ยอดใช้ปูนต่ำสุดรอบ10ปี


ผู้จัดการรายวัน(14 กันยายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างฯ ระบุ 1 ปี รัฐบาลทำเศรษฐกิจทรุดเกิดหลุมดำในธุรกิจก่อสร้าง “บิ๊กปูนใหญ่”ชี้ความต้องการใช้ปูนในประเทศไตรมาส 2/2549 ลดฮวบ 8% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี วอนรัฐบาลคำนึกถึงประโยชน์ของประเทศ การลงทุนในระบบสาธารณูปโภคไม่ใช่เป็นของพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง พรรคใดมาควรสานต่อ ด้าน”อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ขายฝันสานต่อโครงข่ายคมนาคมทุกเส้นทาง

นายพลพัฒ กรรณสูต นายกสมาคมอุสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยในงาน เสวนาเรื่อง “ทิศทางและอนาคตอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย” ว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปีนับจากมีการปฎิรูปการปกครอง และมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ถือว่าเป็นหลุมดำของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยเลยก็ว่าได้ เนื่องจากงานก่อสร้างในส่วนของภาครัฐลดลงถึง 50% ทำให้ผู้รับเหมาขาดงานต้องแข่งขันเพื่อประมูลงานกัน โดยเฉพาะผู้รับเหมารายกลาง-รายเล็ก ส่วนผู้รับเหมารายใหญ่ประสบปัญหาน้อย เพราะสามารถออกไปรับงานในต่างประเทศได้

ด้านนายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า รัฐบาลควรมีการลงทุนในเรื่องของระบบโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพราะในปัจจุบันภาคการก่อสร้างมีสัดส่วนเพียง 9% ของจีดีพี จากที่ในปี 2532 ภาคการก่อสร้างมีสัดส่วนเป็น 20% ของจีดีพี ซึ่งที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า ไทยมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่น้อยมาก การก่อสร้างขนาดใหญ่มีเพียงสนามบินสุวรรณภูมิ ส่วนโครงการถไฟมักกะสัน-สุวรรณภูมิ (แอร์พอร์ตลิ้ง) ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร

“การลงทุนในระบบอินฟาสตัคเจอร์ไม่ควรเป็นของพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่ง ใครเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ต้องทำสานต่อหากโครงการนั้นดี ประเทศไทยต้องมีการลงทุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง ให้รัฐกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ” นายกานต์ กล่าว

สำหรับตัวเลขการลงทุนก่อสร้างทั่วประเทศของสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2548 มีการลงทุนก่อสร้าง 717,700 ล้านบาท ปี 2549 ประมาณการว่าการลงทุนจะลดลงเหลือ 710,400 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2550 คาดว่าจะมีการลงทุน 740,800 ล้านบาท โดยในปีนี้ มีการลงทุนก่อสร้างคอนโดมิเนียมและอพาร์ตเมนต์มากที่สุดถึง 139 โครงการ มูลค่า 87,500 ล้านบาท

เมื่อปริมาณการก่อสร้างลดลง ส่งผลให้ปริมาณการใช้ปูนในประเทศลงลด โดยในปี 2549 มีปริมาณการใช้ปูนลดลง 2% หรือประมาณ 28-29 ล้านตัน จากที่ในช่วงการใช้สูงสุดก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 มีปริมาณการใช้ปูนสูงถึง 36 ล้านตันต่อปี ส่วนในปี 2550 เฉพาะไตรมาส 1 มีปริมาณการใช้ปูนติดลบ 6.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่แล้ว และลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 2 มีปริมาณการใช้ปูนติดลบ 8% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยถือเป็นประเทศเดียวที่มีปริมาณการใช้ปูนติดลบ เมื่อเทียบกับประเทศเวียดนามแล้ว ที่มีการใช้ปูนแซงหน้าไทยไปแล้วคือ 36 ล้านตันต่อปี และคาดว่าในปี 2553 จะเพิ่มขึ้นถึง 49 ล้านตัน ในจำนวนดังกล่าวเป็นการใช้ปูนในงานอินฟาสตัคเจอร์ถึง 70-80% ในขณะที่อินฟาสตัคเจอร์ของไทยใช้ปูนเพียง 31% เท่านั้น

“ สถานการณ์ในปี 2551 อย่างเลวร้ายที่สุด คงจะไม่แย่ไปกว่านี้อีกแล้ว และที่จะหวังว่ามีรัฐบาลใหม่แล้วจะดีขึ้นเลยคงไม่ใช่ เพราะกว่าจะมีการเปิดประมูลก่อสร้าง กว่าจะมีการสั่งซื้อสินค้าและใช้จริงก็ประมาณปลายปี 2551 หรือต้นปี 2552 ส่วนวัสดุก่อสร้างอื่นพบว่า การใช้เหล็กลดลง 4% ไฟเบอร์ซีเมนต์ลดลง 15% กระเบื้องหลังคาคอนกรีตลดลง 10% กระเบื้องเซรามิคลดลง 7% คาดว่าในปีหน้าการใช้เหล็กน่าจะโตขึ้น 4% และปูนจะโตประมาณ 6% ทั้งนี้ ในปีนี้พบว่า ในกทม.มีโครงการคอนโดมิเนียมเกิดขึ้น 639 โครงการ มูลค่าประมาณ 87,500 ล้านบาท”

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า หากพรคคเข้าไปเป็นรัฐบาล จะต้องเร่งดำเนินการเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ จะมีการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% รวมไปถึงจะยุติเรื่องพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าวและกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และจะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 4 เรื่องคือ 1.ด้านการศึกษา 2.พัฒนาแหล่งน้ำโดยจะใช้งบส่วนนี้ประมาณ 1 แสนล้านบาท 3.พัฒนาระบบโลจิสติกส์ โดยจะต้องลดต้นทุนในด้านนี้จาก 20% ให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 15% ด้วยการพัฒนาระบบรางคู่ ถนนและทางน้ำ ซึ่งจะใช้งบประมาณ 2 แสนล้านบาท และ 4.พัฒนาระบบขนส่งมวลชนทุกเส้นทางที่มีอยู่ในแผนใช้งบ 2.5 แสนล้านบาท

“โดยรวมทั้ง 4 ประเด็น รวมทั้งเรื่องการศึกษาและคนชรานั้นจะต้องใช้งบดำเนินการประมาณ 7 แสนล้านบาท” นายอภิสิทธิ์กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.