แบงก์แหลมทองเป็นแบงก์เล็กที่สุด แต่ด้วยภาพที่แยกไม่ออกจากราชาที่ดินอย่าง
สุระ จันทร์ศรีชวาลา ทำให้หลาย ๆ คนมองว่าแบงก์เล็กแห่งนี้ จะพลิกฐานะขยับอันดับขึ้นเพราะส้มหล่นจากกฎ
BIS ที่นับการตีราคาที่ดินเข้าเป็นเงินกองทุน หากแท้จริงแล้วหาใช่เป็นเช่นนั้น
เมื่อระฆัง BIS ดังขึ้น แหลมทองกลับต้องปรับปรุงหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นคุณภาพคน
โครงสร้างสินเชื่อ เงินกองทุนที่อีกไม่เกิน 2 ปีจะต้องขาดแน่นอน ตลอดจนลดวิธีการหาเงินทำกำไรแบบเก่าที่อยู่ในลักษณะง่าย
ๆ ยึดหลักค้ำประกันอาวัลและขายสินทรัพย์เป็นสำคัญ
แหลมทองเป็นแบงก์อันดับสุดท้ายของธนาคารพาณิชย์ไทย จากรายงานของฝ่ายวิชาการธนาคารกสิกรไทยระบุว่า
ณ สิ้นไตรมาส 1 ของปี 2535 แบงก์แหลมทองมีสินทรัพย์ 11,162 ล้านบาท ส่วนแบ่งตลาด
0.48% เงินฝาก 9,569 ล้านบาท ส่วนแบ่งตลาด 0.52% สินเชื่อ 8,257 ล้านบาท
ส่วนแบ่งตลาด 0.44%
ส่วนแบ่งตลาดดังกล่าวยังห่างไกลจากแบงก์นครธนซึ่งเป็นแบงก์อันดับที่ 14
ถัดขึ้นไปจากแหลมทองถึงกว่า 100% ในระยะเวลาเดียวกัน ธนาคารนครธนมีสินทรัพย์
24,634 ล้านบาท ส่วนแบ่งตลาด 1.06% เงินฝาก 21,001 ล้านบาท ส่วนแบ่งตลาด
1.14% สินเชื่อ 18,945 ล้านบาท ส่วนแบ่งตลาด 1.01%
เพ็ญวรรณ ทองดีแท้ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์
ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) กล่าวว่า เมื่อแบงก์ชาติประกาศใช้กฎมาตรฐานเงินกองทุนเดียวกับ
BANK FOR INTERNATIONAL SETTLE MENTS (BIS) แบงก์เล็ก ๆ คงลำบากต้องปรับตัวอีกมากถ้าต้องแข่งขันในตลาด
ข้อกำหนดเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของ BIS มีความเข้มแข็งกว่ามาตรา
10 พ.ร.บ. ธนาคารพาณิชย์ที่แบงก์ไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน
BIS กำหนดเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง 8% โดยแบ่งเงินกองทุนเป็น 2 ชั้น
คือ เงินกองทุนชั้นที่ 1 (TIER 1) จะมีส่วนประกอบเหมือนเงินกองทุนตาม ม.
10 พ.ร.บ. ธนาคารพาณิชย์ ส่วนองค์ประกอบของกองทุนชั้นที่ 2 (TIER 2) นั้นไม่มีข้อกำหนดให้ปฏิบัติสำหรับธนาคารพาณิชย์ไทย
(ดูตารางที่ 1) ทำให้เงินกองทุนที่ธนาคารพาณิชย์ไทยดำรงอยู่ในอัตรา 8% นั้นจึงเป็นเพียงกองทุนชั้นที่
1 เท่านั้น ยังขาดกองทุนชั้นที่ 2 เมื่อเข้ากฎ BIS ก็เท่ากับขาดเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง
ก่อให้เกิดปัญหาไม่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ตามที่ต้องการและมีผลต่อการหยุดความเติบโตของแบงก์ไทย
อีกประเด็นหนึ่งที่ BIS กำหนดต่างไปจากแบงก์ชาติไทยก็คือรายการสินทรัพย์เสี่ยงและอัตราความเสี่ยงของสินทรัพย์
อาทิ เงินให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย ปัจจุบันแบงก์ชาติกำหนดอัตราความเสี่ยงที่
100% แต่ BIS กำหนดที่ 50% (ดูตารางที่ 2) รวมทั้งรายการนอกงบดุลที่ปัจจุบันไม่ได้นำมาคำนวณอัตราความเสี่ยง
แต่ BIS มีการนำมาคำนวณความเสี่ยงรวมในสินทรัพย์เสี่ยงด้วย (ดูตารางที่ 3)
