การเติบโตของแบงก์ญี่ปุ่นในตลาดการเงินโลกเมื่อทศวรรษที่ 80 ได้กระตุ้นแบงก์ยุโรปให้ตื่นตัวต่อการแสวงหาหลักการและแนวทางในการควบคุมการเติบโตของแบงก์ญี่ปุ่นเป็นจริงจังมากขึ้น
BIS หรือกติกาในการจัดวางโครงสร้างและวัดมาตรฐานความแข็งแรงของเงินลงทุนในระบบการเงินของโลก
เป็นดอกผลของความร่วมมือในการควบคุมการเติบโตของแบงก์ญี่ปุ่นจึงเกิดขึ้นอย่างมีผลในภาคปฏิบัติ
ปราการ ทวิสุวรรณ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนแบงก์ทหารไทยเล่าให้ "ผู้จัดการ"
ฟังว่า สาเหตุที่แท้จริงของการใช้มาตรฐาน BIS เกิดจากกลุ่มประเทศยุโรปและอมริกาที่เห็นว่าแบงก์ในกลุ่มของตนเสียเปรียบแบงก์ญี่ปุ่น
สังเกตได้จากกลางทศวรรษ 1980 ธนาคารพาณิชย์ที่ติด 10 อันดับที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ล้วนเป็นธนาคารจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปทั้งสิ้น แต่ปลายทศวรรษกลับกลายเป็นว่าเกือบทั้งหมดของ
10 อันดับแรกกลายเป็นแบงก์พาณิชย์ของญี่ปุ่น
เนื่องเพราะการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของแต่ละประเทศแตกต่างกัน
ทำให้เกิดความเสียเปรียบได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของแต่ละประเทศค่อนข้างมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศญี่ปุ่น ที่ไม่ค่อยเข้มงวดเรื่องเงินกองทุนมากนัก
ตัวอย่างเช่น การอนุญาตให้นับมูลค่าหุ้นเข้าเป็นเงินกองทุนด้วย ทำให้ช่วงปี
1987-1989 ญี่ปุ่นมีเงินกองทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาหุ้นในตลาดเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว
ทำให้สามารถขยายสินเชื่อข้ามชาติได้มากกว่ายุโรปและสหรัฐฯ ความคิดการจัดการเงินกองทุนให้เป็นมาตรฐานเดียวกันหมดจึงเกิดขึ้น
โดยหาเหตุผลเรื่องความแข็งแกร่งของแบงก์เป็นหลักประกันของผู้ฝากเงินมาสนับสนุน
ขณะที่ เพ็ญวัน ได้ย้ำว่าการรับ BIS เข้ามาใช้ในไทยเพราะหลีกเลี่ยงการบีบจากแกตต์หรือตลาดร่วมยุโรปไม่ได้
การรวมตัวของยุโรปได้เปิดให้แบงก์ทำธุรกิจเสรีมากขึ้น เช่น ทำประกันภัย หลักทรัพย์ได้พลอยกดดันให้เราต้องเปิดระบบการเงินมากขึ้นด้วย
หากเรามองในแง่มุมของการแข่งขันเมื่อมีการแข่งขันมากความเสี่ยงก็มากเป็นเงาตามตัว
ทางการก็ต้องเข้าไปดูความมั่นคง ทำให้ความเสี่ยงของสินทรัพย์ทั้งหลายใกล้เคียงความจริงมากขึ้น
สรุกก็คือเป็นการยกฐานะแบงก์พาณิชย์ไทยในแง่ของความมั่นคงให้เป็นที่ยอมรับและรุกเข้าไปทำธุรกิจแข่งกับนานาชาติในตลาดโลกได้
"ความจริงไม่ปฏิบัติตาม BIS ก็ได้ไม่มีใครลงโทษเพราะไม่มีบทกำหนดโทษไว้
แต่อาจจะไม่มีใครร่วมมือในการให้กู้เงินก็เป็นได้"
กิตติ พัฒนพงศ์พิบูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครธน ให้ความเห็นว่า
การรับกฎ BIS ถือว่าเร็วเกินไปสำหรับแบงก์ไทย ซึ่งจริง ๆ แล้วเราอาจไม่จำเป็นต้องใช้ก็เป็นได้
เพราะเครือข่ายแบงก์ไทยในต่างประเทศยังมีน้อยมาก เมื่อรับ BIS ก็ใช่ว่าจะเกิดผลดีเพียงด้านเดียว
กลุ่มประเทศใหญ่ที่มีความแข็งแรงมาก มักจะใช้กฎเกณฑ์เพื่อเอาเปรียบประเทศเล็ก
ตัวอย่างเช่นในการประชุมแกตต์ กลุ่มประเทศยุโรปจะพูดถึงแต่กฎเกณฑ์ทางธุรกิจที่เขาแข็งแกร่งอยู่แล้ว
และใช้พลังต่อรองให้คนอื่นปฏิบัติตาม
"เมื่อมีการเจรจากับประเทศไทย และเขารู้ว่าเรามีความสามารถเรื่องการเกษตร
เขาจะไม่พูดถึงเรื่องนี้เลย จะพูดแต่ให้ไทยเปิดเสรีธุรกิจการเงิน" กิตติ
ตบท้ายด้วยการชี้ถึงเล่ห์ของกลุ่มที่เรียกตนเองว่าเจริญแล้ว
แริ่มแรกของการปรับตัวนั้นย่อมได้รับผลกระทบแน่นอน แบงก์พาณิชย์ในสหรัฐฯ
ได้มีการประมาณการฐานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงโดยการใช้ข้อมูลเบื้องต้นปี
2532 ซึ่งยังมิได้นำ BIS มาใช้อย่างจริงจัง ยังไม่ได้วัดเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง
8% พบว่า 642 ธนาคารหรือประมาณ 5% ของทั้งระบบต้องการเงินทุนเพิ่มและธนาคารใหญ่ที่สุด
26 แห่งที่มีสินทรัพย์ราว 20% ของทั้งระบบต้องการเงินทุนเพิ่ม 3% หรือประมาณ
