"ที่ปรึกษาทางธุรกิจทางเลือกของนักลงทุนต่างชาติยุคฟื้นฟู"


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

"ลาวกำลังเข้าสู่ยุคฟื้นฟูประเทศ หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายให้เอกชนเข้ามาจัดการลงทุนมากขึ้น หนทางหนึ่งของการลงทุนฟื้นฟูอยู่ที่บทบาทสำคัญของบริษัทที่ปรึกษาซึ่งกำลังเฟื่องฟูอย่างมาก"

ถ้าหากพิจารณาจากจำนวนของบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจในเวียงจันทร์แล้ว จะพบว่าลาวกำลังเผชิญกับความยุ่งยากจากการพัฒนาประเทศอยู่ไม่น้อยทีเดียว

เพราะนับจากปี 1988 เป็นต้นมา มีบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจทั้งประเภทให้บริการทั่วไปและให้คำปรึกษาเฉพาะด้านผุดขึ้นเป็นจำนวนนับสิบแห่ง ในขณะที่ประเทศเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติและเริ่มปล่อยให้ระบบเศรษฐกิจเป็นไปอย่างเสรีมากขึ้น

ผู้ที่ก่อตั้งกิจการเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นอดีตข้าราชการซึ่งมีประสบการณ์และสายสัมพันธ์ที่สามารถเข้าถึงกลไกของระบบราชการได้ นอกจากนั้นก็จะเป็นชาวต่างชาติที่พำนักในลาวที่เล็งเห็นว่าดินแดนซึ่งมีชาวนาอยู่จำนวน 4 ล้านคนและไม่มีอาณาเขตติดต่อกับทะเลเลยแห่งนี้ แท้จริงแล้วกลับอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งน้ำมันและแร่ธาตุต่าง ๆ

สำหรับธุรกิจที่ปรึกษาที่ให้บริการเฉพาะด้านก็มีอาทิบริษัทบูรพา ดีเวลลอปเมนท์ ซึ่งถนัดทางด้านป่าไม้ เอชอีซี ผู้เชี่ยวชาญด้าน วิศวกรรมพลังน้ำ เอสเค คอนซัลแทนท์ ทางด้านการก่อสร้าง เอสเอ็มอีดี ทางด้านการพัฒนาชนบท หรือเอซีอี ซึ่งถนัดในธุรกิจการตรวจสอบบัญชี

นอกจากนั้นยังมีที่ปรึกษาอีกบางส่วนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านอื่น ๆ อีก แล้วแต่ภูมิหลังทางด้านภาษาและวัฒนธรรม อย่างกรณีของ วิบูน พะนะจักชาวลาวที่อพยพไปอยู่ที่ฝรั่งเศส ปัจจุบันกลับมาตั้งบริษัทที่ปรึกษาทางด้านธุรกิจจากฝรั่งเศสเท่านั้น นอกจากนั้นก็มีบริษัทที่ปรึกษาบางแห่ง เช่น เอซีอี ของดาววอน พะจันทะวง ซึ่งให้บริการกับบริษัทหลายสัญชาติด้วยกัน ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากว่าตัวดาววอนเองนั้นมีความสามารถใช้ภาษาทั้งลาว ไทย ฝรั่งเศส อังกฤษและเวียดนาม

เอซีอี เป็นชื่อกิจการที่ย่อมาจาก ACCOUNTING CONSULTANCY ENTERPRISE ก่อตั้งเมื่อปี 1989 ด้วยทุนเรียกชำระแล้ว 10,000 ดอลลาร์ โดยผู้ถือหุ้นกิจการราว 30 รายนั้นเป็นข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์, นักธุรกิจในท้องถิ่นและชาวต่างชาติอีก 4 ราย ส่วนผลกำไรต่อปีนั้นตกราว 37,500 ดอลลาร์

