"อีก 15 ปีอาจจะเร็วเกินไป สำหรับโครงการรวมกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง"


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

ถอดความจาก MEKONG BUSINESS ใน MANAGER MAGAZINE ฉบับพฤษภาคม 2535

"การค้าและทุนจากบริษัทต่าง ๆ ในเอเชียกำลังไหลเข้าสู่ประเทศในกลุ่มลุ่มน้ำโขง (อินโดจีน) เป็นไปได้หรือที่อินโดจีนจะมีการรวมกลุ่มเป็น Trade bloc หรือ Mekong Community ตอนนี้เป็นเพียงแค่แนวคิดที่ยังไม่มีข้อสรุปอย่างน้อยอีก 15 ปี"

แนวความคิดในเรื่องกลุ่มประเทศแถบลุ่มแมน้ำโขงนั้นมีมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ภายหลังจากที่คณะกรรมาธิการลุ่มแม่น้ำโขงดำเนินการวิเคราะห์กันอย่างยาวนานและเสียค่าใช้จ่ายสูงมากในช่วงทศวรรษ 1960 โดยเป็นโครงการหนึ่งของสหประชาชาติที่มุ่งความสำคัญไปที่การใช้แหล่งน้ำเพื่อผลิตพลังงานการชลประทาย การขนส่งและการประมง อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำแห่งนี้ แต่ในช่วงทศวรรษถัดมา เหตุผลเชิงประวัติศาสตร์ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวพันกับแผนการด้านการพัฒนาของสหประชาชาติ ดังนั้นเมื่อภูมิภาคนี้หวนคืนสู่สันติภาพอีก การเรียกร้องให้สร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ โดยใช้ระบบตลาดเสรีและนโยบายเปิดประเทศ กับการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก ก็ได้ทำให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หันมาแสวงหาผลประโยชน์ในภูมิภาคนี้ ทั้งที่หลายประเทศเคยเป็นศัตรูกันมาก่อน

นโยบายแปรสนามรบเป็นสนามการค้า ทำให้นักธุรกิจชาวไทยเป็นจำนวนมากหันมาให้ความสนใจกับประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีน พม่า รวมทั้งภาคใต้ของจีนมากขึ้น ประเทศที่เคยติดต่อค้าขายกระสุนและอาวุธก็ปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์มาค้าขายสินค้าแบบปกติ ทุกฝ่ายต่างพากันเรียกร้องสันติภาพความมั่งคั่งและความก้าวหน้า ขณะเดียวกันนักปฏิบัตินิยมรุ่นใหม่ก็ได้เข้ามามีบทบาทต่อจากชนชั้นปกครองที่ชราไปตามกาล

แต่แม้ว่าจะยังมีคำถามชวนสงสัยอยู่ว่า ภูมิภาคซึ่งเคยคละคลุ้งไปด้วยควันไฟแห่งการสู้รบภายใต้อุดมการณ์อันแตกต่างจะสามารถพลิกกลับมาเป็นดินแดนแห่งการติดต่อค้าขาย และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจได้หรือไม่ปรากฏว่ากลุ่มนักคิดส่วนใหญ่ตั้งแต่ในจาการ์ตาจนถึงฮ่องกงยังเชื่อมั่นว่า ในที่สุดแล้วแนวความคิดเกี่ยวกับประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงจะเป็นแนวความคิดหลักขึ้นมาได้

กระนั้นก็ตาม โดยข้อเท็จจริงแล้ว แม่น้ำโขงเองก็ไม่ได้มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่าง ๆ กับประชาชนในภูมิภาคย่อยนี้ การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในระยะหลังก็ไม่ได้เสริมย้ำการเกิดกลุ่มประเทศแถบนี้อย่างจริงจัง แนวความคิดแหลมทองที่ไทยเคยริเริ่มขึ้นก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับแม่น้ำโขง หากเป็นการเน้นให้ประเทศไทยเป็นเสาหลักของการพัฒนา ซึ่งแน่นอนว่าเวียดนามย่อมไม่พอใจกับแนวทางเช่นที่ว่านี้

เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ทำให้แนวความคิดเรื่องกลุ่มประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงไม่เป็นจริงขึ้นมาก็คือ มีกลุ่มนักคิดในภูมิภาคนี้จำนวนไม่น้อยที่ผูกติดอยู่กับภาครัฐบาล จึงมีความคิดในเชิงประเทศต่อประเทศ และกลุ่มต่อกลุ่มอยู่มาก อีกทั้งให้ความสำคัญกับประเด็นบูรณภาพของดินแดนและพันธมิตรระหว่างประเทศมากจนเกินจะข้ามพ้นมาสู่ความรับรู้ว่าระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่นั้น จะกดดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนทางการเมืองและเปลี่ยนรูปของขั้วอำนาจเสียใหม่

