|
พิษน้ำมันหั่นจีดีพีอุตสาหกรรม
ผู้จัดการรายวัน(21 กันยายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
กระทรวงอุตสาหกรรมเตือนผู้ผลิตรับมือน้ำมันแพงและซับไพร์มที่ยังมีแนวโน้มเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจยาวถึงปี 2551 หั่นเป้าจีดีพีภาคอุตสาหกรรมปีนี้ขยายตัวเหลือ 4.5% จากเดิมที่คาดว่าจะโต 5% หรือคิดเป็นมูลค่าที่โตลดลง 5 หมื่นล้านบาท เผยปัจจัยฉุดจีดีพีรวมลดมาจากการบริโภคในประเทศชะลอตัวหนัก ด้านกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระตุ้นภาคอุตสาหกรรมใช้จังหวะบาทแข็ง ปรับตัวทั้งด้านการผลิต บริหาร และการตลาด หลังประเทศเปิดเสรี
นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รมช.กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากภาวะน้ำมันแพงที่สูงขึ้นถึงระดับ 100 เหรียญต่อบาร์เรล และปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ(ซับไพร์ม) คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในอัตราที่ลดลงซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มีนโยบายที่จะให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ปรับแนวคิดการส่งเสริมการลงทุนที่เน้นมูลค่าเพิ่มของการผลิตให้มากขึ้น พร้อมกับให้ทุกฝ่ายให้คำแนะนำการลดต้นทุนต่อวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(SMEs) เพื่อรับผลกระทบล่วงหน้าที่คาดว่าจะต่อเนื่องในปี 2551
“ จีดีพีภาคอุตสาหกรรมปีนี้คงจะเติบโตในอัตราที่ลดลงซึ่งทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหรือสศอ.ประเมินว่าจะลดลงจากเป้าหมายที่วางไว้เดิมที่คาดว่าจะโต 5% คงจะเฉลี่ยไม่ถึง 5% ซึ่งจีดีพีอุตสาหกรรมจะดูที่มูลค่าเพิ่มมาคิด ขณะที่ดัชนีอุตสาหกรรมเน้นการผลิตนั้นไตรมาส 4 คาดว่าจะขยายตัว 7.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 ที่ขยายตัว 5.7% เนื่องจากช่วงสิ้นปีการบริโภคจะมีมากขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงสิ้นปีที่จะมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ รวมถึงโบนัสราชการออก ”นายปิยะบุตรกล่าว
นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสศอ. กล่าวว่า ปี 2549 จีดีพีภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 6% และปีนี้เดิมตั้งเป้าหมายที่จะขยายตัวที่ระดับ 5 % แต่จากการที่ภาพรวม 2 ไตรมาสแรกขยายตัวเพียง 4.4% ดังนั้นครึ่งปีหลังที่เหลือจะต้องมีการขยายตัวให้ถึง 5.5% ขึ้นไปซึ่งดูแล้วภาพรวมไม่น่าจะเป็นไปได้จึงลดเป้าหมายลงคาดว่าจะขยายตัวเพียง 4.5-5%
“จีดีพีภาคอุตสาหกรรมปีนี้ที่โต 4.5% นั้นคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งเป้าเดิมโต 5.% จะมีมูลค่า 3.05 ล้านล้านบาท ซึ่งภาพรวมที่ทำให้จีดีพีลดลงเพราะการบริโภคในประเทศชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด”นายสมชายกล่าว
สำหรับปัจจัยที่จะต้องติดตามในปี 2551 คือ ปัญหาราคาน้ำมันว่าจะแพงมากน้อยเพียงใด และซับไพร์มจะส่งผลให้จีดีพีของสหรัฐอเมริกาเติบโตในระดับ 2% ตามที่สหรัฐคาดหวังได้หรือไม่ซึ่งจะมีผลต่อภาคการส่งออกไทยโดยรวมในปีหน้าเนื่องจากไทยพึ่งพิงตลาดส่งออกสหรัฐถึง 15% ซึ่งถือเป็นตลาดที่ใหญ่พอสมควรประกอบกับการส่งออกของไทย 1 ใน 3 ของประเทศมาจากอุตสาหกรรมที่ไม่ได้มุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบในประเทศเท่านั้น ขณะที่อุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบหลักในไทยเช่น อาหาร และสิ่งทอการส่งออกค่อนข้างได้รับผลกระทบจากภาวะบาทแข็งค่า
จี้อุตฯฉวยจังหวะบาทแข็งปรับตัวรับค้าเสรี
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า หลังจากไทยมีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศอื่นๆ ไปแล้วนั้น สำหรับอุตสาหกรรมไทยที่ยังไม่มีการปรับตัว ขอแนะนำให้เริ่มปรับตัวได้แล้ว โดยเฉพาะในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เพราะเป็นโอกาสที่จะนำเข้าเครื่องจักร หรือเทคโนโลยีในการผลิตในราคาถูก เพื่อนำมาปรับเปลี่ยน และปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตได้ โดยแนวทางในการปรับตัวที่สำคัญมี 3 ด้าน คือ ด้านการผลิต ด้านการบริหาร และด้านการตลาด
โดยด้านการผลิต ควรปรับสายการผลิตสินค้าให้สั้นและรวดเร็ว ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรให้ใช้เวลาในการผลิตลดลง หรือนำเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูงมาใช้เพื่อความรวดเร็วในการส่งมอบ รวมกลุ่มกันเป็นคลัสเตอร์ เพื่อลดต้นทุนวัตถุดิบ พัฒนาคุณภาพผลผลิตให้มีมาตรฐานเดียวกัน และนำระบบการผลิตแบบลดการสูญเสียหรือขจัดต้นทุนส่วนเกินมาใช้ เพื่อลดของเสียในการผลิต รวมถึงลดการเก็บสต็อกสินค้า และเปลี่ยนการผลิตและสินค้าให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ส่วนด้านการบริหาร ควรนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารเพื่อความรวดเร็วและประหยัดเวลา เช่น ซอฟต์แวร์โปรแกรมบัญชี โปรแกรมสินค้าคงคลัง การสร้างพันธมิตรทางการค้าและจับคู่ทางธุรกิจ พัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มพูนความรู้ สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าและตัวแทนจำหน่าย เรียนรู้วัฒนธรรมและภาษาในการติดต่อกับประเทศที่จะไปค้าขายด้วย รวมถึงหมั่นวิจัยด้านการผลิตหรือการตลาด และติดตามข่าวสารการค้าและการบริหารให้ทันสมัยอยู่เสมอ
ขณะที่ด้านการตลาด ควรมองหาตลาดใหม่ทดแทนตลาดเดิม ส่งเสริมการขายภายในประเทศให้มากขึ้น พัฒนารูปแบบสินค้าและผลิตภัณฑ์ โดยเปลี่ยนจากรับจ้างผลิตมาเป็นการผลิตที่รับออกแบบให้ด้วย สร้างตราสินค้าของตนเอง หากสินค้าไทยที่ต้องการจะเป็นแบรนด์ของโลก น่าจะพิจารณาใช้สินค้าของตนเป็นผู้สนับสนุนในกิจกรรมระหว่างประเทศ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|