สงครามลูกทุ่งยุคดิจิตอล เมื่อตลาดเปิดประตูสู่แมส จากล่างถึงบน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(17 กันยายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

- สนามรบสงครามเพลงลูกทุ่งเคลื่อนทัพสู่ยุคดิจิตอล ตลาดขยายพรมแดนสู่กลุ่มเป้าหมายแนวกว้าง
- ดิจิตอลเทคโนโลยีนำเพลงลูงทุ่งสู่กลุ่มคนเมือง สินค้าไฮเทค ละครทีวี ภาพยนตร์แห่รุมตอมเกาะกระแส
- เจ้าของค่ายวนกลับมาเป็นคู่ต่อกรหน้าเดิม แกรมมี่ - อาร์เอส ชิงความเป็นหนึ่ง
- อาร์สยามนำร่องปลดแอกลิขสิทธิ์เพลง พร้อมดันนักร้องใหม่แต่เก๋า จินหรา พูนลาภ กุ้ง สุทธิราช เจาะกลุ่มแฟนเพลงอีสาน
- แกรมมี่ไม่น้อยหน้าผลักแผนต่อยอดความสำเร็จตลาดลูกทุ่งทั่วไทย เตรียมรุกตลาดใต้ คาดสิ้นปีมีแชร์เพิ่มขึ้น พร้อมขยายแนวรบเครือข่ายการจำหน่าย ชู Customer centric เป็นเรือธงแห่งความสำเร็จ

แม้มูลค่าของตลาดรวมของอัลบัมเพลงลูกทุ่งในแต่ละปีจะมีเพียง 2,000 - 2,500 ล้านบาทต่อปี อาจดูเหมือนจะเป็นตัวเลขที่น้อยนิดเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของตลาดเพลงสตริงที่มูลค่ามากกว่าเป็นสองเท่า แต่เมื่อมองไปถึงศักยภาพในการทำกำไรของคอนเทนต์ลูกทุ่งจากช่องทางต่างๆแล้ว กลับพบว่าเพลงลูกทุ่ง กลับสามารถสร้างกำไรมากกว่า สามารถต่อยอดออกไปได้ไกลกว่า และมีตลาดรองรับได้มากกว่า

ปัจจัยที่ทำให้เพลงลูกทุ่งไม่เคยพบความตกต่ำไม่ว่าจะก้าวผ่านยุคสมัยใด ผลงานของศิลปินเพลงลูกทุ่งก็ยังคงได้รับความนิยมและทำยอดขายอัลบัมเป็นที่น่าพอใจ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความนิยมและความภักดีของแฟนเพลงที่มีต่อศิลปินลูกทุ่งมีสูงกว่าศิลปินเพลงอื่น ๆ รวมไปถึง ปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้บริโภคกลุ่มเหล่านี้ ยังมีน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับเพลงสตริง อีกคุณสมบัติพิเศษของเพลงลูกทุ่ง คือ ระยะเวลาความนิยมของเพลงลูกทุ่งในแต่ละอัลบัมที่ออกวางจำหน่ายในตลาดนั้น ค่อนข้างที่ยาวนานกว่าเพลงสตริงทั่วๆไป ที่มีระยะเวลาขายที่สั้นเพียงไม่กี่เดือน แต่ในส่วนของลูกทุ่งนั้นหากคิดเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ 18 เดือน ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาของการขาย การโปรโมทมียาวนานมากขึ้นด้วย

วาสุ เลิศจรรยา ผู้อำนวยการฝ่ายสถานีวิทยุ อสมท เอฟเอ็ม 95.0 ลูกทุ่งมหานคร แสดงความเห็นว่า วงการเพลงลูกทุ่งในช่วงที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงไปมาก เริ่มจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่แต่เดิมจะเป็นกลุ่มคนผู้ใช้แรงงาน (Blue Collar) พอมาถึงในยุคปัจจุบันเพลงลูกทุ่งมีความเป็นแมสมากขึ้น ในขณะที่เนื้อหาของเพลงก็มีการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่จะมีกลิ่นอายของท้องทุ่งนา ก็ขยับเอาชีวิตประจำวันหรือความเป็นไลฟ์สไตล์บวกกับเพื่อชีวิตมาเป็นจุดขายเพิ่มมากขึ้น และอีกหนึ่งปัจจัยคือ เทคโนโลยี ที่มีวิวัฒนาการไปสู่โลกดิจิตอล หรือ ผ่านระบบสื่อสารทำให้กลุ่มผู้ฟังหลากหลายมากขึ้น