นักวิชาการผู้หนึ่งแห่งศูนย์เอเชียศึกษาประจำฮ่องกงได้ให้ทัศนะว่า "กลุ่มนักคิดส่วนใหญ่จะมีแนวความคิดในเชิงอยู่นิ่ง เพราะว่าพวกเขาเป็นกลไกกึ่งราชการ ในแง่ทฤษฎีแล้ว พวกเขามองปัญหาต่าง ๆ ในมุมมองระหว่างประเทศ แต่มีอีกเป็นจำนวนมากที่ดำเนินงานไปในกรอบของภูมิภาคการมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มอาเซียน และจะต้องคิดในเชิงภูมิภาค"

แนวความคิดเช่นว่านี้ก็คือ กลุ่มอาเซียนและจีนซึ่งมีเวียดนามคั่นอยู่ระหว่างกลางโดยคอยระแวดระวังไทยอยู่ ไม่ว่าเวียดนามจะเอนเอียงเข้าหาจีนหรือใช้กลุ่มอาเซียนเป็นตัวถ่วงดุลกับจีนก็ตาม ยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตาดุอยู่และหากเวียดนามให้ความสำคัญกับกลุ่มอาเซียนเป็นอันดับแรก ก็ย่อมเอนเอียงเข้าหาจีนเพื่อปฏิเสธตะวันตก ซึ่งเท่ากับว่าเวียดนามจะหันกลับไปพึ่งพาตนเองมากขึ้นโดยมองไปที่กลุ่มอาเซียนเป็นหลัก

สำหรับ กุสุมา สนิทวงศ์ ประธานกรรมการของสถาบันศึกษาระหว่างประเทศและความมั่นคงในไทยให้ความเห็นว่า "ในระยะสั้นและระยะกลางแล้ว จะไม่มีเหตุผลใดที่จีนหรือเวียดนามจะคุกคามทางทหาร" โดยอ้างถึงความพยายามของรัฐบาลของอานันท์ ปันยารชุนในการผลักดันให้เกิด "เขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) ขึ้น รวมทั้งสนับสนุนให้กลุ่มอาเซียนร่วมมือกันในประเด็นการพัฒนาอินโดจีน เพื่อมิให้เกิดการแข่งขันจนเกิดเป็นความขัดแย้ง"

เหตุนี้เองที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนามจะเป็นปัจจัยชี้นำสำคัญในการผนวกประสานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ให้เป็นจริงขึ้นมาได้ หากทั้งสองประเทศให้ความสำคัญกับความร่วมร่วมใจกัน ดังเช่นกรณีของฝรั่งเศสและเยอรมนี

ไม่มีใครปฏิเสธแนวโน้มที่เอเชียตะวันออกกำลังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ปัจจัยทางเศรษฐกิจมีความสำคัญอย่างยิ่งในการประสานเชื่อมโยงภูมิภาคแถบลุ่มแม่น้ำโขงนี้ ในขณะที่เงื่อนไขทางการเมืองและความมั่นคงยังไม่แน่นอน เพราะไม่ว่าจะเป็นการล่มสลายของสหภาพโซเวียตรวมทั้งประเทศคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในกัมพูชา การปรับความสัมพันธ์ระหว่างฮานอยกับปักกิ่ง ท่าทีนโยบายต่างประเทศของเวียดนาม การสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มอาเซียน กรอบความคิดเรื่องอาฟตา เหล่านี้ล้วนมีส่วนสร้างเงื่อนไขแวดล้อมในระดับภูมิภาคใหม่ขึ้น ภูมิภาคย่อยในแถบลุ่มแม่น้ำโขงนั้นถูกกำหนดให้เป็นตลาดการค้าที่ผสมผสานกันมากขึ้นโดยลำดับ ปฏิสัมพันธ์ทางธุรกิจจะเป็นตัวเร่งจังหวะก้าวทางเศรษฐกิจยิ่งขึ้น กระนั้นสิ่งที่พึงตระหนักก็คือ ประเทศในกลุ่มอินโดจีน และจีนตอนใต้นั้นยังคงมีระบบเศรษฐกิจในแบบคอมมิวนิสต์อยู่ ซึ่งอาจจะขัดขวางทิศทางดังกล่าวได้

