|
ดัชนีเชื่อมั่นดิ่งต่อเนื่อง10 ด.หวั่นศก.ซึม
ผู้จัดการรายวัน(14 กันยายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนส.ค. ยังดิ่งต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 หลังคนยังกังวลสถานการณ์ต่างๆ ทั้งบาทแข็ง การว่างงาน ค่าครองชีพพุ่ง แต่มองอนาคตดีขึ้น เหตุจะมีการเลือกตั้งปลายปี แนะรัฐบาลใช้จังหวะนี้กระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อนส่งไม้ต่อให้รัฐบาลใหม่ ไม่เช่นนั้น เศรษฐกิจไทยซึมยาวแน่
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจไทยประจำเดือนส.ค.2550 จากประชาชนทั่วประเทศ 2,256 ตัวอย่าง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเดือนที่ 10 โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเดือนส.ค. อยู่ระดับ 69.5 ลดจากเดือนก.ค. อยู่ระดับ 70.0 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ 70.5 ลดจาก 70.8 แต่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเดือนส.ค. เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 87.1 จากเดือนก.ค. ระดับ 86.6
จากค่าดัชนีความเชื่อมั่นข้างต้น ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนส.ค. เท่ากับ 75.7 ลดจากเดือนก.ค.ที่ระดับ 75.8 มีค่าต่ำสุดรอบ 67 เดือน และเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 100 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 38 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงไม่มั่นใจสถานการณ์ต่างๆ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ระดับ 71.9 ลดจาก 73.1 แต่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตเพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับ 74.4 จาก 74.0
ทั้งนี้ ปัจจัยลบที่ทำให้ผู้บริโภคกังวลต่อสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นผลจากการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ส่งผลต่อการส่งออกและการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในอนาคต ความกังวลเกี่ยวกับการว่างงาน ภาระค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงจากราคาขายปลีกของน้ำมันภายในประเทศยังทรงตัวสูง และความกังวลเกี่ยวกับปัญหาซับไพร์มของสหรัฐฯ
“ค่าดัชนีชี้ให้เห็นว่า การปรับลดลงของดัชนีที่เกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันยังคงมีอยู่ แสดงว่าคนยังรับรู้ว่าเศรษฐกิจไทยไม่ดีขึ้น และก็ต่อเนื่องมาจากช่วงครึ่งปีแรกจนมาถึงไตรมาส 3 แต่มีสิ่งที่เป็นความหวัง คือ ค่าดัชนีในอนาคตที่คนคาดหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในไตรมาส 4 เห็นได้จากความเชื่อมั่นเกี่ยวกับอนาคตเพิ่มขึ้นทุกรายการ เพราะคนคาดหวังว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในปลายปี ซึ่งจะมีเงินสะพัด 3-4 หมื่นล้านบาท เป็นตัวกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยฟื้นขึ้น”นายธนวรรธน์กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นให้ทันภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ โดยเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าที่จะต้องเร่งดำเนินการ และการรักษาระดับค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเกิน 34 บาท/เหรียญสหรัฐ ในระยะ 3-4 เดือน ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นการพยุงเศรษฐกิจเพื่อส่งงานต่อให้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งทำงาน หากไม่ทำ และรอให้รัฐบาลใหม่ ซึ่งกว่าจะเห็นหน้าตาของคณะรัฐบาลและสภาใหม่ ต้องใช้เวลาถึงเดือนปลายไตรมาส 1 จะทำให้เศรษฐกิจต้องเลื่อนการฟื้นตัวออกไปอีก
“จำเป็นต้องผลักดันให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในไตรมาส 4 เป็นต้นไป ถ้าทำไม่ได้ ปีหน้าลำบากแน่ เพราะไทยคงไม่โชคดีที่ได้การส่งออกมากระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนในครึ่งแรกของปีนี้ เนื่องจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทั้งสหรัฐฯ และจีน ที่คาดว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ย ทำให้หลายประเทศอาจะต้องชะลอการใช้จ่าย”นายธนวรรธน์กล่าว
นายดุสิต นนทะนาคร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ไตรมาส 3 ที่ผ่านมา มองว่าทุกอย่างถึงจุดต่ำสุดแล้ว ดังนั้นไตรมาส 4 รัฐบาลต้องเร่งฟื้นความเชื่อมั่นกลับมา เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ แต่หากเศรษฐกิจไม่ฟื้น ปีหน้าแย่แน่ เพราะการส่งออกจะไม่เป็นอย่างที่คิด เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในต่างประเทศชะลอตัว อีกทั้งผู้ประกอบการภายในยังอาจะได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนที่จะทะลักเข้ามา เพราะถูกมาตรการห้ามนำเข้าจากทั่วโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องรับมือ
นายประสงค์ เอาฬาร ประธานคณะกรรมการธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคอสังหาฯ ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวตั้งแต่ครึ่งปีแรก มีการชะลอตัวลง 10% ทำให้ผู้ประกอบการขายบ้านได้ยากขึ้น และแนวโน้มราคาบ้านลดลงมากขึ้น จากปีที่แล้ว ราคาบ้านที่เป็นกลุ่มตลาดคนชั้นกลาง 70% ราคาอยู่ที่ 3 ล้านบาทเศษ มาต้นปีเหลือ 2.8 ล้านบาท และขณะนี้เหลือแค่ 2.2 ล้านบาท เพราะคนซื้อชะลอการซื้อ ทำให้บ้านขายไม่ออกต้องลดราคาลงมา ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องทำ คือ ผลักดันความเชื่อมั่นผู้บริโภคให้ฟื้นตัว เพื่อให้กำลังซื้อกลับมา ซึ่งจะทำให้ภาคอสังหาฯ ได้รับผลดีตามไปด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|