"ความสนใจของนักลงทุนต่อหน่วยลงทุนมีน้อยมากอาจเป็นเพราะไม่สนใจ ข่าวสารมีน้อยเกินไป
"ผู้จัดการ" ได้หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาสัมภาษณ์ผู้แทนสำนักงานบริษัทโนมูระ
ซิเคียวริตี้ "ธรรมนูญ อานันโทไทย" เสนอข้อเท็จจริงบางด้านถึงปัญหานี้อย่างน่าสนใจ
ผู้จัดการ โดยส่วนตัวแล้ว สนใจลงทุนในหน่วยลงทุนหรือไม่
ธรรมนูญ ถ้าถามผมซึ่งอยู่ในวงการนี้ บอกได้ว่าผมไม่สนใจ เพราะผมถือว่าเล่นหุ้นเองได้
ไม่จำเป็นต้องให้คนอื่นมาลงทุนแทนให้
ผู้จัดการ มองว่าความสนใจของนักลงทุนไทย ต่อหน่วยลงทุนเป็นอย่างไรบ้าง
ธรรมนูญ จริง ๆ แล้ว หน่วยลงทุนเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาที่จะเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของราคาในแต่ละวัน
หรือเป็นผู้ที่ไม่มีความรู้ในเรื่องหุ้นมากนัก จึงซื้อกองทุนเพื่ออาศัยผู้ที่เป็นมืออาชีพมาช่วยเล่นหุ้นให้
ผู้จัดการ สัดส่วนของนักลงทุนสถาบัน ต่อนักลงทุนรายย่อย
ธรรมนูญ ส่วนใหญ่แล้วเป็นนักลงทุนสถาบันมากกว่า อย่างเมื่อ 3-4 ปีก่อน มีสถาบันต่างประเทศเข้ามากันมาก
สาเหตุก็เนื่องจาก
1) ได้รับผลประโยชน์ด้านภาษี
2) ไม่มีการกำหนดเพดานสำหรับผู้ลงทุนต่างชาติว่าจะถือได้เท่าไร
3) ราคาบนกระดานที่ซื้อขายกัน UNDER VALUE มากคือ ต่ำกว่า NAV มาก ต่างชาติขึงเข้ามาไล่ซื้อ
ผู้จัดการ หมายความว่านักลงทุนต่างประเทศ สนใจลงทุนในกองทุนมากกว่านักลงทุนไทย
ธรรมนูญ ไม่มีตัวเลขในจุดนี้ แต่รู้ว่านักลงทุนต่างชาติซื้อมากเพราะผมเองก็เคยขายให้มาก
สมัยที่ทำ MARKETING ที่สินเอเซียอย่างสินภิญโญ 5 หรือร่วมพัฒนา
ผู้จัดการ วัตถุประสงค์ของกองทุนรวมที่ต้องการกระจายการลงทุน สู่นักลงทุนรายย่อย
จะขัดกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสถาบันหรือไม่
ธรรมนูญ ขัดกันอย่างเห็นได้ชัดเลย ตัวอย่าง คือกองทุนธนภูมิ ซึ่งจุดประสงค์ต้องการระดมเงินจากภูธร
แต่จริง ๆ ก็ได้จากกรุงเทพฯ ยังไม่ได้มีการกระจายไปถึงต่างจังหวัด เป็นเพราะว่ากองทุนรวมไม่มีสาขาและการประชาสัมพันธ์ยังไม่ทั่วถึง
เป็นจุดที่กองทุนรวมอยากเปิดสาขาแต่ทางแบงก์ชาติไม่อนุญาตให้เปิด แต่ตอนนี้ไม่จำเป็นแล้วเพราะว่า
สามารถผ่านทางโบรกเกอร์ที่มีสาขาอยู่ตามต่างจังหวัดหรือผ่านทางธนาคารพาณิชย์
ผู้จัดการ การที่ราคากองทุนในปัจจุบัน DISCOUNT TO NAV เนื่องจากสาเหตุใด
ธรรมนูญ อาจเป็นเพราะ UNDER PERFORM ก็ได้ แต่เข้าใจว่าผู้บริหารที่เป็นมืออาชีพ
จะไม่ปล่อยให้เกิดลักษณะนี้มากเพราะจะทำให้เกิด ARBITRAGE เผอิญกองทุนในไทยแต่ก่อนผูกขาดอยู่รายเดียว
แม้จะมีหลายกองทุนในมือ แต่ก็บริหารโดยเจ้าเดียวกัน ทั้ง 14 กองทุน มูลค่า
40,000 กว่าล้านบาท บริหารโดยทีมเดียวกัน แม้จะแยกเป็น FUND MANAGER แต่ละคนรับผิดชอบ
จริง ๆ ภาพรวมก็คือ เจ้าเดียวนั่นเอง จึงทำให้เกิดช่องว่างตรงนี้ แต่ในอนาคตเมื่อมีใบอนุญาตเพิ่มขึ้นถึง
9 กองทุน ลักษณะนี้คงจะไม่เกิดขึ้น จะทำให้ MARKET PRICE กับ NAV เข้ามาใกล้กันแทนที่จะห่างอย่างแต่ก่อน
ผู้จัดการ ปัจจัยที่ควรพิจารณาในการเลือกลงทุนในแต่ละกองทุน
ธรรมนูญ 1) ในกองทุนนั้นใครเป็นผู้บริหาร หรืออยู่ในเครือของกลุ่มไหน คือดูว่าแต่ละกองทุนนั้น