ธุรกิจที่เอซีอีดำเนินการนั้นมีทั้งส่วนของบริการด้านการตรวจสอบบัญชี บริการฝึกอบรม บริการโทรสารและเลเซอร์-พรินติ้ง นอกจากนั้นยังจำหน่ายคอมพิวเตอร์ ระบบโทรศัพท์และอุปกรณ์สำนักงานอัตโนมัติ โดยมีอรพิม อินถาวง ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการโรงแรมเจ้าอนุ ในเวียงจันทร์ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ส่วนตัวดาววอนซึ่งเป็นผู้จัดการทั่วไปนั้น เคยเรียนรู้กลยุทธ์การค้ากับผู้เชี่ยวชาญฝรั่งเศสตั้งแต่ก่อนปี 1975 หลังจากนั้นเข้าทำงานในกรมบัญชีของกระทรวงอุตสาหกรรมอีก 7 ปี ก่อนจะออกมาจับงานในภาคธุรกิจ

เอซีอีอ้างว่าเคยให้บริการแก่บริษัทในลาวหลายแห่งและบริษัทต่างชาติอีก 25 แห่ง นอกจากนั้นยังเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีให้กับ เดล ชาง, ดีทแฮล์ม, ฮอนด้า มอเตอร์ไซเคิลและจอยท์ ดีเวลลอปเมนท์แบงก์ด้วย

เอสเอ็มอีดี หรือ SOCIETE MIXTE D'ETUDE E DE DEVELOPMENT เป็นธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาชนบท ก่อตั้งเมื่อมกราคม 1989 โดยเป็นกิจการร่วมทุนระหว่าง SOCIETE D' INVESTESSEMENT ET DE DEVELOPMENT INTERNATIONA (SIDI) แห่ง ฝรั่งเศส เวียงจันทน์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต คอร์ป" และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจเกษตรวิศวกรไฮโดรลิก นักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจและนักการธนาคารอีกจำนวน 12 คน

SIDI นั้นเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินให้กับการลงทุนทางด้านการผลิตในโมรอกโก, ตุรกีและบังคลาเทศส่วน "เวียงจันทน์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต คอร์ป" นั้นเป็นธุรกิจด้านนำเข้าและส่งออกของเมืองเวียงจันทน์เมื่อแรกตั้งกิจการนั้นมีทุนจดทะเบียนจำนวน 30,000 ดอลลาร์ ต่อมาเพิ่มเป็น 70,000 ดอลลาร์ และสัดส่วนการถือครองหุ้นระหว่างฝรั่งเศสกับลาวเมื่อก่อตั้งกิจการที่เป็นแบบ 50-50 ก็เปลี่ยนเป็นฝรั่งเศส 40% "เวียงจันทน์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต" 40% และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ 20%

"บริษัทฝรั่งเศสเป็นผู้จัดสรรทุนและช่วยเราดำเนินการทางธุรกิจด้วย" โอรถ จุลละมนตี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรของลาว และปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการของเอสเอ็มอีดีชี้ และขณะนี้เจ้าหน้าที่ของ SIDI ราว 20-25 คนก็กำลังทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการด้านการพัฒนาชนบท และโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าอีกหลายโครงการให้กับสำนักงานเลขาธิการลุ่มแม่น้ำโขง, ธนาคารโลก, ยูเอ็นดีพีและธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย อีกทั้งยังให้คำปรึกษาทางด้านผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อมแก่โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ "น้ำเทิน" ของ "สโนวี เมาน์เทน เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ป" แห่งออสเตรเลีย นี่ยังไม่นับถึงการดำเนินการตั้งศูนย์ฝึกอบรมทางด้านคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยแห่งหนึ่งในเวียงจันทน์เมื่อปีที่แล้วด้วย

"เอสเค คอนซัลแทนท์" มีแสงคำ พินิธ เป็นเจ้าของและบริการกิจการ นับเป็นธุรกิจที่ปรึกษาเฉพาะด้านหน้าใหม่ ก่อตั้งเมื่อมกราคม 1991 ด้วยทุนเรียกชำระแล้วจำนวน 10,000 ดอลลาร์ มีสถาปนิกในท้องถิ่นจำนวน 4 คน วิศวกร 1 คนและเลขานุการอีก 1 คน เน้นให้คำปรึกษาทางด้านโครงการเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้าง การออกแบบ และการประมูลโครงการ

