รื้อร่างพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ2535 อุดช่องว่างหรือเปิดทางทุจริต


ผู้จัดการรายสัปดาห์(17 กันยายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

- จับตาแก้ร่างพ.ร.บ.ร่วมทุน 2535 เพิ่มวงเงินจาก 1,000 ล้านบาท เป็น 3,000 ล้านบาท รัฐบาลทำเพื่อใคร!
- ชงคลังและสภาพัฒน์ฯตรวจสอบโครงการทุก ๆ 5 ปี
- ปิดทางนักการเมือง ข้าราชการรุมงาบเค้กก้อนโต

นับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบในร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐหรือพ.ร.บ.ร่วมทุน2535 ที่กระทรวงการคลังและสภาพัฒน์ฯเสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมายร่วมทุนดังกล่าว

สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ คือ ให้เพิ่มมูลค่าโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 3,000 ล้านบาทขึ้นไป ต้องเข้าพ.ร.บ.ร่วมทุน2535 จากเดิมที่ใช้สำหรับโครงการที่มีมูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ทั้งนี้ การปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับขนาดของโครงการลงทุนในปัจจุบันที่แต่ละโครงการล้วนมีมูลค่ามาก รวมถึงการตีความให้มีความชัดเจนและกระชับมากขึ้น

การปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาการตีความและอุดช่องว่างของการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงปรับปรุงกระบวนการพิจารณาให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการเพิ่มมูลค่าโครงการเป็น 3,000 ล้านบาทนั้น ได้ให้กระทรวงการคลังและสภาพัฒน์ฯ ร่วมกันทบทวนมูลค่าขั้นต่ำของโครงการทุก ๆ 5 ปี และให้กระทรวงการคลังกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการดำเนินการสำหรับโครงการที่ให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการ ที่มีมูลค่าต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท เพื่อให้มีหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลเป็นมาตรฐานเดียวกัน

หวั่นซ้ำรอยสุวรรณภูมิ

แต่ ทั้งนี้การปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.ดังกล่าวจะต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องเป็นเป็นจริง เพราะถึงแม้ว่าการแก้ไขกฎหมายร่วมทุนจะเป็นการอุดช่องโหว่การทุจริต แต่ต้องไม่ลืมว่ากฎหมายไทยส่วนใหญ่มักมีช่องว่างให้ผู้ปฎิบัติเข้าไปทุจริตได้ ซึ่งในอดีตมีโครงการทุจริตเกิดขึ้นหลายโครงการ เช่น โครงการก่อสร้างทางยกระดับโฮปเวลล์,การฮั้วประมูลโครงการของภาครัฐ โครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิที่ถูกกล่าวขานว่าเป็นอภิมหาโปรเจกต์โคตรโกง เป็นต้น ที่อาศัยช่องว่างทางกฎหมายเป็นแนวทางในการทุจริต

ดังนั้น การที่กระทรวงการคลังและสภาพัฒน์ฯเสนอให้มีการแก้ไขพ.ร.บ.ร่วมทุนใหม่จะต้องตีความและระบุความหมายของคำให้ชัดเชน เพื่อไม่ให้มีช่องว่างให้นักการเมือง ข้าราชการ หรือเอกชน หาทางหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายหรือทุจริต เพื่อโกงกินเงินงบประมาณแผ่นดินได้อีก

สำหรับกระทรวงคมนาคมในฐานะที่จะต้องดูแลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลหลายโครงการไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้า การก่อสร้าง ขยาย และถนนนั้น สรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบในร่างพ.ร.บ.ร่วมทุน 2535 แล้ว ซึ่งทางกระทรวงฯเห็นด้วยกับการปรับเพิ่มมูลค่าโครงการจาก 1,000 ล้านบาทเป็น 3,000 ล้านบาท เพราะจะทำให้โครงการสามารถทำได้เร็วขึ้น ไม่ต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณามากเกินไป

ส่วนจะส่งผลให้โครงการมีความล่าช้าหรือไม่นั้น โดยหลักการของพ.ร.บ.ร่วมทุน 2535การที่จะให้เอกชนเข้ามาใช้สิทธิของรัฐนั้นสิ่งที่ควรจะศึกษา คือ ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตมากกว่า ส่วนเรื่องวงเงินที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่สำคัญเท่ากับว่าโครงการที่ดำเนินการส่งผลกระทบอะไรต่อประชาชนหรือเปล่ามากกว่า

ในแง่ของความโปร่งใสนั้น มองว่าในหลักการของพ.ร.บ.ร่วมทุน 2535 มีหัวข้อต่าง ๆหลายข้อ ดังนั้น จะต้องศึกษาให้มีความชัดเจน เพราะหากมีความชัดเจนรอบคอบก็จะส่งผลดีต่อส่วนรวม

“ในส่วนของหน่วยงานเจ้าของโครงการสิ่งที่จะต้องเตรียม คือ การเตรียมโครงการให้มีความพร้อมในเรื่องของรายละเอียดต่างๆ เพราะคำว่าโครงการขนาดใหญ่มันจะมีผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพชีวิต ดังนั้น จะต้องมีการศึกษาและกำหนดระยะเวลาสำหรับโครงการที่จะต้องดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบ คือ ต้องศึกษาอย่างรอบคอบดูทุกมิติ ซึ่งถึงแม้ว่ากระบวนการดังกล่าวจะทำให้ล่าช้าไปบ้าง แต่ก็ดีกว่ารีบร้อนแล้วมีข้อบกพร่อง อย่างไรก็ตาม การที่กระทรวงการคลังต้องการแก้ไขพ.ร.บ.ดังกล่าว ก็เพื่อให้เกิดความรอบคอบ แต่ก็ไม่ควรตีความกันมากเกินไป ควรมีการเขียนไว้ในพ.ร.บ.ด้วยว่าอะไรที่หน่วยงานรัฐควรไปปรับปรุงก็ต้องตีความมาให้ชัดเจน”สรรเสริญ กล่าว

ปิดทางเลี่ยงกฎหมาย

แต่ ทั้งนี้การแก้ไขพ.ร.บ.ร่วมทุนฯดังกล่าวจะเป็นการทำให้กฎหมายมีความชัดเจนและครอบคลุม รวมถึงลดปัญหาการตีความตัวบทกฎหมาย และการหลีกเลี่ยงกฎหมายที่เกิดขึ้นในอดีตได้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การร่วมงานหรือดำเนินการโดยเอกชนในกิจการของรัฐเป็นไปอย่างโปร่งใส

สำหรับสาระสำคัญในการปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ2535 เพื่อแก้ไขปัญหาการตีความและอุดช่องว่างในการบังคับใช้กฎหมาย มีดังนี้ การกำหนดนิยามคำว่า การร่วมงานหรือดำเนินการ ให้ครอบคลุมถึงกรณีที่ให้เอกชนลงทุนไปก่อนและภาครัฐผูกพันที่จะชำระคืนภายหลัง ได้แก่ โครงการจ้างเหมาเบ็ดเสร็จ และให้กระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดรูปแบบการลงทุนที่มีลักษณะร่วมทุนอื่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ ยังให้กระทรวงการคลังกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการดำเนินการสำหรับโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท โดยออกเป็นกฎกระทรวงและเปลี่ยนบทบาทของคณะกรรมการประสานงาน เป็น คณะกรรมการกำกับติดตามโครงการ และแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการ เพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ และกำหนดขั้นตอนในการดำเนินการกรณีมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญา และการสิ้นสุดสัญญาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.