"เสือนอนกิน นางงามจักรวาล"

โดย นฤมล อภินิเวศ
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

ถึงแม้ว่าคีรี กาญจนพาสน์จะชนะคู่แข่งทัศนีย์ ศิริเยี่ยมในการต่อรองเป็นเจ้าภาพจัดประกวดมิสยูนิเวิร์สครั้งที่ 41 โดยใช้เวลาในการล็อบบี้เพียง 3 เดือนเศษ ในขณะที่อีกฝ่ายในเวลาติดต่อนานเกือบ 2 ปี แต่ผู้รับผลประโยชน์สูงสุดหาใช่เป็นของผู้ชนะประมูล ทว่าเป็นบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ ที่อยู่ในฐานะ "เสือนอนกิน" อย่างแท้จริง

คนไทยคุ้นเคย "นางงามจักรวาล" หรือ "มิสยูนิเวิร์ส" เป็นอย่างดีจากผู้หญิงไทย 2 คน คือ อาภัสรา (หงสกุล) จิราธิวัฒน์ และภรณ์ทิพย์ นาคหิรัฐกนก

คนแรกจากเวทีประกวดไมอามี่บีช รัฐฟลอริดาสหรัฐอเมริกาเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน ส่วนคนหลังจากไทเป ไต้หวันเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

แม้ว่าคนไทยเคยครองมงกุฎนางงามจักรวาลมาแล้วและการประกวดก็มีมานานถึง 40 ปีก็ตาม แต่ก็ยังไม่เคยมีมิสยูนิเวิร์สคนใดได้สวมมงกุฎบนแผ่นดินไทย

จนกระทั่งมาถึงปีนี้ ไม่ว่ามิสยูนิเวิร์สจะเป็นคนไทยหรือไม่ก็ตาม เธอจะได้รับการสวมมงกุฎบนเวทีการประกวดนางงามจักรวาล ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ประเทศไทย

มีบริษัทของคนไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานคือ "ไทยสกาย" โดยคีรี กาญจนพาสน์ ประธานบริษัทสยามบรอดแคสติ้ง คอมมิวนิเคชั่น ได้รับลิขสิทธิ์จัดงานประกวดครั้งที่ 41 จากบริษัทมิสยูนิเวิร์สอิงค์

การประกวดนางงามจักรวาลถือกำเนิดขึ้นบนแผ่นดินสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.2495 ที่ลองบีชรัฐแคลิฟอร์เนีย ในตอนนั้น "มิสอเมริกา" และ "มิสยูนิเวิร์ส" จัดการประกวดพร้อมกัน ผู้ร่วมการประกวดปีแรกเป็นสาวอเมริกัน 39 คน และอีก 29 คนเป็นสาวงามจากประเทศอื่น ๆ

"มิสอเมริกา" และ "มิสยูนิเวิร์ส" จัดประกวดควบคู่กันอยู่ 13 ปี จึงเริ่มแบ่งแยกออกเป็น 2 รายการ เนื่องจากได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งมีการย้ายสถานที่จัดไปที่เมืองไมอามี่บีช รัฐฟลอริดาและประกวดเป็นประจำอยู่ที่นี่ทุกปีจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2515 มีโอกาสหมุนเวียนไปจัดในประเทศอื่นครั้งแรกที่โรงแรมเซอร์โรมาร์ บีช ในเมืองโดราโด เปอร์โตริโก

คนอเมริกันเป็นลูกค้ารายใหญ่สำคัญของรายการยังเชียร์หน้าจอโทรทัศน์ได้เช่นเดิมเพราะมีการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียม

จากการที่วงการโทรทัศน์พัฒนาสู่ยุคระบบดาวเทียมนี้เองกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่นำรายได้ก้อนโตมาให้บริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ คือค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดนอกเหนือจากค่าลิขสิทธิ์จัดประกวดที่เรียกเก็บจากเจ้าภาพ

ยิ่งมีจำนวนสาวงามต่างชาติ ภาษี สีผิว ร่วมเดินบนเวทีมากเท่าไรความมโหฬารยิ่งเพิ่มทวีเป็นเงาตามตัวซึ่งย่อมส่งผลถึงรายได้มหาศาล