ทำให้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างสินเชื่อที่แบงก์อนุมัติไปแล้ว เพราะในส่วนที่มีความเสี่ยงมากขึ้นก็ต้องตั้งเงินกองทุนเพิ่มขึ้น
อันอาจก่อให้เกิดปัญหาต้องเพิ่มทุนบ่อยครั้งและมีกำไรต่อหุ้นถดถอยลงได้
การเพิ่มทุนก็ใช่ว่าจะทำได้ง่ายดังใจคิด โดยเฉพาะกับแบงก์ที่มีภาพพจน์ติดลบหุ้นที่นำออกจำหน่ายก็จะขายประชาชนได้ไม่คล่องนัก
ซึ่งถือเป็นการสร้างภาระให้กับผู้ถือหุ้นอีกทางหนึ่ง ในอดีตแบงก์แหลมทองเองนับจากมีมติเพิ่มทุนเมื่อปี
2528 ก็ยังไม่เคยเพิ่มทุนอีกเลย เพราะหุ้นเพิ่งขายหมดไปเมื่อปี 2532 นี้เอง
ภาพพจน์การบริหารงานไม่โปร่งใสและไม่เป็นมืออาชีพ นับแต่กลุ่ม สุระ จันทร์ศรีชวาลา
เข้าบริหารถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นของแบงก์แหลมทองในตลาดหลักทรัพย์เกือบไม่เคลื่อนไหวเลย
นอกจากนี้ยังเคยถูกนักลงทุนร้องเรียนว่าหน่วงเหนี่ยวการโอนหุ้นจนตลาดหลักทรัพย์ฯ
ต้องออกมาใช้ไม้แข็งคือยื่นคำขาดจะขับออกจากตลาดฯ แต่เรื่องก็จบตรงที่แบงก์แหลมทองยอมให้ตลาดฯ
เป็นนายทะเบียนแทน
พฤติกรรมของสุระ นักสะสมที่ดินตัวยง เข้ามาเกี่ยวข้องกับแหลมทองอย่างแนบแน่น
ตั้งแต่ครั้งยังไม่ได้จู่โจมยึดแบงก์จากตระกูลนันทาภิวัฒน์ ก็ได้พยายามใช้ความสัมพันธ์กับระดับผู้บริหารให้เป็นประโยชน์กับตนเองโดยไม่เป็นไปตามระเบียบแบงก์นัก
อาทิ ขอให้ผ่านตั๋วเงินที่ครบกำหนดเวลา แต่ตนเองไม่สามารถรับภาระได้ แต่เมื่อถูกผู้บริหารบางคนปฏิเสธจึงก่อให้เกิดความหมางใจกันระหว่างเขากับผู้บริหารเดิมคนนั้น
เมื่อสมัยเขาเข้าบริหารแบงก์ก็เป็นข่าวอื้อฉาวตามหน้าหนังสือพิมพ์ตลอดเวลา
เช่น ปล่อยสินเชื่อในเครือหรือปล่อยให้กับบริษัทที่ตนถือหุ้นอยู่โดยมีหลักประกันไม่เพียงพอ
(ในช่วงที่ปล่อยสินเชื่อ) และพยายามจัดชั้นสินทรัพย์ไม่ตรงตามความเป็นจริง
ทำให้แบงก์ชาติต้องสั่งการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะรายการกู้ของสยามวิทยา
นอกจากนี้ยังมีกรณีที่แบงก์ชาติไม่อาจทนได้จนต้องขอความช่วยเหลือกรมตำรวจบีบให้สุระลาออกจากผู้บริหารแบงก์
เพราะมีการเบียดบังเงินสดแบงก์ไปจ่ายเช็คเดินทางให้ลูกสาว และยังมีอีกหลายคดีที่เป็นความถึงตำรวจไม่ว่าจะเป็นคดีบริษัททรานส์
โอเชียนส์ เทรดดิ้งที่ได้รับเงินสดจากการเบียดบังของสุระอีกประมาณ 128 ล้าน
มีรายการพิสดารหมุนเงินระหว่างกิจการในเครือโดยใช้วิธีรับฝากเงินนอกเวลา
รวมทั้งอาวัลตั๋วเงินให้บริษัทไทยประสิทธิประกันภัย โดยไม่ลงภาระผูกพันในบัญชี
พฤติกรรมดังกล่าวข้างต้นมีความผิดทั้งทางอาญาและตาม พ.ร.บ. ธนาคารพาณิชย์
สุระชายผู้นี้ยังตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในวงการการเงินว่าพฤติกรรมอีกหลายอย่างที่คนในวงการแบงก์สามารถเก็บความเล่าขานกันได้อีกนาน
การกระทำของเขาทำให้ผู้บริหารยุคนั้นหลายต่อหลายคนขอถอนตัวจากแบงก์ ไม่ว่าจะเป็น
ชนัตถ์ ปิยะอุย วานิช ไชยวรรณ ม.ร.ว. จัตุมงคล โสภณกุล หรือแม้แต่มืออาชีพอย่างเรวัตร์
ชาตรีวิศิษฐ์ อดีตผู้ช่วยกรรมการจัดการ