แน่นอนว่าเมื่อกลุ่มผู้ฟังขยายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ การเข้ามาหาประโยชน์จากเจ้าของสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ก็วิ่งเข้าหาในตัว "ลูกทุ่ง"มากขึ้น จากเดิมศิลปินเพลงลูกทุ่งเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมการตลาดให้กับสินค้าในมานาน โดยเฉพาะการเจาะกลุ่มตลาดล่าง ในอดีตเราอาจพบสินค้าคอนซูเมอร์โปรดักส์ ของลีเวอร์บราเธอร์ ใช้วงดนตรีลูกทุ่งจัดกิจกรรมในการเจาะตลาดล่าง หรือโอสถสภา ส่งทีมรถขายยา เครื่องดื่มชู ในรูปแบบกองทัพบันเทิงลูกทุ่งออกสู่ต่างจังหวัด

การนำเอาดนตรีลูกทุ่ง มาเชื่อมต่อกับสินค้าในอดีตนั้น อาจมุ่งไปในการทำตลาดบีโลว์ เดอะไลน์ เน้นการจัดกิจกรรมลงไปในพื้นที่ ผู้บริโภคในวงกว้างอาจยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนเท่าไรนัก ต่างจากยุคปัจจุบันโดยเฉพาะในช่วงปีสองปีมานี้ กลุ่มธุรกิจสื่อสารอย่างผู้ให้บริการเครือข่ายอย่าง เอไอเอส ,ทรู หรือแม้แต่ ดีแทค ต่างนำเอาจุดเด่นของความเป็นลูกทุ่งมาเป็นจุดขาย แสดงให้เห็นถึงพรมแดนของเพลงลูกทุ่งในวันนี้ ได้ทะลุออกจากกรอบผู้ฟังที่ถูกมองเป็นตลาดระดับล่าง ผู้ใช้แรงงาน มาเป็นคนในเมือง พนักงานออฟฟิศ ผู้บริหาร กันอย่างชัดเจน

" จริงแล้วการตลาดโดยนำลูกทุ่งมาเป็นจุดขายมีมานานแล้ว แต่ว่ายังคงเห็นภาพไม่ชัดเจน ในช่วงหลังเริ่มมีการทำตลาดกันอย่างจริงจัง ถือเป็นเทรนด์ที่ดี ทำให้เกิดการแข่งขันและเกิดการเติบโตในกลุ่มธุรกิจเพลงลูกทุ่งเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างการแข่งขันที่เห็นได้ชัดของการนำเอาลูกทุ่งมาสื่อสารกับผู้บริโภคคือ กลุ่มธุรกิจสื่อสาร เราจะเห็นดีแทคเริ่มต้นด้วยการนำเอาซิมม่วนซื่น โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มผู้ใช้ภาคอีสาน ซึ่งอาจจะยังเห็นภาพไม่ชัดเจน แต่เมื่อเอไอเอส นำนักร้องลูกทุ่ง 4 คนได้แก่ พี สะเดิด , บ่าววี, ฝน ธนสุนทร และ หลิว อาจารียา ในขณะที่ค่ายทรูเอง ก็มีการนำเอานักแสดงตลก - นักร้อง อย่าง หม่ำ จ๊กมก มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นจุดบ่งชี้แล้วว่า เพลงลูกทุ่งในปัจจุบันไม่ใช่ขายแค่เพลงเท่านั้น แต่นักร้องทุกคนต่างมีมูลค่าอยู่ในตัวเองแทบทั้งสิ้น " วาสุ กล่าว

ไม่เพียงการนำเอาจุดขายของโปรดักส์มาสื่อสารผ่านกลุ่มลูกทุ่งเท่านั้น ในแง่ของรายการลูกทุ่งที่นำเสนอผ่านหน้าจอโทรทัศน์ รวมไปถึงภาพยนตร์ต่างๆก็ล้วนแล้วแต่ดึงเอา ลูกทุ่ง มาเป็นจุดขาย อาทิ รายการชิงช้าสรรค์ ของเวิร์คพอยท์ หรือ จะเป็นรายการน้องใหม่ทางช่อง 7 สี อย่าง รายการเมืองสำราญ ของค่ายมีเดีย ออฟ มีเดีย รวมไปถึง ละครเรื่องที่เพิ่งจบไปไม่นานของ ช่อง 7 สีอย่าง มนต์รักริมฝั่งโขง ก็มีการนำเอานักร้องสาวลูกครึ่งจากประเทศลาว อเล็กซานดร้า ทิดาวัน บุญช่วย มาแสดงเป็นนางเอกคู่กับพระเอกหนุ่มชาวขอนแก่น เวียร์ ศุกลวัฒน์ ซึ่งก่อนจะได้เผยแพร่ก็มีปัญหาเล็กน้อย แต่ก็ได้ฉายผ่านหูผ่านตาผู้ชมจบไปแล้ว และได้รับความนิยมจนผู้จัดนำเอาคู่พระ-นางมาต่อยอดความสำเร็จด้วยการจัดคอนเสิร์ตไปเมื่อไม่นานมานี้

