เบรกบัวหลวงขายหุ้นACL คลังให้รอกฎหมายแบงก์ผ่านสนช.


ผู้จัดการรายวัน(19 กันยายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

รมว.คลังในฐานะผู้กำกับนโยบายและผู้ถือหุ้นใหญ่เบรกธนาคารกรุงเทพขายสินเอเซียให้จีน-มาเลย์ในช่วงนี้ ระบุอยากให้รอกฎหมายสถาบันการเงินผ่านสภาฯ ก่อน แย้มวันนี้คลังเสนอ พ.ร.บ.เงินตราเข้า ครม.ก่อนผลักดันเข้า สนช.รอบใหม่ ด้านธปท.โต้ไม่ใช่ปัญหามาสเตอร์แพลน1 เหตุสถาบันการเงินรายอื่นปรับตัวได้

กรณีที่สถาบันการเงินจากจีนและมาเลเซียสนใจเข้ามาซื้อหุ้นธนาคารสินเอเชีย (ACL) จากธนาคารกรุงเทพ (BBL) ซึ่งจะทำให้สัดส่วนหุ้นของต่างชาติใน ACL เกินกว่า 25% นั้น นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง กล่าวว่า ธนาคารสินเอเซียไม่ใช่สถาบันการเงินที่อ่อนแอ ดังนั้นการที่จะมีผู้ถือหุ้นต่างชาติเกินกว่า 25% ก็ควรจะรอให้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันการเงินฉบับใหม่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อน เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวจะมีการระบุข้อกำหนดในส่วนดังกล่าวอย่างชัดเจน

"กระทรวงการคลังกำลังผลักดันให้กฎหมายฉบับดังกล่าวผ่านการพิจารณาของ สนช.และออกมามีผลบังคับใช้ให้ทันภายในรัฐบาลชุดนี้ เช่นเดียวกับกฎหมายการเงินอีก 3 ฉบับที่รอการพิจารณาอยู่" นายฉลองภพกล่าวและว่า กระทรวงการคลังจะเสนอร่าง พ.ร.บ.เงินตรา เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (18 ก.ย.) จากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคาดว่าน่าจะเสนอให้ สนช.พิจารณาได้ในสัปดาห์หน้า พร้อมกับร่างพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน ส่วนร่าง พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก คาดว่าจะใช้เวลาปรับปรุงแก้ไขและชี้แจงทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายราว 1-2 สัปดาห์ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของ สนช.

ส่วนธนาคารจากต่างประเทศ 2 แห่ง ที่สนใจร่วมทุนธนาคารสินเอเซีย ได้แก่ ธนาคารอินดัสเตรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล แบงก์ ออฟ ไชน่า (ICBC) จากจีน และธนาคาร CIMB จากมาเลซีย ขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)จะเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาเรียกค่าปรับจากธนาคารกรุงเทพ กรณีที่ไม่สามารถลดสัดส่วนหุ้นธนาคารสินเอเซียให้ต่ำกว่า 10% ได้ตามกำหนดเวลาที่เคยขอผ่อนผันไว้ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2550 ปัจจุบันธนาคารกรุงเทพถือหุ้นอยู่ 19.2% ส่วนต่างชาติปัจจุบันถือหุ้นแล้ว 21.7%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง ซึ่งได้รับมอบหมายจากธนาคารกรุงเทพให้รับผิดชอบดีลดังกล่าว ได้นำตัวแทนผู้บริหารธนาคาร ICBC และ CIMB เข้าพบนายฉลองภพเพื่อรับทราบนโยบายของกระทรวงการคลัง แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน เนื่องจากกระทรวงการคลังซึ่งเป็นทั้งผู้ดูแลนโยบายและผู้ถือหุ้นใหญ่ธนาคารสินเอเซีย เห็นว่ายังไม่ถึงเวลาที่เหมาะ

แย้งไม่ใช่ปัญหาแผนมาสเตอร์แพลน1

ด้านนายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หลังจากที่ธปท.ได้ให้สถาบันในระบบมีการปฏิบัติตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (มาสเตอร์แพลน) ฉบับที่ 1 ซึ่งกำหนดให้สถาบันการเงิน ไม่สามารถถือหุ้นสถาบันการเงินแห่งอื่นได้ (One presence) ถือเป็นหลักการที่เหมาะสม แต่เท่าที่ได้ให้เวลาในการปรับตัวขณะนี้ เหลือเพียงธนาคารกรุงเทพ เพียงรายเดียวที่ยังถือหุ้นในธนาคารสินเอเชีย เพื่อรายย่อยอยู่ ส่วนรายอื่นที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ครบทุกแห่งแล้ว

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ธนาคารกรุงเทพ จะสามารถดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของธปท.ได้โดยเร็ว ส่วนการดำเนินการเปรียบเทียบปรับนั้น เป็นเรื่องของฝ่ายตรวจสอบสถาบันการเงิน ดังนั้น ในภาพรวมไม่ได้แสดงว่า นโยบายตามมาสเตอร์แพลนที่ได้ออกไปได้สร้างปัญหาให้กับระบบสถาบันการเงิน จึงไม่ได้มีการยืดเวลาออกไปให้ธนาคารกรุงเทพ หรือทบทวนแผนงาน

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากกรณีธนาคารสินเอเชียแล้ว ก่อนหน้านี้ ยังมีกรณีของธนาคาร จีอีมันนี่ เพื่อรายย่อย ที่เข้าถือหุ้นธนาคารกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ได้ใช้วิธีการขายหุ้นธนาคารจีอี เพื่อรายย่อยออกไป แต่ใช้วิธีนำธนาคารจีอี มันนี่ ไปควบรวมกับธนาคารกรุงศรีอยุธยาแทน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.