"เทค ไฮเออร์แมนใน MCC ผลงานพิสูจน์ฝีมือ!!"


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

ฝรั่งวัยกลางคนร่างสูงโปร่งผู้นี้เป็นชาวเยอรมันสัญชาติอเมริกัน มีดีกรีและประสบการณ์จากสถาบันการเงินใหญ่ของโลกเป็นเครื่องรับประกันคุณภาพ

เขาเข้ามาร่วมงานกับ บงล. เอ็มซีซีตั้งแต่พฤษภาคม 2534 ซึ่งเป็นจุดเริ่มในการลาออกของผู้บริหารระดับสูง-กลางของเอ็มซีซีเป็นระยะ ๆ พร้อมกับกระแสข่าวที่กล่าวว่าเขาเป็นผู้บริหารที่มีสไตล์การทำงานแบบวันแมนโชว์ มุ่งทำผลกำไรเพื่อเอาใจผู้ถือหุ้นและการต่ออายุสัญญา

เท็ด ไฮเออร์แมนประธานบริหาร บงล. เอ็มซีซีเปิดใจกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ผมไม่มีเทอมในการทำงาน ไม่มีสัญญาแบบนั้น มีแต่คำสั่งลงมาว่าผมจะต้องทำให้เอ็มซีซีเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ดีที่สุด เป็นองค์กรที่ปรับตัวง่ายและเคลื่อนไหวทันต่อสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา"

เขากล่าวทีเล่นทีจริงว่า "หรือหากจะมีสัญญา ทำไมผู้คนต้องให้ความสนใจมากมายขนาดนั้น"

เท็ดมีเป้าหมายในการทำงานว่าอะไรก็ตามที่เขาได้ลงไปสร้างทำขึ้นมา ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเขาต้องทำธุรกิจทุกด้านทุกแขนงของเงินทุนหลักทรัพย์แต่สิ่งที่เขามุ่งมั่นนั้นจะต้องทำให้เป็นที่หนึ่งให้ได้

อย่างเรื่องของกิจการซื้อขายหลักทรัพย์นั้น ในช่วงเวลาเพียงครึ่งปีเขาสามารถทำรายได้จากค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากรายได้เมื่อสิ้นเดือนมิถุนายน 2534 ที่มีอยู่ 136.70 ล้านบาทเพิ่มมาเป็น 283.49 ล้านบาท !!

และไต่ระดับโบรกเกอร์ที่มีปริมาณการซื้อขายจากอันดับ 12-14 มาเป็นอันดับ 4 ในช่วงเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา !!

ธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์เป็นประเด็นหลักที่เขาให้ความสำคัญ รองลงมาเป็นเรื่องการให้สินเชื่อ การเช่าซื้อและวาณิชธนกิจ

นี่เป็นธุรกิจ 4 ด้านที่เขาจะทุ่มเทเพื่อสร้างชื่อเอ็มซีซีให้ขึ้นมาอยู่ในระดับท้อปไฟว์ให้ได้ !!!

เท็ดอ้างว่ากิจการเช่าซื้อของเอ็มซีซีแม้จะมีพอร์ทโฟลิโอไม่ใหญ่ที่สุดแต่รับรองได้ว่าเป็นพอร์ทฯ ที่ขาวสะอาดไม่มีปัญหามูลค่าพอร์ทฯ รถยนต์ประมาณ 820 ล้านบาทมีรถทุกชนิดรวมประมาณ 4,300 คัน

ในส่วนของธุรกิจอันเดอไรต์นั้นเท็ดยอมรับว่าเอ็มซีซีเพิ่งจะเริ่มลงมือบุกเบิกทำเมื่อประมาณปีกว่าที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงก่อนหน้าที่เขาจะเข้ามาร่วมงานที่นี่ไม่นานนักและนับจนถึงปัจจุบันมีดีลอยู่ 7 รายที่เท็ดเชื่อว่าเอ็มซีซีจะได้เป็น LEAD UNDERWRITER

สำหรับงานวาณิชธนกิจโดยเฉพาะส่วนที่เป็นการให้คำปรึกษาแนะนำทางการเงินการจัดโครงสร้างทางการเงินการบริหารพอร์ทฯ เงินตราต่างประเทศ เท็ดเชื่อว่าเอ็มซีซีได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดี

ธุรกิจล่าสุดที่เอ็มซีซีพยายามเข้าไปแย่งชิงตลาดมาด้วยคือการจัดการกองทุนซึ่งเอ็มซีซีร่วมมือกับธนาคารไทยทนุ ธนาคารเอเซีย บล. พัฒนสิน บงล. เกียรตินาคิน บ. ไทยประกันชีวิตและบาร์เคลย์ เดอ โซด เว็ดจ์ (เอเชีย) BZW (ASIA) จัดตั้งบริษัทไทยเอเซียมิวชวล ฟันด์ จก. ขอบริหารกองทุน และก็ได้เป็น 1 ในจำนวน 9 รายที่ได้ใบอนุญาตมาในครั้งนี้

ช่วงเวลาในการทำงานที่เอ็มซีซี เท็ดเปิดใจว่าไม่มีสิ่งใดรบกวนหรือเป็นอุปสรรคขัดขวางการทำงานของเขาเลย จะมีอยู่สิ่งหนึ่งคือเรื่องกวนใจที่มีคนเรียกบุคลิกการบริหารของเขาว่า "วันแมนโชว์"

เขาอธิบายว่าทีมบริหารของเอ็มซีซีซึ่งมีผู้บริหารอาวุโสทั้งสิ้น 11 คนรวมตัวเขาด้วยนั้น ทำหน้าที่ดูแลสายงานแต่ละฝ่ายที่ต่างคนต่างได้รับมอบหมาย มีการพูดคุยปรึกษากันทุกวันเป็นลักษณะของทีมเวิร์ค แต่ไม่ใช่ว่าเท็ดเป็นผู้สั่งการให้คนนั้นคนนี้ทำงานอะไร เขายืนยันว่าคนเหล่านี้ล้วนเป็นมืออาชีพทั้งสิ้น

ผู้บริหารเหล่านี้จะมีการพูดคุยกับพนักงานทุกระดับ 2 สัปดาห์/ครั้ง แม้เท็ดจะไม่ถนัดภาษาไทย เขาก็ให้เพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ช่วยแปลให้ฟัง เขาจะบอกผู้ร่วมงานถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ทำลงไป และเปิดโอกาสให้มีการซักถามหรือแสดงความเห็นโดยไม่ต้องเปิดเผยชื่อ

เขามีความเห็นว่า "ในท่ามกลางกระแสข่าวลือทั้งหลายเกี่ยวกับการบริหารงานภายในบริษัทฯ นั้น ผมคิดว่าคนที่นี่ควรจะได้โอกาสรู้เรื่องภายในอย่างดีที่สุด พวกเขาน่าจะได้รู้ว่าบริษัทฯ กำลังทำอะไร มีทิศทางการดำเนินการอย่างไรและในทางกลับกันก็ควรรู้ด้วยว่าบริษัทฯ คาดหวังอะไรจากพวกเขาบ้าง"

"ผมไม่คิดว่าที่เอ็มซีซีมีปัญหา เรามีแต่โอกาสดี ๆ ด้วยซ้ำไป เท่าที่ผมมองคือธุรกิจในเมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หากเราไม่มีการเปลี่ยนแปลงปรับตัวตาม เราก็จะล้าหลังและไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ เราจึงต้องเปลี่ยนแปลงซึ่งในการเปลี่ยนอันนี้บางคนก็พอใจบางคนก็ไม่พอใจแต่มันเป็นความจำเป็น" เท็ดเปิดเผย

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่ว่าคนทุกคนจะยอมรับมันได้ ..!!

เท็ดยอมรับว่ามีคนเก่าแก่ที่ร่วมงานกับเอ็มซีซีมาเป็นเวลานานประมาณ 10-20 ปีและอยู่ในระดับผู้บริหารอาวุโสลาออกไปเพียง 3 คนเท่านั้น คนทั้งสามเดิมอยู่ในฝ่ายค้าหลักทรัพย์ ฝ่ายการเงินและฝ่ายเช่าซื้อ ซึ่งต่างเป็นฝ่ายที่ทำรายได้หลักให้แก่บริษัทฯ

คนที่เพิ่งลาออกไปสด ๆ ร้อน ๆ อีกคนคือธีรพงศ์ มณเฑียรวิเชียรฉาย ผู้บริหารอาวุโสที่ดูแลงานวาณิชธนกิจมาแต่แรก และเท็ดตั้งใจให้รับผิดชอบเรื่องกองทุนรวม

