"นางงามจักรวาลกับการท่องเที่ยว"

โดย นฤมล อภินิเวศ
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

การประกวดนางงานระดับนานาชาติเคยจัดขึ้นที่เมืองไทยมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

ถึงแม้ว่าความยิ่งใหญ่ของการประกวด "มิสออลเนชั่นส์" จะเทียบไม่ติดกับการประกวด "มิสยูนิเวิร์ส" ก็ตาม

แต่การให้เหตุผลของการจัดประกวดกลับตรงกันราวกับเป็นสูตรสำเร็จคือเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

ในระยะนั้นเมืองไทยเนื้อหอมมากเพราะมีชื่อเสียงดังทั่วโลกว่า ผู้หญิงไทยได้รับเลือกเป็นนางงามจักรวาล

มิเพียงแต่ชาวต่างชาติเท่านั้นที่กำลังหลงไหลเมืองไทย แม้แต่คนไทยกันเองก็อยู่ในอาการ "ปุ๋ยพีเวอร์" ไม่แพ้พอกัน

และผลต่อเนื่องที่เกิดขึ้นก็คือมีการสร้างเวทีประกวดขึ้นเป็นดอกเห็ด ตั้งแต่ระดับประเทศไปจนถึงระดับหมู่บ้านก็ไม่เว้น

อาการคลั่งการประกวดมาเหลือเกินในช่วงนั้น ทำให้หลายกลุ่มหลายเสียงเริ่มวิจารณ์ตำหนิการประกวดดังขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน

ฉะนั้นเมื่อมีการประกวดมิสออลเนชั่นส์ขึ้นที่ห้องบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์โรงแรมไฮแอทเซ็นทรัลพลาซ่า ค่ำคืนวันที่ 19 สิงหาคม 2531

ความทนไม่ได้ของบุคคลกลุ่มหนึ่งที่เรียกตนเองว่า "กลุ่มทนไม่ได้" จึงทำกระประท้วงขึ้นบริเวณด้านหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลก่อนที่การะประกวดจริงจะเริ่มขึ้น

การประท้วงครั้งนี้มีคนสนใจมากเป็นพิเศษและยังอยู่ในความทรงจำของคนอีกหลาย ๆ คนเพราะเหตุว่าเป็นเวลาไล่เลี่ยกับที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ของอังกฤษแพร่ภาพยนต์สารคดีเกี่ยวกับโสเภณีเด็กไทยและเซ็กทัวร์ชื่อว่า "FOREIGN BODY" อื้อฉาวไปทั่วยุโรป

คำถามที่เกิดขึ้นในตอนนั้นคล้ายคลึงกับบรรยากาศในขณะนี้คือ ทำไมจึงส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการประกวดนางงาม

"จำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดน้อยลงในช่วงปีที่ผ่านมาเพราะสาเหตุจากสงครามอ่าวเปอร์เชีย การรัฐประหารในเมืองไทยตลอดจนความเลวร้ายของโรคเอดส์ เหล่านี้ทำให้เราคิดว่าควรจะทำอะไรสักอย่างเพื่อกู้สถานการณ์ให้กลับดังเดิม ทาง ท.ท.ท. จึงสนับสนุนการประกวดครั้งนี้เพราะถือเป็นโอกาสแพร่ภาพเมืองไทยสู่สายตาชาวโลก และโดยเฉพาะปีนี้เป็นปี "สตรีท่องเที่ยวไทย" การประกวดนางงามจักรวาลจึงเป็นกิจกรรมที่เหมาะ ซึ่งเราหวังว่าจะมีผู้หญิงมาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น สมดังชื่อที่ตั้งไว้" ฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา หัวหน้าฝ่ายข่าวต่างประเทศของ ท.ท.ท. อภิปรายที่สมาคมนักข่าวต่างประเทศถึงเหตุผลที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยช่วยสนับสนุนการประกวดนางงามจักรวาล

สำหรับ ธนวดี ท่าจีน ผู้ประสานงานมูลนิธี "เพื่อนหญิง" กลับให้ความเห็นอีกแง่มุมหนึ่ง เธอบอกว่าประเทศไทยไม่จำเป็นต้องโปรโมทการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่อีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะด้วยกลยุทธ์จัดการประกวดมิสยูนิเวิร์ส เพราะในปัจจุบันนักท่องเที่ยวทั่วโลกรู้จักเมืองไทยเป็นอย่างดี

"คือมองดูแล้วไม่เห็นประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับนอกจากผลประโยชน์ระยะสั้นซึ่งก็เฉพาะผู้หญิงสามคนที่ติดอันดับเท่านั้น ฉะนั้นจึงมีเพียงไม่กี่คนที่ได้รับประโยชน์ แต่กลับส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมอย่างรุนแรงทำให้เสียภาพลักษณ์ทางเพศ เป็นตัวยุเร่งให้ประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านแหล่งบันเทิงทางเพศมากขึ้น" เธอกล่าวในฐานะตัวแทนของกลุ่มซึ่งเคยทำหนังสือคัดค้านการประกวดนางงามทุกยี่ห้อต่อ ท.ท.ท. เมื่อต้นปีที่แล้ว

"เราไม่มีการเตรียมอะไรเป็นพิเศษถ้าหากมีการประท้วงเกิดขึ้น เพราะเราทุกคนมีสิทธิที่จะเพื่อประโยชน์ของประเทศในสิ่งที่ตนเองคิดว่าเหมาะสม แต่เราก็หวังว่าคนไทยจะเข้าใจและใช้โอกาสครั้งนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด" ม.ล. อนุพร เกษมสันต์ กรรมการจัดการประกวดกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

สำหรับการประกวดมิสยูนิเวิร์สครั้งนี้ ทางกลุ่มเพื่อนหญิงไม่มีการถือป้ายประท้วงแต่อย่างใด แต่จะระดมให้การศึกษาและข้อมูลความจริงถึงผลเสียของการประกวดสู่วงกว้างให้มากยิ่งขึ้น

เส้นทางสองสายยังคงเดินสวนทางกันเป็นเส้นขนานที่ยากจะมาบรรจบสมานเป็นเส้นเดียวกัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.