"ชินวัตรปะทะล็อกซเล่ย์ ใครจะแข็งกว่ากัน"

โดย ภัชราพร ช้างแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

การเผชิญหน้าระหว่างชินวัตรกับล็อกซเล่ย์เกิดขึ้นอีกครั้งในโครงการโทรศัพท์ภูมิภาค 1 ล้านเลขหมาย การต่อสู้ครั้งนี้เป็นฉากพิสูจน์ความแข็งแกร่งทางการเงินระหว่างกลุ่มธุรกิจยักษ์ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ขณะที่ชินวัตรมีข้อได้เปรียบเรื่องแหล่งระดมเงินต้นทุนต่ำจากตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่มีข้อจำกัดว่าอาจจะระดมได้ไม่เพียงพอกับเม็ดเงินที่จะใช้ เพราะต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่จะมีผลกระทบต่อภาพพจน์ราคาหุ้น ในราคาตลาดด้วย ส่วนล็อกซเล่ย์มีสถาบันการเงินชั้นนำในประเทศ ให้การสนับสนุนแต่ต้องแบกภาระดอกเบี้ยเป็นจำนวนไม่น้อย ต่างฝ่ายจึงมีทั้งจุดอ่อนและแข็ง !!

การประมูลโครงการโทรศัพท์ในเขตภูมิภาค 1 ล้านเลขหมายเป็นประเด็นที่รัฐบาลชุดนายอานันท์ ปันยารชุน ใช้ความพยายามเร่งรัดให้มีการพิจารณาให้สำเร็จภายในอายุรัฐบาลของตน เพื่อที่จะได้ลงนามเซ็นสัญญาให้เสร็จสิ้นเรียบร้อย

แต่ความพยายามนั้นไม่บรรลุผล ถึงขนาดที่มีสื่อมวลชนบางฉบับลงข่าวว่านายนุกูล ประจวบเหมาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้พยายามเสนอให้มีการปลด ดร. ไพบูลย์ ลิมปพยอม ผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์ฯ และบรรดาผู้บริหารอาวุโสขององค์การฯ ในฐานที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเร่งรัดของรัฐบาล

ข้อเสนอนี้ได้รับการคัดค้านอย่างแข็งขันจากพลเอกวิโรจน์ แสงสนิท รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และบรรดารัฐมนตรีก็ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้

หลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งสุดท้ายของรัฐบาลอานันท์ผ่านพ้นไปและข้อเสนอของรัฐมนตรีนุกูลไม่ได้รับความเห็นชอบ ดร. ไพบูลย์ ก็ได้รับการประกาศแต่งตั้งเป็นหนึ่งในวุฒิสมาชิกชุดใหม่ล่าสุดที่พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยฯ เป็นผู้จัดทำ

ปรากฎการณ์นี้สะท้อนการแสดงออกอย่างชัดเจนว่ากลุ่มทหารให้การสนับสนุนผู้อำนวยการฯ และคณะผู้บริหารรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ซึ่งมีพลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี นายทหารระดับสูงและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลชุดนายอานันท์นั่งเป็นประธานองค์การฯ

คำสั่งจากคณะรัฐบาลชุดที่หมดวาระไปแล้วที่ให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาโครงการโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมาย ดำเนินการพิจารณาเรื่องนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วันนั้น คงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าคำสั่งนี้จะเฉียบขาดแค่ไหน เมื่อรัฐบาลที่สั่งการไม่มีอำนาจปกครองประเทศเสียแล้ว

โครงการโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมายในเขตกรุงเทพมหานครที่กลุ่มซีพีได้สัมปทานไปนั้นยังใช้เวลาเป็นแรมปีในการเจรจาต่อรองโครงการโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมายในภูมิภาคควรจะใช้เวลานานเท่าใด

การเจรจาต่อรองจะยืดเยื้อยาวนานเหมือนสมัยการประมูล 2 ล้านเลขหมายหรือไม่

ผลตอบแทนที่ผู้ประมูลจะให้แก่องค์การโทรศัพท์ฯ ควรจะเป็นเท่าใด

จะต้องใช้เวลาเจรจาต่อรองเพื่อที่จะเพิ่มผลตอบแทนให้องค์การฯ มากขึ้นอีกหรือไม่ และใช้เวลาอีกนานแค่ไหน

ประเด็นปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องยากที่จะมีคำตอบสำเร็จรูป !!

"ผู้จัดการ" พยายามเสนอแนวการวิเคราะห์ขบคิดปัญหาเหล่านี้จากมุมมองอีกด้านหนึ่ง โดยให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ความแข็งแกร่งทางการเงินของกลุ่มผู้เข้าประมูลในโครงการนี้รวม 4 ราย แนวการมองด้านนี้อาจช่วยไขปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวและลด "ตัวเลือก" ให้แคบลง จนมองเห็นตัว "ผู้ชนะ" การประมูลอยู่ร่ำไรก็เป็นได้ !!

เมื่อครั้งที่มีการเปิดให้ซื้อ TOR ของโครงการโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมายในเขตภูมิภาคในวันที่ 31 ตุลาคม 2534 มีผู้สนใจเข้าซื้อไปเป็นจำนวนถึง 32 ราย แต่เมื่อวันประมูลจริง ๆ กลับมีผู้ยื่นเข้ามาเพียง 4 กลุ่มเท่านั้น

ในบรรดา 4 กลุ่มที่ยื่นเอกสารการประมูลในวันที่ 2 มีนาคม 2535 กลุ่มที่ไม่มีความชำนาญ/ประสบการณ์มาก่อนคือกลุ่ม เอสจี เทเลคอม ซึ่งประกอบไปด้วย บ. จีเอฟโฮลดิ้ง จก. ผู้ที่จะเป็น OPERATOR คือ SWEDTEL หรือ SWEDISH TELECOM โดยใช้อุปกรณ์ของอีริคสัน และอัลคาเทล ส่วนผู้ที่รับผิดชอบงาน OUTSIDE PLANT ได้แก่ ABB NERA, กรุงเทพโทรคมนาคม, จรุงไทยและฮิตาชิ บางกอกเคเบิ้ล จำกัด

เอสจี เทเลคอมเป็นบริษัทที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2534 มีทุนจดทะเบียนแรกเริ่ม 1 ล้านบาท ครั้งจะเข้าประมูลโครงการโทรศัพท์ฯ จึงได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 20 ล้านบาทแบ่งเป็น 200,000 หุ้นมูลค่าหุ้นละ 100 บาท

ผู้ถือหุ้นใหญ่ได้แก่บริษัท สินสุวิทย์ จำกัด (129,993 หุ้นหรือ 65% ของทุนจดทะเบียน), บริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิต จก. (10%), บงล. ธนพล จก. (10%) และกรพจน์ อัศวินวิจิตร (15%)

กรพจน์ให้ความสนใจในธุรกิจโทรคมนาคมมานานตั้งแต่สมัยที่การประมูลโครงการโทรศัพท์ยังเป็น 3 ล้านเลขหมายอยู่ แต่ยังไม่เคยเข้าไปจับทำอย่างจริงจัง มีแต่ธุรกิจในบริษัท ไซเทค (ประเทศไทย จก. และบริษัท ไซเทค อินเตอร์เทรด จก. ที่ทำหน้าที่นำเข้าและจำหน่ายระบบโทรศัพท์ NITSUKO จากประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น

ในระยะหลัง ๆ กรพจน์ให้ความสนใจกับงานการเมืองมากกว่าการทำธุรกิจ เขามีความสัมพันธ์เป็นอันดีกับกลุ่มนายทหารระดับสูงที่ทรงอำนาจอยู่ในปัจจุบัน ดังจะเห็นว่าเขาได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภา รสช. และล่าสุดยังเป็นวุฒิสมาชิกด้วย

สำหรับโครงการโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมายนี้กรพจน์ให้ความสนใจมาแต่ต้นและประกาศตัวลงสนามการประมูลด้วยเงินลงทุน 27,500 ล้านบาท ไม่รวม REPLACEMENT COST อีก 9,200 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนหนี้/ทุนเท่ากับ 3:1

แหล่งข่าวในองค์การโทรศัพท์ฯ เปิดเผยเกี่ยวกับการพิจารณาด้านเทคนิคในช่วงแรกว่ากลุ่มเอสจี เทเลคอมจะใช้พนักงานประมาณ 1,326 คนในการดำเนินการซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่ามาตรฐานขององค์การฯ และของโลก แต่ประเด็นนี้ไม่สำคัญนักเพราะอาจจะมีการเจรจากันอีกหากกลุ่มนี้สามารถเอาชนะการประมูลได้

จุดอ่อนเล็ก ๆ น้อย ๆ ในทางเทคนิคของเอสจี เทเลคอมได้แก่ ไม่มีข้อเสนอเกี่ยวกับแผนการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี เสนอแต่แผนการติดตั้งโทรศัพท์ในระดับเขตอย่างหยาบ ๆ ไม่มีรายละเอียดในระดับเครือข่ายและจังหวัด

แต่เอสจี เทเลคอมก็มีจุดแข็งในรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการติดตั้งระบบแบบเบ็ดเสร็จ (TURNKEY SYSTEM) โดยใช้อุปกรณ์จากอีริคสันและอัลคาเทล ใช้เคเบิ้ลจากผู้ผลิตที่เป็นผู้ซัพพลายให้กับองค์การโทรศัพท์ฯ อยู่แล้ว ทั้งนี้เอสจี เทเลคอมมีแผนที่จะใช้การสื่อสารผ่านคลื่นวิทยุประมาณ 75% ที่เหลือใช้ OPTIC FIBRE

ทางด้านผู้สนับสนุนทางการเงินนั้น กรพจน์ อาจจะดึงเอากลุ่มแสงทองค้าข้าวและกลุ่มโอสถานุเคราะห์เข้ามาร่วมด้วย ส่วนธนาคารที่แจ้งความจำนงสนับสนุนได้แก่ ธ. ไทยพาณิชย์ ธ. นครหลวงไทย และ ธ. เอเชีย และมีบริษัทมอร์แกน เกรนเฟลล์เป็นที่ปรึกษาด้านการเงินในต่างประเทศ

กลุ่ม บี. กริม เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นบริษัทค้าขายเก่าแก่ในเมืองไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2421 ทำธุรกิจหลายประเภท แน่นอนว่ามีส่วนเกี่ยวเนื่องกับกิจการด้านโทรคมนาคมด้วย แม้จะไม่มากขนาด "ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ" แต่ก็มียอดขายรวมสูงมาก

ปี 2534 มีรายได้รวมประมาณ 4,040 ล้านบาท (ดูตารางรายได้ของบริษัทในกลุ่ม บี. กริมแอนโก) และคาดหมายว่าในปี 2535 นี้จะมียอดขายพุ่งถึง 5,000 ล้านบาท

บี. กริมฯ เริ่มต้นจากการเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด เพื่อขายยาของนายเบิร์นฮาร์ด กริมชาวเยอรมัน จากนั้นก็ฟันฝ่าอุปสรรคทางการค้า และการเมืองเรื่อยมาจนตกมาถึงรุ่นของนายฮาราลด์ ลิงค์ หุ้นส่วนผู้จัดการ หสน. บี. กริมแอนโก ในปี 2531 ซึ่งเป็นปีที่ลิงค์เคยกล่าวกับ "ผู้จัดการรายวัน" ว่า "ผมรู้ว่าหลังจากปี 2531 แล้ว บี. กริมฯ ไม่ใช่บริษัทเทรดดิ้งอย่างเดียวแต่เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจหลายอย่าง ทั้งในด้านเอนจิเนียและเฮลท์แคร์ ผมจึงต้องตั้งบริษัทใหม่ ๆ เพื่อดูแลเฉพาะด้าน"