เพียงชั่วเวลาไม่ถึงปี เอสเค คอนซัลแทนท์ก็สามารถรับงานบางส่วนจากธนาคารโลก ยูเอ็นดีพีและยูเอ็นเอชซีอาร์ รวมทั้งยังรับเหมาโครงการด้านวิศวกรรมจากบูรพา ดีเวลลอปเมนท์ด้วย แสงคำยังชี้ด้วยว่า "ธุรกิจเกือบจะถึงจุดคุ้มทุนแล้ว"

ปัจจุบันแสงคำอายุ 53 ปี เคยเป็นวิศวกรที่ผ่านการอบรมจากฝรั่งเศส และเคยรับราชการในลาวก่อนจะลาออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัวในปี 1984 เขาเป็นเจ้าของกิจการโรงแรมวันชนะ อันเป็นธุรกิจครอบครัวที่เริ่มให้บริการเมื่อกลางปี 1989 ในย่านชานเมืองเงียบสงบ และมีลูกค้าหลักคือกลุ่มที่ปรึกษาชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักในลาวเป็นช่วงสั้น ๆ

"ไฮโดรพาวเวอร์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแทนท์" (เอชอีซี) เป็นบริษัทที่ปรึกษาขนาดกลางจากต่างประเทศที่เชี่ยวชาญทางด้านการออกแบบ และให้คำปรึกษาโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ บริหารกิจการโดยทองสมุทร ลือนามมะจัก ชื่อกิจการเดิมคือ "ไฮโดรพาวเวอร์ เอ็นจิเนียริ่ง เซ็นเตอร์" ซึ่งมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจในกระทรวงอุตสาหกรรมและหัตถกรรม แต่ปัจจุบันเอชอีซีเป็นบริษัทกึ่งอิสระที่มีกระทรวงเศรษฐกิจ การวางแผนและการคลังถือหุ้น 100% แต่บริหารงานโดยการจัดสรรงบประมาณด้วยตนเอง มีพนักงานอยู่ทั้งหมด 40 คน และผ่านการฝึกอบรมจากยูเด็นดีพีมาเป็นระยะเวลา 2 ปี ในจำนวนพนักงานทั้งหมดจะมีบางส่วนที่เป็นวิศวกรจากต่างประเทศ

ธุรกิจส่วนใหญ่ของเอชอีซีจะเป็นการรับเหมาช่วงจากบริษัทที่ปรึกษาระหว่างประเทศ อาทิ ACRES ของแคนาดา, SWECO จากสวีเดน และอีกหลายบริษัทที่มีฐานอยู่ในไทยอย่าง TEAM, AEC และ SEATECH โดยเฉพาะในด้านการสำรวจภูมิประเทศการขุดเจาะพื้นดิน งานวิศวกรรมโยธา ซึ่งมีความจำเป็นต่อการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ เอชอีซีอ้างว่าในรอบปีที่ผ่านมานั้น ได้รับงานในโครงการต่าง ๆ ถึงราว 10 โครงการด้วยกันโดยรวมถึงการศึกษาในระดับย่อยต่อโครงการสร้างเขื่อนน้ำเทิน 2, เขื่อนน้ำซองและเขื่อนเซโดน

"เราจะดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนไปโดยรับงานในส่วนสนับสนุน และปล่อยให้ส่วนของการรับผิดชอบโครงการอยู่ในมือของบริษัทต่างประเทศไป" ทองสมุทรผู้จบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมจากฝรั่งเศสและสหภาพโซเวียตกล่าว

"บูรพา ดีเวลลอปเมนท์." เป็นกิจการที่เชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจการทำไม้ และยังได้รับการยอมรับว่าเป็นบริษัทที่ปรึกษาที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในเวียงจันทน์ด้วย

กิจการบูรพาบริหารโดย ปีเตอร์ ฟอดจ์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านป่าไม้ชาวสวีเดนซึ่งเข้ามาในลาวตั้งแต่ปี 1980 พร้อมกับภรรยาซึ่งเป็นนักกฎหมายทางด้านภาษีและเคยทำงานกับรัฐบาลสวีเดนด้วย