ส่วนนักคิดในฮ่องกงนั้นดูเหมือนว่าจะกังวลใจกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์อันมีที่มาจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจมากกว่านักคิดจากที่อื่น แต่ก็ยังเห็นว่าแนวความคิดดังกล่าวนั้นมีความเป็นไปได้ โดยพิจารณาจากตัวอย่างของกลุ่มประเทศต่าง ๆ ในบริเวณนี้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสามเหลี่ยมแห่งการเติบโตในสิงคโปร์ มาเลเซียและอินโดนีเซีย หรือกลุ่มของจีน ไต้หวันและฮ่องกง นอกเหนือไปจากปัจจัยในเชิงสังคม ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแล้ว บริเวณดังกล่าวได้ฝ่าฟันกับอุปสรรคในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน อีกทั้งมีความร่วมมือกันทางด้านการสำรวจเพื่อความก้าวหน้าซึ่งจะสนับสนุนให้นักลงทุนพบช่องทางทางธุรกิจใหม่ ๆ ภายใต้กรอบแนวทางในการขจัดความแตกต่างของกลุ่ม ทว่า กรอบแนวคิดเช่นนี้ไม่อาจใช้ได้ในกลุ่มประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง

โธมัส หว่อง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยของมูลนิธิฮ่องกงยังคาดหมายด้วยว่า "แนวคิดในเรื่องกลุ่มประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง ยังมีความเป็นไปได้ แต่ขึ้นอยู่กับการพัฒนาของประเทศเพื่อนบ้าน… มันไม่ใช่ประเด็นเพ้อฝัน มีความเป็นไปได้ แต่ต้องใช้เวลา"

ส่วนประเด็นที่ว่าไทยอาจจะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้นั้น นอร์แมน โอเวน ประธานกรรมการของโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำศูนย์เอเชียศึกษาในฮ่องกงชี้ว่า "แน่นอนว่าไทยจะต้องเป็นปะเทศที่มีบทบาทอย่างสูง ทว่าไม่ใช่ผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุด นักลงทุนรายใหญ่จะมาจากไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์และฮ่องกง" ขณะที่ ดร. กุสุมาและ ดร. เขียน ธีระวิทย์ นักวิชาการไทยและล็อบบียิสต์ด้านจีนผู้เคยเป็นผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษาได้ให้ความเห็นว่า "กลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงไม่อาจจัดเป็นแนวทางสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจได้… ผมไม่คิดว่าในอนาคตแล้ว ไทยจะเป็นผู้นำในการสร้างภูมิภาคทางเศรษฐกิจ เพราะเราเป็นกันอยู่แล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นน่าจะเกิดจากฐานของกลุ่มอาเซียนที่พยายามร่วมมือกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้…" หากจะมีแนวความคิดใด ๆ ในเรื่องนี้น่าจะเป็นแนวความคิดในภาคเอกชน และแนวโน้มในการสร้างสรรค์ความร่วมมือกันจะได้ไม่อิงอยู่กับกลุ่มเศรษฐกิจกลุ่มใด

"ทุกคนที่ไปลงทุนในอินโดจีนจะไปด้วยความพอใจส่วนตัวเป็นหลัก" ดร. กุสุมา ย้ำโดยชี้ว่าอินโดจีนและพม่าจะไม่ใช่ตลาดใหญ่มาก เพราะติดที่ระดับของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และเท่าที่ผ่านมานั้น ไทยมีการติดต่อทางการค้ากับเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ สหรัฐฯ และอาเซียนมากกว่า ส่วนบริษัทธุรกิจขนาดกลางอาจให้ความสนใจกับภูมิภาคแม่น้ำโขงนี้มากนั้นก็เพื่อการขยายตัวทางธุรกิจอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว การบิน และธุรกิจโรงแรมเท่านั้น ส่วนภาคอุตสาหกรรมการผลิตนั้นบางส่วนยังไม่แน่ใจ

แต่ในท่ามกลางความเคลือบแคลงสงสัยต่อศักยภาพของการเกิดกลุ่มประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงที่มีความแตกต่างกันหลายระดับ บรรดานักคิดในภูมิภาคนี้คาดหมายว่ากลุ่มดังกล่าวจะเป็นจริงได้ก็ต้องอาศัยเวลาอีกสิบปีถึงสิบห้าปีนับจากนี้ โดยเชื่อว่าชุมชนแห่งผลประโยชน์จะเกิดขึ้นภายใต้การแบ่งแยกแรงงานระดับระหว่างประเทศ และยังชี้ให้เห็นถึงบทบาทที่อาจเกิดขึ้นของฮ่องกง กรุงเทพฯ และสิงคโปร์ในแง่ความสัมพันธ์กับภูมิภาคย่อยนี้