แม้เขาจะพ้นจากตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารแบงก์ไปแล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริงผู้บริหารชุดปัจจุบันยังมีความเกี่ยวพันแนบแน่นดูจากกรณีที่แบงก์แหลมทองลงบัญชีแสดงฐานะของธนาคารส่งให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ
เมื่อปี 2531 สองครั้งสองหนไม่ตรงกันอันสืบเนื่องมาจากเอารายได้จากดอกเบี้ยของกลุ่มสยามวิทยาที่เพิ่งทำการประนอมหนี้มาลงบันทึกโดยไม่ตั้งสำรองหนี้
สงสัยจะสูญตามที่ผู้ตรวจสอบบัญชีให้ความเห็น
หากใช้บรรทัดฐานอดีตย้อนมองอดีตเช่นนี้ ภาพแหลมทองคงใช้ไม่ได้กับ BIS เลย
แต่ปัจจุบันมีเลือดใหม่ของสุระเข้าบริหารงาน กูรดิสถ์ จันทร์ศรีชวาลา กรรมการจัดการ
ที่มาจากยูนิเวอร์ซิตี้, ลอนดอน ประเทศอังกฤษ สถาบันที่นายแบงก์ทั้งหลายนิยมเรียนกัน
ประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศบวกกับความไฟแรง และอุปนิสัยที่แสดงความคิดเห็นไม่อ้อมค้อมตรงข้ามกับอาของเขานั้น
ซึ่งบางครั้งความคิดเห็นของคนทั้งสองก็แตกต่างกัน แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าอาของกูรดิสถ์คนนี้ยังมีฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ที่จะทำให้ผู้บริหารที่นี่คล้อยตามได้เช่นกัน
บางที BIS อาจจะเป็นตัวช่วยให้แบงก์แหลมทองโปร่งใสกว่าที่เป็นมาและที่แน่
ๆ คงต้องปรับกลยุทธ์ในการทำมาหากินกันสุด ๆ ทีเดียว
กูรดิสถ์ เคยให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการ" ถึงสัดส่วนโครงสร้างสินเชื่อของแบงก์แหลมทองว่าประกอบด้วยสินเชื่ออุตสาหกรรมการผลิตประมาณ
12% ด้านสถาบันการเงินประมาณ 10% ด้านการเกษตรประมาณ 3% ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
(เกี่ยวกับการพัฒนาที่ดิน) ประมาณ 20% ด้านก่อสร้างประมาณ 7% ด้านการพาณิชย์ประมาณ
12% ที่เหลือเป็นสินเชื่อประเภทอื่น ๆ
แบงก์แหลมทองมียอดเงินให้สินเชื่อในปี 2534 จำนวน 7,850,088,936.94 บาท
ส่วนรายการนอกงบดุลนั้นมียอดการรับอาวัลตั๋วเงิน 1,875,244,507.12 บาท เล็ตเตอร์ออฟเครดิต
140,793,941.95 บาท การค้ำประกันการกู้ยืมเงิน 291,108,275.00 บาท การค้ำประกันอื่น
ๆ ซึ่งมีอัตราความเสี่ยง 100% มีจำนวนมากถึง 662,979,790.24 บาท รวมรายการนอกงบดุลทั้งหมดเท่ากับ
2,970,126,514.3 บาท เป็นสัดส่วน 37.83% ของสินเชื่อทั้งหมด
สิ่งที่เห็นได้ชัดคือแบงก์แหลมทองให้ความสำคัญต่อสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์และธุรกิจนอกงบดุล
หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างช่องทางการหารายได้จะทำให้จำนวนสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นทันที
และนั่นหมายถึงการสร้างภาระแก่แบงก์เรื่องเงินกองทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากการคำนวณคร่าว ๆ เท่าที่แบงก์แหลมทองจะยอมเปิดเผยตัวเลข (ปกติมักจะไม่เปิดเผย
ซึ่งปัญหานี้แม้แต่นิตยสารชื่อดังอย่าง แบงเกอร์ ยังว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่แบงก์ชาติ
กับ ก.ล.ต. ควรสนใจเป็นพิเศษเพื่อความยุติธรรมต่อนักลงทุน) ปรากฏว่าโครงสร้างดังกล่าวสร้างภาระให้เกิดสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น