ในขณะที่วงการภาพยนตร์นั้น ที่เห็นเด่นชัดคือเรื่อง อีส้มสมหวัง ที่มีการนำเอายอดรัก สลักใจ เข้ามาเป็นแรงบันดาลใจแก่พระเอกหนุ่มเต้ ปิติศักดิ์ ที่ต้องการก้าวมาเป็นนักร้องลูกทุ่งซูเปอร์สตาร์ โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ดาราแม่เหล็กอย่าง กบ สุวนันท์ คงยิ่ง ที่ปกติจะเห็นแต่ในจอแก้ว ก็พลิกบทบาทมาเป็นหางเครื่องในจอเงิน และมีผู้กำกับอย่างดาราตลกชื่อดังที่ทั้งกำกับและสร้างความสนุกสนานอย่าง โน้ต เชิญยิ้ม และผลงานล่าสุดที่คาดว่าจะเข้าฉายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าของค่ายอาร์เอส คือ โปงลางสะอิ้ง ก็เป็นการนำเอานักร้องลูกทุ่งวงโปงลางสะออนทั้งวงมาเป็นตัวดำเนินเรื่อง

ลูกทุ่งไทยเกาะเทรนด์ ดิจิตอล โมบาย

แน่นอนว่าเมื่อมีการนำเอาเพลงลูกทุ่งมาสื่อสารผ่านคอนซูเมอร์โปรดักส์ หรือ ผ่านระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องมีการก้าวตามกระแสเทคโนโลยีที่เปลี่ยนสู่โลกแห่งอนาคตเพิ่มมากขึ้น จากเดิมผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในต่างจังหวัด อาจจะไม่ต้องพึ่งพาความก้าวล้ำหรือลูกเล่นของโทรศัพท์มือถือสักเท่าไรนัก แต่ด้วยคอนเทนต์บางตัวที่ใกล้ตัวอย่างการดาว์นโหลดริงโทนเสียงเรียกเข้า หรือ เสียงรอสาย เป็นเพลงลูกทุ่ง นั้นสามารถทำได้โดยง่าย จึงทำให้สัดส่วนของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมีการเลือกใช้บริการนี้เพิ่มมากขึ้น จนค่ายเพลงต่างๆเริ่มมองหาช่องทางการตลาดที่จะกอบโกยเม็ดเงินจากตรงนี้เพิ่มขึ้น

กริช ทอมมัส หัวเรือใหญ่ของแกรมมี่โกลด์ เปิดเผยว่า หากย้อนกลับไปดูเมื่อ 3 ปีก่อน สัดส่วนของผู้ใช้ดิจิตอล ลูกทุ่ง มี 0 % แต่พอมาถึงปัจจุบันกลับพบว่ามีผู้ใช้ช่องทางดิจิตอลเพิ่มขึ้นเป็น 10 % และคาดว่าในอีก 3 - 5 ปีช่องทางของดิจิตอล จะเติบโตอย่างรวดเร็ว หรืออาจจะเป็นการโตแบบก้าวกระโดดเป็น 20 - 30 % เลยทีเดียว เพราะช่องว่างของตลาดยังมีให้เจาะ อย่างไรก็ตามต้องดูจากตลาดของมือถือด้วยว่า สัดส่วนของโทรศัพท์มือถือที่มีราคาถูกราคาไม่เกิน 2,000บาทเข้าสู่ตลาด รับรองได้ว่าตลาดของดิจิตอลจะโตแบบดับเบิล

เช่นเดียวกับ ศุภชัย นิลวรรณ นายใหญ่อาร์สยาม กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าแนวโน้มของรายได้ที่มาจากดิจิตอล มีเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากโลกได้ก้าวเข้าสู่ความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีมากขึ้น ในขณะที่อาร์สยามเองมีรายได้จากดิจิตอล 10 % และคาดว่าในอนาคตตัวเลขดังกล่าวจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

