|

คลังเผยยอดขาดดุล11เดือน2.3แสนล.
ผู้จัดการรายวัน(19 กันยายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
คลังเผยฐานะการคลัง 11 เดือนมียอดขาดดุลเงินสด 230,777 ล้านบาท ระบุเป็นการสนองนโยบายรัฐที่ต้องการใช้นโยบายการเงินเป็นหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนในเดือนสิงหาคมมียอดเกินดุลเงินสดกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ เบียร์ ยาสูบ และน้ำมันที่เพิ่มขึ้น
นายสมชัย สัจจพงษ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดประจำเดือนสิงหาคม 2550 รัฐบาลมีดุลเงินสดเกินดุล 10,082 ล้านบาท ขณะที่ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2550 (ตุลาคม 2549 – สิงหาคม 2550) รัฐบาลขาดดุลเงินสดรวมทั้งสิ้น 230,777 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลที่จะใช้นโยบายการคลังเป็นเครื่องมือหลักในการกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ในระดับที่ไม่ต่ำกว่า 4% ทั้งนี้ รัฐบาลชดเชยการขาดดุลโดยการใช้เงินคงคลัง 87,117 ล้านบาท การออกพันธบัตรรัฐบาลจำนวน 97,115 ล้านบาท และการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน 46,545 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลัง 109,769 ล้านบาท สูงกว่าระยะเดียวกันปีก่อน 17.7% โดยรายได้จากภาษีที่จัดเก็บเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ภาษีเบียร์ ภาษียาสูบ และภาษีน้ำมัน ขณะเดียวกันรัฐบาลก็มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 122,778 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 5.4% โดยแบ่งออกเป็นรายจ่ายประจำ 101,347 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน 17,262 ล้านบาท และรายจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 4,169 ล้านบาท จึงส่งผลให้ดุลเงินงบประมาณในเดือนสิงหาคม 2550 ขาดดุล 13,010 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณซึ่งเกินดุล 23,092 ล้านบาท จึงทำให้ดุลเงินสดเกินดุล 10,082 ล้านบาท
สำหรับฐานะการคลังในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2550 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 1,251,742 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 8% โดยรายได้ภาษีที่จัดเก็บเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนในอัตราสูงที่สำคัญ ได้แก่ ภาษียาสูบ ภาษีเบียร์ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีธุรกิจเฉพาะ นอกจากนี้การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจและรายได้จากส่วนราชการอื่นยังเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงเช่นเดียวกัน
ส่วนการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลมีจำนวนทั้งสิ้น 1,424,078 ล้านบาท สูงกว่าการเบิกจ่ายในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 14.9% โดยแบ่งออกเป็นรายจ่ายปีปัจจุบัน 1,326,605 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว17.9% คิดเป็นอัตราการเบิกจ่าย84.7%ของวงเงินงบประมาณ (1,566,200 ล้านบาท) และรายจ่ายปีก่อน 97,473 ล้านบาท ต่ำกว่าปีที่แล้ว15%
ทำให้ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณมีดุลเงินงบประมาณขาดดุลทั้งสิ้น 172,335 ล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน 58,442 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจ่ายเงินเหลื่อมจ่ายจากปีงบประมาณ 2549 จำนวน 38,952 ล้านบาท และการไถ่ถอนตั๋วเงินคลังสุทธิ 9,000 ล้านบาท ทำให้ดุลการคลัง (ดุลเงินสด) ขาดดุลทั้งสิ้น 230,777 ล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|