ธุรกิจยุคใหม่คุมความเสี่ยงบริหารต้นทุน


ผู้จัดการรายวัน(21 กันยายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

เอกชนชี้การบริหารความเสี่ยงยุคใหม่ต้องเป็นระบบและต้องเร่งทำ แบงก์บัวหลวงระบุเป็นโอกาสภาคธุรกิจกู้ลงทุนเพิ่มแม้ดอกเบี้ยยังอาจอยู่ในแนวโน้มลดลงอีก ด้านเจ้าของธุรกิจ เผยช่องลดความเสี่ยงทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าล็อกรายได้ล่วงหน้า ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมเป็นพี่เลี้ยงบริษัทนอกตลาดหวังดึงเข้ามาใช้ตลาดทุนระดมเงิน "ชาติศิริ" จี้แบงก์ชาติไม่จำเป็นต้องบ้าจี้ลดดอกเบี้ยตามเฟด

วานนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) จับมือธนาคารธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จัดสัมมนาเรื่อง 'การบริหารความเสี่ยงยุคใหม่' หวังสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง พร้อมส่งเสริมศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจของลูกค้า เพื่อเชิญชวนให้ลูกค้าที่สนใจในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ได้รับทราบข้อมูลในทุกด้าน

นายสอาด ธีระโรจนวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายบริหารการเงิน ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวว่า ในขณะนี้แม้ว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยแม้ว่าจะมีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงได้อีกแต่ถือว่าเป็นโอกาสของภาคธุรกิจที่จะใช้ช่วงเวลานี้ในการขอสินเชื่อเพื่อล งทุนเพิ่มเติมในการขยายธุรกิจ ซึ่งรูปแบบของการกู้เพื่อลงทุนนั้นจะเป็นการกู้ในลักษณะยาวหรือสั้นคงต้องอยู่ที่ลักษณะของธุรกิจเป็นหลัก

ทั้งนี้ เชื่อว่าโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยแรงๆไม่น่าจะมี แต่การปรับลดลงจะเป็นลักษณะค่อยๆปรับ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของประเทศในขณะนี้ก็อยู่ในระดับต่ำโดยตัวเลขเฉลี่ยจากเดือนม.ค.-ส.ค. ค่าเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.9% และเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.1%

"เป็นจังหวะที่ดีแม้ว่าดอกเบี้ยยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงอีก เพราะตอนนี้ก็อยู่ในระดับที่ต่ำมากซึ่งโอกาสที่แบงก์ชาติจะปรับลดดอกเบี้ยแบบแรงๆคงไม่มีถ้าจะปรับน่าจะปรับลดลงเป็นค่อยๆ"นายสอาดกล่าว

บจ.ชี้บริหารความเสี่ยงต้องทำ

นายวรพจน์ ศรีมหาโชตะ ประธานกรรมการ บริษัทมัลติแบกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ MBAX กล่าวว่า การบริหารความเสี่ยงของภาคธุรกิจเป็นสิ่งต้องจัดการ บริษัทมีการจัดการกับความเสี่ยงในหลายๆเรื่องไม่ว่าจะเป็นการทำสัญญากับลูกค้าในลักษณะหลายปีแตกต่างกันไป ขณะเดียวกันในเรื่องค่าเงินที่ยังผันผวนบริษัทได้มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทำให้ลดภาระในความเสี่ยงที่อาจจะเกิดจากค่าเงินที่เปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ สัญญาซื้อขายของบริษัทที่ทำล่วงหน้าจะแบ่งความรับผิดชอบความเสี่ยงกับลูกค้าในสัดส่วนที่เท่ากัน โดยต้นทุนครึ่งหนึ่งเป็นต้นทุนในประเทศจึงไม่จำเป็นที่จะต้องทำประกันความเสี่ยงล่วงหน้า

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้บริหารธุรกิจต้องจัดการเพื่อจัดการ# 85;ับความเสี่ยง คือ การวิเคราะห์หาความเสี่ยงของธุรกิจว่ามาจากสาเหตุใด มาจากปัจจัยในประเทศหรือนอกประเทศ และมีทางที่จะบรรเทาปัญหาให้ได้รับผลกระทบที่น้อยที่สุดได้หรือไม่

"ต้นทุนที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น ค่าเงินที่ผันผวนเราจะทำการบริหารความเสี่ยงโดยทำสัญญาในเรื่องราคาล่วงหน้า ซึ่งความเสี่ยงจะเกิดขึ้นทั้งกับเราและลูกค้าเราจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากเรื่องดังกล่าว"นายวรพจน์กล่าว

ตลาดหุ้นพร้อมเป็นพี่เลี้ยงระดมทุน

นายวิเชฐ ตันติวานิช รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลท. จัดงานขึ้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับช่องทางการระดมทุนใหม่แก่ผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้า เพื่อเพิ่มจำนวนบริษัทจดทะเบียนตามแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ การบริหารความเสี่ยง ยุคใหม่ จะทำให้ผู้ประกอบการมีความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการโอกาสและความเสี่ยง ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยนอกจากการเสริมสร้างความเข้าใจด้านการบริหารความเสี่ยงแล้ว ตลท. ยังจัดเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในการเข้าจดทะเบียนในงานด้วย ถือได้ว่าเป็นอีกก้าวของความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพธุรกิจไทยให้เติบโตและอาจก้าวไปสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนคุณภาพในอนาคต

เชื่อเฟดลดด/บไม่กระทบไทย

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า แม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลง 0.50% แล้วนั้นเรื่องดังกล่าวก็ไม่มีความจำเป็นที่กนง.จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 10 ต.ค. เนื่องจากตลาดเงินของไทยและตลาดเงินของสหรัฐไม่ได้มีความสัมพันธ์กัน ขณะเดียวกันไม่เชื่อว่าผลกระทบจากดอกเบี้ยที่ลดลงไม่น่าจะส่งผลทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาในประเทศมากขึ้น เพราะเป้าหมายที่สำคัญของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้เป็นเพราะต้องการแก้ไขปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์)

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง เนื่องจากจะมีความชัดเจนทางด้านการเมือง ประกอบกับตัวเลขการส่งออกซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปัจจุบันยังมีการขยายตัวที่ดี

"การปรับอัตราดอกเบี้ยของเฟดไม่น่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย เพราะไม่ได้สัมพันธ์กันโดยตรง ทำให้ไม่มีผลกระทบต่อตลาดเงินและไม่น่าจะทำให้เม็ดเงินลงทุนจะไหลกลับเข้ามา ขณะเดียวกันไม่น่าจะกดดันเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ"นายชาติศิริ กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.