สองค่ายยักษ์เตรียมกลยุทธ์สู้ศึกรองรับตลาดลูกทุ่งเติบโต

ด้วยอัตราการเติบโตของเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาสู่กระเป๋าของเจ้าของค่ายเทปในแต่ละปี ล้วนแล้วแต่เป็นจุดดึงดูดทำให้แต่ละค่ายต้องมีการตั้งกลยุทธ์การตลาดเพื่อให้เกิดการแข่งขันและก้าวสู่ความเป็นผู้นำของตลาดลูกทุ่งในปัจจุบันแบบไม่ให้เกิดความเพลี้ยงพล้ำกัน อย่างไรก็ตามการแข่งขันที่ทำให้เรามองเห็นภาพนั้นจะมีแค่สองค่ายหลักๆที่ถือเป็นค่ายใหญ่อันดับ หนึ่ง สอง ของประเทศ ในขณะที่ค่ายเล็กๆนั้น ที่ยังพอมีสายป่านยาวและมีครูเพลง นักร้องที่มีคุณภาพอยู่ในมือ ก็ยังคงขายได้

ค่ายอาร์สยามของอาร์เอสนั้น ก็มีความเคลื่อนไหวมาโดยตลอดแต่ที่ถือเป็นไฮไลท์ และเป็นกลยุทธ์ที่สะเทือนวงการเพลงมากที่สุด น่าจะเป็นการโละนโยบายเดิมๆอย่างการจัดเก็บลิขสิทธิ์เพลงไว้ที่ค่ายเพลง โดยนโยบายใหม่นี้ ศุภชัย กล่าวว่า เป็นการขับเคลื่อนธุรกิจให้เข้ากับมาตรฐานสากล (International Standard)โดยผู้สร้างสรรค์งานเพลงทั้งครูเพลง นักแต่งเพลง ผู้ประพันธ์เนื้อร้องทำนอง จะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ผลงานที่ตัวเองได้สร้างสรรค์ขึ้น โดยทางค่ายเพลงเองจะไม่เข้าไปถือครองลิขสิทธิ์ร่วมเหมือนดังอดีตอีกต่อไป

"ผลจากนโยบายการถือลิขสิทธิ์เพลงไว้ที่ผู้สร้างสรรค์ผลงาน จะทำให้เราได้ประโยชน์ในระยะยาว เพราะจะทำให้มีนักแต่งเพลงใหม่ๆหรือ ผู้ที่อยู่ในวงการมานานแต่อยากทำงานแบบอิสระและเปิดกว้าง ก็จะส่งผลงานเพลงมาที่เราเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นการเปิดโอกาสแก่คนเหล่านี้ ประกอบกับความเชื่อส่วนตัวที่ว่า การที่จะแต่งเพลงหรือสร้างสรรค์เพลงแต่ละเพลงขึ้นมานั้น ต้องอาศัยแรงบรรดาลใจมากมายกว่าจะเป็นหนึ่งเพลงที่ออกมาให้ทุกคนฟัง ดังนั้นหากผู้สร้างสรรค์คิดแล้วว่าเพลงที่แต่งมาพวกเขาจะได้ทุกอย่างกลับไปแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย งานที่ออกมาก็จะมีคุณภาพ"

พลันที่การขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวออกไป ก็ทำให้ค่ายเล็กค่ายน้อยต่างเกิดการกริ่งเกรงเนื่องจากกลัวว่าจะสูญเสียครูเพลงที่อยู่ในมือของตนเองไป ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ วาสุ ผู้ที่คว่ำหวอดในวงการเพลงลูกทุ่งให้ความเห็นว่า ค่ายเพลงเล็กๆเริ่มทยอยปิดตัว แม้จะมีนักร้องแม่เหล็กอยู่ในมือ แต่เนื่องจากตลาดของเพลงลูกทุ่งต้องมีแรงโปรโมท และค่ายเล็กๆบางค่ายประสบกับปัญหาในเรื่องของงบการตลาดที่มีจำกัด ทำให้มองว่าตลาดลูกทุ่งนับจากนี้ น่าจะเป็นเวทีของค่ายใหญ่ๆเท่านั้น อย่างไรก็ตามค่ายเล็กๆที่ยังพอมีกำลังก็ยังคงอยู่ได้ แต่จะอยู่ตามอัตภาพ