นอกจากนั้นยังมีบางทัศนะที่ชี้ว่า ในช่วงเปลี่ยนศตวรรษใหม่ จะเกิดชุมชนแห่งความมั่งคั่งที่เชื่อมโยงญี่ปุ่น กลุ่มนิกส์ และอาเซียนเข้าด้วยกัน โดยเป็นสามเส้าที่มีความแตกต่างกันในแง่ของขั้นตอนการพัฒนา ระดับความแตกต่างของทักษะเทคโนโลยีและอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ อีกทั้งยังพ่วงเอาการประสานเชื่อมโยงเศรษฐกิจเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลกด้วย โดยผ่านจีน ทุกวันนี้อินโดจีนยังเป็นกลุ่มที่หลุดออกจากวงแหวนแห่งความมั่งคั่งที่ว่านี้ ดังนั้น เวียดนาม ลาวและกัมพูชาจึงต้องเร่งปรับโครงสร้างและฟื้นฟูเศรษฐกิจในทิศทางสู่ตลาดเสรี อันจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างภูมิภาคแถบลุ่มแม่น้ำโขงให้เป็นกลุ่มทางธุรกิจแห่งใหม่ แต่จะเป็นแนวการขยายตัวทางเศรษฐกิจแห่งสุดท้ายในเอเชียแปซิฟิก โดยที่แนวโน้มทางธุรกิจนั้นจะต้องแยกภาคอุตสาหกรรมออกจากภาคบริการ ธุรกิจบริการนั้นควรจะอยู่ในฮ่องกง การผลิตสินค้าไฮเทคอยู่ที่กวางตุ้ง และการผลิตสินค้าโลว์เทค และต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมากจะอยู่ในเวียดนาม เป็นต้น

นักคิดบางส่วนยังคาดด้วยว่าต่อไปเวียดนามจะเป็นเหมือนกวางตุ้ง และจะเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมเบาในกลุ่มประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงนี้ และจะใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในฮ่องกง และสิงคโปร์เป็นฐาน ส่วนฮ่องกงจะเป็นส่วนสนับสนุนทางการเงินและโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องอิงกับเทคโนโลยีขั้นสูง

กลุ่มนักคิดองค์กรเอกชน

ฮ่องกง ฟาวเดชั่น (HKF) เป็นกลุ่มนักคิดของนักธุรกิจในฮ่องกง ก่อตั้งขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากทั้งเอกชนและกลุ่มธุรกิจ โดยมีสตีเฟน เฉิง สมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของสมาคมกลุ่มผู้ผลิตของฮ่องกง และเฮนรี่ แวง สมาชิกของ "LEGCO" เป็นประธาน HFK มุ่งโปรโมททุนนิยมวัตถุซึ่งเป็นลักษณะเด่นของฮ่องกง ฉะนั้น การมอบประเทศแถบแม่น้ำโขงจึงหนักไปทางด้านแรงงานราคาถูกและการใช้ที่ดินให้เป็นประโยชน์

สมาคมนี้มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสภาพัฒนาการค้าของฮ่องกงและต่างก็มีอิทธิพลในแวดวงธุรกิจทั้งคู่ และแม้ว่า HFK จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาฮ่องกง หลังปี 1997 สมาคมก็ยังตั้งแผนกวิจัยแยกต่างหากขึ้นมาเพื่อทำการสำรวจศักยภาพการลงทุนและการผลิตในอินโดจีนและพม่าด้วย

กลุ่มวัฒนธรรม

เอเชีย โซไซตี้ เป็นองค์กรด้านการศึกษาระดับนานาชาติที่ตั้งขึ้นโดยไม่หวังผลกำไรใด ๆ ทั้งสิ้นเพราะจุดมุ่งหมายขององค์กรคือเสริมความเข้าใจในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและเหตุการณ์ร่วมสมัยในเอเชีย และยังมุ่งสนับสนุนการติดต่อสื่อสารระหว่างชาวเอเชียและอเมริกันด้วย เอเชียโซไซตี้ในฮ่องกงเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะองค์กรที่จัดให้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในหลายรูปแบบทั้งการประชุม, สัมมนา ฯลฯ สมาชิกองค์กรก็ล้วนแล้วแต่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี จึงให้ข้อมูลได้มากและหลากหลาย ตั้งแต่เรื่องการถอนทหารอเมริกาออกจากภาคพื้นเอเชีย แปซิฟิกไปจนถึงเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตเวียดนาม, ลาว และกัมพูชาด้วย