ฟอดจ์ภูมิอกภูมิใจอย่างมากกับการที่ได้ริเริ่มกิจการต่างชาติซึ่งได้รับอนุญาตจากรัฐบาลลาวเป็นแห่งแรก และดำเนินการให้คำปรึกษาทางด้านการลงทุนเกี่ยวกับการเพาะปลูกและการปศุสัตว์ สำนักงานของบูรพาในเวียงจันทน์มีพนักงานระดับมืออาชีพราว 20 คน และเป็นพนักงานระดับซูเปอร์ไวเซอร์และพนักงานภาคสนามอีกประมาณ 30 คน โดยมาจากหลายต่อหลายประเทศด้วยกัน

"เราให้คำปรึกษาเกี่ยวกับธุรกิจป่าไม้ และทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการทั่ว ๆ ไป แต่มุ่งที่โครงการเฉพาะด้านเป็นหลัก" ฟอดจ์อธิบาย "จุดประสงค์ของเราอยู่ที่การสร้างทีมผู้เชี่ยวชาญทางด้านป่าไม้ในลาว" และเสริมว่าที่ผ่านมา บูรพาดีเวลลอปเมนท์ได้ช่วยบริษัทระหว่างประเทศราว 15-20 แห่งในการเข้ามาประกอบธุรกิจในลาว โดยคิดค่าบริการเป็นรายชั่วโมงหรือเหมารวมในอัตรา 850 ดอลลาร์สำหรับการดำเนินการจัดตั้งบริษัทขึ้น ซึ่งรับผิดชอบตั้งแต่ขั้นตอนของงานเอกสาร การทำสัญญา และติดตามขั้นตอนการอนุมัติจากทางการ ซึ่งมักกินระยะเวลาราว 3 เดือน

แม้กระนั้น สายสัมพันธ์และความรอบรู้ในขั้นตอนทางราชการ นับเป็นปัจจัยสำคัญของบริษัทที่ปรึกษาหลายแห่ง เช่น จีโคลาว บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนที่ ท้าวปัญญาสุวรรณภูมิ บุตรชายของอดีตนายกรัฐมนตรีลาวเพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ หลังจากที่เดินทางกลับสู่ลาวได้เพียง 2 ปี

ท้าวปัญญาผู้นี้เคยปฏิบัติหน้าที่ในด้านการบิน และหน่วยงานราชการหลายแห่ง รวมทั้งเคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาทางการเงินด้วยเขายังได้เข้าดำเนินงานที่บริษัท "คอยน์" ในกรุงเทพฯ เป็นเวลาถึง 8 ปี และจะยอมรับเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทต่าง ๆ 10 บริษัทที่ไม่ใช่บริษัทฝรั่งเศส

บริษัทที่ปรึกษาที่ก่อตั้งขึ้นด้วยความมั่นคงและมีสายสัมพันธ์ที่ดีมากก็คือ วิโค กรุ๊ป ของ วินัย อินถาวงศ์ ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับธุรกิจขนาดใหญ่มากโดยเป็นสำนักงานตัวแทนในท้องถิ่นของบริษัทฝรั่งเศส, ยุโรป และปัจจุบันก็กำลังดำเนินการเจรจากับบริษัทตะวันตกหลายแห่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายโครงการในลาว

วิโค กรุ๊ป ซึ่งให้บริการทางการค้าและทางธุรกิจหลายแขนง นับเป็นบริษัทที่มีความแข็งแกร่งมากจากประสบการณ์ทางการค้าในลาวถึง 15 ปี ทั้งยังมีแรงหนุนจากเครือข่ายธุรกิจของตระกูลอินถาวงศ์ที่ขยายอาณาจักรออกไปอย่างกว้างขวางอีกด้วย

ที่ปรึกษาชาวเวียงจันทน์ผู้หนึ่งอรรถาธิบายว่าตระกูลอินถาวงศ์เป็นแม่แบบของกลุ่มเศรษฐีใหม่ในลาว เช่นเดียวกับที่ "สุวรรณวงศ์" เป็นตัวแทนของกลุ่มนักการทูตรุ่นเก่า