" ค่ายใหญ่ๆที่เหลืออยู่จะมีเพียง ชัวร์ ออดิโอ ,แกรมมี่โกล์ด ,อาร์สยาม ในขณะที่ค่ายอื่นๆบางค่ายก็ต้องปิดตัวไปอย่างเช่นของมาสเตอร์เทป ต้นสังกัดของจินตรา พูนลาภ หรือ ค่ายที่ไม่มีแรงโปรโมทก็ต้องตาย แต่ค่ายเล็กบางค่ายที่อาจจะเกิดขึ้นมาใหม่ หรือ บางค่ายที่อยู่มานานแต่ไม่ได้ทำการตลาด แต่ก็มีเพลงที่ได้รับความนิยมก็อาจจะอยู่ได้เพียงแต่จะไม่โตแบบเปรี้ยงปร้าง "

ในขณะที่ กริช ทอมมัช กล่าวว่า แม้อาร์เอสจะมีนโยบายใหม่ๆออกมาในครั้งนี้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สามารถทำกันได้ อย่างไรก็ตามมองว่าการจัดเก็บแบบเดิมที่ค่ายครึ่งหนึ่ง และ ศิลปินครึ่งหนึ่ง ก็เท่าเทียมกันอยู่แล้ว อีกทั้งในแง่ของปัญหาการจัดเก็บไปจนถึงอนาคตก็ดูคุ้มค่ากว่าด้วยซ้ำ

นอกเหนือจากการเปิดนโยบายแบบโอเพ่น ที่ให้อิสระแก่ผู้สร้างสรรค์เพลงให้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงได้นั้น อีกหนึ่งนโยบายของอาร์สยามในการเข้าไปสานต่อโครงการ " ดาวรุ่งลูกทุ่งไทยแลนด์ 2550"ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ทีมผู้บริหารเชื่อมั่นว่า จะสร้างเพชรเม็ดงามมาประดับวงการลูกทุ่ง โดยโครงการดังกล่าวแม้ผู้จัดจะเป็น มีเดีย ออฟ มีเดียส์ ที่มีความถนัดในเรื่องของลูกทุ่ง แต่นักร้องที่ได้ประกวดและผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายทั้ง 6คนในแต่ละปี กลับได้รับโอกาสในการเป็นนักร้องในเครือของอาร์สยาม

" การเข้ามาซัพพอร์ทนักร้องในโครงการดาวรุ่งลูกทุ่งไทยแลนด์ทั้ง 12 คน ในซีซั่นที่ 1- 2 เพื่อออกอัลบัมนั้นถือเป็นการต่อยอดโครงการของบริษัทมีเดีย ออฟ มีเดียส์ โดยน้องๆเหล่านี้จะได้รับการเซ็นสัญญาเป็นนักร้องในสังกัดอาร์สยาม และหากผลงานที่ออกมาได้รับความนิยม และ ตัวนักร้องดูจะไปได้อีกไกลในอนาคตก็จะมีการเซ็นสัญญาระยะยาว ตรงนี้ถือว่าวิน - วิน ทั้งเราและมีเดีย ออฟ มีเดียส์ " ศุภชัย ให้ความเห็น

แกรมมี่โกล์ด วางรากหวังครองความเป็น 1 ตลาดเพลงลูกทุ่ง

ข้ามมาที่ฝั่งอโศกของค่ายแกรมมี่โกล์ด แม้จะมีนักร้องในสังกัดเพียง 26 คน ซึ่งดูแล้วอาจจะน้อยกว่าคู่แข่งอย่างอาร์สยาม แต่ถือว่านักร้องที่มีอยู่นั้นล้วนแล้วแต่เป็นหัวกะทิที่มียอดขายตั้งแต่ สามแสนแผ่นไปจนถึงล้านแผ่น อาทิ ก๊อต จักรพันธ์ , ไมค์ ภิรมย์พร ,ต่าย อรทัย ,ศิริพร อำไพพงษ์ ,ไผ่ พงศ์ธร ,ตั๊กแตน ชลดา ,พี สะเดิด เสถียร ทำมือ,มนต์แคน แก่นคูน ,ไหมไทย ใจตะวัน

