|

'ใบโพธิ์'รับยอดสินเชื่อปีนี้หลุดเป้า
ผู้จัดการรายวัน(4 กันยายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ไทยพาณิชย์ยอมรับการปล่อยสินเชื่อปีนี้ต่ำกว่าเป้าหมาย แต่หากเทียบในตลาดยังถือว่าเติบโตกว่าคู่แข่งขัน ส่วนสถาบันเงินฝากน่าจะส่งผลดีต่อแบงก์ขนาดใหญ่เหตุช่วยให้ลูกค้ารู้สึกถึงความมั่นคง ด้านดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่มีการขอปรับลดลงนั้น แนะควรปล่อยไปตามกลไกตลาด
นายหยกพร ตันติเศวตรัตน์ รองผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริหารความเสี่ยง ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยว่า แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อของธนาคารในปีนี้น่าจะไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้จะมีการขยายตัวอยู่ที่ 20% โดยน่าจะทำได้อยู่ที่ประมาณ 13-15% ซึ่งแม้จะเป็นอัตราที่ต่ำกว่าเป้าหมาย แต่หากเทียบกับคู่แข่งขันถือว่ายังเป็นการขยายตัวที่สูงกว่า โดยครึ่งปีแรกที่ผ่านมาสามารถปล่อยสินเชื่อไปได้ประมาณ 30-40% ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ ส่วนครึ่งปีหลังน่าจะปล่อยสินเชื่อได้มากกว่าช่วงครึ่งปีแรก
สำหรับสถาบันประกันเงินฝากซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในปีหน้านั้น เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ เนื่องจากผู้ฝากเงินจะรู้สึกมั่นใจกับธนาคารที่มีความมั่นคง นอกจากนี้ยังคาดหวังว่าการมีสถาบันประกันเงินฝากนี้จะทำให้ธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินสมทบให้กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินลดลง จากปัจจุบันที่จ่ายเงินสมทบ 0.4 % แต่ละปีธนาคารจ่ายเงินสมทบให้กับกองทุนฟื้นฟู 2,000-3,000 ล้านบาท
"เราเชื่อว่าการมีสถาบันประกันเงินฝากจะเป็นประโยชน์กับเรา อย่างน้อยก็น่าจะมีเงินจากที่อื่นเข้ามา แต่ก็คงมีความไหลออกบ้าง และคาดหวังว่าเงินที่ต้องจ่ายสมทบ 0.4% นั้นคงจะลดลงมาบ้าง ก็จะดีขึ้นมาก ส่วน Basel 2 ซึ่งจะมีขึ้นปีหน้านั้นทุกคนก็เตรียมพร้อมกันหมดแล้วไม่น่าจะมีอะไร ส่วนการแข่งขันในปีหน้ายังคงรุนแรงเหมือนทุกปี ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เรามีหน้าที่เพียงเตรียมตัวให้พร้อมกับการแข่งขันเท่านั้น"นายหยกพรกล่าว
นอกจากนี้ ผลจากธุรกิจชะลอตัว สิ่งที่เป็นห่วงคือเรื่องของคุณภาพสินทรัพย์ ซึ่งในจุดนี้ธนาคารมีนโยบายเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ สำหรับยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังเป็นตัวเลขที่ควบคุมได้ และยังไม่มีสัญญาณที่น่าเป็นห่วง ส่วนเรื่องของการสำรองหนี้จัดชั้นยังเป็นการสำรองปกติสำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท จะเป็นกลุ่มที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น สินค้าเกษตร และกุ้งแช่แข็ง เมื่อผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ก็กดราคาสินค้าที่เป็นวัตถุดิบ หรือต่อรองกับคู่ค้าต่างประเทศ เพื่อหวังลดต้นทุน และให้ธุรกิจอยู่รอดได้
นายหยกพรกล่าวถึงกรณีที่ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ยื่นหนังสือต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้พิจารณาเกี่ยวกับการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ว่า อัตราดอกเบี้ยของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวควรจะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด ให้ตลาดเป็นตัวกำหนดอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้ผู้ประกอบการแข่งขันให้ดอกเบี้ยต่ำในกลุ่มลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำได้ และไม่ควรกำหนดเพดานขั้นสูง เพราะการกำหนดเพดานจะทำให้ผู้บริโภคที่ใช้สินเชื่อนอกระบบเข้ามาใช้สินเชื่อในระบบได้
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|