"วิชัยแห่งดาวน์ทาวน์กลับมาบริหารร้านค้าปลอดอากรอีกครั้ง!"


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อ 2 ปีก่อนได้มีมติ ครม. ของรัฐบาลชุดชาติชายประกาศให้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รัฐวิสาหกิจอีกแห่งหนึ่งดำเนินธุรกิจร้านสินค้าปลอดอากรในเมืองไทยได้ในลักษณะของการให้สัมปทานเอกชน ในการจัดดำเนินการโดยมีผลประโยชน์ร่วมกันระหว่าง ททท. และบริษัทเอกชนดังกล่าว หลังจากให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยทำธุรกิจชนิดเดียวกันในลักษณะเดียวกันนี้ที่สนามบินดอนเมือง

เป้าหมายของมติ ครม. ที่เปิดให้มีร้านสินค้าปลอดอากรขึ้นอีกแห่งหนึ่งนั้น ประเด็นสำคัญก็เพื่อเป็นการส่งเสริมให้รัฐมีรายได้เพิ่มจากการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยว นอกเหนือจากการเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทยขณะเดียวกันก็เพื่อเป็นการบริการให้เกิดความสะดวกสบายแก่นักท่องเที่ยวเหล่านั้นด้วย

ว่ากันตามจริงแล้วมติ ครม. ในครั้งนั้นได้ก่อให้เกิดการแข่งขันทางการค้ากันขึ้น ในระหว่างธุรกิจเดียวกันซึ่งได้รับการผูกขาดมานานจากบริษัทบีเอดีเอฟซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากกรมท่าฯ ให้ดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดอากรที่สนามบินดอนเมืองมาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน

บริษัท ดาวน์ทาวน์ จำกัดเป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานจาก ททท. ให้เข้าไปดำเนินการขายสินค้าปลอดอากรซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารมหาทุน โดยมีวิชัย รักศรีอักษร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทดาวน์ทาวน์จำกัดและได้รับการแต่งตั้งจาก ททท. ให้เป็นผู้บริหารงานในนามของบริษัท ททท. สินค้าปลอดอากร จำกัด ถือหุ้นร่วมระหว่างการท่องเที่ยวฯ กับบริษัทดาวน์ทาวน์ และมีคณะกรรมการบริหารร่วมกันทั้ง 2 ฝ่ายด้วย

ในช่วงแรกของการเปิดธุรกิจ วิชัยถูกโจมตีจากผู้ไม่หวังดีว่ามีความไม่ชอบมาพากลในการประมูลเพื่อร่วมดำเนินการกับ ททท. ว่ากันว่าเป็นการกระทำของฝ่ายตรงข้ามที่เสียผลประโยชน์อันเนื่องมาจากแพ้การประมูลและการถูกแย่งส่วนแบ่งการตลาดไป ข่าวคราวในช่วงนั้นถูกประกาศทางหน้าหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่งติดต่อกันหลายวัน

วิชัยจึงได้แสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการลาออกจากบริษัท ททท. สินค้าปลอดอากรแม้จะได้รับการทักท้วงจากผู้ใหญ่ของ ททท. ก็ตาม เพื่อยุติข่าวการถูกโจมตีอันจะมีผลกระทบไปถึงธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ ทั้งนี้เพื่อให้ธุรกิจร้านค้าปลอดอากรดำเนินไปด้วยดีตามมติ ครม. ขณะเดียวกัน ก็เพื่อความสะดวกในการต่อสู้ข้อกล่าวหา เช่น กรณีจ่ายเช็คเด้ง เป็นต้น เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้วิชัยหายเงียบไปจากวงการนานถึง 2 ปีเต็ม

ณ วันนี้ วิชัยได้กลับมาอีกครั้งอย่างผู้บริสุทธิ์พร้อมหมายศาลแจ้งจับผู้ไม่หวังดีที่ประโคมข่าวทำให้เสียชื่อเสียง วิชัยประกาศว่า เขาจำเป็นต้องกลับเข้ามาในดาวน์ทาวน์ใหม่เพื่อพยุงกิจการของบริษัทให้อยู่รอดและไปได้ด้วยดี