จากจุดเริ่มต้นปีแรกมีสาวงามต่างชาติ 26 คนเวลาล่วงเลยมาถึงปีที่ 41 ยอดสาวงามนานาชาติเดินบนเวทีนางงามจักรวาลเพิ่มขึ้นเป็น 70 คนจาก 70 ประเทศ

และมี 80 กว่าประเทศที่ต้องการชมภาพการประกวดสดผ่านดาวเทียม

สำหรับบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์แล้ว ถือว่าการจัดการประกวดสาวงามเป็นธุรกิจกำไรงามแขนงหนึ่งเนื่องจากมีผู้ติดตามคอยชมมากเป็นอันดับ 3 รองลงมาจากฟุตบอลโลกและโอลิมปิก ซึ่งเมื่อมาถึง ณ จุดนี้ บริษัทอยู่ในฐานะนั่งกินบุญเก่าจากชื่อเสียงที่สร้างสมมาเป็นสิบ ๆ ปี จนกลายเป็นสถาบันที่ทั่วโลกยอมรับ

ด้วยเหตุนี้ การจับมือกับประเทศที่ต้องการเป็นเจ้าภาพจึงมีลักษณะเชิงธุรกิจ ที่มีการเจรจาต่อรองเรื่องผลประโยชน์อย่างชัดเจน

การรับมอบสัญญาอย่างเป็นทางการจากบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ ผ่านทางลูปิตา โจนส์นางงามจักรวาลปี 1991 ในคืนงานการกุศล "ยูนิเวิร์สกาลาไนต์" เมื่อ 27 พฤษภาคม ปีที่แล้ว

สร้างความงงงวยต่อคนทั่วไปอย่างมากเพราะก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวอย่างต่อเนื่องว่า ทัศนีย์ ศิริเยี่ยม ผู้อำนวยการสอนตัดเสื้อ "กาลวิน" จะได้เป็นผู้ประสานงานการประกวดนางงามจักรวาลปี 1992

แต่เพราะเหตุไร จึงพลิกผันเป็นคีรี กาญจนพาสน์ อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยมาก่อน

ในสายตาของบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์แล้ว มีความเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพดีเหมาะสมสำหรับจัดการประกวดมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เพราะเป็นประเทศที่มีความตื่นตัวสูงในเรื่องการประกวดนางงาม บวกกับภาครัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว

จากเอกสารคู่มือจัดเตรียมการประกวดที่มิสยูนิเวิร์ส อิงค์ จัดทำขึ้นสำหรับประเทศได้ลิขสิทธิ์เขียนเกริ่นนำ ด้วยการอ้างอิงผลสำรวจขององค์การสหประชาชาติที่ว่า การท่องเที่ยวเป็นอุคสาหกรรมสำคัญของโลกปัจจุบัน ซึ่งทางบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์คิดว่าการประกวดนางงามจักรวาลเป็นวิธีส่งเสริมที่ดีวิธีหนึ่ง รวมทั้งยังช่วยให้เกิดการพัฒนาทางธุรกิจอีกด้วย

ฉะนั้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันที่รัฐบาลตั้ง "ปีการท่องเที่ยวไทย 2530" ขึ้น บริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์บินมาเมืองไทยทาบทามให้สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สีเป็นเจ้าภาพการประกวดนางงานจักรวาล

การเจรจาครั้งนั้นไม่ประสบผลสำเร็จด้วยเหตุผลว่าบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์เรียกค่าตอบแทนจำนวนมาก อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการจัดการประกวดที่ประเทศเจ้าภาพต้องเสียก็สูงไม่แพ้กัน เมื่อคำนวณแล้วจึงคิดว่าไม่คุ้มกับการลงทุน

บริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์จึงต้องหันไปจัดประกวดที่สิงคโปร์ในปี พ.ศ. 2530 และที่ไต้หวันในปีถัดมา