จากปัจจุบันที่มีสินทรัพย์เสี่ยงประมาณ 8,810.09 ล้านบาท หลังใช้ BIS จะมีจำนวนสินทรัพย์เสี่ยงเป็น
10,981.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 2,171.74 ล้านบาท เพิ่ม 24.64% ซึ่งนั่นหมายถึงต้องมีเงินกองทุนเพิ่มตามจำนวนสินทรัพย์เสี่ยงอีก
8% ทีเดียว และในส่วนที่เพิ่มขึ้นก็มาจากรายการนอกงบดุลเป็นส่วนใหญ่ (ดูตารางที่
4)
ในบรรดาแบงก์ที่ศึกษา BIS กล่าวได้ว่าแบงก์ทหารไทยเป็นอีกแบงก์หนึ่งที่ทั้งศึกษาและเตรียมพร้อมสำหรับเรื่องนี้มาก
อนุชาต ชัยประภา กรรมการผู้จัดการทั่วไป ธนาคารทหารไทยเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ"
ว่าแบงก์เองได้เตรียมพร้อมโดยการพยายามสร้างฐานลูกค้ารายย่อยมากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย
ซึ่งเดิมมีน้อยมาก แต่ปัจจุบันมีจำนวน 12-13% ของสินเชื่ออุปโภคบริโภค (เงินสินเชื่อในไตรมาส
1 ปี 2535 มียอดเท่ากับ 18.5%) แม้ว่าลูกค้ารายย่อยทำให้แบงก์มีค่าใช้จ่ายมากแต่ก็คุ้มเนื่องจากมีกำไรมากกว่าลูกค้ารายใหญ่
นอกจากนี้ยังปลอดภัยกว่าอีกด้วยเพราะสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีบ้านเป็นหลักประกัน
และเมื่อใช้ BIS สินเชื่อประเภทนี้ยังมีอัตราความเสี่ยงลดลงจากเดิม 100%
เหลือเพียง 50% มีผลทำให้แบงก์ตั้งเงินกองทุนลดลงจากประเภทดังกล่าวถึง 50%
เทียบกับแบงก์แหลมทอง หาญ เชี่ยวชาญ ผู้ช่วยกรรมการจัดการ ธนาคารแหลมทอง
กล่าวว่าแบงก์ปล่อยสินเชื่อประเภทที่อยู่อาศัยน้อยมาก ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสินเชื่อประเภทโครงการมากกว่าเป็นรายบุคคล
แต่มีนโยบายจะปล่อยสินเชื่อประเภทรายย่อยเพื่อที่อยู่อาศัยให้มากขึ้น
สัดส่วนลูกค้าสินเชื่อแบงก์แหลมทองเป็นรายใหญ่ตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไปประมาณ
75% รายย่อย 25% สินเชื่อประเภทที่อยู่อาศัยรายบุคคลอย่างมากที่สุดไม่เกิน
4% ต่ำกว่าสินเชื่ออื่น ๆ เพราะดอกเบี้ยของแบงก์นี้แพงกว่าทุกแบงก์ อัตราดอกเบี้ยที่คิดจากคนซื้อบ้านรายย่อยสูงถึง
18-19% แม้จะเป็นรายย่อยที่ซื้อบ้านจากโครงการพัฒนาที่ดินที่แบงก์แหลมทองให้สินเชื่อก็ต้องกู้ในอัตราเดียวกัน
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจได้วิเคราะห์ถึงโครงสร้างรายได้เฉลี่ยที่ผ่านมาของแบงก์แหลมทอง
ดังนี้ รายได้ดอกเบี้ยสุทธิหลังหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 13.22% รายได้ค่าธรรมเนียม
36.31% รายได้อื่น ๆ 50.47% (รวมกำไรจากการขายสินทรัพย์)
ส่วนแบงก์นครธนมีโครงสร้างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิหลังหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ
58.77% รายได้ค่าธรรมเนียม 39.22% รายได้อื่น ๆ 2.01%
แบงก์สหธนาคารมีโครงสร้างรายได้จากดอกเบี้ยสุทธิหลังหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ
63.80% รายได้ค่าธรรมเนียม 18.98% รายได้อื่น ๆ 17.22%
เมื่อเทียบกับแบงก์แหลมทองแล้วจะเห็นว่าแบงก์อื่น ๆ มีรายได้หลักมาจากดอกเบี้ย