หลังจากที่วิชัยลาออกจาก ททท. สินค้าปลอดอากรจำกัดและลาออกจากการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทดาวน์ทาวน์ด้วยเช่นกันนั้น ก็ยังไม่มีผู้ใดเข้ามาแทนที่ตำแหน่งกรรมการบริษัททั้ง 2 ดังนั้นเมื่อเขาบริสุทธิ์เขาจึงได้กลับเข้ามาเป็นกรรมการของบริษัทอีกครั้ง พร้อมทั้งได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริหารให้เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการทั่วไปมีอำนาจเต็มในการวางนโยบายและบริหารงาน

"วิชัยเป็นคนที่มีความสามารถและเขาเป็นผู้ดำเนินงานนี้มาตั้งแต่เริ่มต้นวางโครงการไม่ว่าจะเป็นระบบการจัดการการวางแผนงาน การจัดซื้อทุกอย่างเขาเป็นคนทำ จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วที่เขาจะกลับเข้ามาดำเนินงานนี้ต่อไป" แหล่งข่าวระดับสูงในการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

อย่างไรก็ตามในปีที่ผ่านมาได้เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย เพราะผลจากพิษภัยของสงครามนี้ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวตกไปจนมีผลต่อรายได้ของร้านสินค้าปลอดอากรซึ่งมีทีท่าว่าจะตกลงไปด้วย

"เราการีนตีกับ ททท. ว่ายอดขายในปี 91 จะได้ 450 ล้านบาทเป็นขั้นต่ำ แต่เราก็สามารถพยุงยอดขายไว้ได้ถึง 560 ล้านบาทแม้เราจะทำเกินเป้า แต่ก็ยังเป็นรายได้ที่ไม่น่าพอใจนัก ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้วหากไม่เกิดกรณีของสงครามขึ้น ยอดขายสินค้าจะได้มากกว่านี้"

ส่วนในปีนี้ วิชัยคาดว่าจะสามารถทำตัวเลขยอดขายได้เกินกว่า 820 ล้านบาท ตัวเลขจำนวนนี้เป็นตัวเลขขั้นต่ำที่ตั้งไว้ให้กับทาง ททท. ซึ่งอาจจะทำได้ถึง 1,000 ล้านบาทเพื่อนำมาชดเชยในปี 91 ที่ทำยอดขายได้ไม่เป็นที่น่าพอใจ

วิชัยเชื่อมั่นว่าจะได้ถึง 1,000 ล้านบาทในปีนี้เพราะนับจากเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวได้กลับเข้ามาอยู่ในจำนวนเท่าเดิม ซึ่งตลาดกลุ่มเป้าหมายใหญ่ที่ ททท. สินค้าปลอดอากรต้องการคือนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี โดยเฉพาะญี่ปุ่นจะเป็นพวกเครื่องสำอาง เครื่องหนัง ปากกา ไฟแช็กซึ่งเป็นสินค้าที่ทำกำไรได้ดีกว่าสินค้าประเภทเหล้าและบุหรี่ ส่วนไต้หวันและเกาหลีจะหนักไปทางกลับกันกับตลาดญี่ปุ่น

จากสถิติของ ททท. แสดงจำนวนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่เข้าเมืองไทยต่อปีประมาณ 700,000 คน นักท่องเที่ยวเหล่านี้ต้องจับจ่ายใช้สอยซื้อของกลับประเทศเป็นจำนวน 3,500 บาทต่อหัวในขณะที่ไต้หวันและเกาหลีมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าเมืองไทยปีละประมาณ 500,000 และ 300,000 คน มีรายจ่ายต่อหัว 1,500 บาทและ 1,400 บาทตามลำดับ

ในจำนวนนักท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้นนี้ วิชัยแบ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 50% มากับกรุ๊ปทัวร์ อีก 50% เป็นนักธุรกิจและกลุ่มที่เข้ามาเที่ยวเอง เขาคาดหวังยอดขายจะได้มาจากกรุ๊ปทัวร์ญี่ปุ่น 35% ไต้หวัน 40% และเกาหลี 40% ขณะเดียวกันปีสตรีสากลยังเป็นปัจจัยเสริมให้ตัวเลขการท่องเที่ยวเมืองไทย และค่าใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มอีกด้วย

