แก้พ.ร.บ.ร่วมทุนเพิ่มมูลค่า3พันล.


ผู้จัดการรายวัน(5 กันยายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ครม.ไฟเขียวพ.ร.บ.ร่วมทุนที่กระทรวงการคลังเสนอให้ปรับมูลค่าขั้นต่ำของโรงการจาก 1 พันล้านบาทเป็น 3 พันล้านบาทได้ โดยให้คลังและสภาพัฒน์ฯทบทวนมูลค่าขั้นต่ำของโครงการต่างๆ ทุก 5 ปีเพื่อให้ข้อมูลตรงกับความเป็นจริง

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบร่างแก้ไข พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการกิจการของรัฐ (ฉบับที่..) พ.ศ....(พ.ร.บ.ร่วมทุน) โดยแก้ไขให้รูปแบบการร่วมทุนด้วยการปรับมูลค่าขั้นต่ำโครงการจาก 1,000 ล้านบาท เป็น 3,000 ล้านบาท ส่วนมูลค่าการลงทุนที่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท ให้สิทธิกระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาออกกฎเกณฑ์การร่วมทุน

โดยครม.ยังเห็นชอบให้กระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)หรือสภาพัฒน์ฯ ทบทวนมูลค่าขั้นต่ำของโครงการในทุกๆ 5 ปี เพื่อความเหมาะสมของช่วงเวลาในการดำเนินงาน นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขเรื่องการตั้งคณะกรรมการกำกับการติดตามโครงการให้มีอำนาจดูแลปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

“หลังจากวันนี้ไปจะเสนอร่างดังกล่าวเข้าพิจารณาในคณะกรรมการกฤษฎีกาในวันพฤหัสฯนี้ ซึ่งเชื่อว่าอีก 2 สัปดาห์จะเสนอเข้าสนช.ได้' นายพงษ์ภาณุ กล่าว

นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 4 กันยายน 2550 ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ เนื่องจากเดิม กฎหมายการให้สัมปทานหรือการให้สิทธิแก่เอกชน หรือการร่วมทุนกับภาครัฐนั้น มักประสบปัญหาขาดความชัดเจนของกฎหมาย การพิจารณากลั่นกรองโครงการที่ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ขาดบทบัญญัติที่กำหนดขั้นตอนในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญา และขาดการบริหารและกำกับการดำเนินโครงการที่มีประสิทธิภาพ

จึงพิจารณาเห็นสมควรปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 เพื่อแก้ไขปัญหาการตีความและอุดช่องว่างในการบังคับใช้กฎหมาย และปรับปรุงกระบวนการพิจารณากลั่นกรองโครงการ การบริหารและกำกับการดำเนินโครงการให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

โดยร่างกฎหมายดังกล่าว มีสาระสำคัญของการแก้ไขดังนี้1. กำหนดนิยามคำว่า “การร่วมงานหรือดำเนินการ”ให้ครอบคลุมถึงกรณีที่ให้เอกชนลงทุนไปก่อนและภาครัฐผูกพันที่จะชำระคืนภายหลัง ได้แก่ โครงการจ้างเหมาเบ็ดเสร็จ (Turnkey) และให้กระทรวงการคลังสามารถออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดรูปแบบการลงทุนที่มีลักษณะร่วมทุนอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้

2.ปรับมูลค่าขั้นต่ำของโครงการจาก 1,000 ล้านบาท เป็น 3,000 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับขนาดของโครงการลงทุนในปัจจุบัน และให้กระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติร่วมกันทบทวนมูลค่าขั้นต่ำของโครงการทุก ๆ 5 ปี โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาและให้กระทรวงการคลังกำหนดหลักเกณฑ์ในการประเมินมูลค่าโครงการให้อยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกันโดยออกเป็นกฎกระทรวง

3.ให้กระทรวงการคลังกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการดำเนินการสำหรับโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท โดยออกเป็นกฎกระทรวง 4.เปลี่ยนบทบาท “คณะกรรมการประสานงาน” เป็น “คณะกรรมการกำกับติดตามโครงการ” และแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการ เพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ และกำหนดขั้นตอนในการดำเนินการในกรณีมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาและการสิ้นสุดสัญญาให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นและที่สำคัญมีการปรับปรุงวิธีการพิจารณากลั่นกรองโครงการโดยกำหนดให้ทั้ง สศช.และกระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาทุกโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการใหม่ หรือโครงการที่มีทรัพย์สินอยู่แล้ว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.