สมาคมยังเป็นสปอนเวอร์ให้กับการประชุมประจำปีระหว่างประเทศในเอเชียแปซิฟิกคือ "WILLIAMBURG CONFERENCE" ซึ่งจะเน้นประเด็นด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ อาทิ ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่กำลังเพิ่มความสำคัญมากขึ้นทุกขณะและโดยทั่ว ๆ ไปเอเชียโซไซตี้จะจัดโปรแกรมเกี่ยวกับปรากฏการณ์ร่วมสมัยต่าง ๆ บางครั้งก็ให้ความช่วยเหลือนักข่าวด้วยการให้แบ็กกราวน์สั้น ๆ ในบางเรื่องหรือแนะนำผู้เชี่ยวชาญที่จะให้คำปรึกษาได้

กลุ่มนักคิดที่ไม่เผยตัว

เซ็นทรัล โพลิซี ยูนิ (CPU) เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นโดยเลียนแบบ CENTRE POLICY UNIT ของอังกฤษ ต่างกันตรงที่ CPU ของฮ่องกงจะมีบทบาทมากกว่าการเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาลเช่นเดียวกับ CPU ของอังกฤษ แต่ก็ยังหาการทำงานที่ชัดเจนขององค์นี้ไม่ได้ เพราะทางองค์กรไม่เปิดเผยอะไรมาก CPU ผลิตเอกสารหลายฉบับเกี่ยวกับอินโดจีน แต่บทบาทที่เด่นชัดก็ยังอยู่ที่การจัดการกับเรื่องต่าง ๆ ในฮ่องกง

นักคิดขององค์กรเองคือ ลีโอ กูดสตาร์ด ผู้อำนวยการของ CPU, จูดี้ โบนาเวีย อดีตบรรณาธิการของฟาร์อีสเทิร์น อิโคโนมิก รีวิว และที่ปรึกษาฝ่ายประชาสัมพันธ์ของเบอร์สัน มาร์สเทลเลอร์ คือ ลี ชิ คินก็เผยว่า พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผยว่าทำอะไรบ้างใน CPU ความคลุมเครือนี้เองทำให้สรุปได้ว่า CPU คงเป็นกลุ่มนักคิดที่ไม่มีอิทธิพลมากนัก เพราะหากมีบทบาทต่อการกำหนดนโยบายของฮ่องกงก็ควรจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการสร้างสนามบินฮ่องกงด้วย

อย่างไรก็ตาม CPU ก็จัดเป็นองค์กรหนึ่งซึ่งจับตาความเคลื่อนไหวในเอเชียแปซิฟิกและนโยบายของฮ่องกงไปด้วยพร้อม ๆ กัน และเนื่องจากองค์ที่เป็นของรัฐบาลนี้จะห่วงในเรื่องรายได้มากกว่าสนใจความเป็นมาขององค์กร รูปแบบความสนใจในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงของ CPU จึงเป็นการโฟกัสไปทีละประเทศ แล้วโยงว่าประเทศใดส่งผลกระทบอะไรต่อฮ่องกงบ้าง ประเด็นที่ CPU ให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ เวียดนามจะจัดการกับปัญหา "โบต พีเพิล" อย่างไร

กลุ่มนักคิดบริสุทธิ์

เซ็นเตอร์ ฟอร์ อาเซียน สตัดดี้ (CAS) เป็นองค์กรกลุ่มนักคิดระดับมหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของนักวิชาการ, นักการเมืองและผู้มีส่วนในการกำหนดนโยบายจากทั่วทั้งภูมิภาคนี้ แต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจการเมือง ศูนย์นี้เป็นที่พบปะของนักวิชาการจากต่างประเทศทั้งหลายและสตาฟ์ทำงาน 30 คน, โปรเฟสเซอร์จาก 40 คณะของมหาวิทยาลัย และยังมีผู้ร่วมทำวิจัยอีก 50 คน มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีงบประมาณปีละ 250,000 ดอลลาร์ฮ่องกง

เมื่อปีที่แล้วทางศูนย์ได้จัดประชุมในหัวข้อการแบ่งเขตแดนในทะเลจีนใต้ระหว่างจีนและฮ่องกงขึ้นตามมาด้วยรายงานภายใต้หัวข้อ "FISHING IN TROUBLE WATER" CAS ยังได้ให้ความสะดวกกับนักวิชาการและนักข่าวบางส่วนที่มีสนับสนุนการเผยแพร่สิ่งพิมพ์และการจัดสัมมนาของทางศูนย์ใน 4 ขอบเขตใหญ่ ๆ คือจีนสมัยเก่า, จีนร่วมสมัย, ฮ่องกง และเอชียตะวันออกเฉียงใต้