ก่อนหน้าที่กลุ่ม บี. กริมฯ จะขยายเครือข่ายได้มากเกือบ 20 บริษัทในปัจจุบัน กลุ่ม บี. กริมฯ มีเพียง หสน. บี. กริมแอนโกเพียงแห่งเดียวที่รับทำธุรกิจทุกอย่าง ตั้งแต่ผลิตเครื่องปรับอากาศ ตู้สวิทช์บอร์ด ขายปั๊มน้ำ ขายยาและเครื่องมือแพทย์

ฮาราล์ด ลิงค์เปิดเผยด้วยว่า "บริษัทที่ตั้งใหม่แต่ละแห่งจะแยกการบริหารออกมาอย่างชัดเจน เพื่อที่จะให้แต่ละบริษัทมีความสามารถและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างแท้จริง"

ธุรกิจหลักของกลุ่ม บี. กริมฯ จะอยู่ที่ 6 บริษัทหลักคือ หสน. บี. กริมแอนโก จำหน่ายเครื่องมือเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม บ. บีกริม เฮลท์แคร์ เซอร์วิส จก. ขายผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ เคมีภัณฑ์และเวชภัณฑ์ บ. บีกริม อินดัสเตรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล จก. ทำธุรกิจรับเหมาติดตั้งโครงการใหญ่ ๆ จำหน่ายเครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคมและเครื่องจักรขนาดใหญ่ บ. ลิงค์ เรียล เอสเตท จก. ดำเนินธุรกิจด้านการพัฒนาที่ดินและก่อสร้างอาคารสำนักงาน บ. บีกริม เอนจิเนียริ่ง ซิสเต็มส์ จก. ใช้บริการรับเหมา ติดตั้งระบบไฟฟ้า ประปาและเครื่องปรับอากาศในโครงการใหญ่ ๆ และ บ. บี. กริม โฮลดิ้ง จก. เป็นผู้ดูแลและประสานการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ของบริษัทในเครือ รวมทั้งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทร่วมทุนทั้งหลายของกลุ่มด้วย

นอกจากการแยกกิจการออกมาเป็นบริษัทต่างหากในแต่ละสายธุรกิจในปี 2531 แล้วปรากฏว่านับแต่ปีนั้น แต่ละบริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 30% ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปีคือระหว่าง 2531-2533

ในส่วนของการเข้ามาประมูลโครงการโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมายในเขตภูมิภาคนั้น กลุ่ม บี. กริมฯ เสนอตัวในนามของกลุ่มกิจการร่วมค้า บ. กริมอินสตอลเลชั่น เซอร์วิสเซล จก. และ บ. บีกริมโฮลดิ้ง จก. มีไนเน็กซ์ คอร์ปและเบลล์ แคนนาดาเป็น OPERATOR ส่วนผู้สนับสนุนอุปกรณ์มีซีเมนส์, ฟูจิตซึและเอ็นอีซี ด้านงานติดตั้งข่ายสายนอกมีโตเมนคอร์ปอเรชั่น, มิตซุย แอนโกและฟูจิกูร่า ส่วนกลุ่มธนาคารฮ่องกงโดยบริษัท วอร์ดเลย์ (ประเทศไทย) จก. ให้การสนับสนุนทางการเงิน

ลิงค์เปิดเผยว่า "บี. กริมฯ เป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ระบบโทรคมนาคมของซีเมนส์ในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน บี. กริมฯยังเป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายระบบของซีเมนส์ให้องค์การโทรศัพท์ฯ ในแผน 6 จำนวน 108,000 เลขหมาย มูลค่าประมาณ 2,460 ล้านบาทด้วย

ลิงค์อ้างว่า "บี. กริมฯ อยู่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยมากว่า 60 ปี การที่บริษัทฯ ร่วมมือกับซีเมนส์และไนเน็กซ์เพราะบริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของซีเมนส์มาเป็นเวลานาน และไนเน็กซ์ก็เป็นลูกค้าสำคัญรายหนึ่งของซีเมนส์ บี. กริมฯ จึงมีความสัมพันธ์ในทางอ้อมกับไนเน็กซ์ด้วย"

การจับมือกับซีเมนส์และไนเน็กซ์ของกลุ่ม บี. กริมฯ ได้รับการโจมตีอย่างหนักว่ากลุ่มนี้จะเป็น "ร่างทรง" ให้บริษัท เทเลคอมเอเซีย จก. ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มซีพีที่ได้รับสัมปทานดำเนินโครงการโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมายในเขตกรุงเทพฯ เพราะไนเน็กซ์เป็นผู้ร่วมทุนกับเทเลคอมเอเซียและซีเมนส์ได้รับเลือกเป็นซัพพลายเออร์อุปกรณ์ในโครงการเร่งด่วน 360,000 เลขหมาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมายของเทเลคอมเอเซีย

ลิงค์กล่าวปฏิเสธความสัมพันธ์กับกลุ่มซีพีในฐานะ "ร่างทรง" ดังที่มีข่าวโจมตี และยืนยันด้วยว่า "กลุ่ม บี. กริมฯ และผู้สนับสนุนทุกรายมีความพร้อมครบถ้วนอยู่แล้ว รวมทั้งด้านการเงินก็มีความพร้อมเต็มที่ ไม่จำเป็นต้องพึ่งซีพีให้มาร่วมโครงการด้วย"

กลุ่ม บี. กริมฯ จะใช้เงินลงทุนในโครงการโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมายประมาณ 36,500 ล้านบาท มีสัดส่วนของหนี้ต่อทุนประมาณ 2:1

กลุ่ม บี. กริมฯ ดูเหมือนจะมีข้อได้เปรียบในเรื่องผู้เป็น OPERATOR และผู้สนับสนุนอุปกรณ์อย่างมาก เพราะเป็นระบบที่องค์การโทรศัพท์ฯ คุ้นเคยเป็นอย่างดีแล้ว แต่กลุ่ม บี. กริมฯก็มีจุดอ่อนตรงที่ไม่มีการเสนอระบบสนับสนุนอย่างละเอียดพอและไม่ได้แสดงแผนกำลังคนด้วย

คณะกรรมการพิจารณาข้อเสนอทางเทคนิคขององค์การโทรศัพท์ฯ มีความเห็นว่าข้อเสนอทางเทคนิคของกลุ่ม บี. กริมฯไม่สมบูรณ์ละเอียดเหมือนกลุ่มอื่น ๆ แต่ก็เป็นที่ยอมรับได้ภายใต้เงื่อนไขใน TOR

ใน 2 กลุ่มแรกนี้ เอสจี เทเลคอมถูกมองว่าเป็น "ม้านอกสายตา" เพราะความไม่มีประสบการณ์และไม่เห็นฐานสนับสนุนทางการเงินอย่างแจ่มชัดส่วนกลุ่ม บี. กริมฯ นั้นอาจจะมาเป็น "ม้ามืด" ได้หลังจากที่มีข่าวประโคมเรื่องการเป็น "ร่างทรง" ของกลุ่มซีพี แม้ว่าจะไม่เคยมีประสบการณ์ในงานประมูลใหญ่ ๆ มาก่อนก็ตาม แต่คู่ชิงที่เป็นที่จับตามากที่สุดในโครงการนี้คือกลุ่มชินวัตรและกลุ่มล็อกซเล่ย์/จัสมิน

กลุ่มชินวัตรเป็นผู้คร่ำหวอดในระบบสื่อสารโทรคมนาคมมากพอ ๆ กับกลุ่มล็อกซเล่ย์ที่ก่อตั้งมานานกว่าหลายสิบปี และชินวัตรยังมีประสบการณ์ประมูลโครงการสัมปทานแบบได้ชัยชนะมากกว่าล็อกซ์เล่ย์อย่างเทียบไม่ติด กล่าวได้ว่าธุรกิจแกนหลักของกลุ่มนี้คือการหากินกับโครงการสัมปทาน

โครงการสัมปทานที่กลุ่มชินวัตรดำเนินการอยู่ในเวลานี้มีอยู่ประมาณ 6 โครงการ หากรวมสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ที่กลุ่มชินวัตรเพิ่งซื้อมาจากเอทีแอนด์ทีเมื่อเร็ว นี้ก็เป็น 7 โครงการสัมปทานซึ่งได้รับสัมปทานมาระหว่างปี 2532-2534 (ดูตารางเครือข่ายธุรกิจของกลุ่มชินวัตร)

ดร. ทนง ลำไย พิทยะ หัวหน้าฝ่ายการเงินของบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัดเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า "การลงทุนของชินวัตรจริง ๆ ในเวลานี้ไม่มีโปรเจคอะไรใหม่นอกจากเรื่องดาวเทียมที่มีวงเงินลงทุนทั้งหมดประมาณ 4,800 ล้านบาท ซึ่งชินวัตรก็ลงไปแล้ว 1,000 ล้านบาทโดยเอาไป PLACE ไว้กับสถาบันการเงิน โครงการนี้เป็นลักษณะ PROJECT-BASE FINANCING ปกติทั่ว ๆ ไป"

นอกจากโครงการดาวเทียมแล้ว ดร. ทนงเปิดเผยด้วยว่า "ในเวลานี้ไม่มีโปรเจคอะไรที่บริษัทชินวัตรฯ ต้องให้การสนับสนุนทางการเงิน AIS และ IBC ก็เข้าตลาดไปแล้ว อยู่ด้วยตัวเอง ส่วนบริษัทลูกอื่น ๆ ก็ใช้เงินเพียงเล็กน้อย ตอนนี้ชินวัตรใช้เงินจริง ๆ เพียง 500-600 ล้านบาทเท่านั้น เครดิตไลน์นี่เหลือเยอะแยะ"

ช่วงก่อนหน้านี้บริษัทชินวัตรฯ ถูกจับตามองจากนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ต่างประเทศมากเป็นพิเศษในเรื่องความสามารถในการหาเงินทุนมาไฟแนนซ์โครงการสัมปทานต่าง ๆ ทั้งที่ได้สัมปทานมาแล้วและที่อยู่ระหว่างการประมูลคือโครงการโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมายในเขตภูมิภาคซึ่งกลุ่มชินวัตรเสนอวงเงินลงทุนประมาณ 27,500 ล้านบาท มีสัดส่วนหนี้ต่อทุนเท่ากับ 2:1

ASIA MONEY & FINANCE ซึ่งเป็นนิตยสารการเงินชั้นนำในเอเชียตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการแสวงหาเงินทุนเพื่อให้ใช้ในโครงการต่าง ๆ ของกลุ่มชินวัตรในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า โดยมีการคาดหมายว่าการขยายเครือข่ายธุรกิจของกลุ่มชินวัตรภายในปี 2535 จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 1,500 ล้าน โดย 1,000 ล้านบาทแรกสำหรับโครงการดาวเทียม

กลุ่มชินวัตรมีแผนการที่จะออก CONVERTIBLE DEBENTURE ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเพื่อนำมาใช้ในโครงการดาวเทียม แต่ปรากฏว่าต้องระงับไว้ก่อนเพราะคาดว่าไม่ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากตลาด

โครงการสัมปทานเคเบิลใยแก้ว (OPTIC FIBRE) จากองค์การโทรศัพท์ฯ ที่ชินวัตรได้รับสัมปทานมานั้นก็ต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท และการเข้าประมูลโครงการโทรศัพท์ฯ ก็ต้องใช้เงินไฟแนนซ์ประมาณ 8,000 ล้านบาทในอีกหลายปีข้างหน้า

นิตยสาร BZW PACIFIC ของ บล. บาร์เคลย์ เดอ โซด เวด จำกัดคาดหมายด้วยว่ากลุ่มชินวัตรจะมีภาระหนี้สินสูงถึง 5,000 ล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2536 นี่อาจจะเป็นตัวเลขที่ยังอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ หากผลการดำเนินงานทั้งหลายเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัดส่วนรายได้ที่มาจากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ AIS

ผู้เชี่ยวชาญในวงการโทรคมนาคมให้ความเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในเวลานี้ขึ้นอยู่กับการจัดการทางการเงินของ ดร. ทักษิณ ชินวัตรเท่านั้น เขาจะจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างไรขณะที่ต้องกังวลเรื่องความมั่นใจของนักลงทุนด้วย

ปัญหาในเวลานี้คือกลุ่มชินวัตรจะหาเงินลงทุนจำนวนมหึมาเหล่านี้มาจากไหน แม้ว่าหุ้นชินวัตรจะได้รับการต้อนรับอย่างดีจากนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ในสายตานักวิเคราะห์แล้วหุ้นชินวัตรเริ่มประสบปัญหาเรื่องการประเมินราคา (VALUATION) ชินวัตรเรียกเพิ่มทุนไปแล้ว 2 ครั้งเมื่อปี 2533 ซึ่งคาดหมายว่าได้รับเงินไปไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทนักวิเคราะห์จากบริษัทโบรกเกอร์ในประเทศให้ความเห็นว่า "การเพิ่มทุนทำให้อัตราส่วนการเติบโตของ EPS ลดลง ถึงแม้ว่าจะทำให้ผลกำไรได้ตามประมาณการที่ตั้งไว้ก็ตาม"

นิตยสารฉบับนี้มองด้วยว่าการที่ชินวัตรนำบริษัท AIS เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็เพื่อที่จะผ่อนคลายภาระเรื่องการอุดหนุนเงินทุนแก่บริษัทในเครือดังกล่าว รวมถึงบริษัท IBC ที่เพิ่งเข้าจดทะเบียนเมื่อต้นปีที่ผ่านมาด้วย

นั่นหมายความว่ากลุ่มชินวัตรมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ถึง 3 บริษัท สิ่งที่ชวนให้นักลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้เกิดความกังวลคือการลงทุนในหุ้นกลุ่มชินวัตรอาจตามมาด้วยการถูกลดทอนอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้นลงก็เป็นได้ (EPS)

ปัญหาที่นักลงทุนตระหนักและนักวิเคราะห์ตั้งคำถามไว้นั้นอาจค้นหาภาพความกระจ่างได้จากการทำความเข้าใจวิธีการบริหารเงินและวิธีขยายการลงทุนของกลุ่มชินวัตร

ดร. ทนงให้ความเห็นว่า "การที่ชินวัตรจะเพิ่มทุนอีกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของการลงทุนแต่ในส่วนของโครงการที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้บวกกับการที่ชินวัตรลดอัตราการจ่ายเงินปันผลลงเหลือ 40% ทำให้ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนเลยยกเว้นชินวัตรได้โครงการ 1 ล้านเลขหมายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง"

ผลการดำเนินงานในปี 2534 ของชินวัตรฯ แม้จะออกมาดูสวย แต่เป็นตัวเลยที่ต่ำกว่าประมาณการพอสมควร สินทรัพย์รวมคาดว่าจะทำได้ 3,876.17 ล้านบาทแต่ทำได้จริง 3,726.59 ล้านบาท รายได้รวมคาดหมายว่าจะทำได้ 5,174.99 ล้านบาท ทำได้เพียง 2,301.37 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนกำไรสุทธิประมาณการไว้ 563.99 ล้านบาท ทำได้ 368.02 ล้านบาท (ดูตารางตัวเลขสำคัญทางการเงินของบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ จำกัด)

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้ขอลดตัวเลขประมาณการในปี 2535 และ 2536 เช่น กำไรสุทธิประมาณการไว้ 865.86 และ 1,251.26 ล้านบาทในปี 2535 และ 2536 ก็ขอลดลงเหลือประมาณ 540 และ 711 ล้านบาทตามลำดับ

ดร. ทนงอธิบายเรื่องการทำประมาณการงบการเงินว่า "ตอนที่ทำประมาณการนั้นมีการรวมรายได้อันเกิดจากโครงการโทรศัพท์สมัยที่ยังเป็น 3 ล้านเลขหมายไว้ด้วย ตอนนั้นเป็นช่วงปลายปี 2533 ก่อนหน้าการปฏิวัติ 23 กุมภาพันธ์ และการคุยกับกลุ่มซีพีนั้น ก็ค่อนข้างมีการยืนยันกันแน่นอนว่าเอทีแอนด์ทีจะได้ 1 ล้านเลขหมายจาก 3 ล้านเลขหมาย ฉะนั้นประมาณการตัวนี้คุณทักษิณ ชินวัตรประธานบริษัทฯ ก็เลยเอาใส่ไว้"

ชินวัตรฯ ไม่ได้มีการแก้ประมาณการนี้จวบจนกระทั่งสิ้นปี 2534 ดร. ทนงอ้างว่า "กลุ่มซีพีจะซื้ออุปกรณ์จากเอทีแอนด์ทีหรือไม่นี่ เขาก็ไม่บอกมาแต่ในที่สุดเมื่อถึงเวลาที่จะแก้ประมาณการใช้ช่วงสิ้นปี 2534 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ก็เลยออกนโยบายใหม่ โครงการไหนที่ยังไม่มีสัญญาที่แน่ชัดก็อย่าไปใส่ไว้ตัวเลขประมาณการของชินวัตรฯ เวลานี้จึงค่อนข้าง CONSERVATIVE มาก"

ในส่วนของการลดอัตราการจ่ายเงินปันผลลงเหลือ 40% ในช่วงปี 2534-36 นั้น ดร. ทนงอธิบายว่า "การจ่ายเงินปันผล 80% ไม่ใช่วิธีที่ปฏิบัติของบริษัททั่วไป ยิ่งบริษัทที่มีเงินกองทุนแข็ง ๆ นี่จะไม่มีการจ่ายเงินปันผลสูง บริษัทที่จะจ่ายเงินปันผลสูงนั้นคือบริษัทที่ไม่ต้องการลงทุนเพิ่มหรือขยายกิจการ"

"ผมมองว่าการจ่ายเงินปันผลออกไปนั้น นักลงทุนจะเอาไปลงทุนอะไรที่ดีกว่าลงทุนกันชินวัตร ผลตอบแทนต่อการลงทุนในโครงการของชินวัตรตอนนี้สูงที่สุดแล้ว P/E ของชินวัตรตอนนี้ก็ดีมาก ๆ อยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับตลาด เพราะชินวัตรเป็นบริษัทที่มีอัตราการเติบโตสูง ผมไม่เห็นด้วยกับการที่มีผลกำไรเท่าไหร่ก็เอามาจ่ายเงินปันผลออกไป นโยบายนี้ไม่ถูกต้อง ควรจะมีการสะสมทุนแล้วเอาทุนส่วนนั้นมาสร้าง CAPITAL GAIN ให้ผู้ถือหุ้น" ดร. ทนงให้ความเห็น

ราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (P/E RATIO) ของชินวัตรอยู่ที่ 24-25 เท่าขณะที่ราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้นของตลาดอยู่ที่ประมาณ 16.8 เท่า

นั่นหมายความว่าราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้นของชินวัตรต่ำกว่าตลาดต่างหาก!!

ประเด็นนี้อาจจะไม่สำคัญเท่าไหร่ เพราะยังมีอีกหลายบริษัทในตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงและมีราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้นสูงกว่าเมื่อเทียบกับพีอีเรโชของตลาด

ดร. ทนงพยายามอธิบายกับ "ผู้จัดการ" ว่าชินวัตรไม่มีปัญหาการไฟแนนซ์โครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการอยู่ในเวลานี้ "การไฟแนนซ์โครงการนั้นขึ้นอยู่กับอัตราส่วนหนี้ต่อทุนหรือ DEBT/EQUITY RATIO ซึ่งสัดส่วนตัวนี้ของชินวัตรอยู่ที่ 0.5-0.6% เท่านั้น นี่เป็นอัตราส่วนเฉพาะบริษัทชินวัตรฯ แห่งเดียว"

นั่นหมายความว่าเฉพาะชินวัตรฯ เพียงบริษัทเดียว ยังมีช่องที่จะก่อหนี้ได้อีกมาก ดร. ทนง ยืนยันว่า "ชินวัตรฯ ยังมี ROOM ที่จะกู้ยืมได้อีกเป็น 1,000 ล้านบาทโดยตัวเอง ส่วนบริษัท AIS ก็มีอัตราส่วนหนี้ต่อทุนเพียง 0.3:1 และ IBC ยังไม่ถึง 1:1 ดังนั้นจึงยังไม่มีอะไรที่เป็น OVER LEVERAGE สักอย่างสำหรับบริษัทกลุ่มชินวัตรที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ"

"ที่กล่าวกันว่าชินวัตรมี GERING ที่จะหาเงินมาได้มีอีก 0.5 เท่าของทุนซึ่งเท่ากับ 1,000 ล้านบาทนั้นก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องชินวัตรสามารถกู้เงินได้อีก 1,000 ล้านบาทจึงจะถึง 1:1 ซึ่งเป็นนโยบายของบริษัทและ GEARING RATIO ก็ยังอยู่ที่ประมาณ 0.7 เพราะบริษัทก็มีกำไรเหมือนกัน"

กำไรที่ว่านี้ชินวัตรกันไว้เป็นเงินกองทุน (หลังจากที่ใช้นโยบายลดเงินปันผลลงมาเหลือ 40% ในระยะ 3 ปีข้างหน้า) เพื่อที่จะใช้ลงในโครงการดาวเทียมซึ่ง ดร. ทนงประมาณการตัวเลขว่าในช่วงปี 2533-35 จะมีเงินกองทุนประมาณ 1,000 ล้านบาทได้

ดร. ทนงคาดหมายว่าจะสามารถลงได้ประมาณ 300 ล้านบาทจากผลกำไรในปี 2534 ขณะที่ในปี 2533 ที่ผ่านสำรองไว้ 100 ล้านบาทแล้วและในปี 2536 กำไรน่าจะถึง 500 ล้านบาท ก็เท่ากับ 1,000 ล้านบาทพอดี

แต่ปรากฏว่าในงบการเงินของบริษัทชินวัตรฯ โดยลำพังนั้น ปี 2533 มีกำไรสุทธิถึง 216.89 ล้านบาทและหลังจากหักขาดทุนสะสมต้นปีแล้ว เหลือเป็นกำไรสะสมจำนวน 159.95 ล้านบาท โดยยังไม่มีการจ่ายเงินปันผล

ครั้นปี 2534 มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมาก แต่มีการสำรองตากกฎหมายและการจ่ายเงินปันผลทำให้มีกำไรสะสมเหลือเพียง 232.28 ล้านบาท

นั่นหมายความว่าเฉพาะบริษัทชินวัตรฯ โดยลำพังมีเงินกองทุนไม่พอถึง 1,000 ล้านบาทตามที่ดร. ทนงอ้าง แต่หลังจากที่บริษัทชินวัตรฯ จัดโครงสร้างใหม่โดยมีการรวมเอาบริษัทย่อยที่ถือหุ้นเกินกว่า 50% เข้ามารวมในทางบัญชีด้วยแล้ว ปรากฏว่าตัวเลขต่าง ๆ ที่กล่าวอ้างมาใกล้เคียงความเป็นจริง

ทั้งนี้ชินวัตรเพิ่งจะทำงบการเงินโดยดึงบริษัทย่อยเข้ามาร่วมด้วยเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2535 นี่เอง

เท่ากับว่าเฉพาะบริษัทชินวัตรฯ โดยลำพังมี ROOM ที่จะกู้ได้อีกกว่าจะถึง GEARING RATIO ที่ 1:1 แต่ทว่าในส่วนของเงินกองทุนนั้นต้องนับรวมบริษัทย่อยเข้ามาด้วย !!

