|
"เศรษฐพุฒิ"ชี้ปัจจัยลบจ่อถล่มศก.ไทยเพียบ
ผู้จัดการรายวัน(10 กันยายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
"เศรษฐพุฒิ" ชี้สารพัดปัจจัยลบรอถล่มเศรษฐกิจไทยเพียบแม้จะไม่ถึงขั้นวิกฤต ทั้งรายได้ค่าจ้างที่โตเพียง 1.3% ในขณะที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับ 2.2% สะท้อนการใช้จ่ายภาคประชาชนลดลงแน่ ขณะที่ห่วงเอกชนไม่กล้าลงทุนหลังการลงทุนเดือนก.ค.ติดลบ 3% วิพากษ์งบประมาณขาดดุล 1.65 แสนล้านบาท เหลือกระตุ้นเศรษฐกิจเพียง 5 พันล้านบาทที่เหลือเป็นการจ่ายดอกเบี้ยใช้เงินต้น ขณะที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าห่วงเชื่อกระทบศก.ทั่วโลก
ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่มีการประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับลดปรับเพิ่มเป้าหมายตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เป็นตัวบ่งชี้ทิศทางเศรษฐกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักวิจัยต่างๆ เป็นต้น สะท้อนได้อย่างชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยในยุดนี้แม้ว่าจะชะลอตัวลดลงแต่คงไม่ถึงขั้นเข้าสู่ยุควิกฤตเศรษฐกิจเหมือนที่เคยเกิดขึ้น "ผู้จัดการรายวัน" ได้สัมภาษณ์พิเศษ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มวิจัยเศรษฐกิจ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ไทยพาณิชย์ จำกัด นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่ผ่านงานทั้งในส่วนของราชการ องค์กรเอกชน จนมาถึงบริษัทเอกชน
โดยประเด็นที่ถือว่าเป็นห่วงที่สุดเรื่องหนึ่งของเศรษฐกิจไทยในตอนนี้ คือ อัตราการขายตัวของค่าจ้างโดยรวมที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก โดยจากปีที่ผ่านมาที่เติบโต 6.2% เป็นครึ่งปีแรก 50 เติบโตเพียง 1.3% ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ที่ระดับประมาณ 2.2% เรื่องดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนต้องลดลงตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นไม่ทันเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงกว่า
นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจ คือ การชะลอตัวของรายได้เกิดขึ้นในภาคธุรกิจที่เป็นธุรกิจหลักของประเทศ เช่น กลุ่มการเกษตร จากที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 16.6% ในปีที่ผ่านมาลดลงมาอยู่ที่เพียง 3.6% ในช่วงครึ่งปีนี้ ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรม จากระดับ 4.3% ลดลงเหลือเพียง 1.1%, กลุ่มก่อสร้าง จาก 6.2% มาอยู่ที่ 2.6%, กลุ่มค้าปลีกและค้าส่งจาก 8.4% มาอยู่ที่ 1.8% เป็นต้น
สำหรับผลกระทบที่ชัดเจนจากรายได้ของประชาชนที่เติบโตลดลงทำให้ตัวเลขการบริโภคยังไม่ฟื้นตัว โดยในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเติบโตเพียง 0.1% จากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ขณะที่เติบโตเพิ่มขึ้น 0.8% จากเดือนมิถุนายน ด้านตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนในเดือนก.ค. ลดลง 3% เทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา และลดลง 2.7% เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย.
โดยเรื่องดังกล่าวสิ่งที่จะสามารถเข้ามากระตุ้นให้ภาคเอกชนมีการลงทุนเพิ่มขึ้น ภาครัฐควรจะเร่งดำเนินการในโครงการต่างๆเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเอกชน โดยคงต้องฝากให้เป็นนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะมาจากเลือกตั้ง
"ตัวเลขรายได้ของประชาชนที่เติบโตช้ากว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น 2.2% ทำให้การบริโภคลดลงซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว แต่คงไม่ถึงขั้นเกิดวิกฤตในประเทศแน่เพราะยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้แบบนั้น"นายเศรษฐพุฒิกล่าว
กรรมการผู้จัดการ กลุ่มวิจัยเศรษฐกิจ บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวอีกว่า ความตรึงตัวของนโยบายรัฐบาลใหม่ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปีหน้าจากงบประมาณของรัฐบาลที่ขาดดุล 1.65 แสนล้านบาท แต่เป็นการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นจำนวนถึง 1.6 แสนล้านบาท ทำให้มีการขาดดุลจากการดำเนินงานเพียง 5 พันล้านบาทเท่านั้น ซึ่งอาจจะทำให้ต้องมีการขอขาดดุลงบประเภทพิเศษ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ในเรื่องดังกล่าวเป็นไปได้ค่อนข้างยากเพราะต้องใช้ระยะเวลาในการเสนอพิจารณาค่อนข้างนาน
ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่ผ่านมาเรื่องการจับผิดในโครงการที่มีการดำเนินการที่ทุจริตมีมากขึ้น จนหลายครั้งการจับผิดกลายเป็นการจับพลาดทำให้ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งต้องใช้ความระมัดระวังตัวกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากมีการจับจ้องที่จะดำเนินการกับความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นทั้งจากเจตนาที่ดีและไม่ดี
"การจับพลาดมากกว่าการจับผิดทำให้ไม่มีใครไม่กล้าที่จะทำอะไร ทุกคนเลือกที่จะอยู่เฉยๆจะได้ไม่มีปัญหาซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ดี ส่วนเรื่องการขอขาดดุลพิเศษตามทฤษฎีสามารถดำเนินการได้แต่ในทางปฎิบัติเท่าที่เคยทำงานกับราชการมาเป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยากมาก"
อย่างไรก็ตาม นโยบายของรัฐบาลหน้าในช่วงครึ่งปีแรกคงอยู่ในช่วงที่ดำเนินการในโครงการต่างๆด้วยความยากลำบาก การชะลอตัวทางเศรษฐกิจจะยังคงต่อเนื่อง การคาดการณ์ของหน่วยงานต่างๆว่าการเติบโตของจีดีพีในปีหน้าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 5% ส่วนตัวเชื่อว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก โดยเชื่อว่าจีดีพีน่าจะเติบโตประมาณ 4% กว่า ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อก็ยังน่าจะอยู่ในระดับ 2% กว่า ด้านอัตราดอกเบี้ยระหว่างระยะสั้นกับระยาวจะส่วนต่างกันมากขึ้น โดยดอกเบี้ยระยะสั้นมีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงได้อีก
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า ในส่วนของตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ถือว่ายังเป็นตัวหนุนให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ คือ ตัวเลขการส่งออกในภาวะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นและยังมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งจากปัจจัยภายนอกคือเศรษฐกิจสหรัฐที่มีแนวโน้มชะลอตัวทำให้ค่าเงินบาทต้องแข็งค่าขึ้น โดยตัวเลขการส่งออกที่ลดลงจาก 18.4% มาอยู่ที่ 6.2% ใรช่วงครั้งแรกของปีนี้เกิดจากสาเหตุที่การส่งออกไปสหรัฐลดลงจากที่เติบโต 2.3% ในปีก่อนมาสู่เป็นลดลง 0.3% ในช่วงไตรมาส 2/50 โดยแม้ว่าการส่งออกไปยังสหรัฐของประเทศไทยจะมีสัดส่วนเพียง 13% แต่หากพิจารณาจากประเทศอื่นๆที่ไทยส่งออกไปได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของสหรัฐจนทำให้กำลังซื้อลดลงผลกระทบก็จะกลับย้อนเข้ามาที่การส่งออกของประเทศไทย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|