ผลของการประกวดที่ไต้หวัน นอกจากทำให้เมืองไทยได้นางงามจักรวาลเพิ่มขึ้นมาอีกคนคือ ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนกแล้ว ยังเปิดโอกาสเหมาะมาสู่บริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์อีกครั้งหนึ่งในการที่จะให้เมืองไทยจัดประกวดนางงาม

เมื่อภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนกกลับมาเยือนเมืองไทยในเดือนสิงหาคมหลังจากที่สวมมงกุฎนางงามจักรวาลแล้ว การเลียบเคียงถามอย่างไม่เป็นทางการจึงเกิดขึ้นอีกคราหนึ่ง

"มิสเตอร์ มาร์ติน คิพ ติดต่อว่าทำไมคุณไม่โปรโมทประเทศของคุณ ประเทศคุณสวยงามมากน่าจะเผยแพร่สู่ทั่วโลก" ทัศนีย์ ศิริเยี่ยม เล่าถึงความสัมพันธ์ทางจดหมายครั้งแรกกับรองประธานฝ่ายผลิตรายการของบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ กับ "ผู้จัดการ"

และนับจากตรงนั้นการติดต่อทางจดหมายและโทรสารก็มีต่อกันอย่างสม่ำเสมอ จนถึงขั้นที่ทัศนีย์ ศิริเยี่ยมเริ่มศึกษาการเป็นเจ้าภาพจัดการประกวดด้วยการเดินทางไปร่วมงานประกวดนางงามจักรวาลถึง 2 ปีซ้อน ที่เมืองแคนคัน เม็กซิโกในปี 2532 และปีต่อมาที่เมืองลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย

การติดต่อมากระฉับเกลียวขึ้นอีกในช่วงปลายเดือนสิงหาคมต่อกับต้นเดือนกันยายน 2533 บริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ส่งจดหมายถึงคนสำคัญในรัฐบาลยุคนั้น ได้แก่ ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี ประมาณ อดิเรกสารรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ

เนื้อความบรรยายถึงการที่คนไทยทัศนีย์ ศิริเยี่ยม ได้ติดต่อไปเพื่อขอให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประกวดนางงามจักรวาล เนื่องในปีที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา ซึ่งบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์มีความเห็นว่าเมืองไทยเป็นสถานที่วิเศษสุดในการจัดการประกวด และการจัดการประกวดก็จะเป็นเครื่องมือที่เยี่ยมในการเผยแพร่เมืองไทยสู่คนทั่วโลกด้วยเช่นกัน ฉะนั้นในโอกาสที่จะมาเมืองไทยตามคำเชิญของทัศนีย์ก็มีความยินดีเจรจารายละเอียดของงานกับผู้นำรัฐบาลไทย

ปลายเดือนกันยายน 2533 ทัศนีย์ ศิริเยี่ยมจัดงานต้องรับผู้บริหารบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์อย่างดีที่โรงแรมดุสิตธานี รวมทั้งพาเข้าพบบุคคลสำคัญในรัฐบาลและสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 5

ทัศนีย์ใช้เวลาล็อบบี้หน่วยงานไทยและบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์อยู่นานถึง 2 ปีกว่าจะมาถึง ณ จุดที่เรียกได้ว่าเกือบถึงเส้นชัย แต่ก็กลับพลิกล็อกให้คีรี กาญจนพาสน์ซึ่งใช้เวลาเจรจา 3 เดือนเศษเท่านั้น

ถ้าหากทัศนีย์ไม่รีรอการเป็นเจ้าภาพจัดการประกวดโดยการเลื่อนออกไป 1 ปี เพื่อให้ตรงกับปีที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา แต่ทำตามคำเรียกร้องของบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ที่ต้องการให้มีขึ้นในเมืองไทยเร็วที่สุด การณ์อาจกลับตรงข้ามจากปัจจุบันได้

เพราะหลังจากที่ผู้บริหารของบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์พบกับทัศนีย์ที่เมืองไทยเรียบร้อยแล้ว ระยะเวลาใกล้เคียงกัน คีรี กาญจนพาสน์มอบหมายให้ MR.CLARENCE CHANGE บินไปอเมริกาเพื่อพบผู้บริหารของบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์