บริษัทย่อยในที่นี้คือ AIS, IBC, ชินวัตร เพจจิ้ง, ชินวัตร แซทเทลไลท์, ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอ ซี เอส ไอ, กิจการร่วมค้าบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ จำกัด และเอทีแอนด์ที เวิลด์ เซอร์วิส อินคอร์ปอเรชั่น, และบริษัทชินวัตรเทเลโฟน จำกัด

ในงบการเงินของชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ และบริษัทย่อยดังกล่าวปรากฏว่าปี 2534 มีกำไรสะสมอยู่ 282.98 ล้านบาทและมีเงินกองทุนอยู่ประมาณ 2,207.98 ล้านบาท (ดูตารางตัวเลขสำคัญทางการเงินของบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ฯ และบริษัทย่อย)

ส่วนประมาณการงบการเงินของชินวัตรฯ และบริษัทย่อยยังไม่ปรากฏ !!

ในส่วนของบริษัทย่อย ดูเหมือนสถานะของ AIS จะดีที่สุด ปี 2534 สามารถทำรายได้เพิ่มจากปีก่อนหน้าถึง 10 เท่าคือรายได้รวมสูงถึง 588.80 ล้านบาท และทำกำไรสุทธิได้ 196.40 ล้านบาท (ดูตัวเลขสำคัญทางการเงินของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ฯ)

AIS เป็นบริษัทในเครือของบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่นส์ ก่อตั้งเมื่อปี 2529 โดยเริ่มด้วยการเป็นบริษัทที่ให้บริการเช่าซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์

ต่อมาในปี 2533 มีการแก้ไขวัตถุประสงค์บริษัทใหม่เมื่อชินวัตรฯ ใช้ AIS เข้าไปประมูลสัมปทานการดำเนินการเครือข่ายโทรศัพท์คลื่นความถี่ 900-MHZ และชนะการประมูลได้อายุสัมปทานมาทำ 20 ปี

AIS เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปจำนวน 40% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2534 AIS ยกเลิกการทำธุรกิจอื่น ๆ เหลือไว้เพียงการทำเซลลูลาร์ 900 เท่านั้น ซึ่งคาดหมายว่า AIS จะยกเลิกการให้บริการเช่าซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ได้เมื่อสิ้นปี 2535 ซึ่งสัญญาการเช่าซื้อทั้งหลายจะหมดอายุลง

ภายใต้เงื่อนไขในสัญญาสัมปทานเซลลูลาร์ 900 AIS จะแบ่งรายได้ 15% ของรายได้ทั้งหมดให้กับองค์การโทรศัพท์ฯ ตลอด 5 ปีแรก และในทุก 5 ปีถัดไปส่วนแบ่งรายได้นี้จะเพิ่มขึ้น 5% จนกระทั่งถึง 30% ในช่วง 5 ปีสุดท้าย

เป็นที่คาดหมายว่า AIS จะใช้เงินลงทุนทั้งหมดประมาณ 7,000 ล้านบาทตลอดอายุระบบงานเพื่อที่จะสนับสนุนบริการแก่ลูกค้าจำนวน 450,000 ราย ตอนนี้มีการสร้างชุมสายโทรศัพท์เคลื่อนที่ขึ้นมา 5 แห่งแล้ว และจะมีการเพิ่มสถานีวิทยุภาคพื้นดิน (RADIO BASE STATION) ใน กทม. อีก

โครงการเซลลูลาร์ 900 ของ AIS มีจุดคุ้มทุนภายใน 3 ปี 1 เดือน

แต่ด้วยความสามารถทางการตลาดและความนิยมใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ย่านความถี่ 900 มีสูงมากทำให้ AIS มีผลกำไรที่ดีอย่างมาก ๆ ในปีที่ 2 ของการดำเนินงาน

ส่วนบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล บรอดแคสติ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด (IBC) ยังมีการดำเนินงานที่ไม่สู้ดีนัก เพราะมีตัวเลขขาดทุนสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงในช่วงการดำเนินการช่วงแรก มีการลงทุนในเรื่องอุปกรณ์ การติดตั้ง การซื้อลิขสิทธิ์รายการต่าง ๆ และค่าใช้จ่ายการดำเนินงานจิปาถะกว่าที่จะได้รับรายรับจากสมาชิก

มีการคาดหมายว่า IBC จะใช้ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 3 ปี 7 เดือน

ผลการดำเนินงานของ IBC ในปี 2533 ปรากฏว่ามีขาดทุนสะสมอยู่ 92.17 ล้านบาท ในปี 2534 สามารถทำรายได้เพิ่มขึ้น 4 เท่าตัวแต่ยังมีรายจ่ายที่สูงมาก จึงไม่สามารถล้างขาดทุนสะสมได้ ปี 2534 เหลือขาดทุนสะสมอยู่ 82.28 ล้านบาท (ดูตัวเลขสำคัญทางการเงินของ บ. อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดแคสติ้งฯ)

สำหรับการบริหารงานของแต่ละบริษัท ดร. ทนง ยืนยันว่ามีการบริหารที่แบ่งแยกออกจากกันชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ AIS และ IBC จะเป็น 3 บริษัทหลักที่เป็นตัวเสาะหาทุนให้กับบริษัทในเครือและการทำธุรกิจของกลุ่มชินวัตรในอนาคตจะอยู่ใน 3 ขอบข่ายธุรกิจที่มี 3 บริษัทนี้เป็นตัวหลัก

ชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ ดูแลเรื่องคอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม เทรดดิ้งและดูแลบริษัทที่ทำ MAIN CARRIER เช่น ระบบดาวเทียม ระบบโทรศัพท์ ชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ จะเป็นบริษัทแม่ที่ระดมทุนและดูแลการสร้างภาระหนี้สินให้กับบริษัทเหล่านี้คือชินวัตรเทเลโฟนและชินวัตรแซทเทลไลท์

"แต่ถ้าบริษัทเหล่านี้เริ่มใหญ่มาก ๆ ก็อาจจะเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้" ดร. ทนงกล่าว

ส่วน AIS นั้นจะเป็นสายธุรกิจที่ให้บริการระบบโทรคมนาคม เช่น เซลลูลาร์ โฟนพ้อยท์ ดาต้าเนท โครงสร้างก็จะเป็นคล้ายชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ ที่มีบริษัทลูกแยกออกมาในการให้บริการอุปกรณ์แต่ละอย่าง

IBC จะเน้นไปในสายธุรกิจสื่อสารมวลชน ซึ่งในเวลานี้ดูแลเกี่ยวกับสถานีวิทยุเอฟเอ็ม/เอเอ็ม บัสซาวน์ และซิสเต็มเน็ทเวิร์ค

ใน 3 สายธุรกิจนี้ชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ จะทำหน้าที่เป็นบริษัทโฮลดิ้งไปในตัวด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ ดร. ทนงจะย้ำว่าแต่ละบริษัทจะเป็นหัวหอกในการระดมทุนและดูแลสร้างหนี้ของบริษัทในสายธุรกิจนั้น แต่บทบาทของชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ ในฐานะที่เป็นบริษัทโฮลดิ้งและมีเครดิตมาก่อนก็ยังจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนจัดหาเงินกู้ทุกประเภทให้กับบริษัทในกลุ่มทั้งหมด

ดร. ทนงเปิดเผยว่า "สิ่งที่ชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ ทำคือผมพยายามดู FINANCIAL MANAGEMENT AS A POOL ในแง่ของเงินทุนหมุนเวียน เงินกู้ยืมระยะสั้นและระยะปานกลาง ที่ทำอย่างนี้ก็เพื่อที่จะลดต้นทุนของการไฟแนนซ์ เพราะการเป็น POOL CREDIT LINE มันมีความแข็งแกร่งในแง่เครดิต ทำให้เราต่อรองได้"

ลักษณะการจัดการหาเงินกู้ให้บริษัทในกลุ่มก็โดยการที่ชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ เป็นผู้กู้แล้วเอามาปล่อยให้บริษัทในกลุ่มในอัตราถูก ดร. ทนงบอกว่า "ผมสามารถเอาชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ มากู้ได้ในอัตรา LIBOR+1% ก็ได้ประมาณ 5% กว่า แล้วผมเอาเงินนั้นมาให้โฟนลิ้งค์ยืมที่อัตรา PRIME RATE มันเป็นการประหยัดและชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ ก็ยังได้กำไรด้วย แต่ผมไม่การันตีให้โฟนลิงค์ มันเป็นลักษณะ INTERLOAN ให้บริษัทที่ยังไม่โตมีสิทธิ์ได้รับ FINANCIAL COST ต่ำ

หาก ดร. ทนงเอาโฟนลิงค์ไปกู้ อาจจะได้อัตรา PRIME RATE+1% ซึ่งเขาเห็นว่าโฟนลิงค์จะเหนื่อยต้องแบกภาระการจ่ายดอกเบี้ยโดยไม่จำเป็นขณะที่ชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ มีเงินเหลือแล้วเอาไปฝากแบงก์

ดร. ทนงยืนยันว่าชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ มีเครดิตดีอย่างมาก ๆ ด้วยเหตุนี้หลังจากที่ประเมินว่าบริษัทสามารถกู้เงินได้ด้วยต้นทุนที่ถูก ไม่มีความเสี่ยง และมีช่องที่จะกู้เงินได้อีกมาก ดร. ทนงจึงยกเลิกแผนการออกหุ้นกู้แปลงสภาพหรือ CONVERTIBLE DEBENTURE (CD) ที่จะนำมาใช้ในโครงการดาวเทียม

"เรื่อง CD มูลค่า 1,000 ล้านบาทนั้น หลังจากที่ผมดูตลาดและคุยกับที่ปรึกษาทางการเงิน ปรากฏว่าเขาต้องการเงื่อนไข คือ CD ที่ผมต้องการออกมันแค่ 5 ปีระยะสั้น เขาต้องการเงื่อนไขว่าให้ดอกเบี้ยผู้ลงทุนสูง จะเอาถึง 6% แต่ให้พรีเมี่ยมต่ำแค่ 15% เท่านั้น ผมคิดว่าบริษัทแบบชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ นี่มีศักยภาพสูงกว่านั้นเยอะ" ดร. ทนง กล่าว

