NPLไตรมาส2เพิ่ม2.7หมื่นล้านแบงก์ชาติกัดฟันไม่กระทบศก.


ผู้จัดการรายวัน(12 กันยายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ชาติระบุยอดเอ็นพีแอลใหม่ไตรมาส 2/50 เพิ่มขึ้นกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 1% ของยอดสินเชื่อรวมทั้งระบบเท่านั้น ยันยังไม่ส่งผลกระทบเพราะฐานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเฉลี่ยสูงถึง 14% เผยห่วงสินเชื่อรายย่อยมากกว่าสถาบันเพราะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ

นายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 ที่ผ่านมา ในระบบเศรษฐกิจมียอดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ใหม่เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 27,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา แต่ก็เป็นจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับยอดสินเชื่อที่มีอยู่ในปัจจุบันประมาณ 6 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นใหม่ยังไม่ถึง 1%ของสินเชื่อรวม

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันระบบสถาบันการเงินไทยมีความแข็งแกร่งขึ้นมากเห็นได้จากระดับของเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงในปัจจุบันโดยเฉลี่ยซึ่งอยู่ที่ 14% ประกอบกับการจัดชั้นสำรองลูกหนี้ที่สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ ธปท.กำหนด ดังนั้น เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นจึงไม่น่ากังวลว่าจะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงิน

“ในขณะนี้ธปท.ได้พยายามประเมินภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดหนี้เอ็นพีแอลใหม่เพิ่มขึ้นอีก และจะส่งผลกระทบมายังระบบสถาบันการเงินไทยโดยรวมหรือไม่อย่างไรนั้น เท่าที่ธปท.ประเมิน พบว่า ระบบสถาบันการเงินไทยยังมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะไม่ถูกกระทบจากหนี้เอ็นพีแอลที่จะเพิ่มขึ้น ทั้งตัวเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของระบบที่ยังสูงถึง 14% และการกันสำรองหนี้จัดชั้น ซึ่งมากกว่าที่ธปท.กำหนด”

ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบันส่งผลกระทบแตกต่างจากในช่วงวิกฤตปี 2540 เนื่องจากในครั้งนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจเป็นประชาชนรายย่อยมากกว่าที่จะเป็นตัวสถาบันการเงินอย่างในอดีตที่ผ่านมา ฉะนั้นสิ่งที่น่าห่วงอย่างมากจะเป็นประชาชนที่มีภาระการใช้จ่ายและภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจนไม่สามารถผ่อนส่งไหวมากกว่าห่วงฐานะของสถาบันการเงิน

“ในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้คำนึงถึงจุดเหล่านี้ และพยายามลดการก่อหนี้ของผู้มีรายได้น้อย มาตั้งแต่ปี 2545 โดยจำกัดให้ผู้มีบัตรเครดิตต้องมีคุณสมบัติที่มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน หรือไม่ต่ำกว่า 180,000 บาทต่อปี และมีบัญชีเงินฝากที่สถาบันการเงิน ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจพิจารณาแล้วเห็นว่าเพียงพอต่อการชำระหนี้ รวมทั้งกำหนดลดจำนวนบัตรเครดิตของผู้ที่มีรายได้น้อยลง ทำให้เมื่อเศรษฐกิจซบ จำนวนผู้ที่มีปัญหาไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้จึงมีไม่มากเท่ากับ ไม่มีการออกประกาศดังกล่าวออกมา เพราะในช่วงก่อนหน้านั้น ผู้ประกอบการบัตรเครดิตลงไปเล่นในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่มีฐานเงินเดือน 7,500 บาทก็สามารถทำบัตรเครดิตได้”

นายเกริก กล่าวว่า สำหรับการออกประกาศล่าสุด ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถจ้างบริษัทข้างนอก (outsource) ติดตามหนี้เอ็นพีแอล และจำหน่ายสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีเอ) นั้น จะช่วยลดภาระในการติดตามหนี้และขายทรัพย์สินของธนาคารพาณิชย์ได้ และช่วยลดยอดหนี้เอ็นพีแอลรวมได้ในระดับหนึ่ง เพราะที่ผ่านมานั้น บริษัทบริหารสินทรัพย์ไม่สามารถรับจ้างบริหารได้ ต้องซื้อหนี้มาบริหาร แต่จากกฎหมายบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บ.บ.ส.) ที่มีการแก้ไข ทำให้เข้ามารับจ้างบริหารได้ โดยไม่ต้องซื้อหนี้ออกมา


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.