มีพ่อ มีแม่ หรือลูก ชื่ออะไรบ้าง ส่วนเงื่อนไข หรือผลตอบแทนต่าง ๆ จะมาทีหลัง
คิดว่าส่วนของผู้บริหารกองทุนสำคัญอันดับแรก
2) ทีมงานวิเคราะห์ ใครเป็นผู้บริหาร ทีมงานประกอบด้วยใครบ้าง ได้รับความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีจากต่างประเทศมากน้อยเพียงใด
มีงบประมาณในการจัดทำวิจัยเท่าไร ต่อไปทีมงานวิจัยจะมีบทบาทอย่างมากจะเป็นตัวชี้นำอันสำคัญในการตัดสินใจ
และก็สามารถแนะนำ หรือช่วยให้การบริหารกองทุนมีกำไรสูง เท่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้ใช้หลักทาง
MARKETING มากกว่าหลักการวิจัยในการบริหารกองทุน
3) เงื่อนไข เช่นว่าอาจจะไม่ใช่กองทุนเพียงอย่างเดียว อาจจะมีตราสารทางการเงินแทรกเข้ามา
เช่น กองทุนทรัพย์อนันต์ ซึ่งมี WARRANT ด้วย ที่ว่าให้ 1:5 ภายใน 3 ปี ทำนองนี้
คือ จะมีลูกเล่นมากขึ้น มีของแถมเข้ามา
คิดว่าในระยะแรก ดูเพียง 3 ตัวนี้ ก็พอแล้ว ไม่ต้องดูอะไรมาก
ผู้จัดการ เปรียบเทียบความสนใจของนักลงทุนในกองทุน กับหุ้นตัวอื่นในตลาดฯ
ธรรมนูญ ผมมองว่า ผู้ที่ลงทุนในกองทุน ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนระยะยาว และเป็นนักลงทุนสถาบัน
ส่วนผู้ที่เป็นนักเก็งกำไร คือ ลงทุนกันวันต่อวัน เขาก็ย่อมไม่สนใจ เพราะคิดว่าตัวเขาแน่อยู่แล้ว
เล่นหุ้นเองได้ ไม่จำเป็นต้องอาศัยมืออาชีพ อย่างถ้าเป็นผม ผมก็คิดว่าผมดูแลตัวของผมเองได้
แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็ชื่นชมกองทุนรวมมาก โดยเฉพาะในสภาวะฉุกเฉิน กองทุนรวมได้เข้ามาช่วยพยุงตลาดฯ
ไม่ว่ากรณีสงครามตะวันออกกลาง หรือ กรณี BLACK MONDAY จากอเมริกา กองทุนรวมก็ได้เข้ามาช่วยเสริม
และสร้างสภาพคล่องแก่ตลาดฯ อย่างมาก เนื่องจากเป็นกึ่งราชการดังกล่าว จึงจำเป็นต้องเข้ามาแทรกแซง
แต่กรณีที่เอกชนเข้ามาบริหาร เมื่อเกิดการซื้อขายที่ผิดธรรมชาติ ก็จะมีกองทุนอื่น
ๆ ที่เหลือเข้ามารับเอง อย่างที่เรียกกันว่า มันมีการ ARBITRAGE
ผู้จัดการ แนวโน้มของกองทุนในอนาคต ภายหลังเกิดกองทุนใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น
ธรรมนูญ 1) การบริหารกองทุนจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และผลตอบแทนก็จะสูงขึ้น
เนื่องจากการแข่งขันกันมาก
2) มีการแข่งขันสูง
3) การวิจัยมีการพัฒนาและปรับปรุง รวมทั้งการบริหารจะเป็นลักษณะมืออาชีพมากกว่าที่จะเป็นลักษณะอย่างปัจจุบัน
คือ "กึ่งราชการ"
เนื่องจากเป็นหน่วยงานหนึ่งของบรรษัท เป็นเชิงรัฐวิสาหกิจคือ กรณีฉุกเฉินกองทุนรวมก็จะต้องไปเสนอและรับสนองนโยบายของรัฐบาลอย่างเช่น
กองทุนร่วมพัฒนา 1 กองทุนร่วมพัฒนา 2 ที่เคยพูดล้อเลียนกันในยุคนั้น ว่ากองทุนร่วมกตัญญู
1 ร่วมกตัญญู 2 ซึ่งมันเหมือนกับการเข้าไปสร้าง SUPPLY เทียมขึ้นมา ด้วยการหักคอโบรกเกอร์ต่าง
ๆ ให้มาลงขันกันแล้วเข้าไปซื้อหุ้น ซึ่งมันผิดธรรมชาติสำหรับการเข้าไปแทรกแซงอย่างนั้น
ควรจะปล่อยให้เป็นเรื่องของกลไกตลาด
ผมจึงมองว่า การที่มีผู้จัดการกองทุนเพิ่มขึ้นมารวมกองทุนรวมด้วยเป็น 10
บริษัท ต่อไปการแทรกแซงจะลดน้อยลงหรืออาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้เพราะอีก 9 บริษัทเป็นการบริหารโดยมืออาชีพ
ซึ่งเขาต้องแข่งกันอยู่แล้วเพื่อสร้างผลงาน