ในเมื่อชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ สามารถกู้เงินได้ในอัตราต่ำ ดร. ทนงจึงเห็นว่าบริษัทฯ ไม่ควรออก CD เพื่อให้สิทธิคนซื้อหุ้นชินวัตรแล้วยังได้ดอกเบี้ย 5-6% ด้วย "ผมเห็นว่าตลาดผู้ลงทุนใน CD เป็นอีกตลาดหนึ่ง คือเป็นคนที่ค่อนข้างฉวยโอกาส เพราะนอกจากจะให้เงินกู้แล้วได้ดอกเบี้ย แล้วยังได้ OPTION ที่จะซื้อหุ้นได้ด้วย แม้เขาจะจ่ายพรีเมียมให้ผม 15% แต่ผมคิดว่าใน 5 ปีข้างหน้าหุ้นชินวัตรฯ ต้องขึ้นเกินกว่า 15% แน่นอน ดังนั้นผู้ลงทุนประเภทนี้จึงปกป้องตัวเองมากเหลือเกิน"

นอกจากช่องทางเงินกู้เงินซึ่ง ดร. ทนงบอกว่ามี OFFSHORE LOAN มากมายที่เสนอตัวมาเป็นระยะ ๆ ดร. ทนงยังมีช่องเรื่องการเพิ่มทุนเหลือไว้ด้วย โดยคิดว่า "คนยังนิยมที่จะเล่นหุ้นชินวัตรฯ อยู่ แต่ผมยังไม่อยากทำเพราะมันจะเป็นการยาก DILUTE การถือหุ้นของผู้หุ้นใหญ่ หุ้นชินวัตรฯ นี่เพิ่มเท่าไหร่ก็ขายหมด คุณทักษิณ ไม่อยากจะถูก DILUTE ต่างหาก ตระกูลชินวัตรตอนนี้เหลืออยู่แค่ 61-62% เท่านั้น หากหายไปสัก 10% เหลือ 51% ก็แย่แล้ว"

เมื่อไม่ออก CD ดร. ทนงก็ต้องลดเงินปันผลและชักเอาเงินกองทุนเข้ามาลงในโครงการดาวเทียมโดยหวังว่าจะสามารถหาเงินกู้ประเภทอื่นเข้ามาได้อีก

แหล่งเงินกู้ที่ชินวัตรฯใช้ส่วนมากเป็น INTERNATIONAL OFFSHORE LOAN จากธนาคารต่างประเทศที่ฮ่องกง สิงคโปร์ ดร. ทนงอ้างว่า "ชินวัตรในเวลานี้มี CREDIT LINE ในประเทศประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท เฉพาะส่วนที่เป็นเงินทุนหมุนเวียนไม่เกี่ยวกับ PROJECT LOAN และยังมีของต่างประเทศที่เรากำลังจะทำให้ถึง 1,000 ล้านบาทในอีก 3 เดือนข้างหน้านี้"

"ผมต้องการ CREDIT LINE ไว้ 2,000 ล้านบาทแม้ว่าจะใช้จริง ๆ ไม่กี่ร้อยล้านบาทสำหรับทุนหมุนเวียน แต่จะต้องมีการเผื่อไว้เยอะ ๆ เพื่อว่ามีโครงการอะไรใหม่ ๆ เข้ามา"

ดร. ทักษิณ ชินวัตร เคยพูดอยู่ครั้งหนึ่งว่ากลุ่มชินวัตรมีปัญหาเรื่องแหล่งเงินกู้พอสมควรในช่วงแรกที่ทำธุรกิจ เพราะไม่มี TANGIBLE ASSET ต้องใช้ความพยายามพูดคุยกับเจ้าหน้าที่แบงก์อยู่นานให้ยอมรับในตัว INTANGIBLE ASSET ที่บริษัทมีอยู่มากมาย

ดร. ทนงกล่าวกับ "ผู้จัดการ" เช่นกันว่า "แบงก์ต่างประเทศไม่ได้คิดตรงนี้ เพราะเงินกู้ที่ชินวัตรฯ กู้ยืมมานั้นจบก่อนที่อายุสัมปทานในโครงการต่าง ๆ จะหมดลง มันเป็นระยะสั้นและระยะกลางซึ่งก็ไม่เกิน 1-3 ปีทั้งนั้น ต่อให้ในอีก 3 ปีข้างหน้าราคาหุ้นชินวัตรลดลงมาครึ่งหนึ่งก็ยังสบาย"

"แบงก์ต่างประเทศจะดูตัวเลขหนึ่งที่เรียกว่า INTEREST COVERAGE RATIO คือกำไรเป็นกี่เท่าของภาระดอกเบี้ย กำไรของเราเป็น 5-6 เท่าของภาระดอกเบี้ย ผมกู้ร้อยบาท ทำกำไรได้ 500-600 ล้านบาท หากนับก่อนหักภาษีก็ประมาณ 800 ล้านบาท ก็เท่ากับ 8 เท่า แล้วทำไมชินวัตรจะไม่มีความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย" ดร. ทนงให้ความเห็นราวกับการบริหารเงินในกลุ่มชินวัตรเป็นเรื่องง่ายมาก ๆ

หัวหน้าฝ่ายการเงินคนนี้รู้ดีว่าบริษัทชินวัตรฯ กำลังถูกมองด้วยสายตาอย่างไรจากนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ต่างประเทศในช่วงนี้ แต่เขาก็ไม่วิตกกังวลสักเท่าไร เพราะเขากำลังมีแผนการที่จะให้นักลงทุนในต่างประเทศรู้จักมักคุ้นหุ้นชินวัตรให้มากขึ้น

ชินวัตรออกใบแทนใบหุ้นหรือ AMERICAN DEPOSITORY RECEIPT (ADR) ในตลาดนิวยอร์คเรียบร้อยตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว โดย BANK OF NEWYORK เป็นผู้ดำเนินการ

ดร. ทนงเปิดเผยว่า "ราคา ADR ตอนนี้ก็ขึ้นลงตามหุ้นชินวัตร ช่วงนี้กำหนดว่า 2ADR=1SHIN หรือ 1ADR มูลค่าประมาณ 5 เหรียญ มันไม่ได้เป็นการระดมทุนอะไร แต่เป็นการสร้างเครื่องมือเพื่อให้เกิดความคล่องตัวแก่นักลงทุนในจุดอื่น ๆ ของโลก ซึ่งมันต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก ผมทราบมาว่าคนที่ถือ ADR ของชินวัตรส่วนมากเป็นนักลงทุนรายย่อย"

นี่คือหัวใจที่ชินวัตรต้องการ ดร. ทนงเคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า "อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เงินทุนเยอะ วิธีการที่ดีที่สุดคือพยายามหาตลาดที่จะขยายทุนให้ได้ ผมเห็นว่า ADR จะเปิดตลาดของเราไปสู่ตลาดของนักลงทุนรายย่อยในอเมริกาได้ ผมถือว่า ADR เป็นแนวทางในการขยับขยายทุนอย่างหนึ่ง"

ADR ทั้งหมดตอนนี้มีประมาณ 500,000 หุ้น ซึ่งเท่ากับหุ้นชินวัตร 250,000 หุ้นเท่านั้น หุ้นจำนวนนี้ยังอยู่ในสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศหรือ OFFSHORE LIMIT ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 40% ของหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

นอกจาก ADR แล้ว ดร. ทนงมีแผนที่จะออก GLOBAL DEPOSITORY RECEIPT หรือ GDR ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมในตลาดยุโรป ในจำนวนที่ใกล้เคียงกับ ADR แต่ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อขาย ผู้ที่จะเป็นสปอนเซอร์ให้คือเมอร์ริล ลินช์

ดร. ทนงเปิดเผยว่า "GDR เป็นเครื่องมือที่จดทะเบียนในตลาดยุโรป ที่ลักเซมเบิร์ก มันเป็นช่องทางที่ทำให้สถาบันการเงินในยุโรปสามารถซื้อหุ้นชินวัตรได้โดยตรงแทนที่จะซื้อผ่านตลาดทุน โดยเฉพาะพวกสถาบันการเงินในอังกฤษก็สามารถซื้อหุ้นนี้ได้แม้จะไม่ได้จดทะเบียนในตลาดลอนดอนก็ตาม"

ทั้งนี้ตลาด GDR ในยุโรปมีความคล่องตัวมากกว่า ADR ในวอลล์สตรีท เช่นราคา GDR ของชินวัตรสามารถปรากฏบนจอได้แทนที่จะอยู่ในกระดาษพิมพ์เหมือนที่วอลล์สตรีท กฎระเบียบในยุโรปไม่เข้มงวดมากเท่าในวอลล์สตรีทซึ่งต้องมีนักกฎหมายคอยส่งข้อมูลจากกรุงเทพฯไปให้ตลอดเวลา

โปรแกรมก่อนที่จะถึงการออก GDR คือการทำ GLOBAL ROAD SHOW ให้กับนักลงทุน นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทโบรกเกอร์ทั้งในและต่างประเทศ ในแถบเอเชียและตลาดสำคัญของโลกทุกแห่ง โดยเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป

ดร. ทนงเล่าว่า "นักลงทุนต่างประเทศที่ซื้อหุ้นชินวัตรคือนักลงทุนในฮ่องกง ส่วนที่โตเกียวนั้นผมถือว่าเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง แต่นักลงทุนที่นั่นยังไม่รู้จักบริษัทในประเทศไทยเท่าไหร่ เราจำเป็นต้องเดินทางไปโปรโมทตัวให้เขารู้จัก ที่วอลล์สตรีทนั้นแน่นอนว่าเราต้องเดินทางไปให้นักลงทุนรู้ว่าเราเป็นผู้ออก ADR ที่ลอนดอนก็มีกองทุนหลายแห่งที่มาซื้อหุ้นเราอยู่ เขาควรได้รู้ว่าเรากำลังทำอะไร"

ในข้อบังคับของชินวัตร สัดส่วนนักลงทุนจากต่างประเทศจะมีได้ไม่เกิน 40% แต่ปัจจุบันมีผู้ถือหุ้นต่างชาติอยู่ประมาณ 21-22% เท่านั้น ในจำนวนนี้รวมกลุ่มสิงคโปร์ เทเลคอมซึ่งถือหุ้นอยู่ 10% กลุ่มเมอริด้าและบรรดาสถาบันการเงินต่างประเทศที่ถืออยู่แค่ 50,000-100,000 หุ้นเท่านั้น

สัดส่วนการถือหุ้นของชาวต่างชาติในหุ้นชินวัตรจึงยังเหลืออยู่อีกเยอะมาก !

นี่คือเหตุผลส่วนหนึ่งที่ชินวัตรมีแผนการเรื่อง GLOBAL ROAD SHOW การออก ADR และ GDR รวมทั้งเครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ ที่จะตามมาในอนาคต

เป้าหมายคือต้องการให้นักลงทุนต่างชาติรู้จักหุ้นชินวัตร

เพื่อที่จะเป็นการเปิดประตูสู่ช่องทางระดมเงินจากนักลงทุนต่างประเทศ !!

ในการประมูลโครงการโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมาย กลุ่มชินวัตรจะลงทุนในวงเงิน 27,500 ล้านบาท มีสัดส่วนของหนี้ต่อทุนในโครงการนี้ 2:1

ผู้ที่จะเป็น OPERATOR ให้กลุ่มชินวัตรคือ AT&T และจะให้การสนับสนุนการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีแก่องค์การโทรศัพท์ฯ ด้วย

AT&T ยังเป็นผู้สนับสนุนด้านอุปกรณ์ร่วมกับโนเกียและอีริคสัน ส่วนผู้ให้การสนับสนุนในงานข่ายสายตอนนอกได้แก่ ฟูรูกาว่า, ไทย เทเลคอม, ไออีซี, เอ็นเคเอฟ เคเบิล บีวี, เฟลส์ ดอดจ์, กรุงเทพโทรคมนาคม, ฮิตาชิ กรุงเทพ, จรุงไทย ไวร์แอนด์ เคเบิล, สยาม แปซิฟิค, ซินซินเนติ เบลล์ และเซาท์ เวสเทิร์น เบลล์

คณะกรรมการพิจารณาข้อเสนอฯ เปิดเผยในรอบแรกว่าข้อเสนอของกลุ่มชินวัตรมีรายละเอียดเรื่องการบริหาร การจัดองค์กร แผนกำลังคน การฝึกอบรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างชัดเจน กลุ่มฯ นี้จะใช้เจ้าหน้าที่เต็มโครงการประมาณ 3,253 คน และมีการจัดสรรงานบางด้านให้บริษัท SUB CONTRACTED ที่มีชื่อเสียงรับช่วงไปดำเนินการ

นอกจากนี้กลุ่มชินวัตรได้เสนอรายละเอียดแผนการดำเนินการและการจัดสร้างเครือข่ายต่าง ๆ ที่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับระบบขององค์การโทรศัพท์ฯ ได้ รวมทั้งเสนอการให้บริการใหม่ ๆ เช่น เรื่อง ISDN ตามมาตรฐานอเมริกัน

อย่างไรก็ดี กลุ่มนี้มีจุดอ่อนด้านอุปกรณ์อยู่บางส่วน เช่น ระบบเครือข่ายของโนเกียระบบหนึ่งไม่ได้ตามมาตรฐานขององค์การโทรศัพท์ฯ ข้อเสนอที่จะใช้ไมโครเวฟของเอทีแอนด์ทีไม่สอดคล้องกับความต้องการขององค์การฯ เป็นต้น

จุดอื่นด้านอุปกรณ์นั้นเป็นเรื่องที่สามารถคุยกันได้ในภายหลัง เพราะไม่ใช่ปัญหาเรื่องการผิดสเปก ประเด็นที่สำคัญในการชี้ขาดคือเรื่องการให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่องค์การฯ

ดร. ทักษิณเปิดเผยว่า "กลุ่มชินวัตรสามารถให้ผลตอบแทนได้ดีกล่ากลุ่มซีพีที่เสนอผลตอบแทนในโครงการ 2 ล้านเลขหมาย 22% และผมสามารถหาแหล่งเงินทุนมาสนับสนุนได้เป็นจำนวนมาก ต่อไปคงมีผู้ร่วมทุนเพิ่มเข้ามาอีก"

เป็นที่คาดหมายกันว่าข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทนในโครงการ 1 ล้านเลขหมายควรจะอยู่ระหว่าง 22-28% ตัวเลขแรกเป็นของกลุ่มซีพีดังที่กล่าวมา ตัวเลขหลังเป็นของกลุ่มงานทวี ซึ่งซื้อซองการประมูลครั้งนี้ด้วยแต่ไม่ได้ยื่นข้อเสนอ

แหล่งข่าวในกลุ่มงานทวีเปิดเผย "ผู้จัดการ" ว่า "ผู้ที่จะเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้องค์การฯ ได้ในอัตราสูงนั้นต้องมีต้นทุนต่ำมาก ๆ ที่ผมเสนอ 28% เพราะทางกลุ่มมีโรงงานผลิตอุปกรณ์โดยเฉพาะเครื่องชุมสายอยู่แล้ว เราสามารถลดราคาอุปกรณ์ลงได้ 30% ต้นทุนตรงนี้จึงต่ำมาก ผมใช้เงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 34,000 ล้านบาท"

แต่ในบรรดา 4 กลุ่มที่ร่วมประมูลในครั้งนี้ต่างไม่มีข้อได้เปรียบในประเด็นนี้เลย เพราะต่างไม่มีใครมีโรงงานผลิตตู้ชุมสายกันสักราย

นอกจากนี้ซีเมนส์ในกลุ่ม บี. กริมฯที่เพิ่งได้โครงการเร่งด่วน 360,000 เลขหมายของเทเลคอมเอเซียฯ ที่มีแนวโน้มจะตั้งโรงงานเพื่อการ REPEAT ORDER

กลุ่มล็อกซเล่ย์นั้นแม้จะก่อตั้งมาเป็นเวลานานกว่า 60 ปี หากินกับหน่วยงานราชการและโครงการขนาดใหญ่มาเป็นเวลานาน แต่เพิ่มจะมีนโยบายอย่างชัดเจนที่จะหันมาหาธุรกิจจากโครงการสัมปทานเมื่อประมาณปีสองปีที่ผ่านมานี่เอง

มักจะมีการกล่าวกันอยู่เสมอว่ากลุ่มล็อกซเล่ย์นั้นมีธุรกิจตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ

ในประเด็นนี้สุจินต์ สุวรรณชีพ กรรมการรองกรรมการผู้จัดการบริษัท ล็อกซเล่ย์ (กรุงเทพฯ) จำกัดเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า "เรามีกลุ่มธุรกิจซึ่งจริง ๆ แล้วก็คือต่างฝ่ายต่าง ๆที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของล็อกซเล่ย์ (กรุงเทพฯ) รวม 9 ฝ่าย ในแต่ละฝ่ายหากมีงานจำเพราะเจาะจงเราก็จะแยกออกเป็นบริษัทในเครือที่เราถือหุ้น 100% หรือถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่หรือที่เป็นส่วนน้อยก็มีบ้าง"

ฝ่ายสำคัญที่ทำหน้าที่หาธุรกิจจากการสัมปทานคือฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ซึ่งสุจินต์เปรียบเทียบว่า "ฝ่ายนี้เป็นเสมือนคนเคาะประตูหรือเปิดประตูให้ เป็นฝ่ายที่ทำหน้าที่ทั้งด้านการมองหาลู่ทางการลงทุนและบริหารธุรกิจร่วมกันไปด้วย"

แนวคิดในการดำเนินงานของฝ่ายบริหารธุรกิจสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มธุรกิจแบบล็อกซเล่ย์เปลี่ยนแนวการดำเนินงานไปจากเดิมแล้ว

สุจินต์ให้ความกระจ่างว่า "แต่เดิมนั้นบริษัทค้าขายในเมืองไทยอย่างล็อกซเล่ย์ บี. กริมฯ วิทยาคม อีสต์เอเชียติ๊กฯ จะทำธุรกิจขายของอย่างเดียวและอาจจะให้บริการซ่อมบำรุงบ้าง แต่ในปัจจุบันและอนาคตธุรกิจแบบนี้ต้องเรียกว่าเป็นเต่าล้านปีไปแล้ว ปัจจุบันนอกจากขายแล้วยังต้องทำหน้าที่บริหารด้วย"

แนวคิดเช่นนี้ทำให้บริษัทล็อกซเล่ย์ฯ แตกหน่อธุรกิจไปมากในช่วงสองปีที่ผ่านมาด้วยการก่อตั้งบริษัทร่วมทุนเป็นจำนวนมากในสายธุรกิจต่าง ๆ (ตารางบริษัทในเครือและบริษัทร่วมทุนของล็อกซเล่ย์)

บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่เช่น อิตาเลี่ยน-ไทยฯ ก็มีธุรกิจโรงแรมในเครือที่สร้างเองและร่วมบริหาร ช. การช่างเป็นผู้สร้างโครงการทางด่วนขั้นที่สองช่วงหนึ่งโดยร่วมเป็นเจ้าของหรือผู้ลงทุนด้วย

ลู่ทางธุรกิจสัมปทานที่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจดำเนินการอยู่ในเวลานี้ได้แก่ โครงการสาธารณูปโภคทางด้านคมนาคม ระบบขนส่ง การบำบัดน้ำเสียและในอนาคตคาดว่าจะมีทางด้านโรงงานไฟฟ้าด้วย

ฝ่ายพัฒนาธุรกิจจะประสานงานกับฝ่ายอื่น ๆ ในการทำรายละเอียดโครงการเข้าประมูล โดยเฉพาะฝ่ายโครงการพิเศษซึ่งทำหน้าที่ในการขายหรือให้บริการที่เป็นระบบ เป็นโครงการเบ็ดเสร็จที่ไม่ยึดติดกับอุปกรณ์ชิ้นใดชิ้นหนึ่ง แต่จะดูตั้งแต่งานโยธางานไฟฟ้า งานเครื่องกล งานติดตั้งอุปกรณ์ ฝ่ายนี้จะมีบุคลากรด้านการเงิน การตลาดและเทคนิคอย่างครบครัน

โครงการเบ็ดเสร็จที่ฝ่ายโครงการพิเศษดูแลอยู่ในเวลานี้ได้แก่ ระบบถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมไปทั่วประเทศของช่อง 3, 9, 11 ระบบโทรคมนาคม และอาณัติสัญญาณของการรถไฟแห่งประเทศไทย ระบบเก็บเงินของทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 โครงการเก็บภาษีโดยระบบคอมพิวเตอร์ของกรมสรรพากร รวมทั้งการดำเนินการสร้างอาคารสถานีวิทยุและติดตั้งอุปกรณ์สถานีฯ และสถานีโทรทัศน์ของช่อง 5 ประมาณ 12 แห่งทั่วประเทศ

สุจินต์เล่าว่า "ล็อกซเล่ย์ซึ่งเป็นบริษัทแม่จะเป็นผู้ติดต่อธุรกิจเหล่านี้เข้ามา แต่ในการดำเนินธุรกิจนั้นจะมีการตั้งบริษัทใหม่เข้าไปดำเนินการ"

บ. ในกลุ่มธุรกิจคอมพิวเตอร์และธุรกิจสื่อสารเป็นตัวอย่างที่ดีของการประสานงานระหว่างฝ่ายพัฒนาธุรกิจและฝ่ายโครงการพิเศษ เช่น บ. ไทยแสท, บ. ไทย สกายคอม เป็นต้น

ในส่วนของโครงการโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมายก็อยู่ภายใต้การดำเนินการของล็อกซเล่ย์ (กรุงเทพฯ) โดยมี บ. จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นผู้ร่วมดำเนินโครงการแต่ต้น เป็นที่คาดหมายว่า 2 บริษัทนี้จะถือหุ้นฝ่ายละ 30% บงล. ภัทรธนกิจซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางการเงินถือ 10% และอิตาเลี่ยน-ไทยฯ รวมทั้งบริษัทซัพพลายเออร์อื่น ๆ ถือร่วมกัน 30%

การร่วมมือกันของ 4 ผู้ถือหุ้นดังกล่าวจะแบ่งแยกหน้าที่ไปตามประสบการณ์ความชำนาญของแต่ละบริษัท ล็อกซเล่ย์ดูแลเรื่องอุปกรณ์ระบบชุมสายซึ่งสุจินต์กล่าวว่าบริษัทมีประสบการณ์มานานกว่า 10 ปี ส่วนจัสมินฯ ดูแลด้านทรานมิชชั่น อิตาเลียนไทยฯ ทำงานข่ายสายตอนนอก และภัทรฯ ทำเรื่องการเงิน

