ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของไทยวากรุ๊ปมีตำนานแห่งชีวิตนักสู้ชาวสิงคโปร์ที่
"โฮริทวา" ได้บันทึกไว้เป็นความทรงจำในหนังสือชื่อ "EATING
SALT" หรือ "นักสู้แห่งไทยวา" เพื่อเป็นมรดกทางความคิดแก่ลูกหลาน
เบื้องหลังความสำเร็จของอาณาจักรธุรกิจของกลุ่มไทยวาในประเทศไทยนั้น ขึ้นอยู่กับผู้หญิงคนหนึ่ง
ซึ่งมีชื่อว่า "เหลียนฟ่ง" ภรรยาคู่ชีวิตของโฮริทวา เหลียนฟ่งเป็นลูกสาวคนโตหลี่
ก๋วอชิงหรือ "เค.ซี.ลี." มหาเศรษฐีจีนในอเมริกา ผู้ก่อตั้งบริษัท
วาชางเทรดดิ้ง คอร์ปอเรชั่นซึ่งลงทุนในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และได้แตกขยายสาขามาสู่ประเทศพม่าและไทย
โดยให้โฮริทวา ลูกเขยเข้ามาเรียนรู้และดูแลขยายกิจการ
พ่อตาของโฮริทวาสร้างชื่อเสียงและความมั่นคงขึ้นมาจากแร่ทังสเตนเป็นสำคัญเพราะเป็นคนแรก
ๆ ที่ค้นพบทังสเตนในประเทศจีน มีโรงงานถลุงแร่ทังสเตนและผลิตทังสเตนเส้นตั้งอยู่เมืองเคลนโคฟ
รัฐนิวยอร์ก ขณะเดียวกันบริษัท วาชางก็มีบทบาทสำคัญในการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน
ซึ่งมีสินค้านำเข้าจากจีนส่วนใหญ่เป็นสินแร่พวกทังสเตน พลวง ดีบุก และส่งออกเครื่องจักร
อุปกรณ์ต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์เคมีจากอเมริกาไปจีนด้วย
แต่หัวคิดอนุรักษ์ของพ่อตาที่ยึดมั่นฝึกปรือคนจากระดับล่างขึ้นมา แม้คน
ๆ นั้นจะมีศักดิ์เป็นลูกเขยก็ตาม ทำให้โฮริทวาประสบความลำบากยากเย็นในระยะแรก
เพราะเขาต้องไต่เต้าตัวเองจาก MESSENGER BOY หรือเด็กส่งเอกสาร หรือเดินถือกระเป๋าเอกสารติดสอยห้อยตาม
ทั้ง ๆ ที่ระดับความรู้ของโฮริทวานั้นจบปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์การเกษตร
จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล
โฮริทวาต้องต่อสู้กับตัวเองที่จะเอาชนะความต่ำต้อยและอุปสรรคชีวิตจนกระทั่งสามารถพิสูจน์ตัวเองต่อพ่อตาได้สำเร็จ
นอกจากนี้โฮริทวาต้องพิสูจน์ตัวเองในวัยสามสิบเอ็ดอีกครั้งเมื่อพ่อตาได้ส่งเขาเข้ามาทำงานในเมืองไทย
กินเงินเดือนเสมียน 1,000-1,200 บาท แม้ว่าทั้งคู่จะประสบความยากลำบากในเรื่องที่อยู่อาศัยคับแคบและเหลียนฟ่งแพ้อากาศร้อนอบอ้าวจนเกิดผดผื่นคันเต็มตัว
แต่ทั้งคู่ก็ไม่เคยปริปากบ่นจนกระทั่งพ่อตาโฮริทวามาเห็นกับตาตัวเอง
ผู้หญิงจีนร่างเล็ก ๆ ซึ่งสูงเสมอไหล่ของโฮริทวาคนนี้ ได้ร่วมชีวิตคู่ตามแบบฉบับกุลสตรีจีนที่ถูกเลี้ยงดูและเติบโตในวัฒนธรรมอเมริกันที่ประสานกับวัฒนธรรมจีน
ความเป็นลูกคนรวยที่ไม่เคยตกระกำลำบาก ทำให้เหลียงฟ่งเริ่มจับงานบ้านเป็นครั้งแรกในชีวิต
เหลียนฟ่งเป็นสุภาพสตรีที่มีการศึกษาระดับสูง จบปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์เคมีจากวิทยาลัยมิลส์ที่เมืองโอคแลนด์
แคลิฟอร์เนีย หลังจากนั้นเข้าทำปริญญาโทต่อที่เอ็มไอที แต่ก็ได้เปลี่ยนใจมาเอาทีทางปริญญาโทด้านวรรณคดีอังกฤษจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล
สหรัฐอเมริกา พื้นฐานความรู้ด้านเคมีที่เธอได้นำมาช่วยสามีสุดที่รักในการก่อตั้งโรงงานวุ้นเส้นในพม่าและประเทศไทย
ทุกครั้งที่โฮริทวารู้สึกท้อถอย เหลียงฟ่งจะเป็นผู้ช่วยปัดเป่าความรู้สึกนั้นออกไป
และเมื่อใดที่โฮริทวาหลงและเหลิงในความสำเร็จ เหลียนฟ่งจะกระเซ้าเย้าแหย่เตือนให้เขารู้สึกต้องระวังตัว
เหลียนฟ่งได้เคยให้กำลังใจกับโฮริทาวาเมื่อครั้งเขาไม่สามารถเรียนจบปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย
ฮาร์วาร์ดเรื่องนี้ได้สร้างความรันทดใจให้กับโฮริทวามากถึงกับร้องห่มร้องไห้
รู้สึกว่าชีวิตหมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ความใฝ่ฝันได้พังทลายลงแล้วเพราะในช่วงนั้นโฮริทวาก็เช่นเดียวกับนักศึกษาจีนคนอื่น
ๆ ที่ต้องการได้ปริญญาเอกเป็นใบเบิกทางไปสู่ตำแหน่งศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยของจีน
ชะตากรรมได้เล่นงานโฮริทวา หลังจากพลาดหวังการจบปริญญาเอก เขาก็ต้องประสบความล้มเหลวในธุรกิจอีก
เมื่อตั้งบริษัทลี-โฮ เทรดดิ้ง คอร์ป ซึ่งจัดส่งคาร์บอนแบล็กไปยังสิงคโปร์
แต่พบปัญหาที่ผู้ผลิตไปตั้งตัวแทนขายเองและไม่ยอมขายให้บริษัทของเขา ในที่สุดกิจการก็ต้องปิดลง
ท่ามกลางความมืดมิดของความหวัง เหลียนฟ่งได้จุดประกายแห่งพลังใจขึ้นมาใหม่
ที่ทำให้วิถีชีวิตของโฮริทวา พลิกฝันสู่นักธุรกิจผู้ยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา
โดยเป็นคนกลางที่ชักนำอย่างนุ่มนวลให้พ่อช่วยเหลือสามีสุดที่รักของเธอ โดยมิให้เขามีปมด้อยว่าไม่มีปัญญาต้องพึ่งบารมีเมีย
แต่เหลียนฟ่งเป็นภรรยาที่รักและเข้าใจสามี อุตสาหกรรมทำวุ้นเส้นในนามของบริษัทวาลัญจะไม่สำเร็จเลยถ้าหากไม่ได้เหลียนฟ่งช่วยวิจัยกรรมวิธีการผลิตสมัยใหม่
แม้จะมีความเชื่อโบราณที่ห้ามมิให้ผู้หญิงเข้าใกล้หม้อต้มวุ้นเส้น ความรู้ทางเคมีของเหลียนฟ่ง
ทำให้ประสิทธิผลของวุ้นเส้น ชนะคู่แข่งทั้งต้นทุนและคุณภาพสินค้า
ในฐานะแม่ เหลียนฟ่งได้ให้กำเนินลูกสามคน คนโตชื่อ "มินฟอง"
เป็นนักเขียนสตรีที่ปัจจุบันใช้ชีวิตที่สวิสเซอร์แลนด์คนที่สองคือ "โฮ
กวง ปิง" อดีตผู้นำนักศึกษาและหัวก้าวหน้าและผู้สื่อข่าวฝีมือเยี่ยมของนิตยสารฟาร์อีสเทอร์นอีโคโนมิครีวิว
ซึ่งได้กลายเป็นทายาทธุรกิจสินทรัพย์หมื่นล้านของโฮริทวาที่ทำหน้าที่แผ่ขยายอาณาจักรสู่การลงทุนในธุรกิจใหม่
ๆ นอกเหนือจากธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัว
คนสุดท้องคือ "โฮ กวง เจิ้ง" สถาปนิกหนุ่มที่ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทอาร์คิเทรฟ
ผู้ออกแบบ "ไทยวาทาวเวอร์" ริมถนนสาธรและโครงการยักษ์ใหญ่ที่ภูเก็ตอันได้แก่
ดุสิตลากูน่า ไทยวาพลาซ่า เชราตันแกรนด์โฮเต็ล แปซิฟิกไอแลนด์คลับ
"ผมขอขอบใจเหลียนฟ่ง ภรรยาของผม ที่ให้กำเนิดลูกสามคนและเลี้ยงดูจนเติบโตเป็นผู้คนด้วยความรักและทะนุถนอม
ขณะเดียวกันก็ทำงานอย่างไม่หยุดหย่อนตลอดชีวิต การแต่งงานของเรา ความสนใจในด้านงานวิจัยมันสำปะหลัง
และวุ้นเส้นของเธอก็เป็นตัวชี้นำในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น สัญชาตญานในการวินิจฉัยแยกแยะในเรื่องตัวบุคคลและธุรกิจ
มีส่วนช่วยให้ผมก้าวเดินไปข้างหน้าได้โดยไม่หลงทิศผิดทาง (ในยามสับสน) การบอกว่าผมรักเธอ
อาจทำให้ผมรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ แต่ผมสามารถบอกได้ว่า ถ้าไม่มีเธอแล้วชีวิตของผมคงจะไม่เป็นเช่นทุกวันนี้"
โฮริทวาได้บันทึกความรู้สึกต่อสุดที่รักของเขาไว้เช่นนั้น
"ทองแท้ย่อมไม่กลัวไฟ" ตลอดชีวิตเจ็ดสิบปีของโฮริทวาได้พิสูจน์แล้วว่าเขามีศักยภาพที่จะสร้างอาณาจักรของตัวเองได้ยิ่งใหญ่ไม่แพ้พ่อตาเลย
จากกิจการโรงงานวุ้นเส้นพัฒนามาสู่ธุรกิจมันสำปะหลัง ซึ่งโฮริทวาเคยเป็นนายกสมาคมมันสำปะหลังแห่งประเทศไทย
ปัจจุบันกิจการในเครือกลุ่มไทยวามีไม่ต่ำกว่า 75 บริษัท ที่โฮ ริทวาได้สร้างไว้ให้กับลูกหลานโดยมีเหลียนฟ่งเป็นภรรยาคู่ทุกข์คู่ยาก