ตัวเลขคนลาออกของเอ็มซีซีปี 2534 ตั้งแต่ระดับอาวุโสถึงพนักงานประมาณ 27 คน บุญเดช สายกระจ่าง ผู้จัดการฝ่ายการพนักงานกล่าวว่า "คำนวณดูแล้ว อัตราการโยกย้ายของเอ็มซีซีอยู่ที่ประมาณ 9% ซึ่งถือเป็นระดับที่ควบคุมได้ สาเหตุที่ออกเพราะได้งานที่ดีกว่า"

เท็ดกล่าวเสริมว่า "ในอุตสาหกรรมนี้ อัตราการโยกย้ายต่ำกว่า 10% ต้องถือว่าไม่สลักสำคัญอะไร หากมีอัตราสูงถึง 25-30% จึงนับว่ามีปัญหา ในทางกลับกันหากที่ใดมีอัตราการโยกย้ายต่ำกว่า 10% มาก ๆ ที่นั้นก็มีปัญหาเหมือนกัน"

เท็ดเข้ามาร่วมงานกับเอ็มซีซ๊เพราะมีผู้ถือหุ้นที่นี่ซึ่งรู้จักมักคุ้นกับเขามาเป็นเวลานานชักชวนเขาเข้ามา ผู้หุ้นรายนั้นรู้ดีว่าเขาชอบทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยมากและทั้ง ๆ ที่เท็ดดำรงตำแหน่ง COUNTRY MANAGER ของธนาคารแห่งอเมริกาในประเทศไทยมาเป็นเวลากว่า 3 ปี ดูแลงานกิจการสาขาและกิจการเงินทุนหลักทรัพย์ของแบงก์คือบีเอไฟแนนซ์ ซึ่งตอนนี้เปลี่ยนชื่อไปเป็น บงล. ศรีธนาและเปลี่ยนเจ้าของไปเป็นกลุ่มศรีวิกรม์แล้ว

หลังจากที่เท็ดเข้ามาร่วมงานในเอ็มซีซีเพียง 2 เดือนเขาก็ทำตัวเลขประมาณการเมื่อสิ้นเดือนธันวาคมขึ้น มันเป็นตัวเลขที่สูงมากเมื่อเทียบกับตัวเลขกลางปี เขากล่าวว่า "นี่คือตัวเลขผลงานที่ผมต้องการให้เกิดขึ้น พอย่างเข้าเดือนสิงหาคม-กันยายน ผมคิดว่าเราคงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตัวเลขพวกนี้ได้ แต่ก็ต้องนับว่ามีโชคดีมาเข้าข้างคือเดือนพฤศจิกายนราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ กระเตื้องขึ้นมากและในเดือนธันวาคมผลประกอบการของเราก็ดีอย่างมาก ๆ ในที่สุดเราก็สามารถทำมันได้สำเร็จ"

เท็ดเปิดเผยกลวิธีการบริหารงานสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้เขาได้รับความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ เรื่องการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เขายกตัวอย่างว่า "อย่างเรื่องหนังสือพิมพ์ ไม่จำเป็นว่าผมจะต้องมีหนังสือพิมพ์เป็นการส่วนตัว ผมยินดีที่จะแชร์กับคนอื่น ๆ อ่านได้ หรือเรื่องการประหยัดไฟ เรื่องค่าพาหนะเดินทาง อย่างผมจะไปเชียงใหม่ ผมไม่จำเป็นต้องนั่งเครื่องบินชั้นหนึ่งเพราะเมื่อผมไปเที่ยวกับครอบครัวผมก็นั่งชั้นประหยัด หากผมจะเดินทางไปทำงานด้วยตั๋วชั้นประหยัดก็น่าจะได้"

ชายวัยกลางคนผู้นี้ทำงานที่ธนาคารแห่งอเมริกาเป็นเวลานานถึง 22 ปีโดยไม่เคยเปลี่ยนงาน ประสบการณ์บริหารงานในที่ต่าง ๆ ที่เขาย้ายไปประจำการไม่ว่าจะเป็นซานฟรานซิสโก ลอนดอน ฮ่องกง เท็กซัส เยอรมนี หล่อหลอมให้เขารู้ซึ้งถึงเทคนิคการบริหารองค์กรเป็นอย่างดี

ว่าไปแล้วการกอบกู้เอ็มซีซีครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเขา

ราคาหุ้นเอ็มซีซีที่วิ่งฉิวในกระดานเวลานี้เป็นเครื่องพิสูจน์เป็นอย่างดี !!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.