กล่าวได้ว่า แอนโธนี่ โซลา ชาวสหรัฐฯ ผู้มีอาชีพเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจและเพื่อนนักธุรกิจชาวไทยของเขาคือเชิดชัย
องค์สิริวัฒนานั้น เป็นผู้ที่จัดอะไรเป็นเงินเป็นทองไปหมด เพราะเพียงชั่วระยะเวลาปีเดียวกิจการ
"ไมดาส อะโกรโนมิคส์ โค" ของคนทั้งสอง ซึ่งมีฐานสำนักงานใหญ่ในไทยก็สามารถสร้างชื่อเสียงเป็นบริษัทรับบริหาร
และให้คำปรึกษาทางด้านธุรกิจการเกษตรชั้นนำโดยมีภาระ หน้าที่ทั้งในส่วนของการให้คำปรึกษาแก่องค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา
และยังรับเป็นผู้บริหารจัดการทางด้านการ เพราะปลูกให้กับเจ้าของที่ดินรายใหญ่ของไทย
แต่ก่อนที่จะประสบความสำเร็จเช่นนี้ ทั้งโซลาและเชิดชัยต่างก็สั่งสมประสบการณ์ทางธุรกิจมาเป็นระยะเวลานานพอสมควรทีเดียว
สำหรับโซลานั้น เขาเริ่มเข้ามาในไทยตั้งแต่ปี 1970 จากการเป็นอาสาสมัครสันติภาพของ"พีซ
คอร์ป" และเป็นนักวางแผนทางด้านสิ่งแวดล้อม หลังจากนั้นยังช่วยงานในโครงการของยูเสดและธนาคารโลกอีกหลายโครงการทั้งในไทยและลาว
ก่อนที่จะเข้าร่วมงานกับ "ฮาวายเอี้ยน อะโกรโนมิคส์" ในปี 1985
โดยประจำสำนักงานในไทย
อีก 2 ปีถัดมากิจการแห่งนี้เปลี่ยนชื่อเป็น "แปซิฟิก แมเนจเมนท์ รีซอร์ส"
หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ "แพ็คมาร" โดยเป็นบริษัทแฟรนไชส์แห่งหนึ่งของบริษัทที่ปรึกษาสหรัฐฯ
เมื่อถึงต้นปี 1991โซลา และเชิดชัยก็เข้าซื้อกิจการแฟรนไชส์แห่งนี้เสีย และเปลี่ยนชื่อเป็น
"ไมดาส อะโกรมิคส์" ปัจจุบันมีผู้เชี่ยวชาญอยู่ในบริษัทราว 25
คน ทั้งที่ประจำสำนักงานในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
"ผมถือหุ้นในกิจการไมดาสอยู่ราว 40%" โซลากล่าวและเสริมว่า "ส่วนที่เหลือนั้นเป็นของคุณเชิดชัย
30% ของพนักงาน 23% และของโรเบิร์ต มัสแคท (นักเขียนชาวสหรัฐ) อีก 7%
ความสำเร็จของโซลายังเห็นได้จากธุรกิจซึ่งไม่ใช่ธุรกิจหลักของเขาด้วย อาทิ
กิจการลงทุนเกี่ยวกับที่ดินซึ่งจดทะเบียนในไทยชื่อ "คลับ แม่โขง"
ซึ่งโซลาถือหุ้นอยู่เพียงราว 20% โดยมีผู้ถือหุ้นชาวไทยอีกมากหน้าหลายตาเป็นเจ้าของส่วนที่เหลือ
อีก 80%
สำหรับในไทยนั้น ไมดาสเข้าไปบริหารสวนผลไม่ 2 แห่งที่ตราดและหนองคาย และกำลังเพิ่มอีก
3 แห่งคือที่จันทบุรี 1 แห่งและนครนายกอีก 2 แห่ง "ธุรกิจของเราราว
50% จะเกี่ยวข้องกับการบริหารกิจการฟาร์มในเชิงพาณิชย์" โซลาอธิบาย
ส่วนธุรกิจในส่วนภาคเอกชนนั้นจะอยู่ในความรับผิดชอบของเชิดชัยซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร
ปัจจุบันเชิดชัยอายุ 35 ปี เขาจบการศึกษาเศรษฐศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
และเข้าร่วมงานกับฮาวายเอี้ยนในปี 1985
ตัวโซลานั้นมีความสนใจเป็นพิเศษทางด้านการให้คำปรึกษากับหน่วยงานภาครัฐบาล
ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับภูมิภาคบริเวณแม่น้ำโขงโดยรวมถึงพม่าด้วย ส่วนในไทย
กิจการของไมดาสจะเน้นหนักไปที่การวางแผนทางด้านสิ่งแวดล้อม และเมื่อเดือนมิถุนาที่ผ่านมาก็ยังได้เสนอรายงานผลการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องอนุรักษ์ป่าไม้จำนวน
4 ชุดให้กับธนาคารโลก อันจะนำไปสู่โครงการใหม่ ๆ ทางด้านการอนุรักษ์ป่าไม้ในไทยซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ
"ลาวนั้นล้าหลังกว่าไทยอยู่ราว 20-30 ปี เราจึงใช้ยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกัน"
โซลาอธิบาย "เราประสานงานกับภาครัฐบาลมากขึ้น โดยเน้นด้านการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเพาะปลูกพืชผล
การปศุสัตว์ ระบบชลประทาน และการทำป่าไม้ อีกทั้งยังช่วยด้านการเตรียมการสำหรับโครงการของภาคเอกชนด้วย"
และงานส่วนใหญ่นี้จะได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติหรือธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย
ยิ่งกว่านั้นไมดาสยังมีสายสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับ "บูรพา ดิเวลลอปเมนท์"
ด้วย โซลาชี้ว่า "อันที่จริงแล้ว เรากำลังจะเปิดสาขาของเราในสำนักงานของบูรพาที่เวียงจันทร์
และให้เขาเปิดสาขาในสำนักงานของเราด้วย อีกทั้งยังมีโครงการจะเปิดสำนักงานร่วมกันในพนมเปญเร็ว
ๆ นี้"
โซลายังชี้ด้วยว่าหลังจากที่เขาได้ดำเนินการจัดการประชุมร่วมระหว่างไทย-ลาวในเรื่องการลงทุนในลาว
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาแล้ว ปรากฏว่ามีนักธุรกิจที่สนใจขอคำปรึกษาจากเขาเกี่ยวกับที่ดินในลาวเป็นจำนวนมากทีเดียว
"จุดขายของเรานั้น อยู่ที่การชี้ให้เห็นว่า ยังมีที่ดินในลาวอีกเป็นจำนวนมากที่เหมาะสำหรับการเพาะปลูก
ทั้งในบริเวณที่ราบสูงโบโลเวน ลุ่มแม่น้ำโขงและบริเวณทุ่งไหหิน นอกจากนั้น
เรายังสนับสนุนให้ปลูกป่าจำพวกไม้อะคาเซียและป่าไผ่มากกว่าป่ายูคาสิปตัสด้วย
ขณะนี้เรากำลังทำการศึกษาข้อมูลให้กับบริษัทของไทยอยู่ 2 แห่ง กับรับผิดชอบโครงการป่าไม้ครอบคลุมพื้นที่ราว
75 กิโลเมตรทางตอนเหนือของเวียงจันทน์อีกด้วย"