MR.CHANG เป็นผู้อำนวยการบริหารบริษัท MEDIA ENTERTAINMENT INTERNATIONAL COMPANY (MEI) ซึ่งเป็นบริษัทของคีรีที่ทำธุรกิจด้านบันเทิงในฮ่องกง

คีรี กาญจนพาสน์ ให้สัมภาษณ์ในวันประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการอำนวยการและคณะกรรมการจัดการประกวดนางงามจักรวาลปี 2535 เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่โรงแรมดุสิตธานีว่า มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทผู้ผลิตการประกวดมิสยูนิเวิร์ส คือ MADISON SQUARE GARDEN EVENT PRODUCTIONS (MSGEP) มานานพอสมควร

เท่ากับว่าทางฝ่ายคีรีเป็นต่อคู่แข่งระดับหนึ่ง

ประจวบกับที่ผลการเจรจากับทางทัศนีย์ไม่ค่อยจะราบรื่นเท่าไรนัก

เริ่มจากการเดินทางมาเมืองไทยตามคำเชิญของทัศนีย์เมื่อปลายเดือนกันยายน 2533 ผลปรากฎว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ท.ท.ท. ไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประกวด จะช่วยได้ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนเท่านั้น

เมื่อรัฐบาลปฏิเสธการเป็นเจ้าภาพจัดงาน ทำให้ทัศนีย์ต้องกระโดดลงเต็มตัวและเริ่มต่อรองกับบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ ทันที

ซึ่งย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายนักเพราะบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ หนักแน่นในการรักษาระดับมาตรฐานเกรดเอของตนไว้

ฉะนั้นความพยายามของทัศนีย์ที่จะลดค่าใช้จ่ายจึงเป็นไปค่อนข้างยากมาก จากข้อต่อรองที่สำคัญ 10 ข้อ เธอประสบความสำเร็จเพียงข้อเดียว

คือเรื่องค่าลิขสิทธิ์การจัดการประกวดที่ทางบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ตั้งไว้ 1 ล้าน ยู. เอส. ดอลล่าร์หรือประมาณ 25 ล้านบาท จากยอดเงินจำนวนนี้ทางบริษัทจะจัดสรรให้ 2 ส่วนเท่า ๆ กันคือ ทูลเกล้าถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลแด่องค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 1 แสน ยู. เอส. ดอลล่าร์หรือประมาณ 2.5 ล้านบาท และอีกส่วนจะมอบให้เธอในฐานะเป็นผู้ประสานงาน

แต่ทั้งสองกรณีต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าทางบริษัทต้องได้รับเงินค่าลิขสิทธิ์เต็มจำนวนแล้วเท่านั้น

จากการต่อรองเรื่องลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หลายประการ อาทิ ขอส่วนแบ่งตลาดลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียม จำนานตั๋วเครื่องบินชั้นหนึ่ง จำนวนพี่เลี้ยงนางงาม ค่าใช้จ่ายในส่วนที่เกี่ยวกับนางงาม และอื่น ๆ อีก ข้อเรียกร้องเหล่านี้ จึงเสมือนเป็นตัวแปรสำคัญที่กลายเป็นผลบวกให้กับ MR. CHANG

"ตอนที่ฝรั่งบอกว่าทำสัญญากับคนฮ่องกงแล้วดิฉันร้องไห้โฮเลย ทำไมคุณถึงทำแบบนี้กับดิฉัน" ทัศนีย์เล่าถึงความรู้สึกวินาทีที่รู้ว่าเธอหมดสิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดประกวดอย่างแน่นอน

เป็นที่น่าสังเกตว่าอะไรเป็นแรงจูงใจที่ทำให้ทั้งทัศนีย์ ศิริเยี่ยม และคีรี กาญจนพาสน์ ต้องการเป็นเจ้าภาพจัดการประกวดมิสยูนิเวิร์ส

เพราะมีผลตอบแทนเป็นเงินมหาศาลหรือ ซึ่งถ้าหากการจัดการประกวดสามารถทำกำไรได้สูงแล้วเพราะอะไรเมื่อคราวที่บริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ติดต่อสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี จึงถูกปฏิเสธไป

จนบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ ต้องไปจัดประกวดที่สิงคโปร์ ซึ่งในครั้งนี้สิงคโปร์ต้องลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท และมิใช่เป็นเอกชนเป็นเจ้าภาพจัดเฉกเช่นเมืองไทย ทว่าเป็นองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งสิงคโปร์เป็นผู้รับภาระ เพราะรัฐบาลสิงคโปร์คิดว่าการจัดการประกวดสาวงามเป็นการส่งเสริมสถานที่ท่องเที่ยวไปด้วยในตัว ยิ่งมีการถ่ายทอดสดตั้งแต่ต้นจนจบรายการก็นับว่าคุ้มอยู่มาก

สำหรับคีรี เจ้าของเคเบิลทีวี "ไทยสกายทีวี" เขาก็ให้เหตุผลที่คล้ายคลึงกันคือ ต้องการเผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักของชาวโลกรวมทั้งต้องการให้คนไทยมีโอกาสแสดงความสามารถในการจัดงานระดับโลก แม้จะต้องประสบปัญหาขาดทุนบ้างก็ถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุน

ในตอนแรกกลุ่มผู้จัดการประกวดครั้งนี้ตั้งงบประมาณไว้ 200 ล้านบาท ต่อมาลดลงเหลือ 150 ล้านบาท และล่าสุดคณะกรรมการจัดการประกวดมีมติลดค่าใช้จ่ายบางส่วนลงมาอีกให้เหลือไม่เกิน 130 ล้านบาท

ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เจ้าภาพต้องเสียส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ทางบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์กำหนดไว้ชัดเจน อาทิ

ตั๋วเครื่องบินชั้นหนึ่ง 34 ที่นั่งสำหรับคณะสำรวจและ 120 ที่นั่งสำหรับทีมงานจากบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์

ที่พักอย่างน้อยต้องมี 2 โรงแรม เพราะนางงามและพี่เลี้ยงต้องไม่พักอยู่โรงแรมเดียวกันกับคณะกรรมการตัดสิน และต้องเตรียม "ห้องชุด" จำนวน 25-30 ห้องสำหรับคณะกรรมการ นักแสดงรับเชิญและแขกวีไอพี

อาหาร 3 มื้อและขอบขบเคี้ยวต่าง ๆ ตลอดระยะที่มีการซ้อมเดินและซ้อมเต้นรำ

ต้องจัดรายการนำเที่ยวให้ผู้ติดตามคณะกรรมการในขณะที่กรรมการกำลังทำงาน

มีเครื่องมืออุปกรณ์สื่อสารพร้อมสรรพ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ โทรสาร และเทเล็กซ์

สถานที่ประกวดต้องใหญ่ไม่ต่ำกว่า 2,000 ที่นั่ง

ค่าออกแบบเวทีให้แก่ DUKES STUDIO ซึ่งเป็นบริษัทที่ทางบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์เจาะจงมา

จัดประกวด "หนูน้อยจักรวาล" เพื่อคัดเลือกเด็กเดินเคียงคู่นางงาม

รถยนต์ 65 คัน รถบัสสำหรับทีมงาน รถแวนและรถบรรทุก พร้อมด้วยคนขับที่พูดภาษาอังกฤษได้ และต้องบริการตลอด 24 ชั่วโมง

และมีปลีกย่อยอื่น ๆ อีก นอกจากนี้แล้วในการเตรียมการต่าง ๆ รวมถึงการตลาด และการเลือกรายการให้นางงามปรากฎตัว ต้องผ่านการตัดสินใจครั้งสุดท้ายจากบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ก่อนทุกครั้ง

วงเงินที่ใช้ในการจัดการสูงเช่นนี้ ทาง "ไทยสกายทีวี" สามารถหาทุนได้จากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดในประเทศ ด้วยการหาผู้สนับสนุนเอกชนเข้าช่วยแบ่งเบาภาระ ส่วนในภาครัฐมี ท.ท.ท. ยื่นมือช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำภาพยนต์สารคดีท่องเที่ยวไทยความยาว 15 นาที รวมทั้งให้การต้อนรับดูแลผู้สื่อข่าวต่างประเทศด้วย

