป่าไม้ใหญ่ที่สุดในโลกคือ ป่าอเมซอนแต่ในขณะเดียวกันบราซิลก็กำลังประสบปัญหามลพิษจากการพัฒนาอุตสาหกรรมรวมทั้งความยากจนก็ยังคงมีอยู่ ฉะนั้นภาพสองด้านที่ตัดกันอาจเป็นสัญลักษณ์ที่ดีสำหรับการจัดประชุมที่นี่" BARBARA MUSSI ที่ปรึกษาประจำสถานทูตบราซิลในประเทศไทยให้ความเห็น

หลังจากรับมติแล้ว ประธานาธิบดี FERNANDO COLLOR DE MELLO ของบราซิลกำหนดให้เมืองริโอ เดอ จาเนโร เป็นสถานที่สำหรับการประชุม

เมืองริโอ เดอ จาเนโรเคยเป็นเมืองหลวงเก่าของประเทศบราซิลเกือบ 200 ปีก่อนที่เมืองบราซิเลียจะถูกสถาปนาเป็นเมืองหลวงแห่งที่ 3 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2503 เมืองริโอเป็นเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิล มีชายหาดที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงทั่วโลกคือหาด COPACABANA และ IPANEMA

หอประชุม RIO CENTRO สถานที่ประชุมของ EARTH SUMMIT อยู่ห่างจากหาดโคปาคาบานา 30 กิโลเมตร RIO CENTRO ได้รับการปรับปรุงตกแต่งเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องของอุปกรณ์การสื่อสารของผู้ร่วมประชุมและนักข่าว อาทิโทรศัพท์ 4,000 สาย โทรพิมพ์ โทรสาร บริเวณหอประชุมมีบริการร้านอาหาร ร้านขายของ ศูนย์พยาบาลพร้อมทั้งรถพยาบาลและเฮลิคอปเตอร์ในกรณีฉุกเฉิน

นอกจากนี้แล้วยังอำนวยความสะดวกเรื่องการเดินทางโดยแต่ละประเทศจะมีรถยนต์บริการพร้อมคนขับแก่ประมุขหรือตัวแทนรัฐบาล 1 คัน และมีรถประจำทางขนาดเล็กอีก 2 คันในกรณีที่ไม่เพียงพอ

เป็นที่คาดการณ์ว่าผู้ร่วมการประชุมทั้งหมดจาก 160 ประเทศจะเดินทางมาบราซิลมากกว่า 50,000 คน เพราะมิเพียงแต่เมืองริโอเมืองเดียวเท่านั้นที่จัดการประชุม ยังมีการประชุมของกลุ่มเอกชนหลายกลุ่มในอีกหลายเมืองด้วยกัน ตั้งแต่ประมาณกลางเดือนพฤษภาคมจนถึงกลางเดือนมิถุนายน เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่ง "มหกรรมการประชุมเพื่อสิ่งแวดล้อม" ก็คงไม่ผิดนัก

เริ่มด้วย THE INDIGENOUS PEOPLE'S CONFERENCE ผู้นำท้องถิ่นของแต่ละประเทศจะมาร่วมกันถกเถียงและร่างนโยบายเสนอต่อที่ประชุม UNCED เพื่อเป็นหลักประกันว่าการตกลงใด ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจะไม่กระทบต่อคนพื้นเมือง การประชุมจะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 20-31 พฤษภาคม

รัฐบาลเอื้อเฟื้อและสนับสนุนด้วยการออกทุนให้ชาวพื้นเมืองอินเดียนแดง 60 คน สร้างหมู่บ้านจำลอง KARI-OCA ขึ้นสำหรับใช้เป็นห้องประชุม KARI-OCA อยู่ใกล้กับ RIO CENTRO เพียง 12 กิโลเมตร หรือเดินทางด้วยรถยนต์เพียง 10 นาทีเท่านั้น และจะยังไม่รื้อถอนจนกว่าการประชุม EARTH SUMMIT จะเสร็จสมบูรณ์

ในระยะเวลาเดียวกัน 20-24 พฤษภาคมที่เมืองเบโล โฮริซอนเต มีการประชุม GREEN MEDIA ของนักหนังสือพิมพ์ทั่วโลก เพื่อหารือวางบทบาทการเสนอข่าวสิ่งแวดล้อมที่มีเนื้อหาโยงใยกับพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ

ส่วนเมืองคูริติบา ก็มีการประชุม WORLD FORUM OF CITIES ระหว่างวันที่ 28-29 พฤษภาคม เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ปัญหาของสภาพแวดล้อมในเมือง และหาข้อสรุปเสนอต่อ UNCED ด้วย

พอถึงช่วงเวลาสำคัญการประชุม EARTH SUMMIT ของสหประชาชาติ ก็จะมีการประชุมหนาแน่นหลายสาขามากยิ่งขึ้น

ทางองค์กรพัฒนาเอกชนทั่วโลกจัดประชุม THE "92 GLOBAL FORUM ที่โรงแรมกลอเรียซึ่งอยู่ห่างจาก RIO CENTRO พอสมควรประมาณการเดินทางด้วยรถยนต์ 1 ชั่วโมง

นอกห้องประชุมก็มีการแสดงนิทรรศการและร้านจำหน่ายสินค้าของประเทศต่าง ๆ ที่ FLAMENGO PARK ซึ่งอยู่ติดกับโรงแรมกลอเรีย รวมทั้งยังมีการเปิดอภิปรายกลางสวนสาธารณะ "OPEN SPEAKERS FORUM" ทุกวันตลอดการประชุม 12 วันด้วย

ควบคู่กับการประชุม THE EARTH PARLIAMENT ที่ KARI-OCA การสัมมนาทางวิชาการ ECOTECH RIO 92 และ SCIENTFIC PROGRAMME ในบริเวณไม่ห่างไกลนักกับ RIO CENTRO พร้อมด้วยนิทรรศการเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม ECO BRASIL 92 ที่เมืองเซา เปาโล

สำหรับที่ RIO CENTRO ก็ไม่แพ้กัน ด้านนอกหอประชุมมีการแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติรัฐบาลบราซิลและประเทศอื่น ๆ รวมทั้งมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นเมืองให้ชมด้วย

และสำคัญที่สุดคือการเฉลิมฉลอง "วันสิ่งแวดล้อมโลก" 5 มิถุนายน 2535 ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 20 ปี ของการประชุมสหประชาชาติสิ่งแวดล้อมที่กรุงสต็อกโฮล์ม

การประชุมทั้งหลายหน่วยงานรัฐบาลบราซิลให้ความสนับสนุนเต็มที่ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนของบราซิล เพราะถือว่างานสำคัญครั้งนี้มีผลต่อความอยู่รอดของประชาคมโลกซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย

งบประมาณเฉพาะการประชุม EARTH SUMMIT ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมใหญ่ที่บราซิล และค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของสำนักเลขาธิการ UNCED ที่ทำหน้าที่จัดประชุมหาข้อสรุปตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกมาตลอด 2 ปีเศษก่อนจะถึงวันประชุมสุดยอด สหประชาชาติเปิดเผยตัวเลขว่าใช้เงินทั้งหมด 30 ล้านดอลล่าร์ หรือประมาณ 750 ล้านบาท

สำหรับค่าใช้จ่ายในส่วนของประเทศเจ้าของสถานที่ ทางสถานทูตบราซิลประจำประเทศไทยไม่มีข้อมูลเหล่านี้

"มาถึงตอนนี้ ผมคิดว่าการประชุมที่บราซิลคงไม่มีการตกลงในประเด็นสำคัญ ๆ โดยเฉพาะความช่วยเหลือเรื่องเงินทุนแก่ประเทศกำลังพัฒนาคงมีแต่การพูดหลักการที่ดี แต่ไม่มีการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมจริงจัง" วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญผู้อำนวยการโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

หลังจากการประชุม EARTH SUMMIT เสร็จสิ้นแล้วยังมีการประชุมสรุปผลการประชุมดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง ที่เมืองบราซิเลีย เมืองหลวงของบราซิลในเดือนตุลาคม

ซึ่งคงเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายในรอบปีนี้ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ UNCED ส่วนในปีต่อ ๆ ไปการประชุมควรจะมาเบาบางลงจากเดิมที่ผ่านมาตลอด 2 ปีครึ่ง นอกเสียจากว่าจะตั้งเป้าหมายกันใหม่ แล้วเริ่มนับหนึ่งกันอีกครั้งหนึ่ง จนกว่าความพยายามที่เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 20 ปีที่แล้วจะบรรลุผลสมบูรณ์



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.