สัดส่วนการถือหุ้นเช่นนี้ เป็นไปตามนโนบายของล็อกซเล่ย์ที่ว่าการถือหุ้นมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้ดำเนินงานมาแต่ต้นส่วนบริษัทอื่นที่เข้ามาร่วมในภายหลังนั้น "เขาจะมาร่วมโดยมีสิทธิมีเสียงเท่ากันตามสัดส่วนของการลงทุนเพียงแต่ว่าอาจต้องเข้ามาร่วมโดยซื้อหุ้นไม่ใช่ในราคาพาร์" สุจินต์เปิดเผย

ล็อกซเล่ย์และจัสมินฯ ต่างฝ่ายต่างให้ความสนใจเข้าประมูลโครงการนี้มาแต่ต้น โดยมี บงล. ภัทรฯ เป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษาในเรื่องการเงิน จึงถือได้ว่า 3 หน่วยงานนี้เป็น PRINCIPLE MEMBER สำหรับกลุ่มนี้ส่วนอิตาเลี่ยน-ไทยฯ เข้ามาภายหลังจากที่บริษัท B.P. ของปิยะ ภิรมย์ ภักดีและบริษัทธนายงของคีรี กาญจนพาสน์ถอนตัวออกไป

ในล็อกซเล่ย์นั้น นอกจากจะเป็นนโยบายที่จะเข้าประมูลโครงการสัมปทานแล้ว ธงชัย ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการล็อกซเล่ย์คือผู้ที่ผลักดันสำคัญของกลุ่มนี้

กลุ่มล็อกซเล่ย์เสนอให้นอร์ทเทิร์น เทเลคอมเป็น OPERATOR ใช้อุปกรณ์ของนอร์ทเทิร์น เทเลคอม อีริคสันและอัลคาเทล ส่วนผู้สนับสนุนการดำเนินการข่ายสายตอนนอกคือ อีบี เนรา, มาร์โคนี, จรุงไทยฯ, เฟลส์ดออจ์, กรุงเทพโทรคมนาคม, สยามแปซิฟิคและสุมิโตโม

มูลค่าการลงทุนในโครงการนี้ทั้งหมด กลุ่มล็อกซเล่ย์เป็นผู้เสนอสูงที่สุดในวงเงิน 39,000 ล้านบาท มีสัดส่วนหนี้ต่อทุนเท่ากับ 4:1 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ เช่นกัน

สุจินต์เปิดเผยว่า "โครงการอย่างนี้เราคำนึงเรื่อง BANKABILITY มากเหตุผลก็คือเราคิดว่าเครดิตของล็อกซเล่ย์ค่อนข้างดี แต่ข้อเสนอนี้ทางล็อกซเล่ย์ไม่ได้เป็นผู้ทำเอง มีธนาคารกสิกรไทยกรุงไทยและภัทรฯ เข้ามาร่วมวิเคราะห์ เขาเชื่อกันว่าชื่อเสียงพื้นฐานของกลุ่มล็อกซเล่ย์น่าจะบริหารงานได้ในสัดส่วนระดับนี้"

ปัจจัยสนับสนุนความมีเครดิตของล็อกซเล่ย์นอกจากความสัมพันธ์ในเครือข่ายธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะสถาบันการเงินหลายประเภทแล้ว สุจินต์เปิดเผยด้วยว่า "ผมคิดว่าคงเป็นเรื่องสินทรัพย์ ซึ่งมีอาคาร ที่ดินและหุ้นที่อยู่ในงบดุลซึ่งเป็นหุ้นราคาพาร์ทั้งสิ้น ได้แก่หุ้นของธนาคารกสิกรไทย บริษัทภัทรประกันภัย คือเป็นหุ้นที่ล็อกซเล่ย์ซื้อตั้งแต่เมื่อเริ่มตั้งบริษัท ส่วนที่ดินก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งที่ถนนเสือป่าและที่อื่น ๆ กล่าวได้ว่ามูลค่ารายการสินทรัพย์ที่ปรากฏในงบดุลเป็นมูลค่าที่ซื้อเมื่อหลายสิบปีก่อน ซึ่งหากจะประเมินในเวลานี้ ราคาคงแตกต่างไปไกลลิบ"

หากไม่ใช่กลุ่มล็อกซเล่ย์แล้ว ก็คงไม่มีกลุ่มใดในบรรดาผู้เสนอโครงการที่จะใช้สัดส่วน 4:1ได้เพราะธนาคารกสิกรไทยและกลุ่มล็อกซเล่ย์ต่างมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นคนในตระกูลล่ำซำเหมือนกัน (ดูตารางรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัทล็อกซเล่ย์ (กรุงเทพฯ )จำกัด

แหล่งข่าวในบริษัทการเงินที่ปรึกษาในโครงการนี้บอกว่ากลุ่มสมบัติล่ำซำทุ่มให้ล็อกซเล่ย์สุดตัวสำหรับโครงการนี้

และล็อกซเล่ย์ยังไม่มีช่องทางการหากเงินในแบบอื่นๆ ตลอดเวลา 60 ปีของการดำเนินธุรกิจ แม้จะเปลี่ยนแนวการทำธุรกิจไปแล้ว แต่วิธีการไฟแนนซ์โครงการ การบริหารเงินยังคงเป็นเช่นเดิม

ลักษณะการบริหารธุรกิจของล็อกซเล่ย์จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือการขาย การร่วมทุนและการบริหารสุจินต์เปิดเผยว่า "การลงทุนหรือการบริหารธุรกิจนั้นมียอดเงินไม่สูง แต่มีมูลค่าเพิ่มสูงมาก ส่วนการซื้อมาขายไปนั้นยอดเงินสูง แต่มูลค่าเพิ่มนิดเดียวหรือแทบจะไม่มีเลย ในธุรกิจ 9 ฝ่ายที่ล็อกซเล่ย์ดำเนินการอยู่นั้นมี 4 ฝ่ายที่เข้าลักษณะการซื้อมาขายไปซึ่งกลุ่มนี้ทำรายได้ประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมดของกลุ่มล็อกซเล่ย์"

ปี 2534 กลุ่มล็อกซเล่ย์มียอดขายรวมประมาณ 4,000 ล้านบาท คิดเป็นกำไรประมาณ 100 กว่าล้านบาทเท่านั้น โดยครึ่งหนึ่งของรายได้มาจากล็อกซเล่ย์ (กรุงเทพฯ) ที่เหลือมาจากการร่วมทุนและร่วมบริหารงาน

ในปี 2535 มีการคาดหมายว่าจะเพิ่มยอดขายของล็อกซเล่ย์ (กรุงเทพฯ) เป็น 3,000 ล้านบาทรวมกับกิจการร่วมทุนอีก ยอดขายของกลุ่มล็อกซเล่ย์ก็จะทะยานขึ้นเป็น 5,000 ล้านบาทได้

อย่างไรก็ดีในตัวเลขทางการเงินที่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการนั้น ล็อกซเล่ย์ (กรุงเทพฯ) มีรายได้อยู่ในระดับ 1,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น มีกำไรสุทธิ 30 และ 40 ล้านบาทในปี 2532 และ 2533 (ดูตารางตัวเลขสำคัญทางการเงินของบริษัทล็อกซเล่ย์ (กรุงเทพฯ)จำกัด)

ส่วนรายการที่ดินก็มี 20 กว่า ล้านบาทและเงินลงทุนในหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกันมี 193 ล้านบาทในปี 2533

หาก 2 รายการนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 20-30 ปีที่ผ่านมา ก็คงจะเป็นมูลค่ามหาศาลเมื่อมีการประเมินราคาใหม่ในปัจจุบัน แต่สุจินต์เปิดเผยว่ายังไม่เคยมีการว่าจ้างบริษัทมาประเมินราคาอย่างเป็นทางการ จึงไม่ทราบว่ามูลค่าตลาด ณ ตอนนี้เป็นเท่าไหร่แน่ !

สุจินต์เปิดเผยเรื่องการจัดการทางการเงินระหว่างบริษัทต่างๆ ในกลุ่มล็อกซเล่ย์ซึ่งสะท้อนให้เห็นลักษณะที่ต่างกันออกไปจากกลุ่มชินวัตรอยู่บ้าง

ล็อกซเล่ย์ (กรุงเทพฯ) จะไม่เข้าไปค้ำประกันเงินกู้ให้บริษัท แต่จะช่วยเจรจาให้บริษัทลูกได้เงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ดี ให้ได้เงื่อนไขที่ดี การทำในลักษณะ INTERLOAN คือ ล็อกซเล่ย์ (กรุงเทพฯ) กู้แล้วเอามาปล่อยให้บริษัทลูกในอัตราดอกเบี้ยต่ำนั้นก็มีบ้าง แต่เป็นส่วนน้อย

สุจินต์ย้ำว่า "เรามีวินัยอย่างเคร่งครัดมากในเรื่องนี้ หลังจากที่บริษัทแม่ลงทุนให้แตกตัวออกไปแล้ว บริษัทเหล่านั้นต้องยืนบนขาตัวเองให้ได้ ไม่ใช่ให้บริษัทแม่ไปเลี้ยง ในเมื่อกิจการเขาดีเขาก็ไปขอเครดิตจากธนาคารเพื่อมาดำเนินการหรือขยายงานต่อไป ล็อกซเล่ย์ (กรุงเทพฯ) จะไปช่วยเจรจาด้วยในฐานะที่เรามีหน้าตา"

นั่นหมายความว่าหากสถาบันการเงินไม่มั่นใจในตัวบริษัทลูกเพราะบริษัทแม่ก็ไม่ได้ค้ำประกันก็อาจจะไม่ยอมปล่อยเครดิตให้ ซึ่งสุจินต์ก็ยอมรับตรงนี้ "เราต้องมีวินัยที่เคร่งครัดในแง่นี้ ไม่งั้นบริษัทลูกก็โตไม่ได้"

กล่าวกันตรง ๆ ก็คือกิจการในกลุ่มล็อกซเล่ย์ แต่ละแห่งนั้น ต่างฝ่ายต่างแยกกันดำเนินงาน ยังไม่มีการจัดโครงสร้างกลุ่มล็อกซเล่ย์อย่างเป็นทางการ สุจินต์ยอมรับว่า "บริษัทล็อกซเล่ย์ (กรุงเทพฯ) ถือหุ้นใหญ่หรือถือหุ้นทั้งหมดจะรวมเข้าไปในกลุ่มล็อกซเล่ย์ด้วย แต่นิยามพวกนี้ก็ยังไม่ค่อยชัดนัก"

กลุ่มล็อกซเล่ย์ได้มอบให้ บงล. ภัทรธนกิจเป็นผู้ศึกษาโครงสร้างเหล่านี้รวมทั้งเรื่องการจัดการทางการเงินมาเป็นเวลานานเพราะมีเป้าหมายที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ การศึกษานี้ทำมาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่ได้จังหวะที่จะเข้าตลาดอย่างแน่นอนสักที

สุจินต์กล่าวว่า "การเข้าตลาดหุ้นนี่คงจะเข้าความพร้อมเรามีสูง แต่ต้องดูภาวะตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างตอนนี้ต้องดูว่าใครจะเป็นรัฐบาลแปรผันหรือเปล่า กฎหมายใหม่ที่ออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร ศึกษาเสร็จไปหลายครั้งแล้ว แต่เมื่อจะเข้าจริง ๆ ก็ต้องเอามาดูใหม่"

ประเด็นการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีนัยสำคัญ อีกอย่างหนึ่งของกลุ่มล็อกซเล่ย์ก็ไม่ต่างไปจากหลายบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปแล้ว คือเรื่องการหาแหล่งเงินต้นทุนต่ำ สุจินต์ยอมรับว่า "เนื่องจากเราเป็นเอกชน การบริหารของเราจะมีความเสียเปรียบชัดเจนอย่างหนึ่งคือต้องมีการกู้เงินบางส่วนมาบริหารงาน ทำให้ต้องเสียดอกเบี้ย การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยลดภาระตัวนี้ในส่วนที่เป็นเงินทุนหมุนเวียนไปได้มาก"

สุจินต์ยอมเปิดเผยว่า "สัดส่วนหนี้ต่อทุนหรือ DEBT/EQUITY RATIO ของล็อกซเล่ย์อยู่ที่ 4:1 หรือ 5:1 มันขึ้น ๆ ลง ๆ แต่ว่าในแง่บริษัทเอกชนก็อยู่ในราว ๆ นี้ บางรายอาจจะขึ้นไปถึง 8:1 เมืองไทยไม่ค่อยมีมาตรฐานในเรื่องนี้ ของเราเองก็สูง ทำให้ภาระเรื่องดอกเบี้ยสูง"

ขณะที่ล็อกซเล่ย์มีกำไรก่อนหักภาษีประมาณ 100 กว่าล้านบาทในปี 2534 สุจินต์เปิดเผยว่า "ภาระส่วนของดอกเบี้ยจากการกู้ยืมก็อยู่ในราวนี้"

นั่นหมายความว่าหากส่วนของดอกเบี้ยหายไปหรือลดลงไป ก็จะช่วยเพิ่มกำไรขึ้นมาอีกเท่าตัว !!