ซึ่งแสดงถึงประสิทธิภาพในการปล่อยสินเชื่อที่มีมากกว่าแบงก์แหลมทอง ในขณะที่แบงก์แหลมทองมีรายได้หลักจากการค้ำประกันอาวัลและการขายสินทรัพย์
ซึ่งแหล่งข่าวในวงการธนาคารเผยว่าการค้ำประกันอาวัลของแบงก์แห่งนี้ก็คงวนเวียนอยู่ในเครือ
"จันทร์ศรีชวาลา" อาทิ บริษัทไทยประสิทธิ์ประกันภัย เป็นต้น
ในปี 2534 ก็ไม่แตกต่างอะไรจากปีที่ผ่าน ๆ มา รายได้ส่วนใหญ่ของแบงก์เล็กแห่งนี้ยังคงมาจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยถึง
70.26% โดยแบ่งสัดส่วนดังนี้ รายได้จากการขายสินทรัพย์ 110.18 ล้านบาทคิดเป็น
37.7% รายได้จากค่าธรรมเนียม 80.30 ล้านบาท คิดเป็น 27.54% รายได้จากการปริวรรตเงินตรา
11.36 ล้านบาท คิดเป็น 3.89% รายได้อื่น ๆ (รวมกำไรจากการขายหรือตีราคาหลักทรัพย์)
3.31 ล้านบาท คิดเป็น 1.13% ส่วนรายได้ที่มาจากดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิมีจำนวน
86.39 ล้านบาท คิดเป็น 29.63% โดยมีรายได้รวมทั้งหมด 291.56 ล้านบาท (ดูตารางที่
5)
แหล่งข่าวในวงการเงินให้ความเห็นว่า ก่อนหน้านี้มีหลายแบงก์ที่หันมาหารายได้จากการค้ำประกันอาวัล
ทำให้ตลาดอยู่ในภาวะแข่งขันกันสูงมาก ยกตัวอย่างเช่น ปกติค่าธรรมเนียมรับอาวัลจะคิดอัตราตั้งแต่
1.5%-2% แต่มีการตัดราคากันขนาดหนัก เหลือเพียง 0.25% ก็ยังรับอาวัล คาดว่าหลังจากใช้
BIS ทำให้ธุรกิจค้ำประกันอาวัลมีอัตราความเสี่ยงสูงขึ้นเทียบเท่ากับการปล่อยสินเชื่อ
ซึ่งแต่ละแบงก์ต้องปรับค่าธรรมเนียมขึ้นอย่างแน่นอน ฉะนั้นแบงก์แหลมทองเองคงจะอยู่ในภาวะสงครามราคาเช่นนี้ไม่ได้อีกแล้ว
กิตติ จากนครธน กล่าวเสริมว่า ค่าธรรมเนียมอาวัลอาจจะขึ้นไปถึง 3-4% ก็เป็นได้
เพราะภาระนอกงบดุลถูกกำหนดความเสี่ยงให้มากกว่าเดิม จึงจำเป็นต้องทำกำไรให้สูงเพื่อจะได้ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์
(ROA) ในอัตราที่สูงด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE)
สูงตามด้วย
ปี 2534 แบงก์แหลมทองมี ROA เพียง 7.15% และ ROE 1.70% ยังต่ำกว่าแบงก์ไทยทนุ
ซึ่งมี ROA 9.55% และ ROE ถึง 2.87% หมายความว่าความสามารถในการทำกำไรของแบงก์แหลมทองยังมีน้อยกว่าบรรดาแบงก์เล็กด้วยกัน
นอกจากนี้ความสามารถในการบริหารกำไรจากสินเชื่อก็ยังมีปัญหาเพราะรายได้จากดอกเบี้ยมีน้อยมากเกือบเท่ารายจ่าย
ในปีที่แล้วรายจ่ายดอกเบี้ยมีสูงถึง 1,004.09 ล้านบาท
อีกประการหนึ่งที่สะท้อนถึงความด้อยประสิทธิภาพในการทำกำไรก็คืออัตราการเติบโตของรายจ่ายสูงกว่ารายได้
ปี 2534 แบงก์แหลมทองมีอัตราเพิ่มขึ้นของรายจ่ายดอกเบี้ยจากปี 2533 จำนวน
80% ค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่ม 71.56% และในขณะที่รายได้จากดอกเบี้ยเพิ่มเพียง
65% ค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่มเพียง 61.55%
กูรดิสถ์กรรมการจัดการของแหลมทองได้ออกมาป่าวประกาศถึงความภูมิใจที่สิ้นปี
2534 สามารถทำกำไรได้มากถึง 63.90 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2533 ถึง 56.20% แต่ทั้งนี้กำไรก็มาจากการขายสินทรัพย์เป็นส่วนใหญ่
