"ศุลี มหาสันทนะ เบื้องหลัง "วันนี้ของบางจาก"


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

สุภาพบุรุษสูงอายุด้วยวัย 71 ปี ผู้ฉายบุคลิกอันสุขุมอ่อนโยนอยู่เนืองนิจ ยังดูแข็งแรง สมาร์ทในวันรับรางวัลเกียรติคุณในตำแหน่ง "ยอดนักการตลาด" จากสมาคมนักการตลาดแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 11 มีนาคมศกนี้นั้น ออกจะได้รับความสนใจจากแขกผู้มีเกียรติและบรรดาสื่อมวลชนเป็นพิเศษ

เนื่องจากที่ผ่านมาชื่อของเขา "เรืออากาศโทศุลี มหาสันทนะ" จะเป็นที่คุ้นเคยในวงอุตสาหกรรมและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในยุคของนายกเปรมมากกว่า

ขณะที่ผู้ได้รับรางวัลอีก 2 คน คือ บัญชา ล่ำซำ ประธานกิตติมศักดิ์ แบงก์กสิกรไทยจำกัด และถาวร พรประภาประธานกิตติมศักดิ์ บริษัทสยามกลการ จำกัดนั้นจะเป็นที่รู้จักกันอย่างดีในธุรกิจที่ตนทำอยู่

แต่ ร.ท. ศุลี เขาเป็นเพียงมือบริหารอาชีพและไม่ได้เป็นเจ้าของธุรกิจใด…!

ในยุคของนายกเปรมย่อมเป็นที่รู้จักกันดีว่า ร.ท. ศุลี นั้นเป็นรัฐมนตรีที่เรียกว่าเป็นมือพลังงานต่อเนื่องกันถึง 8 ปี

แต่ก่อนที่เขาจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น มีหลายอย่างที่แสดงถึงฝีมือ และเครดิตความเชื่อถือจากคนรอบข้างแต่เขาแทบจะไม่เคยพูดถึงผลงานเหล่านี้สู่สาธารณชนด้วยเหตุว่าเขาพอใจที่จะอยู่อย่างเงียบ ๆ มากกว่า

ร.ท. ศุลีได้เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์จากบริษัทน้ำมันข้ามชาติอย่างเอสโซ่แสตนดาร์ด (ประเทศไทย) จำกัดหลังจากที่รับราชการอยู่ที่กรมช่างทหารอากาศอยู่ 6 ปี

ที่เอสโซ่ ทำให้เขาเข้าใจระบบธุรกิจอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจ การผลิตรวมถึงการวิจัย การจัดตั้งสถานีซึ่งถือว่าเป็นงานที่ต้องการความละเอียดประณีตทุกขั้นตอนเพื่อประกันคุณภาพที่ดีสู่มือลูกค้า

ร.ท. ศุลีเคยเป็นตั้งแต่วิศวกรปฏิบัติการ และโยกย้ายไปอยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ จนเป็นกรรมการบริษัทและผู้จัดการขายทั่วไป ตำแหน่งสูงสุดของคนไทยในบริษัทขณะนั้นและเป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนที่ลาออก

กิจกรรมที่โดดเด่นเป็นพิเศษ ก็คือ เขาเป็นกำลังสำคัญในการขึ้นป้ายเปลี่ยนชื่อปั๊มน้ำมันพร้อมกันทั้ง 300 แห่งทั่วประเทศ จากการโอนกิจการบริษัท สแตนดาร์ด แวคคัมออยล์ จำกัด เป็นบริษัท เอสโซ่แสตนดาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด โดยเปลี่ยนจากตราม้าบินมาเป็นตราเอสโซ่ในเวลาเที่ยงคืน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนข้ามคืนพร้อมกันหมด นับเป็นกลยุทธ์การตลาดที่ทำให้ลูกค้าประทับใจและจดจำตราใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