นอกจากนี้แล้วผู้จัดยังมีรายได้จากการขายบัตรเข้าชม 3 รอบ คือรอบปฐมทัศน์ที่เอ็มบีเคฮอลล์ ศูนย์การค้ามาบุญครอง ราคาบัตรมีทั้งหมด 3 ราคา คือ 800 บาท 1,000 บาท และ 1,500 บาท ส่วนรอบรองสุดท้ายและรอบสวมมงกุฎ รวมกันเป็นบัตร 1 ใบใช้ได้ 2 วัน ราคาบัตรใบละ 20,000 บาททุกที่นั่ง

เมื่อคำนวณตัวเลขรายได้จาก 2 รายการข้างต้นโดยประมาณการจากยอดของผู้สนับสนุนทั้งหมด 17 รายการ เป็นเงิน 91 ล้านบาท

บวกด้วยยอดรายได้จากการขายบัตร จากการสอบถามฝ่ายดูแลเรื่องการขายบัตรปรากฏว่ามีผู้สนใจสั่งจองมากพอควรทั้งจากผู้ซื้อคนไทยและชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวญี่ปุ่น ฉะนั้นคาดว่าทั้งสอง แห่งคงไม่มีปัญหาเรื่องยอดขาย

ที่เอ็มบีเคฮอลล์ จุได้ 3,000 คน บัตรมี 3 ราคาเมื่อคำนวณอย่างประมาณการโดยนำเฉพาะบัตรราคา 1,000บาท มาคูณกับ 3,000 ที่นั่ง เท่ากับเป็นเงิน 3,000,000 บาท

ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีที่นั่งทั้งหมด 2,500 ที่นั่ง แบ่งเป็นบัตรเชิญของบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ 500 ที่นั่ง และไทยสกายทีวีอีก 500 ที่นั่งเช่นกัน ฉะนั้นเหลือที่นั่งสำหรับการขาย 1,500 ที่นั่งคูณกับบัตรราคา 20,000 บาทคิดเป็นเงิน 30,000,000 ล้านบาท

เมื่อนำมารวมกับยอดรายได้จากเอ็มบีเคฮอลล์ 3 ล้านบาท เท่ากับเป็นรายได้จากการขายบัตรประมาณ 33 ล้านบาท รวมกับยอดของผู้สนับสนุนแล้วจะได้เงินทั้งหมด 124 ล้านบาท

รายได้จำนวนนี้ยังไม่รวมรายได้ที่สามารถได้จากการขายของที่ระลึกต่าง ๆ รายได้จากการรับเชิญให้นางงานปรากฏตัว รายได้จากสปอนเซอร์ที่สนับสนุนเกมโชว์ทางโทรทัศน์ และรายได้จากการประมูลสินค้าที่นางงามแต่ละชาตินำมาจากประเทศของตน ซึ่งรายการนี้ทางบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ระบุว่าขึ้นอยู่กับประเทศเจ้าภาพว่าจะมอบให้การกุศลหรือไม่ก็ได้

ฉะนั้นดูจากตัวเลขโดยกะประมาณการ 124 ล้านบาท ก็เป็นอันว่า "ไทยสกายทีวี" เฉียดฉิวกับการจะได้กำไร

อย่างไรก็ดี การผันแปรของตัวเลขในทางบวกอาจจะเกิดขึ้นได้ขึ้นอยู่กับตัวเลขรายจ่ายที่แท้จริงและรายรับอื่น ๆ อีกที่ไม่เปิดเผยเป็นที่แน่ชัดเช่นเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียมที่ทางผู้จัดบอกว่าได้เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น

หรือถ้าจะถือว่าเป็นการลงทุนเพื่อโปรโมตกิจการเคเบิลทีวีซึ่งระยะหลัง ๆ มักมีข่าวสู่สาธารณะในทางลบอยู่เนือง ๆ ก็คงเป็นการลงทุนที่สูงอยู่ไม่น้อย อีกทั้งยังเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างเสี่ยงกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เพราะเป็นงานใหญ่ระดับชาติ