วิชัยกลับเข้ามาดำเนินธุรกิจสินค้าปลอดอากรในครั้งนี้ นอกจากจะเข้ามาพยุงยอดขายของบริษัทให้ได้ตามเป้าหมายที่เสนอต่อ ททท. แล้ว เขายังมีเป้าหมายที่จะขยายสาขาเพิ่มเพื่อเป็นการดักทางจับกลุ่มนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจอีก 50% ที่เข้ามาเองโดยไม่ผ่านกรุ๊ปทัวร์ เช่น แผนการขยายสาขาใน กทม. ที่หน้ากรมศิลปากรซึ่งจะเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายนนี้ และที่ภูเก็ตจะเปิดในเดือนตุลาคม

ส่วนที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยนั้นกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาซองประมูลซึ่งมีผู้เข้าร่วมแข่งขันด้วยกัน 2 รายคือบีเอดีเอฟ กับดาวน์ทาวน์ วิชัยตั้งความหวังกับการเปิดร้านสินค้าปลอดอากรที่ท่าเรือฯ นี้ให้ได้

"ตลาดกลุ่มเป้าหมายของการท่าเรือฯ และ ททท. นี้จะแตกต่างกัน คือการท่าเรือฯ จะขายได้แต่เฉพาะลูกเรือเพราะเขาไม่มีสิทธิ์ขึ้นฝั่งมาซื้อสินค้าที่ร้านในเมืองหรือที่สนามบินเลย นอกจากนี้การได้เข้าร่วมกับการท่าเรือฯ จะสร้างประโยชน์ให้กับทั้ง ททท. และการท่าเรือฯ ในแง่ของธุรกิจคืออำนาจในการต่อรองกับซัพพลายเออร์มีมากขึ้น ขณะเดียวกันสามารถโอนสินค้าในสต็อกให้แก่กันและกันได้หากของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดปัญหา" วิชัยอธิบายถึงสิ่งที่เขาคาดหวังไว้

นอกจากนี้เขายังได้ไปลงทุนกว่า 100 ล้านบาทในเขมร ทำร้านสินค้าปลอดอากรภายใต้ชื่อ "ทีเอที พนมเปญ" ซึ่งจะเปิดกลางเดือนเมษายนนี้ ทั้งที่สนามบินและในเมือง โดยให้ผลประโยชน์ต่อรัฐบาลพนมเปญตลอดอายุสัมปทาน 20 ปี ดังนี้ ปีที่ 1-2 จ่าย 10% ปีที่ 3 จ่าย 15% ปีที่ 4-5 จ่าย 20% และปีที่ 5-20 จ่าย 25% ของกำไร

การที่วิชัยเลือกเข้าไปลงทุนทำธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในที่ใดไม่ว่าจะเป็นเขมร ฮ่องกง หรือเมืองไทยก็ตามนั้นเพราะเขาเห็นว่า

1. เป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของเขา อีกประการหนึ่งเขาต้องการแสดงให้รู้ว่าคนไทยก็ทำธุรกิจเช่นนี้ได้เหมือนกัน ไม่เฉพาะในเมืองไทยหรือเขมรเท่านั้น

2. เพราะที่แห่งนั้นเป็นที่ที่ดีที่สุด ซึ่งเป้าหมายต่อไปของเขาคือฮ่องกง ที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่สามารถทำรายได้ให้กับธุรกิจร้านค้าปลอดอากรอย่างมหาศาลเป็นอันดับ 2 ของโลกเลยทีเดียว ในฮ่องกง กำลังจะหมดสัญญากับดีเอฟเอส ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ของวงการเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลก โดยเข้าไปประมูลแข่งกับเจ้าเก่ารายนี้ ในนามของทีเอทีอีกเช่นกัน

2 ปีที่หายไปจากวงการของวิชัย นับได้ว่าเป็นการซุ่มซ้อมประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญชำนาญงานในธุรกิจนี้มากยิ่งขึ้น เพราะหลังจากที่ลาออกจาก ททท. ปลอดสินค้าอากรแล้ว วิชัยได้เป็นมือปืนรับจ้างบริหารธุรกิจร้านค้าปลอดอากรให้กับสวัสดิ์ หอรุ่งเรืองในนามของ "ยูโรป้าปรินซ์" ที่ฮ่องกงซึ่งได้ชื่อว่าเป็นร้านค้าปลอดอากรของคนไทยแห่งแรก

ในช่วงเดือนเมษายนนี้จะได้เห็นผลงานของวิชัยอีกหลายโครงการไม่ว่าจะเป็นการขยายสาขา และโครงการเปิดเส้นทางบิน กทม. - พนมเปญไปพร้อม ๆ กัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.