พร้อม ๆ กับการรณรงค์โครงการเอสโซ่ ด้วยสวนหย่อมหน้าเพื่อให้ดูสดชื่นและสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากขึ้น รวมไปถึงโครงการ "ห้องน้ำสะอาด" ซึ่งกลายเป็นจุดช่วยส่งเสริมการขายให้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังเน้นงานบริการด้วยสโลแกนที่ว่า "บริการที่ดีคือหน้าที่ของเรา" ที่จะฝึกให้พนักงานปั๊มน้ำมันรู้จักวิธีการบริการที่ดี ทั้งการขายหน้าปั๊ม งานบัญชี งานอัดฉีดรถ งานขายผลิตภัณฑ์ถนอมรถ และมุ่งเน้น "บริการมาตรฐานแบบ 5 จังหวะของเอสโซ่" สำหรับลูกค้าที่เข้ามาเติมน้ำมัน

ได้แก่ ว่องไว-ทักทาย-ให้บริการ ตรวจและสังเกตความบกพร่องของยางแบตเตอรี่ อะไหล่ และเสนอบริการ-รับเงินและกล่าวขอบคุณ พร้อมทั้งให้ความสะดวกแก่ผู้ขับขี่ขณะขับรถจากปั๊ม ตามสโลแกนที่ว่า "ขับสบายไร้กังวล"

ร.ท. ศุลีจึงนับเป็นกำลังสำคัญคนหนึ่งของเอสโซ่ในยุคที่ผ่านมา เขาอยู่ที่นี่นานถึง 20 ปี จากนั้นเมื่อได้รับการทาบทามมาช่วยบุกเบิกงานที่บริษัทปูนซิเมนต์นครหลวง จำกัดหรือปูนกลางในขณะที่ยังไม่มีโรงงาน

การเริ่มงานที่ปูนกลางเรียกว่าแตกต่างจากเอสโซ่ซึ่งมีระบบการทำงานที่สมบูรณ์อยู่แล้วโดยสิ้นเชิง แต่เขาเห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศยังต้องขยายตัวอีก ขณะที่ช่วงนั้นยังต้องนำเข้าปูนอยู่มากแต่ไทยมีแหล่งวัตถุดิบเพียงพอในการผลิต จึงเริ่มศึกษาตลาดอย่างจริงจัง เมื่อพบว่ามีอนาคต โรงปูนของปูนกลางจึงแทรกตัวขึ้นมาระหว่างปูนใหญ่กับปูนเล็ก

การนำเข้าสินค้าเข้าตลาดโดยเฉพาะตลาดที่มียักษ์ใหญ่อยู่แล้วนั้น มิใช่เรื่องง่าย เพราะมักจะถูกโจมตีเรื่องคุณภาพซึ่งเป็นข้อด้อยของการออกสินค้าอุตสาหกรรมโดยทั่วไป

เขาจึงสร้างศรัทธาแก่ตัวสินค้าด้วยการนำปูนไปให้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมทดสอบเมื่อผ่านและได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน "มอก." ปูนเป็นรายแรก ก็ได้กลายมาเป็นจุดขายที่เด่นเหนือกว่ารายอื่นโดยคู่แข่งไม่ทันไหวตัวทัน

ตรงนี้ ต้องยอมรับว่าประสบการณ์จากเอสโซ่เป็นส่วนที่ทำให้ ร.ท. ศุลีต้องรู้เขารู้เราตลอดเวลา และรุกคืบอย่างเงียบ ๆ โดยไม่โจมตีคู่แข่งหรือใช้วิธีตัดราคา ซึ่งจะกลับมาเฉือนเนื้อตัวเองในที่สุด

ด้วยวิธีนี้ เพียง 6 เดือนปูนตรานกอินทรีและตราเพชรก็เข้าและเป็นที่ยอมรับของตลาดได้ ความใหม่ที่คิดว่าเป็นจุดอ่อนก็กลายเป็นจุดแข็งไปอย่างน่าทึ่ง