28.8 พันล้านเหรียญสหรัฐแสดงว่าธนาคารใหญ่บางแห่งยังขาดแคลนเงินกองทุนอยู่มาก
ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีสถาบันการเงินมากมายกลับมีเพียง 9 แห่งเท่านั้นที่มาตรฐานเงินกองทุนเป็นไปอย่าง
BIS กำหนด นอกนั้นต้องหาเงินกองทุนมาเพิ่ม ซึ่งธนาคารใหญ่บางแห่งก็เลือกเอาการควบกิจการเป็นทางออก
เช่น KYOWA ควบกิจการกับ SAITAMA รวมกันเป็น KYOMA SAITAMA เมื่อวันที่ 1
เมษายน 2534 นี้เอง คาดว่าจะมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์อยู่ในอัตรา
8.08% เท่านั้น
โครงสร้างสินทรัพย์เสี่ยงที่เปลี่ยนแปรไป ทำให้รายการสินทรัพย์เสี่ยงมีเพิ่มขึ้น
โดยส่วนที่เพิ่มอย่างเห็นได้ชัดคือรายการนอกงบดุลที่ต้องนำมาคูณกับอัตราส่วนโอกาสแปลงสภาพเป็นสินทรัพย์
(CONVERSION FACTOR) แล้วจึงนำมาคำนวณกับอัตราความเสี่ยงของสินทรัพย์อีกที
ทั้งนี้แนวปฏิบัติที่ BIS ได้กำหนดไว้มีอัตราส่วนของโอกาสแปรสภาพสินทรัพย์เป็น
4 กลุ่มด้วยกันคือ 0%, 20%, 50%, 100%
ธาริษา วัฒนเกส รองผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์จากแบงก์ชาติก็เห็นควรตามแนวทาง
BIS โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ 3 กลุ่มคือกลุ่มแรกรายการที่ธนาคารพาณิชย์มีภาระรับผิดชอบเทียบเท่าสินเชื่อ
ได้แก่การรับอาวัลการรับรอง การค้ำประกันการกู้ยืมเงิน รายการเหล่านี้มี
CONVERSION FACTOR 100%
กลุ่มที่ 2 รายการที่ธนาคารพาณิชย์อาจไม่ต้องจ่ายเงินแทนลูกค้า ได้แก่ภาระผูกพันซึ่งขึ้นอยู่กับผลดำเนินงานของลูกค้าเช่น
BID BOND PERFORMANCE BOND การจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายตราสาร
ตลอดจนภาระผูกพันเพื่อการนำสินค้าเข้า รายการเหล่านี้มี CONVERSION FACTOR
ตั้งแต่ 20-50%
กลุ่มที่ 3 สัญญาเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย เช่นสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า
หรือสัญญาป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น ความเสี่ยงเหล่านี้เป็น
CREDIT RISK ในกรณีที่ลูกค้าอาจไม่สามารถชำระเงินตามที่ตกลงกันไว้ได้มิใช่เป็น
FOREIGN EXCHANGE หรือ INTEREST RATE RISK ซึ่งมีวิธีคำนวณอีกวิธีหนึ่ง
สัญญาอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยนี้มี CONVERSION FACTOR ตั้งแต่
0.5-5% ขึ้นอยู่กับความยาวของอายุสัญญาและหลังจากแปลงสภาพเป็นสินทรัพย์แล้ว
BIS เห็นว่าควรจัดเป็นลูกค้าชั้นดี และมีน้ำหนักความเสี่ยงไม่เกิน 50% แต่ฝ่ายกำกับฯ
เห็นว่าธุรกิจเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ จึงควรให้น้ำหนักตามสถานะคู่สัญญา
เช่นถ้าเป็นบริษัทเอกชนที่ไม่ใช่สถาบันการเงินก็อาจกำหนดให้มีอัตราความเสี่ยงเป็น
100%
สินทรัพย์เสี่ยงที่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของอัตราความเสี่ยงนั้นมีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลงในส่วนที่เพิ่มขึ้นคือเงินให้กู้ยืมระหว่างธนาคารพาณิชย์
เงินให้กู้ยืมแก่องค์กรของรัฐและรัฐวิสาหกิจ เงินให้สินเชื่อเพื่อการส่งออก
ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ สินทรัพย์ประจำอื่น ๆ เงินให้สินเชื่อแก่ภาคเศรษฐกิจ
ที่สำคัญ สินเชื่อภาคเอกชนมีความเสี่ยงเต็ม 100%
ส่วนสินทรัพย์เสี่ยงที่มีความเสี่ยงต่ำลงคือ เงินให้กู้ยืมแก่บริษัทเงินทุน
บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ และบริษัทประกันชีวิต
จากปัจจุบันอัตราความเสี่ยงเป็น 100% ใช้ BIS จะลดลงเหลือ 50% เช่นเดียวกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย
หรือแม้แต่เงินลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนและรับอนุญาตก็ตาม มีอัตราความเสี่ยงที่ต่ำลงในส่วนของหลักทรัพย์สถาบันการเงิน
(ดูตารางที่ 2)
ความเปลี่ยนแปลงนี้บ่งบอกถึงความจำเป็นอย่างยิ่งของบรรดาธนาคารที่ต้องเปลี่ยนโครงสร้างการให้สินเชื่อหรือการถือสินทรัพย์ประเภทต่าง
ๆ เพื่อลดภาระการตั้งเงินกองทุนที่สูงกว่าเดิม