"คนชั้นกลาง" ดูจะเป็นคำใหม่สำหรับสังคมไทยและไม่ใช่คำที่มีความหมายตายตัวหรือสมบูรณ์ในตัวเอง
คนชั้นกลางของแต่ละสังคมจะมีลักษณะบางอย่างร่วมกันทั่วโลก คือ รักงานสะอาด
ทำงานที่เป็นวิชาชีพ ต้องอาศัยการเรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์ ใช้ทักษะ ไม่ใช่งานที่ใช้แรงงานหนัก
เป็นคนที่มีความปรารถนาในชีวิตไม่รู้จบ สะสมวัตถุตามระบบทุนนิยมที่เกื้อหนุน
เช่น มีบ้านบ้านก็ต้องมีสนามหญ้า มีแอร์ แล้วก็มีรถ เล่นกอล์ฟ เป็นต้น
"ยิ่งเป็นชนชั้นกลางแท้ก็ยิ่งมีลักษณะเหล่านี้มาก" บุญรักษ์
คณบดีคณะวารสารฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงโฉมหน้าของ "ชนชั้นกลาง"
นี่เป็นลักษณะที่แพร่หลายไปทั่วโลก โดยผ่านระบบการสื่อสารที่เข้าถึงกันอย่างรวดเร็วจนรู้สึกว่าโลกใบนี้แคบลงถนัดตา
ซึ่งบุญรักษ์มองว่าเป็นเพราะถูกครอบโดยสื่อ และทำให้อยากเข้าร่วมกับสังคมกลุ่มนี้
ขณะเดียวกันก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
บุญรักษ์กล่าวว่า "ชนชั้นกลาง" สามารถไต่เต้ามาจากหลายระดับ
อาจจะมาจากลูกชาวนา แต่มีความรู้ที่พัฒนาจากทักษะขาย PROFESSIONAL SKILL
ซึ่งจะเปลี่ยนได้จากการศึกษา จนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนที่สอบเอ็นทรานซ์ไม่ได้รู้สึกเหมือนชีวิตจะดับ
เนื่องจากคนต้องการได้ทุกอย่างได้เร็วที่สุด
ยิ่งเป็นกลุ่มมืออาชีพเฉพาะด้าน เมื่ออายุมาก เงินเดือนก็ยิ่งแพง
บางส่วนอาจจะมีสินทรัพย์ที่สะสมดั้งเดิม อาจจะเป็นลูกเจ้าของที่ดิน แล้วไปทำงานเงินเดือน
2-3 หมื่นบาท เป็นต้น หรือบางคนอาจจะไม่จบปริญญา แต่ลงทุนค้าขายสร้างฐานะเอง
และสนใจใฝ่รู้อยู่ตลอดเวลา "ชนชั้นกลาง" จึงมีมิติของรายละเอียดต่างกัน
ขณะที่บริษัทวิจัยและที่ปรึกษา ซี. เอส. เอ็น. แอนด์ แอสโซซิเอท จำกัด
ได้นิยาม "ชนชั้นกลาง" ในแง่คุณภาพโดยมีคุณสมบัติที่สำคัญ เช่น
มีอาชีพเป็นเจ้าของกิจการ หรือมีเงินเดือนมากว่าหนึ่งหมื่นบาทขึ้นไป มีบัญชีในธนาคาร
2-3 บัญชี มีบัตรเครดิต 1-2 ใบ เดินทางไปต่างประเทศเพื่อท่องเที่ยวหรือเจรจาธุรกิจอย่างน้อยปีละครั้ง
มีรถยนต์ส่วนตัวอย่างน้อย 1 คัน และใช้อุปกรณ์สื่อสาร เช่น วิทยุติดตามตัว
หรือโทรศัพท์มือถือ (โปรดดูตาราง "ลักษณะของชนชั้นกลาง")
ทั้งนี้ "ชนชั้นกลาง" จะพัฒนาได้ดีในสังคมทุนนิยม ซึ่งระบบการปกครองที่เกื้อหนุนที่สุด
คือ ประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม บุญรักษ์มองว่า สังคมทุนนิยมมีความทารุณอยู่ในตัว โดยเฉพาะกระฎุมพีในไทย
ยังมีไม่มากจนทีวีแพร่หลายเมื่อประมาณ 15 ปีที่ผ่านมาและกลายเป็นสื่อเย้ายวนให้คนดูมีความต้องการสิ่งใหม่
ๆ อยู่เสมอ "อยากได้โน่นอยากได้นี่เรื่อยไป ทำให้คนยอมขายที่ดิน หรือบางคนขายลูกสาวเพื่อให้ได้วัตถุตามต้องการ
เป็นภาวะที่ทำให้จิตใจปั่นป่วนอยากมีหน้ามีตามีวัตถุต่าง ๆ อย่างที่คนอื่นมี"
เว้นเสียแต่ว่าจะรู้จักพอ
ขณะที่สื่อจะซับซ้อนมากขึ้นตามสังคมและเศรษฐกิจที่ยุ่งยากขึ้นเช่นกัน