เขาจึงเป็นคนวางรากฐานสำคัญให้กับปูนกลางทั้งในเรื่องของตัวสินค้าอุตสาหกรรมและการจัดฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร โดยรั้งตำแหน่ง กรรมการอำนวยการและผู้จัดการทั่วไปเป็นคนแรก จนกลายเป็นลูกหม้อเก่าแก่ที่มีอายุถึง 13 ปีก่อนที่นายกเปรมได้ทาบทามไปเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเน้นหนักในเรื่องพลังงานเป็นหลัก ไม่รวมถึงการได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติราชการแทนนายกในส่วนงานบีโอไอ และสำนักงบประมาณ ยกเว้นส่วนที่เกี่ยวกับการอนุมัติเงินงบประมาณและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

8 ปีสำหรับชีวิตรัฐมนตรีซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2523 นั้นเขาเป็นประธานอนุกรรมการนโยบายปิโตรเลียม ซึ่งจะเป็นผู้พิจารณาและกลั่นกรองเรื่องเกี่ยวกับปิโตรเลียม ก่อนที่จะเสนอให้กรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือบอร์ดใหญ่ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่งเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดหรืออนุมัติในรอบสุดท้าย

ร.ท. ศุลีกลายเป็นคนจัดการเรื่องพลังงานของประเทศตลอดมา ช่วงที่เกิดวิกฤตน้ำมันครั้งแรกและครั้งที่ 2 เขาเป็นคนสำคัญในการปรับปรุงการจัดเก็บเงินกองทุนน้ำมัน ขณะเดียวกันก็วางแนวนโยบายราคาน้ำมันเสรีอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมทั้งมุ่งเน้นการพัฒนาแหล่งพลังงานในประเทศทั้งแหล่งแก๊สธรรมชาติและน้ำมันดิบ

เขามีแนวคิดที่อยากเห็นการพัฒนาพลังงานของไทยไปสู่ทิศทางที่พึ่งตัวเองได้ แข่งขันได้ มีการปรับตัวไปตามกลไกของตลาด นั่นก็คือ มีอิสระ ไร้การแทรกแซงจากการเมือง

ภาพลักษณ์ที่ปรากฏในวงการน้ำมันตอนนี้ ไม่ว่าจะเรื่องราคาน้ำมันลอยตัว ทิศทางการตั้งโรงกลั่นเสรี หรือการเน้นคุณภาพน้ำมัน ล้วนแต่พูดได้ว่าเขาได้ช่วยผลักดันและวางฐานมาล่วงหน้าแล้วหลายปี

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ ช่วงที่โรงกลั่นบางจากยังอยู่ในสังกัดของการพลังงานทหาร และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เป็นผู้ดูแล ซึ่งขาดความคล่องตัวอย่างมาก เพราะติดระเบียบและขั้นตอนราชการหยุมหยิม ขณะที่ตลาดน้ำมันของโลกไหวเพื่อมขึ้นลงอย่างรวดเร็ว จึงเห็นว่าโรงกลั่นบางจากควรจะมีรูปแบบการบริหารแบบเอกชนเพื่อเดินสู่การบริหารที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

บริษัทบางจากปิโตรเลียมจำกัด (บางจากฯ) จึงเกิดขึ้นในปี 2528 พูดได้ว่าเป็นเพราะ ร.ท. ศุลีหนุนเนื่องอย่างเต็มที่ด้วยเวลาเพียงไม่กี่เดือน เนื่องจากเห็นว่าองค์กรน้ำมันจำเป็นที่จะต้องมีรูปแบบและโครงสร้างการบริหารที่ปราดเปรียว นัยว่าต้องการให้โรงกลั่นบางจากและ ปตท. บริหารธุรกิจได้ครบวงจรอย่างที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ

แต่บางจากฯ ได้ขยายบทบาทจากโรงกลั่นสู่ตลาดการค้าปลีก อย่างสมบูรณ์ และรุกเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งนับเป็นโค้งสำคัญและความสำเร็จครั้งใหญ่ของบางจากฯ อีกบทหนึ่ง

วันนี้ของบางจากฯ ที่เราเห็นกันอยู่ เรียกว่า ร.ท. ศุลี เป็นผู้วางเสาไว้ให้โดยแท้ เพียงแต่บางจากฯ ได้ไปเกินกว่านักการตลาดอย่างเขาคิดกันไว้เท่านั้น…!?



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.