"ขยายพื้นที่ทางเดียวของเนตรที่จะฟื้นไดอาน่า"


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

"กลุ่มพิธานพาณิชย์" เป็นที่รู้จักกันดีถึงความยิ่งใหญ่ในภาคใต้ เพราะมีเครือข่ายธุรกิจมากมาย ทั้งเป็นดีลเลอร์ "โตโยต้า" "ฮอนด้า" "วอลโว่" กระทั่งรถจักรยานยนต์ฮอนด้า

นอกจากนี้ กลุ่มพิธานพาณิชย์ยังมีธุรกิจโยงใยในภาคใต้ตอนล่างอีกมากมายทั้งที่เป็นอุตสาหกรรมอย่างแปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ หรือการค้าปลีกอย่าง "ห้างไดอาน่า" ซึ่งมีสาขาทั้งที่หาดใหญ่และปัตตานีอันเป็นถิ่นกำเนิดของพิธานพาณิชย์

สำหรับ "ไดอาน่า" นั้นได้รับการขนานนามให้เป็นห้างอันดับหนึ่งของภาคใต้มานานภายใต้การบริหารของ "เนตร จันทรัศมี" กรรมการผู้จัดการผู้เป็นทายาท "สายตรง" อีกคนของหลวงพิธานพาณิชย์ ต้นตระกูล "จันทรัศมี"

การที่เรียกเนตรว่าเป็นทายาทสายตรงเนื่องจากเขาเป็นลูกชายคนเดียวของ "บัณฑิต จันทรัศมี" ทายาทคนโตของหลวงพิธาน และเป็นคนคุมไดอาน่า ในขณะที่ทายาทอีกสาย คือ ตระกูล "โกวิทยา" หรือสายเขยของหลวงพิธานเป็นผู้ดูแลธุรกิจของบริษัท พิธานพาณิชย์

แต่แล้วความเป็นหนึ่งของห้างไดอาน่าเริ่มถูกแทรกแซงโดยระบบการค้าปลีกเมื่อมีกลุ่มใหม่ ๆ เข้ามา เช่นห้าง "โอเชียน" ของธีรชัย เซี่ยงเห็น อดีตพ่อค้าแผงบนห้างไดอาน่าที่เลือกเส้นทางเป็นเถ้าแก่ด้วยการเปิดห้างในหาดใหญ่ ก่อนขยายเข้าไปสู่ภูเก็ตและชุมพรจนเป็นกลุ่มห้างสรรพสินค้าที่มีเครือข่ายมากที่สุดในภาคใต้

ไม่รวมกรณีที่ "ไดอาน่า" ถูกท้าทายอย่างหนักที่สุดนั่นก็คือ เมื่อกลุ่มท้อปแลนด์จากพิษณุโลกได้ขยับฐานการลงทุนมายังภาคใต้ ด้วยการเปิดห้าง "หาดใหญ่ซิตี้" บนที่ดินที่เช่าจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ใกล้ ๆ กับสถานีรถไฟหาดใหญ่ และกลายเป็นห้างที่มีพื้นที่ขายมากที่สุดในภาคใต้ และให้ความสะดวกในเรื่องที่จอดรถ อันเริ่มเป็นปัญหาใหญ่ของเมืองที่กำลังขยายตัวอย่างมากเฉกเช่นหาดใหญ่

ดูเหมือนว่า "ไดอาน่า" เริ่มถูกต้อนเข้าสู่มุมอับอย่างช่วยไม่ได้…!