ดูเหมือนว่ากลุ่มล็อกซเล่ย์ยังไม่เคยใช้วิธีไฟแนนซ์โครงการแบบใหม่ ๆ หรือช่องทางการระดมทุนอื่น ๆ แม้แต่โครงการโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมายที่กลุ่มฯ กำหนดสัดส่วนหนี้ต่อทุน 4:1 นั้น สุจินต์เปิดเผยว่า "ทุนที่จะลงนั้นคาดว่าประมาณ 5,000-7,000 ล้านบาท" ส่วนที่เหลือเป็นหนี้ที่จะต้องกู้ยืม และสุจินต์ไม่เปิดเผยด้วยว่าข้อเสนอผลตอบแทนที่ให้แก่องค์การโทรศัพท์ฯ นั้นเป็นเท่าไหร่

เขาเพียงแต่บอกว่า "มันเป็นตัวเลขที่ะนาคารยอมรับได้ว่าสามารถให้เรากู้เงินได้"

สำหรับโครงการโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมายสุจินต์ มองเห็นจุดแข็งอย่างหนึ่งในประเด็นที่เกี่ยวกับการจัดการด้านการเงิน เขากล่าวว่า "ผมเชื่อว่าปัจจัยที่ทำให้ทางด้านการเงินไม่ค่อยมีปัญหาคือเวลานี้โลกอยู่ในยุคถดถอย ผู้ผลิตอุปกรณ์ทางด้านโทรคมนาคมไม่มีงานทำ มันเป็นตลาดของผู้ซื้อ คุณจะเห็นว่าซีพีเจรจาได้ในเงื่อนไขที่เหลือเชื่อ และยุคของการถดถอยก็จะมีอยู่อีก 2-3 ปี นี่จึงเป็นยุคทองของเมืองไทยที่ว่าควรจะมีการขยายงานด้านโทรคมนาคมมาก ๆ เพราะการลงทุนจะต่ำและได้เงื่อนไขด้านการชำระเงินที่ดี"

ในโครงการ 2 ล้านเลขหมายของซีพีนั้น ดร. วีรวัฒน์ กาญจนดุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร-ด้านการเงินและบริหารเปิดเผยว่า "ซีเมนส์เอจีซึ่งเป็นซัพพลายเออร์รายแรก 360,000 เลขหมายในโครงการเร่งด่วนฯ จะจัดการเรื่องไฟแนนซ์มาพร้อมกับอุปกรณ์ 100% โดยซีเมนส์ได้รับการสนับสนุนจากเอ็กซิมแบงก์ของเยอรมนีคือ KfW"

ในวงเงินลงทุน 80,000 ล้านบาทสำหรับโครงการโทรศัพท์ฯ ซีพีได้เงินกู้ประเภท OFF SHORE ที่ดีมาก ๆ คือได้เครดิตนานถึง 15 ปีในอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุเครดิตแค่ 5% เท่านั้น โดยช่วง 5 ปีแรกไม่ต้องจ่ายคืนเงินต้น เริ่มจ่ายในปีที่ 6

ส่วนเงินกู้ประเภท ON SHORE ซึ่งคาดว่าจะมีวงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาทนั้น ได้อัตราดอกเบี้ยปกติ แต่มีเครดิตยาวนานถึง 30 เดือน

เป็นเงื่อนไขที่ดีอย่างมากๆ ซึ่งสุจินต์เข้าใจว่ากลุ่มอื่น ๆ ก็น่าจะเจรจาได้ในเงื่อนไขเช่นนี้ "ยกเว้นว่าบางรายจะไปผูกมัดตัวเองกับผู้ผลิตอุปกรณ์รายใดรายหนึ่ง ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นเขาก็จะสูญเสียโอกาสนี้ไป ในกลุ่มล็อกซเล่ย์นั้นไม่ได้มีการผูกมัดกับใคร"

สุจินต์อธิบายด้วยว่า "ที่ปรึกษาทางด้านการเงินต่างประเทศของเราคือโกลด์แมนซาคเป็นผู้ให้ข้อมูลนี้ ผมขอยกตัวอย่างว่าเงื่อนไขดี ๆ ที่เราจะได้ในเวลานี้ได้แก่เรื่องการซื้ออุปกรณ์ เราไม่ต้องมีแบงก์การันตี ไม่ต้องเปิดแอลซี เท่ากับไม่ต้องมีภาระค่าธรรมเนียม (.125%ของมูลค่า) และภาระดอกเบี้ยและไม่ต้องเอาทรัพย์สินหรือที่ดินไปค้ำประกันด้วย มันเหมือนกับการซื้อของในประเทศซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายลงไปมาก"

ในเรื่องการซื้ออุปกรณ์นี้ สุจินต์มองด้วยว่าธนาคารเพื่อการส่งออก-นำเข้า หรือเอ็กซิมแบงก์ต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวอยู่แล้ว โดยผู้ขายอุปกรณ์/ซัพพลายเออร์จะเป็นผู้ไปขอความสนับสนุนมา "ผมทราบว่ารัฐบาลญี่ปุ่นกับเยอรมันค่อนข้างเก่งในการสนับสนุนผู้ขายอุปกรณ์ของเขา แต่รัฐบาลอเมริกันไม่ค่อยชำนาญทางด้านนี้นัก"

การที่ซีพีได้เป็นผู้บุกเบิกการเจรจาแทรกเข้าไปในผู้ผลิตและผู้บริหารเครือข่ายโทรศัพท์ขนาดใหญ่ของโลกแล้วในโครงการ 2 ล้านเลขหมาย ก็เชื่อได้ว่าการเจรจาของกลุ่มที่จะได้รับสัมปทาน 1 ล้านเลขหมายย่อมจะมีลู่ทางข้อตกลงที่ดีกว่า

แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับฝีมือการเจรจาและเครดิตชื่อเสียงของแต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ

หากจะมีการเปรียบเทียบสถานะทางการเงินของกลุ่มชินวัตรและล็อกซเล่ย์แล้ว คงจะเป็นการลำบากใจอยู่ไม่น้อย แม้ว่าชินวัตรจะเป็นผู้เข้ามาดำเนินธุรกิจในภายหลัง ไม่มีบริษัทในเครือที่เป็นสถาบันการเงินที่มั่นคง ยกเว้นมีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับธนาคารทหารไทยที่เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินให้กลุ่มนี้มาแต่ต้น แต่ชินวัตรก็มีความสามารถในการหาธุรกิจและหาเงินทุนมาสนับสนุนโครงการสัมปทานต่าง ๆ ที่ชนะการประมูลอย่างน่าทึ่ง

ชินวัตรมีข้อได้เปรียบทุกกลุ่มที่เข้าชิงสัมปทานโครงการโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมายด้วยการมีแหล่งระดมเงินต้นทุนต่ำในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ปัญหาผลกระทบต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นและการจ่ายเงินปันผลน้อยลงกำลังเป็นที่จับตามอง โดยเฉพาะในหมู่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ต่างประเทศ

ชินวัตรกำลังหาทางออกให้ตัวเองด้วยการโปรโมทกิจการอย่างเต็มกำลังโดยการจัด GLOBAL ROAD SHOW เพื่อทำให้ช่องว่างอัตราการลงทุนของต่างชาติเต็มและปูทางเพื่อออกตราสารทางการเงินใหม่ ๆ จะได้ผลเพียงใดเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูกันต่อไป

ส่วนกลุ่มล็อกซเล่ย์นั้นอยู่ในธุรกิจโทรคมนาคมมานาน แต่ก็มีรากฐานในธุรกิจขนาดใหญ่อื่น ๆ ด้วยบริษัทในกลุ่มนี้ยังไม่มีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยกเว้นบริษัทที่เกี่ยวข้อง แต่มีฐานการเงินสนับสนุนอย่างแข็งขันจากความมีเครดิตของตระกูลล่ำซำที่เป็นเจ้าของกิจการ บวกกับธนาคารพาณิชย์บริษัทประกันภัยและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ตระกูลนี้บริหารและมีส่วนเป็นเจ้าของ

กลุ่มล็อกซเล่ย์เดินมาถึงจุดอิ่มตัวในการจัดการทางการเงินโดยเฉพาะการแบกรับภาระดอกเบี้ยเป็นจำนวนมาก ทั้งที่สามารถลดภาระด้านนี้ได้ด้วยวิธีบริหารการเงินสมัยใหม่

แต่หากจะยังคงการจัดการด้านการเงินด้วยวิธีการเดิม ๆ ก็ยังสามารถทำต่อไปได้เพราะมีสถาบันหนุนหลังดังกล่าว

การชิงชัยในโครงการโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมายครั้งนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้แต่ละกลุ่มต้องคำนึงเรื่องการหาเงินทุนมาไฟแนนซ์โครงการ

ชินวัตรอาจจะเพิ่มทุนหากชนะสัมปทาน หรือมีผู้ร่วมทุนต่างชาติเข้ามาด้วย หรือจัดการออกตราสารการเงินใหม่ ๆ ส่วนล็อกซเล่ย์นั้นไม่มีปัญหาเรื่องการกู้เงิน แต่ภาระดอกเบี้ยจากโครงการอาจทำให้ผู้บริหารคิดผลักดันบริษัทใหม่ที่จะตั้งเพื่อดำเนินงานโครงการนี้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือหาวิธีการที่จะทำให้ภาระตัวนี้ลดลง

มองในแง่นี้แล้วอาจพูดได้ว่ากลุ่มล็อกซเล่ย์มีความแข็งแกร่งทางการเงินมากกว่ากลุ่มชินวัตร แต่ความสามารถในการบริหารการจัดการทางการเงินสมัยใหม่เทียบไม่ได้กับทางชินวัตร และที่ผ่านมาชินวัตรก็เคยเอาชนะล็อกซเล่ย์ในการประมูลโครงการดาวเทียมมาแล้ว

คู่แข่งทั้งสองเหมาะที่จะท้าชิงกันมาก แต่ระวังม้ามืดอย่าง บี. กริมฯ ก็แล้วกัน !!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.