ในขณะเดียวกัน ดารากอน สุวันนะวง และ ดรุณี ปัทมะวง ซึ่งต่างก็เคยปฏิบัติงานในกระทรวงต่างประเทศทั้งคู่ ก็เริ่มเข้าสู่ธุรกิจที่ปรึกษาแล้ว โดยได้ร่วมกันก่อตั้ง "เวียงจันทน์ อินเตอร์เนชั่นแนลคอนซัลแตนท์" (วีไอซี) ขึ้นเมื่อปลายปี 1987 ด้วยเงินทุนเบื้องต้นเพียง 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเธอคุยว่าปริมาณเงินทุนปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 60,000-70,000 ดอลลาร์แล้ว

วีไอซีเริ่มต้นขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว โดยส่วนใหญ่ทำธุรกิจด้านการแปลและเอกสารปัจจุบันมีพนักงาน 5 คน และอีก 6 คนสำหรับงานในส่วนที่ต้องให้บริการแก่บริษัทสำรวจน้ำมัน ทั้งนี้เพราะบริษัทน้ำมันจากสหรัฐฯ ที่ดำเนินการสำรวจน้ำมันในภาคใต้ของลาว และจะเข้าไปทำการสำรวจน้ำมันในกัมพูชาด้วย ได้ว่าจ้างวีไอซีเป็นบริษัทที่ปรึกษาและช่วยเป็นธุระในส่วนของการบริหารด้วย

"นอกจากธุรกิจด้านที่ปรึกษาและให้บริการด้านงานในสำนักงานและ วีไอซียังเสนอบริการด้านการบริหารแก่บริษัทที่ไม่มีสำนักงานตัวแทนในลาว รวมทั้งกำลังพิจารณาข้อเสนอร่วมทุนในธุรกิจด้านการสอบบัญชีอีกด้วย" ดรุณีกล่าว

บุรุษอีกผู้หนึ่งที่กำลังเล็งโอกาสงามทางธุรกิจในกัมพูชาอยู่ก็คือ อลัน กาย ซึ่งดำเนินกิจการ "กายอินเวสต์เมนท์ แอนด์ บิสซิเนส แอนด์ ไมนิ่ง คอนซัลแตนท์ อินโดจีน" ร่วมกับภรรยาคือวันชาวลาวเชื้อสายจีนที่มีความสามารถพูดได้ถึง 7 ภาษาประกอบกับความเชี่ยวชาญด้านงานเลขานุการ

กาย วัย 53 ปี ผู้นี้ได้ดำเนินชีวิตผิดพลาดมาครั้งหนึ่ง ก่อนหน้านี้เขาเป็นวิศวกรแล้วกลับหักเหมาสู่อาชีพเซลส์แมน เมื่ออายุ 39 ไปเรียนต่อด้านธรณีวิทยาและย้ายไปพำนักอยู่ที่ออสเตรเลียและแล้ว ในช่วงปี 1988-90 ที่มีการเจรจากันในเรื่องเหมืองแร่และธุรกิจการบิน กายก็ตัดสินใจกลับมาตั้งรกรากในลาว "สัญชาตญาณของผมบอกผมว่า จะมีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นในลาว" กายกล่าว

กายได้ให้ความช่วยเหลือในการก่อตั้งบริษัทถึง 8 แห่งในลาว เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าเขาเป็นที่ปรึกษาให้กับ เวสต์ โคสท์ เฮลิคอปเตอร์ ซึ่งได้ก่อตั้ง ลาว เวสต์ โคสท์ เฮลิคอปเตอร์ ขึ้นเมื่อปี 1990 โดยเป็นสัญญาความร่วมมือเป็นเวลา 10 ปีระหว่าง บริษัทแม่ในออสเตรเลีย และกระทรวงกลาโหมลาว ปัจจุบันลาว เวสต์โคสท์ มีเฮลิคอปเตอร์ให้เช่า 2 ลำ

นอกจากนั้น เดือนพฤษภาคม 1991 กายได้จัดการสัมมนาระหว่างประเทศขึ้นเป็นครั้งแรกในเรื่องพัฒนาการของทรัพยากรแร่ธาตุในลาว

ในขณะที่กำลังมองหาธุรกิจแขนงที่ไม่ต้องแข่งขันกับนักธุรกิจที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น กายยอมรับว่าเขายังไม่ทราบแน่นอนถึง "ผลตอบแทนที่แท้จริง" ทว่าเขาได้วางรากฐานที่มั่นคงสำหรับอนาคตไว้แล้ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.