ซ้ำกำไรดังกล่าวก็ไม่บรรลุเป้าหมายหรือประมาณการที่เคยส่งให้ตลาดหลักทรัพย์แต่อย่างใด
เนื่องจากตามแผนงาน 5 ปี ที่แบงก์แหลมทองทำส่งแบงก์ชาติและตลาดหลักทรัพย์ฯ
ได้ประมาณการไว้ว่าปี 2534 จะมีกำไร 104.50 ล้านบาท แต่แท้จริงแล้วต่ำกว่าประมาณการถึง
40.6 ล้านบาท คิดเป็น 38.85% นับย้อนถัดไปปี 2533 แหลมทองก็ยังกำไรต่ำกว่าประมาณการเช่นกันคือประมาณการไว้
58.90 ล้านบาท แต่ทำได้จริงแค่ 40.91 ล้านบาทเท่านั้น
แม้ว่าไตรมาส 1 ปี 2535 จะมีกำไรสุทธิ 12.37 ล้านบาท แต่ก็ยังต่ำกว่าประมาณการอีก
6 ล้านบาทเช่นกัน
สิ้นปี 2535 แบงก์แหลมทองตั้งเป้าหมายเงินฝากไว้ที่ยอด 10,623 ล้านบาท
เพิ่ม 1,907 ล้านบาท เท่ากับ 21.9% เงินให้สินเชื่อ 9,517 ล้านบาท เพิ่ม
2,058 ล้านบาท เท่ากับ 27.6% สินทรัพย์รวม 12,337 ล้านบาท เพิ่ม 2,063 ล้านบาท
เท่ากับ 20.1% รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผล 1,438.0 ล้านบาท รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย
176.7 ล้านบาท กำไร 70 ล้านบาท แต่กูรดิสถ์เองก็ยอมรับว่าอาจจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้เพราะไตรมาสแรกก็กำไรต่ำกว่าประมาณการเสียแล้วและยังมีขาดทุนสะสมอีกกว่า
300 ล้านบาท
แม้กูรดิสถ์จะกล่าวยืนยันว่าหลังจากใช้ BIS แบงก์ที่เขาบริหารอยู่จะไม่ขาดเงินกองทุนเพียงพออย่างแน่นอน
เพราะเขายังปล่อยสินเชื่อไม่ถึง 12.5 เท่าของเงินกองทุนเพียงพอ ตามที่แบงก์ชาติกำหนดเพดาน
ทำให้เงินกองทุนมีอัตราส่วนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเกิน 8% สิ้นปี 2534 มีประมาณ
11%
แต่ถ้าเขาพิจารณาถึงอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่ก้าวกระโดดในระยะ 3 ปีหลังนี้คือ
(ดูตารางที่ 6) ปี 2534 เพิ่ม 53.53% ปี 2533 เพิ่ม 29.96% ปี 2532 เพิ่ม
21.66% (บริษัทบริการข้อมูลผู้จัดการวิเคราะห์ว่าปี 2531 เพิ่มเพียง 2.98%)
ในทางกลับกันอัตราการเติบโตของเงินกองทุนเพิ่มแบบถดถอยคือปี 2532 เพิ่ม
8.36% ปี 2533 เพิ่ม 8.63% ปี 2534 เพิ่ม 7.71 และคาดว่าปี 2535 จะเพิ่มเพียง
3.57% ซึ่งอัตราการเพิ่มที่ผกผันกันเช่นนี้ ถึงจุดหนึ่งแบงก์แหลมทองก็จะขาดเงินกองทุน
หากยังจะดำเนินการปล่อยสินเชื่อและหากินนอกงบดุลอย่างเดิม ไม่ปรับเปลี่ยนภาระความเสี่ยงให้น้อยลง
แรงกดดันจากการดำเนินธุรกิจที่ต้องพึ่งเงินกองทุนทำให้การหาลู่ทางใหม่เป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้
ลู่ทางหาเงินใหม่ ๆ นั้นกูรดิสถ์ได้บอกว่าเตรียมแผนไว้ทุกด้าน โดยใช้ที่ปรึกษาจากออสเตรเลียเข้ามาช่วยวางกลยุทธ์ให้ธนาคารสารมารถรุกไปข้างหน้าและจัดตั้งระบบคอมพิวเตอร์
วางจังหวะก้าวซึ่งเริ่มตั้งแต่ปรับสายงานใหม่เพื่อเตรียมความพร้อมจากเดิมที่มี
13 ฝ่ายเพิ่มเป็น 18 ฝ่าย โดยได้แยกงานด้านสินเชื่อสำนักงานใหญ่ออกเป็น 2
ฝ่าย คือฝ่ายพัฒนาธุรกิจ และฝ่ายปฏิบัติการสินเชื่อ เพิ่มฝ่ายบริหารสินทรัพย์
ฝ่ายบริหารเงินและการติดต่อธนาคารระหว่างประเทศ ศูนย์ส่งเสริมบริการและศูนย์ส่งเสริมข้อมูล
สำหรับพนักงานก็มีการให้กำลังใจโดยการเพิ่มโบนัสให้จากเดิมเคยได้ 4 เดือนเป็น