นอกเหนือจากจะใช้นักร้องเป็นเรือธงในการขับเคลื่อนธุรกิจแล้ว สิ่งที่กริช พยายามตอกย้ำเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์แกรมมี่โกลด์อยู่เสมอ คือ สร้างรอยัลตี้ในตัวสินค้าของบริษัท โดยผ่าน 3 แบรนด์หลัก ประกอบด้วย แบรนด์แกรมมี่โกลด์ ที่มีผลสำรวจปัจจัยการตัดสินใจซื้อซีดีเพลงลูกทุ่งของกลุ่มเป้าหมาย พบว่า ผู้บริโภคกว่า 40 % ตัดสินใจซื้ออัลบัมเพลงชุดนั้น ๆ เพราะมีความมั่นใจกับชื่อแกรมมี่โกลด์ ปัจจัยต่อมาคือ แบรนด์ครูเพลง - อาจารย์นักดนตรี ซึ่งแกรมมี่โกลด์ประสบประสบความสำเร็จมากในการสร้างแบรนด์ลักษณะนี้ ดังเช่นในปัจจุบันที่แกรมมี่โกลด์มีศิลปินครูบ้านป่า สลา คุณวุฒิ เป็นเครื่องหมายการันตีคุณภาพอัลบัม ที่ไม่เพียงแต่เป็นเครื่องสร้างกำลังใจให้กับนักร้องหน้าใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้ามาทำเพลง เกิดความมั่นใจและเชื่อมั่นว่าจะประสบความสำเร็จได้ในอนาคตที่ได้เห็นว่าครูเพลงท่านนี้เป็นผู้สร้างสรรค์งานเพลงให้เท่านั้น ในส่วนของผู้บริโภค เพียงแค่เห็นว่าเพลงนี้มีครูสลา คุณวุฒิเป็นผู้สร้างสรรค์ก็จะเกิดความเชื่อมั่นที่จะซื้อหาไปฟังเช่นกัน

และปัจจัยสุดท้ายคือ แบรนด์ศิลปินนักร้อง แกรมมี่โกลด์มีการวางโพสิชั่นนิ่งให้กับนักร้องแต่ละคนไปในแนวทางที่ต่างกัน โดยตัวอย่างโพสิชั่นนิ่งที่ประสบความสำเร็จจนแทบกลายเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จทางการตลาดให้กับแกรมมี่โกลด์ในแต่ละปีได้ ไม่ว่าจะเป็น ไมค์ ภิรมย์พร ที่เมื่อแฟนเพลงได้ยินก็ต้องนึกไปถึง ภาพนักร้องขวัญใจแรงงาน คนสู้ชีวิต ในขณะที่ ต่าย อรทัย ดาบคำ สาวเมืองอุบลราชธานี ก็จะเป็นอีกหนึ่งคาแรกเตอร์ ที่วันนี้กลายเป็นไอดอลของหญิงสาวต่างจังหวัดที่ต้องเข้ามาดิ้นรนต่อสู้และใช้ชีวิตอยู่ในเมืองกรุง

ด้วยการดำเนินตามกลยุทธ์การสร้างความแข็งแกร่งจากทรัพยากรทุกส่วนที่มีอยู่ในมือ ทำให้ปัจจุบันแกรมมี่โกลด์สามารถสร้างมาร์เก็ตแชร์ในตลาดเพลงลูกทุ่งได้กว่า 65 % และคาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 70 % หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้

อย่างไรก็ตามแม้เป้าหมายจะดูเป็นภารกิจที่เหมือนจะไม่ยากนัก กับการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเพลงลูกทุ่งอีก เพียง 5 % แต่หากจะดูที่มาของส่วนเพิ่มของรายได้ที่กริชต้องการ ก็ถือเป็นความท้าทายที่คงต้องเหนื่อยยากไม่ใช่เล่น เพราะเป้าหมายส่วนนั้น เขาตั้งมั่นว่าจะต้องได้มาจากตลาดลูกทุ่งทางภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวในประเทศที่แกรมมี่โกลด์มีส่วนแบ่งเป็นรองค่ายอาร์สยาม

ส่งกลยุทธ์เคาะประตูภาคใต้ ชิงแชร์อาร์สยาม

การแข่งขันความเป็น1ในตลาดเพลงลูกทุ่งทั่วประเทศของแกรมมี่โกลด์ มิใช่เรื่องที่ง่ายดาย แม้ตัวเลขผลสำรวจในครึ่งปีแรกของแกรมมี่โกลด์จะระบุว่า พวกเขาครองมาร์เก็ตแชร์ในตลาดรวมลูกทุ่ง 65 % ในขณะที่ค่ายอาร์สยามมีตัวเลขมาร์เก็ตแชร์เพียง 19 % และแบ่งให้กับค่ายขนาดกลางและขนาดเล็กโดยรวมอีก 16 %