ตัวอย่างกรณีการเลื่อนการประกวดรอบสุดท้ายให้เร็วขึ้นหนึ่งอาทิตย์ เนื่องจากวันที่กำหนดไว้แต่เดิมถูกต่อต้านจากผู้นำศาสนาในประเทศอย่างแรง เพราะเหตุว่าตรงกับวันวิสาขบูชาฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะทำให้คนทั้งโลกพอใจในขณะเดียวกันคนไทยเจ้าของประเทศก็พอใจด้วย

ปัญหาปวดขมับทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ผู้ที่ต้องรับภาระความเสี่ยงหนักสุดก็คือ ไทยสกายทีวีและคนไทยเจ้าของประเทศ เพราะงานครั้งนี้หากไม่ได้ผลกำไร ผู้ที่ขาดทุนก็คือ ไทยสกายทีวี และถ้าหากหน้าตาเมืองไทยที่สู่สายตาชาวโลกที่ทางผู้จัดคิดว่าจะช่วยสร้างภาพพจน์ที่ดีที่ถูกต้อง กลับกลายเป็นตรงข้าม ผู้ที่เสียหายที่สุดคือคนไทยเราเอง

บริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ จึงเป็นผู้มีกำไร 100 เปอร์เซ็นต์อย่างแท้จริงฝ่ายเดียว

เริ่มจากค่าลิขสิทธิ์การจัดประกวด ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียม ค่าลิขสิทธิ์เทปบันทึกภาพ ค่าลิขสิทธิ์การปรากฎตัวนางงามจักรวาลซึ่งเป็นจำนวนเงินสูงมากในราว 6,000 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 150,000 บาทต่อครั้ง ตลอดจนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ นับตั้งแต่การจัดเตรียมงานจนถึงวันประกวดก็ตกเป็นความรับผิดชอบของประเทศเจ้าภาพทั้งสิ้น

ถ้าจะเปรียบบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์ เป็นดั่ง "เสือนอนกิน" ก็คงไม่ผิดจากความจริงเท่าไรนัก

และเสือตัวนี้ก็เห็นประโยชน์ทางธุรกิจเป็นเรื่องสูงสุด

ด้วยเหตุนี้ไม่ว่างานจะถูกจัดขึ้นในมุมไหนของโลกการถ่ายทอดสดจะต้องตรงกับเวลาหัวค่ำของประเทศอเมริกา เพราะกลุ่มลูกค้าหลักและจ่ายผลประโยชน์สูงสุดคือคนอเมริกา

ผู้ชมจากเวทีในเมืองไทย ซึ่งจ่ายเงินค่าบัตรราคาเป็นหมื่นจึงจำต้องแต่งชุดราตรีสโมสรเต็มยศทั้งชายหญิงเพื่อให้ดูเป็นงานกลางคืนที่หรูหรา แต่ต้องมาปรากฎตัวที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ก่อน 8 นาฬิกาในตอนเช้าวันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม เพื่อให้มีการถ่ายทอดสดไปสหรัฐฯ ตอนเย็นของคืนวันศุกร์ที่ 8

ก็คงเป็นภาพแปลกหูแปลกตาไปอีกแบบสำหรับบรรยากาศยามเช้าตรู่

การเป็นเจ้าภาพจัดการประกวดนางงามจักรวาลอาจะเป็นความภาคภูมิใจในชีวิตของผู้จัดและผู้สนับสนุนแต่สำหรับบริษัทมิสยูนิเวิร์ส อิงค์แล้วมีมากกว่าความภูมิใจธรรมดา เพราะการจัดนอกประเทศอเมริกาได้มากครั้งเท่าไรย่อมเท่ากับเป็นการเสริมสร้างเครดิตให้สูงยิ่งขึ้นเท่านั้น ซึ่งนั้นหมายถึงเงินที่กำลังตามมามหาศาลอย่างแน่นอน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.