"วินัย อินถาวงศ์คืนสู่ดินแดนสังคมนิยมลาวเพื่อสร้างอาณาจักรธุรกิจ"


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้ว่าผนังภายในสำนักงานของ วินัย อินถาวงศ์ จะเป็นภาพสีน้ำเรียบ ๆ แสดงถึงภูมิประเทศในฝรั่งเศส แต่อันที่จริงวินัยกลับมาอยู่ที่เวียนจันทน์แล้ว และบุรุษวัย 43 ปีผู้นี้ก็นับเป็นหนึ่งในจำนวนผู้ประกอบการธุรกิจท้องถิ่นไม่กี่คนที่ประสบความสำเร็จในลาว

ในช่วง 15 ปี หลังจากวินัยกลับสู่แผ่นดินเกิด เขาได้ก่อตั้งธุรกิจของตนเองขึ้นปัจจุบันคือ วิโค กรุ๊พ ซึ่งมีกิจการครอบคลุมตั้งแต่บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ,โรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้, บริษัทการค้า, ฟาร์มเกษตร, ร้านตัดแว่น และยังเป็นดีลเลอร์รถยนต์หลายยี่ห้อ ตั้งแต่เมอร์ซิเดส เบนซ์, วอลโว่และเปอโยต์ด้วย

วินัยเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในลาวก็จริง ทว่า ชีวิตส่วนใหญ่ของเขานั้นต้องอยู่ท่ามกลางความแตกต่างระหว่างแบบแผนชีวิตสไตล์ยุโรปที่เคยชินแต่ครั้งยังเด็ก กับการปลูกฝังความคิดให้ภักดีต่อแผ่นดินเกิดและครอบครัว "เมื่อตอนที่พ่อแม่ของผมส่งผมไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศสนั้น พ่อกับแม่บอกผมว่า เมื่อเรียนจบแล้วผมจะต้องกลับมาช่วยพัฒนาบ้านเกิดของเรา" วินัยเล่าถึงความหลัง

เมื่ออายุเพียง 6 ปี วินัยก็ถูกส่งไปเรียนที่ อิกซ์ ออง โพร วองซ์ ทางใต้ของฝรั่งเศสจากนั้นก็เข้าเรียนในโรงเรียนคาทอลิกเรื่อยมา "ออกจะแปลกอยู่สักหน่อยสำหรับคนที่เป็นชาวพุทธ" เขาฟื้นความหลังและเสริมอีกว่า "ผมจะต้องเข้าโบสถ์ทุก ๆ สัปดาห์ และมีอยู่ปีหนึ่งที่ผมได้รับรางวัลชนะเลิศในวิชาศาสนา ผมจำได้ว่าตอนนั้นผมภูมิอกภูมิใจมากแต่มาถึงตอนนี้แล้วมองย้อนกลับไปรู้สึกเป็นเรื่องตลกมาก"

เมื่ออยู่ที่ฝรั่งเศส วินัยได้มีโอกาสเล่าเรียนการอ่านและเขียนภาษาลาวจากนักศึกษารัฐศาสตร์ลาวผู้หนึ่ง แต่เขาก็ยอมรับว่า "จนถึงตอนนี้แล้วภาษาลาวของผมก็ยังไม่ดีส่วนการเขียนก็แย่มากทีเดียว"

วินัยถูกเรียกตัวกลับบ้านเกิดในปี 1964 ขณะที่เขาอายุ 16 ปี "พ่อแม่บอกผมว่าผมจะต้องกลับบ้านและมาทำความรู้จักกับคนในครอบครัว"

อีก 3 ปีถัดมา เขาก็กลับไปฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่งเพื่อศึกษาต่อทางด้านการแพทย์และรัฐศาสตร์ และหลังจากที่ได้ทำงานเป็นผู้อ่านข่าวประจำวิทยุเวียงจันทน์ในฝรั่งเศสได้ระยะหนึ่ง เขาก็ออกเดินทางอีกครั้งหนึ่งในปี 1974 แต่ครั้งนี้จุดหมายปลายทางของเขาคือกรุงเทพฯ

ช่วงระยะเวลาดังกล่าว สถานการณ์ทางการเมืองในไทยอยู่ในสภาพวุ่นวาย แต่เขาก็ได้เริ่มชิมลางประกอบธุรกิจเป็นครั้งแรกในช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ประเทศไทยลองผิดลองถูกกับระบอบประชาธิปไตยอยู่และขณะที่สหรัฐฯ กำลังทำสงครามอยู่ในอินโดจีน วินัยก็ใช้เวลาอีก 2 ปีทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งอาทิ นิปปอน สตีล และมิตซูบิชิ สตีล โดยทำการศึกษาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติในลาวจากกรุงเทพฯ "พ่อของผมร่วมทำธุรกิจกับโครงการหลายโครงการในลาว" เขากล่าว "บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งกำลังมองหาช่องทางการลงทุนในธุรกิจเหมืองแร่อยู่ โดยเฉพาะเหล็ก, ทองและแมงกานีส"