กลุ่มนักคิดที่ไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงโลก

อินสติติว ออฟ เซ้าธ์ อีสต์ อาเซียน สตัดดี้ เป็นกลุ่มนักคิดที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดของฮ่องกง เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ได้เปิดสำนักงานขึ้นที่อินโดจีนเพื่อให้บริการกับภาคเอกชนและสาธารณะในการร่วมกันพัฒนาภูมิภาคนี้ในระยะยาว ตามนโยบายของกลุ่มที่ว่าการจับตาประเทศในกลุ่มอินโดจีนก็จำเป็นเท่า ๆ กับการจัดการเรื่องของสิงคโปร์เองเช่นกัน เพราะภูมิภาคนี้มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากอยู่

ISEAS ใช้งบในการตั้งสำนักงานในอินโดจีนไป 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร ์และรับผิดชอบจัดประชุมในประเด็นของเวียดนามทุกปี ซึ่งการประชุมครั้งแรกจะจัดขึ้นในปลายปีนี้ นอกจากนี้ ISEAS ยังมีหน่วยงานอื่นที่อยู่ในเครือคือ หน่วยวิจัยเศรษฐกิจอาเซียน, โครงการศึกษาด้านยุทธวิธีประจำภูมิภาค และโครงการด้านสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทาง ISEAS มีนโยบายการหาเงินสนับสนุนเอง ทำให้ได้เงินช่วยเหลือในรูปของการบริจาคจากหลายหน่วยงาน อาทิ KONRAD ADENATURE FOUNDATION, FORD FOUNDATION, NEW SEALAND HIGH COMMISSION และ ROCKEFELLER BROTHERS FUND เพราะทางกลุ่มเห็นว่า การได้เงินสนับสนุนมาในรูปแบบนี้จะทำให้ทางกลุ่มทำอะไรได้มากขึ้น

ISEAS ปกครองโดยกรรมการที่มีหน้าที่ดูแลดินแดน และดำเนินงานโดยคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงอีกชุดหนึ่ง ภายใต้จุดยืนที่ว่า ISEAS ไม่ใช่สถาบันทางวิชาการแต่เป็นศูนย์วิจัยอย่างเต็มตัวฉะนั้นจึงไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยเด็ดขาด ส่งผลให้นักคิดในกลุ่มนี้ไม่มีแนวการคิดแบบถอนรากถอนโคนเท่าใดนัก ผู้อำนวยการของกลุ่มนี้คือ เคเอส แซนดูก็เผยว่า "เราไม่ได้ตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อความขัดแย้ง" นักวิชาการทั้งหลายควรร่วมกันหาทางเลือกในการแก้ปัญหาต่าง ๆ แต่ไม่ใช่หาทางเปลี่ยนแปลงโลก เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของนักการเมือง

ผลงานที่ตีพิมพ์โดย ISEAS มี ASEAN ECONOMIC BULLETIN, CONTEMPORARY SOUTHEAST ASIA และ SOCIAL ISSUES IN SOUTHEAST ASIA

กลุ่มนักคิดระดับท้องถิ่น

อินสติติว ออฟ สแตเตอจิก แอนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล สตัดดี้ มาเลเซียไม่ใคร่มีบทบาทมากนักในการจับประเด็นประเทศกลุ่มแม่น้ำโขง แต่ก็ไม่ได้ละเลยในเรื่องนี้ ดังที่ผู้อำนวยการของ ISIS คือ โมฮัมเมด จอว์ฮาร์ ฮาสซัน เผยว่า "มาเลเซียสนใจความเป็นไปของอินโดจีนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของเวียดนามและกัมพูชาแต่ทาง ISIS ยังไม่มีแผนที่จะตั้งศูนย์วิจัยในภูมิภาคนี้"

ISIS มาเลเซียจะเน้นการศึกษาระดับนโยบายและการแก้ปัญหาเกี่ยวข้องกับเซรษฐกิจ, วิทยาศาสตร์, สิ่งแวดล้อม, พลังงาน, การสร้างชาติและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติในประเทศแถบแม่น้ำโขง อันเป็นความแตกต่างระหว่าง ISIS กับองค์กรนักคิดอื่น ๆ ยกเว้น CSIS หรือ CENTER FOR STRATEGIC & INTERNATIONAL STUDIES ในจาการ์ตา และเป็นเหตุผลว่าทำไม ISIS จึงไม่เปิดสำนักงานในอินโดจีนเช่นเดียวกับ ISEA ของสิงคโปร์