4.5 เดือน และปรับฐานเงินเดือนอีก 1,200 บาท ทั้งนี้เพื่อป้องกันการหมุนเวียนเข้าออกของพนักงาน
เขากล่าวว่าอีก 5 ปีข้างหน้าจะขยายลูกค้ารายย่อยกับรายใหญ่เพิ่มให้เป็นสัดส่วน
50:50 โดยเฉพาะสินเชื่อด้านอุปโภค บริโภค ที่อยู่อาศัยเตรียมลดตั๋วอาวัลค้ำประกันลง
และจะพยายามให้สินเชื่อธุรกิจส่งออกมีสัดส่วนมากขึ้น
อย่างไรก็ตามแบงก์แหลมทองสิ้นปี 2534 มีสาขาเพียง 15 สาขา แบ่งเป็นสาขาในจังหวัดกรุงเทพฯ
11 สาขา ต่างจังหวัด 4 สาขา ปีนี้ได้ขออนุมัติแบงก์ชาติเปิดอีก 8 สาขา กรุงเทพฯ
6 สาขา ต่างจังหวัด 2 สาขา ซึ่งได้ลงทุนไปแล้วตั้งแต่ปีที่แล้ว 4-5 สาขา
คาดว่าอีก 14 ปีข้างหน้าจะเปิดแต่ในกรุงเทพฯ อย่างเดียว เพราะธุรกิจแบงก์ต้องการทำเลที่มีธุรกิจชุกชม
อย่างไรก็ตามการเปิดสาขาต้องใช้เงินลงทุนมาก เนื่องจากจะใช้ระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย
ซึ่งลงทุนไปแล้วประมาณ 125 ล้านบาท ทั้งนี้จะให้มีการออนไลน์ให้ครบทุกสาขาภายในปี
2536 เพราะหากไม่มีคอมพิวเตอร์จะไม่สามารถขยายลูกค้ารายย่อยได้เลย
การขยายลูกค้ารายย่อยไม่ได้นอกจากแบงก์แหลมทองจะขยายสินทรัพย์เสี่ยงที่มีอัตราความเสี่ยงต่ำได้น้อยแล้ว
ยังทำให้โครงสร้างต้นทุนสูงอีกด้วย เพราะลูกค้ารายใหญ่มักจะต่อรองอัตราดอกเบี้ยให้ได้สูงกว่าลูกค้ารายย่อย
ปัจจุบันลูกค้าเงินฝากมาจากสำนักงานใหญ่ 35% ล้วนเป็นรายใหญ่ อีก 65% เป็นรายย่อยมาจากสาขา
โครงสร้างเงินฝากแบ่งดังนี้ 80-85% เป็นเงินฝากประจำ 10-12% เป็นออมทรัพย์
3-4% เป็นกระแสรายวัน
แหลมทองฝันถึงการขยายลูกค้ารายย่อยทั้ง ๆ ที่กูรดิสถ์เองก็บอกว่าที่ผ่านมาคุณภาพของสาขายังไม่สามรถตอบสนองธุรกิจของแบงก์ได้เพราะคนในสาขาทำได้เพียงระดมเงินฝากเท่านั้น
ส่งผลให้สินเชื่อโตน้อยกว่าเงินฝาก โดยมีสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากทั้งปีเพียง
95%
สำหรับเรื่องการทำธุรกิจใหม่ ๆ เช่น เปิดบริการรับฝากเงินตราต่างประเทศ
เขาบอกว่ายังเป็นไปค่อนข้างลำบาก และยังไม่อยากทำ แต่ในอนาคตต้องทำแน่
ส่วนธุรกิจการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายตราสารประเภทหนี้รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจที่แบงก์ชาติเปิดทางให้นี้
กรรมการจัดการแบงก์เล็กแห่งนี้ เคยกล่าวอย่างแบ่งรับแบ่งสู้ว่าไม่แน่ใจจะทำได้หรือไม่
เมื่อระบบและบุคลากรยังไม่พร้อม แต่ทางที่คิดว่าที่น่าจะทำได้ก็คือเป็นตัวเชื่อมให้นักลงทุน
ตั้งแต่จัดเตรียมข้อมูลหาผู้ร่วมทุนและจัดหาแหล่งเงินทุนให้
จากสิ่งที่กูรดิสถ์เคยให้สัมภาษณ์ดูเหมือนว่าแบงก์แหลมทองมีทางเลือกในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างสินเชื่อ
และลดอัตราความเสี่ยงของสินทรัพย์โดยการเพิ่มธุรกิจก้าวเข้าสู่ตลาดทุนได้น้อยเหลือเกิน
เขาเองก็รู้ว่าขณะนี้แหลมทองยังไม่พร้อมรบในแนวใหม่ ๆ เพราะขาดมืออาชีพและหากโครงสร้างสินเชื่อยังเป็นไปตามแบบเดิม
คือขยายตัวในอัตราสูงหรืออัตราที่เขาหวังให้เป็นคือ ประมาณ 20-21% นั้นอีกไม่เกิน
2 ปีนับจากปี 2536 ปัญหาขาดเงินกองทุนเกิดแน่ ๆ