ครั้นปี 1975 เมื่อฝ่ายสังคมนิยมมีชัยชนะและประกาศตั้งประเทศลาวขึ้น บรรดาโครงการต่าง ๆ ก็มีอันหยุดชะงักไป ตัววินัยเองก็ต้องอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะตัดสินใจไม่ถูกว่า ควรจะกลับไปอยู่ที่บ้านเกิดหรือรับคำเชื้อเชิญของเพื่อนฝูงให้อพยพ ครอบครัวไปอยู่สหรัฐฯ หรือกลับฝรั่งเศสดี

แต่ท้ายที่สุด เขาก็เห็นแก่ครอบครับมากกว่า และตัวลุงของเขา ท่านนายพลซินกาโป ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกิจการสาธารณะ ก็ได้คอยปลอบให้เขาคลายวิตกในเรื่องการริเริ่มธุรกิจส่วนตัว และชักชวนให้เขากลับไปอยู่ที่ลาว "ตอนนั้นผมบอกไปว่าผมอาจจะกลับถ้าหากผมสามารถตั้งสำนักงานเล็ก ๆ และดำเนินธุรกิจส่วนตัวผมได้" วินัยรำลึกความหลัง

เมื่อกลับเวียงจันทน์ วินัยเริ่มต้นจากการกลับไปบริหารกิจการโรงเลื่อยของพ่อของเขา อีก 3 ปีถัดมา" หลังจากที่รัฐบาลเข้าใจถึงปัญหาในเรื่องการนำเข้าวัตถุดิบ" เขาและเพื่อนนักธุรกิจอีกราวสี่ห้าคนจึงจัดได้ว่าเป็นกลุ่มนักทุนนิยมภาครัฐชุดแรก ซึ่งประเดิมงานจากธุรกิจค้าไม้เป็นอันดับแรก

กระนั้นการประกอบธุรกิจในเวียงจันทน์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เช่นกัน ความผันผวนในนโยบายของรัฐบาลที่มีต่อภาคเอกชน นั้นกดดันให้วินัยถึงกับล้มละลายไปสองครั้งสองครา

โดยในปี 1980 รัฐบาลรวบการส่งออกไม้ทั้งหมดไว้ในมือทั้งหมด ทำให้เขาไม่อาจดำเนินธุรกิจต่อไปได้อีก "รัฐบาลรวบธุรกิจเกี่ยวกับไม้ซุงและไม้พะยูงไว้หมด ทำให้ธุรกิจผมเสียหายอย่างหนัก" เขาครวญ "และอีก 2 ปีถัดมาผมก็เหลือแค่สำนักงานเปล่า ๆ ที่ไม่อาจทำธุรกิจอะไรได้อีกเลย"

หลังจากนั้น วินัยได้ตั้งบริษัทค้าขนาดเล็กขึ้นแห่งหนึ่งโดยนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจำพวกน้ำตาล สบู่ และจักรยานเพื่อจำหน่ายในตลาดเช้าในเวียงจันทน์ แต่เมื่อดำเนินการไปได้ 2 ปีรัฐบาลก็เข้ามารวบธุรกิจส่วนนี้ไว้ในมืออีกปล่อยให้เขาต้องล้มละลายซ้ำสอง

"ปี 1985 ผมตัดสินใจเลิกกิจการลงทุนต่าง ๆ ในลาว เพราะเห็นว่ายังมีความเสี่ยงสูงมาก จากนั้นจึงหันมาจับธุรกิจที่ปรึกษาแทน" เขาเล่าย้อนเหตุการณ์ "และนี่ทำให้ผมยืนขึ้นมาด้วยลำแข้งของตัวเองได้จนถึงปี 1989 อันเป็นปีที่รัฐบาลให้โอกาสผมอีก และเปิดประตูรับการลงทุนจากต่างประเทศ"

ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา กิจการที่ปรึกษา วิโค ของวินัยก้าวหน้าเติบโตขึ้นเรื่อยมา โดยเน้นทางด้านการให้คำปรึกษาแก่บริษัทต่างชาต ิเกี่ยวกับการเข้ามาลงทุนในโครงการทางด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากหน่วยงานต่าง ๆ

ทุกวันนี้วินัยจะเป็นที่ปรึกษาหรือไม่ก็เข้าไปร่วมธุรกิจกับบริษัทระหว่างประเทศอีกกว่า 10 แห่ง และส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทจากยุโรป มีอาทิ "อิเล็กโทร วัตต์" ของสวิตเซอร์แลนด์ "โดเชอ คอน ซุล" แห่งเยอรมนีและ "โซเกรฮ", "อัลคาเทล" และ "โซเกอเล" แห่งฝรั่งเศล กับ "อะลีนาโอเต" แห่งอิตาลี นอกจากนั้น เขายังได้สัญญาเป็นผู้รับเหมาในการทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำอีกหลายต่อหลายโครงการด้วย