อย่างไรก็ตาม ISIS ได้ตั้งศูนย์เพื่อศึกษาประเทศญี่ปุ่นขึ้น โดยเฉพาะด้วยเหตุผลว่า "ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกมากและสำคัญสำหรับเราโดยพื้นฐานอยู่แล้ว" นอกจากนั้น ISIS ยังตั้งศูนย์ศึกษาขึ้นอีก 2 แห่งคือ TUN HUSSIEN ONN CENTER FOR NATIONAL UNITY & BUILDING และ CENTER FOR ENVIRONMENT STUDIES

ISIS มีกรรมการควบคุมอยู่ 21 คน แต่ไม่เหมือน ISEAS เพราะ ISIS มาเลเซียไม่ตีพิมพ์รายงานประจำปีแสดงรายละเอียดทางด้านการเงิน ส่วนเงินสนับสนุนนั้นมาจากกองทุนและกลุ่มธุรกิจทั้งจากท้องถิ่นและต่างประเทศ โดยเชื่อว่ามีผู้สนับสนุนด้านการเงินรายใหญ่คือ SASAGAWA PEACE FOUNDATION, THE ASIA FOUNDATION, THE INTERNATIONAL DEVELOPMENT RESEARCH CENTER OF CANADA และ FRIEDRICH STIFTUNG และคาดว่าญี่ปุ่นเป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินรายใหญ่ที่สุด

กลุ่มนักคิดที่เน้นการบริการ

อินฟอร์เมชั่น แอนด์ รีเสิร์ช เซ็นเตอร์ ออฟ สิงคโปร์ หรือ IEC เป็นกลุ่มนักคิดของเอกชน ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ตั้งขึ้นเพื่อโปรโมตกิจกรรมด้านสันติภาพ, การประสานความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างราบรื่น, เสริมสร้างสถาบันประชาธิปไตย, การแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี และระบบการค้าเสรีด้วย

ผู้อำนวยการของ IRC คือ ราชเรนาม เผยว่า "ทางกลุ่มมีกิจกรรมหลายอย่างเกี่ยวกับอินโดจีน หนึ่งในนั้นคือการจัดอภิปรายขึ้นที่ฮานอยเมื่อปีกลาย" ในหัวข้อ "INTERACTION FOR PROGRESS VIETNAM'S NEW COURSE AND ASEAN'S EXPERIENCE" จุดประสงค์เพื่อรวบรวมผู้นำ, ผู้กำหนดนโยบาย, ผู้จัดการระดับอาวุโสและผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายจากเวียดนามและอาเซียนมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และหาทางแก้ไขปัญหาที่พบเห็น

IRC ตั้งขึ้นในปี 1985 ในฐานะศูนย์วิจัยอินโดจีน มี สุริน พิศสุวรรณ จากประเทศไทยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้วยกิจกรรมหลัก ๆ ของ IRC คือการวิจัยและตีพิมพ์เรื่องราวที่เป็นที่กล่าวขวัญกันมาก กิจกรรมรองลงมาคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งก็มีโปรแกรมกลายอย่าง อาทิ สอนชาวเวียดนามในการทำธุรกิจกับกลุ่มอาเซียนและประเทศอื่น ๆ และ IRC ยังมีแผนจะจัดสัมมนาประมาณ 4-6 ครั้งในหัวข้อที่เกี่ยวกับการเงิน, การธนาคาร, การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และการบริหารท่าเรือ นอกจากนั้นยังมีแผนจะตั้งโรงเรียนสอนการบริหารสมัยใหม่ในฮานอยคือ INTERNATIOANL RESOURCE CENTER ด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ทาง IRC ก็ยังได้จัดตั้งกลุ่มที่ปรึกษาธุรกิจขึ้นในภูมิภาคนี้ และในปีนี้ก็จะมีการประชุมอีกหลายครั้งในเวียดนามและกัมพูชา รวมไปถึงอาจจะทำการค้ากับประเทศในกลุ่มอินโดจีนด้วย

กลุ่มนักคิดแบบเสนอทางเลือก

อินสติติว ออฟ ซิเคียวริตี้ แอนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล สตั้ดดี้ หรือ ISIS ในไทยตั้งขึ้นมาเมื่อปี 1983 ด้วยจุดประสงค์ในการเปิดกว้างสำหรับการเสนอทางเลือกทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาคโดยมี ดร. กุสุมา สนิทวงศ์ เป็นประธาน