โดยในตลาดลูกทุ่งทั่วประเทศ ยกเว้นภาคใต้ แกรมมี่โกลด์ล้วนปักธงรบเป็นอันดับ 1 ทุกภูมิภาค แต่ในภาคใต้นั้น อาร์สยามที่มีการรุกตลาดอย่างจริงจัง และ มีศิลปินเรือธงที่เป็นคนในพื้นที่อย่าง หนุ่มเมืองตรัง วีรยุทธิ์ นานช้า หรือ บ่าววี, บิว กัลยาณี เจียมสกุล สาวสุราษฎร์ธานี หรือแม้แต่หลวงไก่ สมพงษ์ จิตรเที่ยง ลูกทุ่งเพื่อชีวิตจากจังหวัดตรัง ต่างเก็บแชร์ตลาดภาคใต้ให้อาร์สยาม จนแทบไม่มีช่องว่างให้กับค่ายอื่นๆเลย

นอกเหนือจากศิลปินคนท้องถิ่นที่ช่วยเก็บเกี่ยวส่วนแบ่งการตลาดภาคใต้อย่างเป็นล่ำเป็นสันแล้ว อาร์เอสยังมีการนำกลยุทธการตลาดมิวสิกมาร์เก็ตติ้งมาใช้ในพื้นที่นี้ โดยร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ บริษัท เนสท์เล่(ไทย) จำกัด จัดกิจกรรมสนับสนุนการตลาดในสไตล์บีโลว์เดอะไลน์ "คนใต้หัวใจเข้มข้น" ให้กับเนสกาแฟ ทรีอินวัน มายคัพ โดยยกคณะศิลปินเลือดใต้ตระเวนเปิดการแสดงใน 5 จังหวัดใหญ่ สุราษฎร์ธานี ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง และกระบี่ พร้อมจัดกิจกรรมพบปะกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งนอกเหนือเป็นการผลักดันแบรนด์เนสกาแฟ ทรีอินวัน ที่ยังไม่ได้รับการยอมรับในตลาดภูมิภาคมากนัก โดยเฉพาะในตลาดภาคใต้ที่เป็นตลาดใหญ่ของกาแฟทรีอินวันที่ค่ายกาแฟต่าง ๆ เล็งเจาะส่วนแบ่งจากเจ้าตลาดคอฟฟี่มิกซ์ ให้เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นแล้ว ในด้านของศิลปินลูกทุ่งอาร์สยามเองก็สามารถตอกย้ำภาพผู้นำในภูมิภาคนี้ยิ่งขึ้นอีก

ซึ่งแม้จะดูว่าช่องว่างในตลาดภาคใต้แทบจะไม่มีให้เห็นสำหรับค่ายใหญ่อย่างแกรมมี่โกลด์ แต่ กริชก็มั่นใจว่า ตนเองมีเครื่องมือทางการตลาดที่จะสามารถชิงส่วนแบ่งตลาดมาจากคู่แข่ง โดยแกรมมี่โกลด์มีการนำแนวคิด Customer Centric อันเป็นกลยุทธ์หลักที่ อากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประกาศไว้ในการนำธุรกิจเพลงของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ กลับคืนสู่ความรุ่งโรจน์ มาใช้เจาะตลาดภาคใต้ ที่ถือว่าเป็นจุดอ่อนมากที่สุด

Customer Centric คือ การมุ่งเจาะลึกเพื่อตอบโจทย์การผลิต , การโปรโมท และช่องทางการจัดจำหน่าย โดยในแง่ของการผลิต จะเน้นสร้าง Content และ Talent ที่เจาะกลุ่มเป้าหมายชัดเจน มีการลงรายละเอียดลึกลงไปถึงในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ ส่วนในการโปรโมท จะนำกลยุทธ์ Through the line โดยประสานกิจกรรมส่งเสริมการตลาดทั้ง Above the line และ Below the line ด้วยการใช้สื่อทั้งแมสมีเดีย และส่งศิลปินไปพบปะประชาชน สื่อท้องถิ่น เพื่อทำกิจกรรมการกุศลหรือเพื่อสังคมร่วมกัน ในขณะที่ช่องทางการจัดจำหน่ายนั้น รูปแบบเดิมที่เป็นแบบ Physical ซึ่งดำเนินการกระจายสินค้าผ่านทั้งแผงเทป ร้านค้า หรือช่องทางอื่นๆ เช่น ดีเจที่มีธุรกิจส่วนตัว รวมไปถึงสื่อดิจิตอล ที่ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เนต