ดังที่เนตรยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่าปัญหาหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าลดลง จากที่ยอดขายเคยขยายตัวปีละ 30% ลงมาเหลือเพียง 10% เนื่องจากไม่มีพื้นที่จอดรถนี่เอง

ที่จริง ห้างไดอาน่ามีแผนขยายงานบนถนนนิพัทธ์อุทิศ 3 อยู่ แต่ติดขัดตรงพื้นที่ซึ่งเป็นของกลุ่มพิธานพาณิชย์ แต่ให้คนอื่นเขาเช่าและยังไม่หมดสัญญา

"ถ้าพูดถึงที่ดินแล้วเป็นที่รู้กันดีว่ากลุ่มพิธานพาณิชย์มีมากกว่าใครในภาคใต้ เพราะสมัยที่หลวงพิธานยังมีชีวิตอยู่ได้เดินทางไปหลายจังหวัดและซื้อที่ดินตามพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะในภาคใต้ตอนล่าง เช่นที่หาดใหญ่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

แต่บังเอิญก่อนที่ท่านจะสิ้นบุญ หลวงพิธานเคยสั่งไว้ว่าห้ามไล่คนที่กำลังเช่าที่อยู่จนกว่าเขาจะออกไปเอง" นายธนาคารรายหนึ่งซึ่งรู้เรื่องดีเล่าถึงเกร็ดประวัติศาสตร์ที่กลายมาเป็นอุปสรรคของห้างไดอาน่า

อย่างไรก็ตามเนตรกล่าวว่า แผนการขยายห้างยังคงเดินหน้าต่อไป และกำลังอยู่ระหว่างการปรับตัว สำหรับขณะนี้มีอย่างน้อย 2 โครงการ

โครงการแรก ก็คือเมื่อเปิดประมูลโรงแรมถิ่นเอกซึ่งอยู่ด้านหลังของห้างไดอาน่าติดกับถนนนิพัทธ์อุทิศ 2 ถนนสายสำคัญอีกสายหนึ่งของหาดใหญ่และถูก บงล. นวธนกิจและธนาคารทหารไทยยึดไปนั้น "เราจะเข้าประมูลทันทีเพื่อขยายพื้นที่ห้าง" เนตรเล่าถึงการเตรียมความพร้อมที่จะหาพื้นที่ให้ได้มากขึ้น

อีกโครงการ ก็คือ เมื่อบรรดาผู้เช่าที่ดินรอบห้างของกลุ่มพิธานพาณิชย์หมดสัญญาลงในปลายปี 2536 แล้ว ก็จะไม่ต่อสัญญาเช่าให้อีก เพื่อเอาพื้นที่เหล่านี้มาขยายห้างตามแผนที่ได้วางไว้

ตามแผนนี้ จะทำให้ห้างไดอาน่ามีพื้นที่เพิ่มขึ้นจาก 3,000 ตารางเมตรเป็น 8,000 ตารางเมตร

แต่นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเป้าหมายธุรกิจห้างสรรพสินค้าของกลุ่มเท่านั้น…!

เนตรมองว่าการขยายพื้นที่ข้างต้นยังไม่เพียงพอที่จะรองรับกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้ออย่างในหาดใหญ่ได้ ขณะเดียวกันก็จะทำให้ห้างไดอาน่าตกเป็นรองจากห้างอื่น

เขาจึงเตรียมเสนอไดอาน่าเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุน โดยมี บง. เอกสินเป็นผู้ศึกษาอยู่

ทั้งนี้ "เราเตรียมเสนอขอเข้าตลาดฯ ในวันที่ 13 สิงหาคมนี้" เนตรกล่าวด้วยความมั่นใจว่าจะผ่านการพิจารณาได้ด้วยดี เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะให้บริษัทในต่างจังหวัดเข้าไประดมทุนในตลาดฯ มากขึ้น

เมื่อเข้าตลาดฯ ได้แล้วจะทำให้การขยายงานง่ายขึ้น เพราะต้นทุนเงินลงทุนต่ำขณะที่ต้นทุนที่ดินของกลุ่มพิธานพาณิชย์นั้น ต่ำกว่านักลงทุนกลุ่มอื่นอยู่แล้ว

โครงการสำคัญที่จะดำเนินการเมื่อเข้าตลาดฯ คือการสร้างคอมเพล็กซ์ยักษ์เฟสสองขึ้นที่ถนนศรีภูวนารถ ช่วงติดกับธนาคารกรุงเทพ และในบริเวณเดียวกันนั้น กลุ่มพิธานพาณิชย์ยังมีโครงการร่วมกับชาญ อิสสระอีกด้วย