ISIS ของไทยก่อตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือของนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพียงไม่กี่คน และเน้นการเสนอแง่มุมทางด้านสวัสดิภาพอันมีขอบเขตไปถึงการทหารและเจ้าหน้าที่ของรัฐ กิจกรรมของทางกลุ่มยังรวมไปถึงการสนับสนุนด้านการวิจัยและการจัดประชุมและสัมมนาทั้งในระดับนานาชาติและระดับท้องถิ่น การประชุมในลักษณะนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในหัวข้อเกี่ยวกับพลังงานและสวัสดิภาพของประเทศ และมีรายงานที่จับประเด็นเรื่องบทบาทของทหารไทยพิมพ์เผยแพร่ด้วย ปัจจุบัน ดร. กุสุมากำลังทำวิจัยเรื่องสิ่งแวดล้อมและสวัสดิภาพของประเทศอยู่

ISIS ยังจัดประชุมประจำปีคือ ASEAN ISIS ขึ้นโดยมีผู้เข้าร่วมหลายองค์กรด้วยกัน เช่น ISIS ในมาเลเเซีย, THE SINGAPORE INSTITUTE OF INTERNATIONAL AFFAIRS และ THE PHILLIPINE CENTER FOR STRATEGIC INTERFACE AND DEVELOPMENT และแม้ว่า ISIS จะไม่มีการประสานงานโดยตรงกับกลุ่มนักคิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ ISIS ก็พบปะกับกลุ่มนักคิดของจีนอยู่เนือง ๆ

ISIS เองไม่มีนักวิจัยที่ทำงานเต็มตัว ส่วนใหญ่จะเป็นเลขานุการคณะกรรมการระดับสูงประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองอย่าง ชัยอนันต์ สมุทรวานิช และ ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร องค์กรนี้ไม่ได้เงินสนับสนุนจากรัฐบาล แต่อาศัยเงินทุนที่ได้มาจาก FORD, ROCKEFELLER และกองทุนของเอเชีย

กลุ่มนักคิดที่เป็นกลุ่มแม่โขง

แม่โขง เบซิน ดีเวลอปเมนต์ รีเสิร์ช เน็ตเวิร์ค ซิเครท รีแอต หรือแม่โขงเน็ตเวิร์ค ตั้งขึ้นเมื่อปีที่แล้วเพื่อประสานความร่วมมือด้านการวิจัยในแถบแม่น้ำโขง โดยได้รับการสนับสนุนจากอินสติติว ออฟอาเซียน สตัดดี้ (IAS) มี ดร. เขียน ธีรวิทย์ เป็นประธาน

แม่โขง เน็ตเวิร์คนั้นมีองค์กรต่าง ๆ ที่เข้าร่วมจาก 6 ประเทศ อาทิ YUNNAN SCIENCE & TECHNOLOGY ของจีน, FOREIGN ECONOMIC RELATIONS DEPARTMENT ของพม่า, MINISTRY OF SCIENCE 7 TECHNOLOGY ของลาว, STATE COMMISSION OF SCIENCE ของเวียดนาม, IAS ของไทย และ SUPREME NATIONAL COUNCIL ของกัมพูชา

ผลงานขององค์กรคือการจัดประชุมเมื่อปีที่แล้วซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก INTERNATIONAL DEVELOPMENT RESEARCH CENTER (IDRC) ของแคนาดา ผู้เข้าร่วมการสัมมนาเป็นผู้เชี่ยวชาญจากแม่โขงคอมมิตตีและสมาชิกจาก 69 ประเทศ โดย ดร. เขียน เผยถึงการทำงานขององค์กรว่า "เราตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อทำการวิจัยและขอให้สมาชิกของแต่ละประเทศเลือกสถาบันหลัก ๆ ของตนมาร่วมงานกัน การประชุมครั้งต่อไปซึ่งจะจัดขึ้นที่ประทศไทยนั้น จะเป็นการหาวิธีการร่วมกันทำวิจัยในอีก 3 ปีข้างหน้าโดยหัวข้อที่จะศึกษาครอบคลุมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม, การค้า, การท่องเที่ยว. การขนส่ง, ชลประทานและการประมง"

งบประมาณจำนวน 15 ล้านบาทที่จะต้องใช้ในช่วง 3 ปีนั้น IDRC จ่ายไปก่อน นอกจากนั้นยังได้รับเงินแบ่งสรร 2 ล้านบาทจากงบประมาณการร่วมมือด้านเทคนิคและเศรษฐกิจสำหรับการพัฒนาประเทศจากรัฐบาลด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.