กริชยังไม่กล้าที่จะมองไปถึงการก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดเพลงลูกทุ่งของภาคใต้ในปีนี้ หรือปีหน้า เพราะความแข็งแกร่งของอาร์สยามในพื้นที่นั้น ไม่ต่างไปจากความแข็งแกร่งของแกรมมี่โกลด์ในพื้นที่อื่นที่ยากจะล้มได้ เพียงแต่วันนี้ กริช มองว่าจุดเริ่มต้นคือการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดภาคใต้ให้มากขึ้นอีกนิด ปักหมุดหาพื้นที่ยืนอย่างมั่นคงให้ได้

อาร์สยามลุยตลาดอีสาน เตรียมดันน้องจิน พร้อมส่งเพลงใต้เจาะตลาด

ขณะที่แกรมมี่โกลด์ประกาศปักหมุดเตรียมรุกถิ่นสะตอ ค่ายอาร์สยามเองก็มีความพยายามที่จะขยายฐานกลุ่มคนฟังไปยังภูมิภาคต่างๆ เช่นกัน นักร้องเรือธงคนใหม่ ที่ไม่ต้องเสียเวลาสร้างชื่ออย่าง จินตหรา พูนลาภ และกุ้ง สุทธิราช วงศ์เทวัญ ที่เพิ่งจะเดินเข้ามาร่วมสังกัดชายคาอาร์สยามคนล่าสุด เป็นการจุดประกายให้อาร์สยามกล้าที่จะเดินออกจากกรอบที่ตัวเองยืนอยู่ ศุภชัย กล่าวว่า การได้นักร้องซูเปอร์สตาร์เหล่านี้เข้ามา เหมือนการมาเติมเต็มจิ๊กซอว์บางส่วนที่ขาดหายไปของค่ายอาร์สยาม เมื่อผนวกกับศิลปินที่มีอยู่อย่าง สันติ ดวงสว่าง ปีเตอร์ โฟดิฟาย หนู มิเตอร์ รวมถึง ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง และศิลปินดาวรุ่งที่จะทยอยเข้าสู่อาร์สยาม จะส่งผลให้ศักยภาพของอาร์สยามไม่เป็นรองใครในตลาดเพลงลูกทุ่งแน่นอน

นอกจากนั้น ศุภชัย ยังได้กล่าวถึงผลการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคในภาคอีสานที่ชวนให้แกรมมี่โกลด์ต้องเกาะแชร์ไว้ให้มั่น เมื่อพบว่า มีกลุ่มแฟนเพลงที่ชื่นชอบเพลงลูกทุ่งเพื่อชีวิตของภาคใต้เริ่มขยายตัวมากขึ้น จุดประกายให้อาร์สยามเตรียมจะดำเนินกลยุทธ์นำเพลงที่ได้รับความนิยมจากทางภาคใต้มารุกในตลาดอีสาน โดยคาดว่าจะได้รับความนิยมไม่แพ้ตลาดทางภาคใต้

ปัจจุบันอาร์สยามมีศิลปินลูกทุ่งเพื่อชีวิตอยู่ในเครือจำนวนกว่า 50 คน โดยในปีนี้มีผลงานออกมาแล้วกว่า 20 คน ในขณะที่ค่ายแกรมมี่โกลด์มีศิลปินในสังกัดจำนวน 26 คน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 30 คนภายในสิ้นปีนี้ เป็นขุมกำลังในการช่วงชิงตลาดลูกทุ่งยุคดิจิตอล ที่เมื่อดูจากชื่อของคู่ต่อกรอาจทำให้คอการตลาดเบื่อหน่ายกับการต่อสู้ของแกรมมี่กับอาร์เอสที่ห่ำหั่นมายาวนานร่วม 20 ปี แต่เมื่อมองถึงสมรภูมิของสงครามเพลงลูกทุ่งในครั้งนี้ น่าจะเป็นตลาดใหม่ ๆ ที่น่าจะทำให้ได้เห็นถึงศักยภาพใหม่ ๆ ของทั้ง 2 ค่ายที่เราไม่ค่อยได้เห็นกันมาก่อน ในการช่วงชิงตลาดเพลงลูกทุ่ง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.