กลุ่มพิธานพาณิชย์ได้เปรียบเรื่องต้นทุนที่ดิน เนื่องจากพื้นที่ที่จะสร้างคอมเพล็กซ์ประมาณ 11 ไร่นี้ ซื้อมาในราคาเพียง 5 แสนบาทเท่านั้นเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งถ้ารายอื่นจะมาลงทุนในบริเวณเดียวกันนี้ประเมินราคาที่ว่าจะไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท

เมื่อโครงการระยะแรกที่ถนนศรีภูวนารถเสร็จในวันที่ 1 ธันวาคม 2535 จะทำให้ห้างไดอาน่ากลายเป็นห้างยักษ์มีพื้นที่ขายถึง 15,000 ตารางเมตรและเพิ่มเป็น 35,000 ตารางเมตร เมื่อขยายงานครบตามแผนโดยจะเสร็จสมบูรณ์ในราวปลายปี 2537 หรือต้นปี 2538

เนตรฝันว่า ถึงวันนั้นห้างไดอาน่าจะกลายเป็นห้างที่มีความพร้อมอย่างครบวงจรในพื้นที่เดียวกันเป็นแห่งแรก ทั้งโรงภาพยนตร์มินิเธียเตอร์ สวนสนุก ศูนย์อาหาร ร้านหนังสือ ฟาสต์ฟู้ด ซึ่งห้างอื่นยังไม่มีแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือร้านหนังสือ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน จะทำให้ไดอาน่า "มีพื้นที่ขายมากกว่า "ห้างหาดใหญ่ซิตี้" ที่ใหญ่ที่สุดในตอนนี้ถึง 2 เท่า รวมทั้งมีที่จอดรถได้ประมาณ 300 คัน ตรงนี้จะทำให้ความสะดวกแก่ลูกค้ามากขึ้น เพราะเราจะมุ่งกลุ่มเป้าหมายที่เป็นตลาดระดับเอและบีเป็นหลัก"

โดยเน้นจุดเด่นที่ตัวสินค้าเป็นประเภทมีระดับและมีปริมาณมากกว่าห้างอื่นในหาดใหญ่ประมาณ 20% เฉพาะอย่างยิ่งประเภทเสื้อผ้าจะนำยี่ห้อใหม่ ๆ เข้ามา เช่น เอส. แฟร์ ลาร์ฟ ลอเรน นอกเหนือจากยี่ห้อกีลาโรส เอ็กเซ็นเรนซี่ อเลน เดอลอง แจ็คนิคลอส ที่ขายอยู่เพียงรายเดียว

เนตรจบรัฐศาสตร์จากจุฬารุ่นเดียวกับอัญชลี จงคดีกิจ และจบโทสาขาเดียวกันจากสหรัฐอเมริกา เตรียมจะเรียนต่อปริญญาเอก ก็มีอันต้องกลับมาช่วยธุรกิจของครอบครัวในช่วงปี 2528 ภาวะที่เศรษฐกิจกำลังซบเซาจากการลดค่าเงินบาทในปลายปี 2527

เมื่อห้างขาดทุน ผู้เช่าแผงในห้างต่างก็เป็นหนี้กันถ้วนหน้า รวมเบ็ดเสร็จกว่าล้านบาท ซึ่งจัดว่ามากสำหรับธุรกิจท้องถิ่นเมื่อ 7 ปีที่แล้ว สภาพเศรษฐกิจที่ยังคงเงียบเหงา และเขาก็แก้ปัญหาโดยให้คนเช่าออกจากพื้นที่แล้วกลับมาดำเนินการและบริหารเองในรูปแบบที่เป็นห้างสรรพสินค้ามีระดับมากขึ้น

แต่ครั้งนี้เนตรจะฟื้นบัลลังก์ความเป็นหนึ่งของห้างสรรพสินค้า "ไดอาน่า" ในภาคใต้ให้เป็นจริงได้หรือไม่ คงต้องคอยจับตาดูกันต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.