กูรดิสถ์ก็ได้เลือกทางออกของแบงก์ที่เหลืออยู่น้อยคือ การเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก
500 ล้านบาทเป็น 1,000 ล้านบาทด้วยการพยายามเร่งตัดขาดทุนสะสมอีกกว่า 300
ล้านบาทให้หมดภายในปีนี้ โดยขอมติจากคณะกรรมการให้นำส่วนล้ำมูลค่าหุ้นมาจ่าย
มีผลให้แบงก์จะสามารถจ่ายเงินปันผลผู้ถือหุ้นได้ในปีถัดไป แต่การเพิ่มทุนก็จะทำให้กำไรต่อหุ้นลดลง
จากปัจจุบันที่มีกำไรต่อหุ้น 1.61 บาทเท่านั้น วิธีนี้แม้จะง่ายเพราะผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่คงไม่พ้นแวดวงคนกันเองของ
"จันทร์ศรีชวาลา" แต่ก็แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวในการทำธุรกิจที่จำกัด
ถ้าเป็นแบงก์อื่นคงมีทางเลือกมากกว่านี้เพราะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่แบงก์ชาติจะประกาศขั้นแรกนั้นยังใช้ไม่ถึง
8% จากรายงานของฝ่ายกำกับฯ อาจจะใช้เพียง 7% เท่านั้นและยังสามารถออกตราสารประเภทหนี้ด้อยสิทธิ์หรือ
HYBRID CAPITAL เป็นเงินกองทุนขั้นที่สองได้ แต่แบงก์ที่จะใช้วิธีนี้ต้องมีภาพพจน์ดี
เครดิตเรตติ้งดีและมีความมั่นคง จึงจะมีคนกล้าเสี่ยงซื้อ
ส่วนแบงก์แหลมทองนั้นเป็นที่รู้กันว่ามีภาพพจน์เป็นแหล่งเงินเกื้อกูลพวกพ้อง
เช่น กลุ่มสยามวิทยา บงล. มิดแลนด์ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ คราวน์ พลาซ่า ฯลฯ
ตราสารที่จะออกขายสู่ประชาชนจึงอาจจะขายยากกว่าหุ้นเพิ่มทุน!
ถ้าแบงก์แหลมทองประกาศเพิ่มทุนจริง ๆ คงต้องใช้อภินิหารช่วยให้ราคาหุ้นวิ่งและมีการซื้อขายคล่องเพราะปัจจุบัน
(สิ้นไตรมาส 1 ของปีนี้) ราคาหุ้นของแบงก์นี้ไม่ค่อยจะเคลื่อนไหวเท่าไรนัก
ซ้ำยังมีอัตราผลตอบแทนรวมและกำไรจากมูลค่าเพิ่มติดลบ 10.43% เป็นที่สองรองจากสหธนาคารที่ติดลบสูงสุด
ทางเลือกอีกทางหนึ่งก็คือที่ดูเหมือนเป็นประโยชน์ต่อแบงก์แหลมทองการตีราคาที่ดิน
ซึ่งฝ่ายกำกับฯ ของแบงก์ชาติกำหนดไว้ว่า จะอนุญาตก็ต่อเมื่อเป็นที่ดินของแบงก์ที่ใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่หรือสาขาเท่านั้น
โดยตีราคายึดหลักประเมินราคากลางของกรมที่ดินเป็นหลัก และให้นับเฉพาะส่วนที่เพิ่มจากราคาทุน
70% เพราะไม่ต้องการส่งเสริมให้แบงก์สะสมที่ดินหรือสินทรัพย์ไม่มีสภาพคล่องมากเกินไป
ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นที่ดินว่างเปล่า หรือที่ดินรกร้าง หรือที่ดินยึดคนอื่นมารอการขายจึงไม่ได้รับสิทธิข้อนี้ด้วย
แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ราชาที่ดินอย่างสุระ อดีตผู้บริหารของที่นี่ และยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ทรงอิทธิพลในปัจจุบันไม่ได้คิดจะเอาที่ดินมาสร้างสาขาบ้าง
ทำให้สาขาส่วนใหญ่หรือแม้แต่สำนักงานใหญ่ปัจจุบันก็ยังเป็นเพียงสิทธิการเช่าระยะยาวมีตั้งแต่หมดอายุสัญญาปี
2534-2545 ทำให้แบงก์แห่งนี้ด้อยสิทธิ์ลงไปทันที
แม้นว่ากูรดิสถ์เองมีท่าทีพยายามจะโอนสำนักงานใหญ่มาเป็นของแบงก์ แต่ภาพของแบงก์ที่หลายคนเอาไปผูกติดกับสุระ
แท้จริงก็ช่วยอะไรไม่ได้มากนักสำหรับเรื่องนี้