"เพิ่มใบอนุญาตจัดการกองทุน อุดมพอใจ "มีอิสระในการซื้อขายมากขึ้น"


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

นโยบายที่จะให้มีบริษัทจัดการกองทุนรวมเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวของกระทรวงการคลังบวกกับการประกาศใช้กฎหมาย SEC จะส่งผลกระทบในทางดีต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวม ซึ่งเคยเป็นผู้ผูกขาดใบอนุญาตจัดการกองทุนมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี

อุดม วิชยาภัย กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ กองทุนรวมเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า "เรื่องนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลคือให้มีการแข่งขันประกอบธุรกิจอย่างเสรี ใบอนุญาตใหม่นั้นผมเข้าใจว่าก็เหมือนกับของกองทุนรวมคือประกอบธุรกิจได้แคบ ทำได้เพียงการจัดการกองทุนเท่านั้น"

อุดมค่อนข้างมองในแง่ดีที่ว่าจะเกิดการแข่งขันขึ้นในบรรดาผู้จัดการกองทุนเก่า และใหม่แทนที่แต่เดิมมีเฉพาะการแข่งขันระหว่างกองทุนแต่ละกองที่อยู่ภายใต้การจัดการของ บล. กองทุนรวม และการแข่งขันกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ในแง่ของการวัดประสิทธิภาพของการบริหารกองทุน

การที่มีผู้จัดการกองทุนเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าจะทำให้ บล. กองทุนรวมพ้นจากข้อหาเรื่อง "การเทขายหุ้น" ที่ได้รับมาตลอดเวลาที่ผูกขาดใบอนุญาตจัดการกองทุน

"ผมเคยพูดตลอดมาว่าในอดีตนั้นเมื่อกองทุนรวมทำอะไรมักจะระมัดระวัง มันก็มีผลให้การดำเนินงานของเราไม่ค่อยคล่องตัวเท่าไหร่ แต่เมื่อมีเพิ่มเข้ามาอีกหลายบริษัท การแข่งขันค่อนข้างฟรี ทำให้เรามีอิสระในการซื้อขาย ผมหวังว่าต่อไปนี้คงจะไม่มีใครมาว่าเราว่าเป็นคนเทขายหุ้นหรือทำให้ราคาหุ้นปั่นป่วนอะไรอีก เพราะมีผู้จัดการกองทุนหลายราย เป็นการแข่งขันที่เสรีขึ้น" อุดมเปิดเผยความในใจ

หลังจากที่กระทรวงการคลังอนุญาตให้มีบริษัทจัดการกองทุนเพิ่มขึ้น 9 ราย (ดูตารางรายชื่อผู้ได้รับใบอนุญาตจัดการกองทุนใหม่) บริษัทเหล่านี้จะต้องจัดตั้งกองทุนแบบปิดขึ้น มูลค่ากองทุนละไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท อายุกองทุนอย่างน้อย 5 ปี และจะต้องดำเนินการจัดการตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน

นั่นหมายความว่าในช่วง 6 เดือนหลังจากบริษัทจัดการกองทุนเหล่านี้จดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะมีเงินลงทุนไหลเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ไม่ต่ำกว่า 9,000 ล้านบาท เป็นเม็ดเงินลงทุนใหม่ ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเม็ดเงินลงทุนของ บล. กองทุนรวมซึ่งเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์มีอยู่เกือบ 40,000 ล้านบาท

ปัญหาคือซัพพลายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีเพียงพอแก่ความต้องการลงทุนเหล่านี้หรือไม่??

อุดมมองว่า "ซัพพลายจะถูกดูดออกไปโดยเฉพาะหุ้นบลูชิพ นั่นหมายความว่าปริมาณหุ้นลอยหรือหุ้นที่เหลืออยู่ในตลาดฯ จะลดลง แต่ถ้ากองทุนใหม่ที่เข้ามามีการซื้อขายบ่อย อันนี้ก็จะช่วยให้มีหุ้นหมุนเวียนมากขึ้น ทางกองทุนรวมก็มีนโยบายที่จะซื้อขายหุ้นบ่อยขึ้น ให้มีการหมุนเวียนมากขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามภาวการณ์ของตลาด"

ในอดีตที่ผ่านมา อุดมอ้างว่ากองทุนรวมใช้นโยบายถือหุ้นไว้ในระยะกลาง-ยาว ส่วนที่ออกมาหมุนเวียนมีบ้างแต่ไม่บ่อย และไม่มากนัก เพราะมีข้อจำกัดที่ว่ากองทุนรวมมีผู้ถือหุ้นเป็นหน่วยงานราชการทำให้ต้องมีการสนองนโยบายราชการและทำอะไรก็ต้องระมัดระวัง

การสนองนโยบายราชการที่ว่าหมายถึงบทบาทที่กองทุนรวมเคยช่วยแก้ไขปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้น สุดแล้วแต่ว่าจะได้รับมอบจากกระทรวงการคลังหรือแบงก์ชาติมาอย่างใด ส่วนมากที่เห็นกันคือการดูแลกองทุนที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อพยุงตลาดเป็นครั้งคราวยามเกิดวิกฤติการณ์ต่าง ๆ แต่ต่อไปนั้นอุดมมองว่า "บทบาทอย่างนี้นี่ผมคิดว่าหมดแล้ว"