ความเก่งกาจในการเสาะหาทุนช่วยเหลือจากต่างประเทศเพื่อสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ของเขายังทำให้เขามีความสำคัญในสายตาของรัฐบาลลาวอีกด้วย

"ผมเพียงแต่ทำสิ่งดีที่สุดเพื่อให้ได้เงินช่วยเหลือมาให้กับประเทศ และผมก็กล้าพูดด้วยว่าผมช่วยได้มากทีเดียว"

ยิ่งกว่านั้นวินัยยังหาญกล้าที่จะแสวงหาช่องทางทำธุรกิจในกัมพูชาอีกด้วย เดือนกรกฎาคม 1989 เขาได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกับเจ้าหน้าที่พนมเปญ เพื่อจัดสร้างโรงงานผลิตน้ำ และสามารถดำเนินการผลิตได้ในอีกหนึ่งปีถัดมา และเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้วนี้เองที่เขาทำสัญญาเช่าซื้อโรงงานผลิตเบียร์แห่งหนึ่งในกัมปงโสมเป็นระยะเวลา 20 ปี ปัจจุบันกำลังเปิดดำเนินการอยู่บริหารกิจการโดย "เอเชีย แปซิฟิก มอลเตอร" แห่งออสเตรเลีย

อย่างไรก็ตาม วินัยเพิ่งจะเริ่มนำเงินของเขากลับไปลงทุนในลาวอย่างจริงจังก็เมื่อระยะ 3 ปีที่ผ่านมา เขาให้เหตุผลว่า "ผมต้องการให้รัฐบาลรู้ว่า ผมเป็นคน ๆ หนึ่งที่ยินดีที่จะลงทุนที่นี่" และนี่เองที่ทำให้เขาลงทุนสร้างบ้านไว้หลายหลังเพื่อให้ชาวต่างประเทศเช่าอยู่อีกทั้งยังเปิดบาร์ "เลอ ปาราโซล บลองก์" หลังที่ทำการสภาแห่งชาติซึ่งต่อมาได้ปรับให้เป็นโรงแรมขนาด 20 ห้องและภัตตาคารที่ทันสมัย

เมื่อวินัยมีความมั่นใจกับบรรยากาศการลงทุนมากขึ้นเขาก็ได้เพิ่มวงเงินลงทุนในบ้านเกิดเพิ่มขึ้นจนถึง 1 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน

วินัยยังมีโครงการใหม่ ๆ อีกหลายต่อหลายโครงการด้วยกันเมื่อเร็ว ๆ นี้ เขาได้ร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจโรงแรมดุสิตธานีในกรุงเทพฯ ลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อจัดสร้างโรงแรมระดับสี่ดาวขนาด 200 ห้อง ในบริเวณใกล้อนุสาวรีย์ล้านช้าง

กลุ่มธุรกิจกลุ่มนี้ยังเตรียมเข้าร่วมการประมูลเพื่อเข้าบริหารกิจการโรงแรมล้านช้างด้วย แม้ว่าจะมีคู่แข่งอยู่นับสิบราย แต่วินัยก็หวังว่าถ้ากลุ่มของเขาชนะการประมูลแล้วจะได้เข้าไปถือหุ้นในโครงการในสัดส่วน 20% ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงอาคารโรงแรมเสียใหม่ด้วยเงินลงทุนมูลค่า 2 ล้านดอลลาร์ กับโครงการก่อสร้างเพิ่มเติมเพื่อขยายโรงแรมให้มีขนาด 200 ห้อง ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยใช้เงินลงทุนราว 20 ล้านดอลลาร์

"ผมสนใจในโครงการที่ใหญ่กว่านี้อีกหลายโครงการ อย่างเช่นโรงงานซีเมนต์ที่วังเวียง" วินัยยกตัวอย่างและเสริมว่า "ผมยังคิดไปถึงโครงการก่อสร้างทางรถไฟระหว่างเวียงจันทน์กับวังเวียงอีกด้วยเพราะบริเวณนั้นจะเป็นเขตอุตสาหกรรมทางด้านเหล็ก, บุหรี่และซีเมนต์ในอนาคต"

แม้ว่าการดำเนินธุรกิจของวินัยตลอดระยะที่ผ่านมาจะไม่มีข้อด่างพร้อยใด ๆ ทว่าเขาก็ไม่เคยลืมเลือนปัญหายุ่งยากที่เกิดขึ้นในอดีต และถึงวันนี้รัฐบาลลาวก็ยังเฝ้าจับตาดูความเคลื่อนไหวของเขาอยู่เสมอ

"ถ้าหากผมมีผู้สนับสนุนทางการเงินที่ดีแล้ว ผมไม่เคยรีรอที่จะดำเนินโครงการเลย แต่สำหรับธุรกิจส่วนตัวของผมเองซึ่งต้องเผชิญกับความเสี่ยง ผมเคยมีประสบการณ์มาแล้วถึงสองครั้ง สองครา และผมก็ไม่มีฐานการเงินที่แข็งแกร่งพอสำหรับการลงทุนตามลำพัง" วินัยกล่าวในท้ายที่สุด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.