บิ๊กบจ.ล็อบบี้คว่ำพรบ.ตลาดทุน


ผู้จัดการรายวัน(17 กันยายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

"ภัทรียา" พร้อมถกตัวแทนสมาคมบจ.หารือเรื่องขอแก้ไขบางเรื่องในร่างพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฉบับใหม่ ระบุขณะนี้อยู่ระหว่างรอกระทรวงการคลังเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติก่อนส่งต้องให้สมาชิกสนช.พิจารณาต่อไป หวังประกาศใช้ได้ภายในรัฐบาลนี้ ขณะที่มีข่าวผู้บริหารบจ.ต่อสายเล็งล็อบบี้คว่ำร่างพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฉบับนี้ ห่วงกระทบการทำงาน ด้านสมาคมบจ.ยอมรับเล็งขอเสนอแก้ไขเพิ่มเติม หลังก่อนหน้านี้มีการเสนอก.ล.ต.มาแล้ว 1 ครั้ง ย้ำชัดหากใครผิดต้องลงโทษแต่ต้องเขียนให้ชัดเจนทุกกรณี

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึง การแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ที่อยู่ระหว่างการเสนอแก้ไข ว่า ขณะที่ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่ที่กระทรวงการคลังก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ซึ่งหากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบจะต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีกครั้ง

ทั้งนี้ สมาคมบริษัทจดทะเบียนซึ่งเป็นหน่วยหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเนื่องจากมีการแก้ไขในส่วนที่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนจะต้องรับโทษทั้งการปรับและจำคุกเพิ่มเติมจากพ.ร.บ.ฉบับเก่า โดยปัจจุบันยังมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันในหลายเรื่องหากไม่มีการชี้แจงและหารือให้มีความเข้าใจที่ตรงกันอาจจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ภายหลัง

สำหรับข้อเสนอของสมาคมบริษัทจดทะเบียนที่อยากให้มีการแก้ไขรายละเอียดในบางเรื่องนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯจะเชิญตัวแทนสมาคมบริษัทจดทะเบียนเข้าหารือเพื่อทำความเข้าใจที่ตรงกัน และพร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอที่อยากจะให้มีการแก้ไข ปรับปรุงเพื่อดำเนินการต่อไป

"การออกพ.ร.บ.ฉบับนี้น่าจะสามารถประกาศใช้ได้ทันรัฐบาลชุดนี้ เพราะที่ผ่านมาเรื่องดังกล่าวดำเนินการมานานมากแล้ว และถ้าหากไม่ได้ทันในรัฐบาลนี้หลายเรื่องที่ต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ส่วนเรื่องที่สมาชิกสนช.ให้กลุ่มสนช.ที่มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องนั้นๆหารือในเรื่องดังกล่าวเพื่อตอบข้อสงสัย ตนเองก็พร้อมที่จะเชิญทุกฝ่ายมาให้ข้อมูล รวมทั้งเรื่องที่อยากให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม" นางภัทรียากล่าว

นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ในฐานะอุปนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียน กล่าวถึง ข้อเสนอของสมาคมบริษัทจดทะเบียนหลังจากได้สำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนเกี่ยวกับการกำหนดบทลงโทษผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ว่า หลังการเสนอความเห็นข้อสรุปของสมาชิกสมาคมบจ.ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้ว ในตอนนี้อาจจะมีการปรับปรุงหรือขอให้มีการแก้ไขในบางเรื่องเพิ่มเติม

ทั้งนี้ การลงโทษผู้บริหารที่มีความผิดก็ถือว่าเป็นเรื่องจำเป็น แต่ต้องมีความชัดเจนถึงกระบวนการและบทลงโทษเพื่อให้ผู้บริหารมีความเข้าใจ อย่างชัดเจนในทุกกรณีเพราะหากไม่เข้าใจอาจจะส่งผลกระทบจนไม่มีใครกล้ามาเป็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน

"เราอาจจะมีการเสนอขอเพิ่มเติมเรื่องที่เกี่ยวข้องบ้าง แต่คงไม่ถึงขนาดไม่ให้มีการกำหนดโทษของผู้บริหารเพราะถ้ามีการทำผิดก็ควรจะต้องได้รับโทษ" นายชนินท์ กล่าว

แหล่งข่าวผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน กล่าวว่า มีการเคลื่อนไหวในสมาคมบจ.เนื่องจากผู้บริหารบริษัทหลายแห่งค่อนข้างมีความกังวลต่อการลงนามในสัญญาธุรกิจของบริษัทรวมถึงข้อผูกมัดที่อาจจะส่งผลทำให้ต้องได้รับโทษทางอาญาตามร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่ระบุไว้ โดยมีกระแสข่าวว่าตัวแทนผู้บริหารได้หารือในระดับสมาคมเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในตลาดทุนล้มร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวในขั้นตอนของการพิจารณาของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ทั้งนี้ หลังจากกระแสข่าวว่าผู้บริหารหลายอย่างค่อนข้างไม่พอใจกับการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากผลเสนอที่สมาคมบริษัทจดทะเบียนได้เสนอให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการเสนอแก้ไขพ.ร.บ.ดังกล่าวให้มีการแก้ไขในเรื่องที่สมาชิกสมาคมกังวลกลับไม่ได้รับความสนใจที่จะแก้ไข

อย่างไรก็ตาม มีการประสานงานเข้ามาที่สมาคมบจ.ทั้งจากก.ล.ต.และตลท.เพื่อเชิญตัวแทนของสมาคมบจ.เข้าร่วมหารือเพื่อหาทางออกในเรื่องดังกล่าว เพราะหากสุดท้ายไม่ได้ทำความเข้าใจที่ตรงกันแล้วทำให้ไม่สามารถผ่านมติของสมาชิกสนช.ได้ ก็จะทำให้หน่วยงานที่เสนอแก้ไขต้องเสียเวลาไปโดยปริยาย

อนึ่ง ร่างแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ที่ได้มีการเสนอแก้ไขนอกจากจะมีการเสนอบทลงโทษผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่แตกต่างจากพ.ร.บ.ปัจจุบันแล้วยังมีการแก้ไขในอีกหลายเรื่อง เช่น การปรับโครงสร้างคณะกรรมการก.ล.ต.จากเดิมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ก.ล.ต. โดยตำแหน่งเปลี่ยนเป็นประธานและเลขาธิการ ก.ล.ต. จะต้องมาจากการแต่งตั้งจากคณะกรรมการสรรหา

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของประธานและเลขาธิการ ก.ล.ต. จากเดิมที่ประธานและเลขาธิการมีวาระ 4 ปี เปลี่ยนเป็นประธานมีวาระ 3 ปี และเมื่อครบวาระ ก็สามารถดำรงตำแหน่งได้อีก 1 สมัย ส่วนเลขาธิการมีวาระ 5 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งได้อีก 1 สมัยเช่นกัน ซึ่งในเรื่องดังกล่าวมีหลายฝ่านกังวลว่าการทำงานจะนานกว่าที่ควรจะเป็นหรือไม่ เป็นต้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.