การที่ข้อจำกัดดังกล่าวหมดไปมีผลทำให้กองทุนรวมเริ่ม "หายใจได้คล่องขึ้น" อุดมเริ่มใช้นโยบายผ่อนคลายในเรื่องการบริหารกองทุนมากขึ้น เขาอธิบายว่า "ต่อไปนี้หากผู้จัดการกองทุนเห็นจังหวะที่จะขายหุ้นได้ คือ เมื่อถึงจุดอิ่มตัว เห็นว่าควรทำกำไร ก็จะปล่อยออกไปทั้งหมด ไม่มีการอิดเอื้อนใด ๆ สมัยก่อนอาจจะขายมาก ๆ ไม่ได้ เพราะตลาดจะตกใจ แต่ต่อไปเราอาจจะปล่อยได้ทั้งหมด 500,000 หุ้นที่เรามีอยู่ในมือ แล้วรอจังหวะซื้อเข้ามาใหม่ นโยบายนี้ทำให้เรามีความคล่องตัวมากขึ้นในแง่ของการบริหารเวลาในการตัดสินใจนี่สำคัญที่สุดของการบริหารกองทุน"

นอกจากการใช้นโยบายผ่อนคลายการบริหารกองทุน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับเตรียมรับมือการแข่งขันเสรีน่าจะเปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งกองทุนได้หลาย ๆ แบบ เช่น กองทุนที่ลงทุนเฉพาะหุ้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธนาคาร กลุ่มไฟแนนซ์หรือกลุ่มที่ดิน และกองทุนแบบรับซื้อหน่วยลงทุนคืนคือไม่จำเป็นต้องไปซื้อขายหน่วยลงทุนกับตลาดหลักทรัพย์ แต่ให้ซื้อขายที่กองทุนรวมได้ รวมทั้งเรื่องการตั้งกองทุนเปิด เป็นต้น

ในอดีตการขออนุญาตจัดตั้งกองทุนแต่ละครั้งต้องส่งรายละเอียดไปให้แบงก์ชาติพิจารณาอนุมัติ ซึ่งก็ใช้เวลานานไม่น้อย และหลายครั้งมักจะมีความเห็นในการตั้งกองทุนที่แตกต่างกัน

อุดมยกตัวอย่างเรื่องกองทุนที่ดินซึ่งกองทุนรวมทำเรื่องเสนอไปและแบงก์ชาติอนุมัติมาแล้ว แต่มีรายละเอียดที่อุดมเห็นว่า "ผูกมัดทางกองทุนรวมมากเกินไป"

"แบงก์ชาติระบุว่าร้อยละ 75 ของกองทุนนั้นต้องลงทุนในหุ้นที่ประกอบธุรกิจที่ดิน แต่ใจจริงผมไม่ต้องการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผมต้องการทำเรื่องนี้ก่อนตลาดที่ดินจะบูมเมื่อ 5-6 ปีก่อน โดยไปลงทุนในโครงการข้างนอก เป็นการร่วมลงทุนแบบเวนเจอร์ แคปิตอล เพราะโอกาสที่จะทำกำไรดีกว่า หากมาซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ นี่ราคามันขึ้นมาสูงมาก ตอนที่ผมจะทำนั้นมีต่างประเทศร่วมด้วยเมื่อเขาเห็นเงื่อนไขข้อนี้ผูกมัดมากไป เขาก็ขอถอนตัว ตอนนี้ผมก็ทำเรื่องเข้าไปใหม่ ขอแบบไม่ผูกมัดแต่ก็ยังไม่มีผลตอบออกมา" อุดมเผยประสบการณ์ความพยายามในการตั้งกองทุนใหม่ ๆ

ยังมีเรื่องของการทำ INDEX FUND ซึ่งกองทุนรวมทำเรื่องขอไปเป็นแบบกองทุนเปิด แต่ได้รับอนุมัติให้ทำแบบกองทุนปิด เรื่องนี้จึงยังคงคาราคาซังอยู่จนบัดนี้

INDEX FUND เป็นกองทุนที่ลงทุนในดัชนีตลาดหลักทรัพย์หมายความว่าผลของหลักทรัพย์ที่อยู่ในกองทุนนี้ เมื่อทำออกมาแล้วจะเป็นเสมือนส่วนย่อของธุรกิจหลักทรัพย์นี้ทั้งหมด มูลค่าหลักทรัพย์ในกองทุนจะเป็นบวก/ลบตามดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ

การลงทุนใน INDEX FUND เหมาะสำหรับนักลงทุนที่เป็นสถาบันต่างประเทศที่ไม่สามารถส่งคนมาดูแลผลประโยชน์จากการลงทุนได้อย่างใกล้ชิด สถาบันฯ เหล่านี้จะลงทุนใน INDEX FUND ที่ถือว่าเป็นส่วนย่อของตลาด ทฤษฎีมีอยู่ว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ปีที่แล้วเศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโต 7.9% ขณะที่ 3 ปีก่อนหน้านั้นเติบโต 10% หากตลาดหลักทรัพย์ฯ โตตามภาวะเศรษฐกิจก็ควรจะเติบโตประมาณ 30% การลงทุนแบบนี้สถาบันต่างประเทศสามารถดูมูลค่าการลงทุนได้ตามดัชนีเศรษฐกิจ

อุดมเผยว่า "กองทุนรวมเคยเจรจาจะร่วมกับสถาบันแห่งหนึ่ง แต่เรื่องยืดเยื้อออกไปไม่สำเร็จ ตอนนี้เราก็เจรจาอยู่กับอีกแห่งหนึ่ง คิดว่าจะมีความเป็นไปได้กับสถาบันแห่งนี้"

ปัญหาเรื่องการขอตั้งกองทุนใหม่ ๆ จากแบงก์ชาติไม่ประสบผลสำเร็จมาหลายครั้ง แต่ต่อนี้ไปเมื่อมีการบังคับใช้ พ.ร.บ. SEC ซึ่งกองทุนรวมและบริษัทหลักทรัพย์อื่น ๆ จะต้องมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เท่ากับว่ากองทุนรวมต้องขออนุญาตการตั้งกองทุนใหม่จาก กลต.

อุดมกล่าวว่า "สิ่งที่ผมอยากเห็นคืออยากให้การขออนุญาตจัดตั้งกองทุนเป็นไปโดยอัตโนมัติ หมายความว่าอะไรที่เข้าข่ายแล้ว หากไม่ตอบขัดข้องมาภายใน 45 วันก็สามารถดำเนินการได้เลย เหมือนกับ พ.ร.บ. ของธนาคารพาณิชย์อะไรก็ตามที่อยู่ใน พ.ร.บ. นั้นธนาคารฯ ก็สามารถทำไปได้เลย"

สิ่งที่อุดมอยากจะเห็นใน พ.ร.บ. SEC คือไม่ต้องการให้กฎหมายนี้มีเนื้อหาที่รัดกุมละเอียดมากเกินไป "ผมคิดว่าเราเห็นตัวอย่างมาแล้วในสหรัฐซึ่งกำหมายควบคุมธุรกิจนี้เขียนไว้รัดกุมแน่นหนามาก แต่ก็ยังมีคนที่สามารถจะโกงได้ เรื่องแบบนี้ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบธุรกิจมากกว่า ผมคิดว่าหากเราเริ่มต้นใหม่ ๆ โดยเฉพาะตลาดของเรายังไม่พัฒนา ผมว่าอย่าเพิ่งให้มีกฎที่รัดกุมมากเกินไป ให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรม กลต. ที่จะเป็นผู้ตัดสินว่าจะทำอะไรได้หรือไม่ได้ ในรูปนี้ผมคิดว่าเราจะพัฒนาได้เร็ว ส่วนการที่ใครจะขึ้นมาเป็นคณะ กลต. นั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องคงต้องเลือกชนิดที่ว่าเมื่อประกาศชื่อออกมาแล้ว คนยอมรับ"

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่อุดมเป็นห่วงอยู่ลึก ๆ เมื่อต้องเผชิญการแข่งขันกับกองทุนใหม่ ๆ ที่ผู้จัดการล้วนมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อื่น ๆ คือเรื่องของสำนักงานสาขา อุดมมองว่าบริษัทจัดการกองทุนที่ได้ใบอนุญาตมาใหม่ ๆ นั้นล้วนมีความได้เปรียบ บล. กองทุนรวมในแง่นี้อย่างมาก

ที่ผ่านมาอุดมพยายามขออนุญาตทางการให้กองทุนรวมมีสาขาหรือตัวแทนในต่างจังหวัดได้ แต่ยังไม่ได้รับการสนองตอบอย่างที่ต้องการ เมื่อก่อนกองทุนรวมใช้วิธีส่งใบจองซื้อขายหน่วยลงทุนทางไปรษณีย์ แต่มีปัญหาเรื่องการติดต่อให้บริการหลังการขาย

สิ่งที่อุดมอยากจะได้คือการได้รับอนุญาตให้มีตัวแทนหรือเปิดออฟฟิศเล็ก ๆ ได้ในสำนักงานสาขาของบริษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายหนึ่งของกองทุนรวม เพื่อที่ว่าเจ้าหน้าที่จะได้ไปเยี่ยมเยียนลูกค้าได้อย่างใกล้ชิด

ประเด็นนี้อุดมต้องรอให้คณะ กลต. เป็นผู้พิจารณาต่อไป

มองในแง่ของการแข่งขันในตลาดบริหารกองทุนแล้ว กองทุนรวมต้องเตรียมรับมือหลายอย่าง แต่มองในแง่ดีของตลาดเสรีแล้ว กองทุนรวมดูจะได้ประโยชน์หลายประการ อย่างน้อยก็เพื่อนร่วมธุรกิจที่จะช่วยกันต่อสู้เรื่องกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนากิจการบริหารกองทุน!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.