|

ลิเบอร์ตี้ฯหลบ"วิกฤตสัมพันธ์ฯ" คุมอู่"ซ่อมไม่ดีคืนเงิน-จ่ายชดเชย"
ผู้จัดการรายสัปดาห์(3 กันยายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
วิกฤต "สัมพันธ์ประกันภัย" ลุกลามถึงเพื่อนพ้องแวดวง "ประกันวินาศภัย" ... "ลิเบอร์ตี้ประกันภัย" วิเคราะห์ "คำสั่งหยุดสัมพันธ์ฯ" กระทบความเชื่อมั่นผู้บริโภครุนแรงยิ่งกว่า สั่งปิด 2-3 บริษัท เพราะพอร์ตใหญ่ ลูกค้า และอู่เสียหายมหาศาล ฟื้นความเชื่อมั่นต่อยอดโครงการ "ลิเบอร์ตี้เอ็กซเพรส ซ่อมด่วนทั่วประเทศ" การันตีหลังซ่อม รับประกันซ่อมสี 3 ปี ซ่อมสีไม่ดีคืนทุนประกัน จ่ายชดเชยซ่อมช้าวันละ 400 บาท และซ่อมแก้ถ้าไม่พอใจ....
" เกิดอะไรขึ้น ก็มักจะมีชื่อของลิเบอร์ตี้ประกันภัยติดอยู่ในกลุ่มมีปัญหาทุกที ทั้งๆที่เราไม่มีปัญหาเงินกองทุนติดลบ แถมยังมีทรัพย์สินในมือ เป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภท อาคาร ที่ดินและหลักทรัพย์มากมาย"
ศักดิ์เดช สุริยะพรชัยกุล รองกรรมการผู้จัดการ ลิเบอร์ตี้ประกันภัย ยอมรับว่า การแข่งขันยื้อแย่งเบี้ยประกัน ทำให้ในวงการประกันภัยมีการ "ดิสเครดิต" กันอยู่ตลอดเวลา ขณะที่คำสั่ง "สัมพันธ์ประกันภัย" หยุดขายชั่วคราว ก็ทำให้สงครามช่วงชิงลูกค้าลามไปถึงสื่อ "อิเลคทรอนิคส์" ซึ่งบางบริษัทใช้เป็นแหล่งปล่อยข้อมูลธุรกิจคู่แข่งในด้านลบ
" เราไม่มีปัญหาในตอนนี้ แต่เราก็อยู่เฉยไม่ได้"...
ลิเบอร์ตี้ฯถูกนำเข้าไปพ่วงกับ กรณีสัมพันธ์ฯ ส่วนหนึ่งก็เพราะทีมงานเกือบจะทั้งหมดของสัมพันธ์ฯแยกตัวมาจาก ลิเบอร์ตี้ประกันภัย ทำให้ยังมีหลายฝ่ายมองว่าทั้งสองเป็นเสมือนพี่น้องกัน หรือ ไม่ก็ใกล้ชิดเป็นบริษัทในเครือญาติ
" ตอนเขาแยกจากเราไป ก็เอาทั้งสตาฟ และคนของเราเกือบทุกส่วนงานไปด้วย หลายคนจึงมองเป็นบริษัทในเครือ ทั้งๆที่ไม่ใช่พวกเดียวกันเลย"
ศักดิ์เดช บอกว่า สัมพันธ์ประกันภัยคือ ยักษ์ใหญ่เบอร์ 2 ในธุรกิจประกันภัยรถยนต์ จึงมีพอร์ตลูกค้าร่วม 1 ล้านราย เมื่อเกิดความเสียหายจึงส่งผลกระทบมากกว่า ที่เคยเกิดกับรายอื่นๆ เพราะยิ่งพอร์ตใหญ่ ทั้งลูกค้าและอู่ก็เสียหายมากเป็นเท่าตัว
" สิ่งที่เกิดกับสัมพันธ์ฯจึงทำให้เกิดวิกฤตความเชื่อมั่นสูงสุดในกลุ่มผู้บริโภค และรุนแรงมาก จนลุกลามมาถึงบริษัทอื่นๆในอุตสาหกรรมประกันภัย"
ศักดิ์เดช บอกว่า ภายในช่วง 2-3 เดือน เบี้ยประกันภัยหล่นวูบจากการล้มลงของสัมพันธ์ฯ ในช่วงหลังๆจึงมีทั้งลูกค้าและตัวแทนหลั่งไหลเข้ามาที่บริษัทบ้าง
ลิเบอร์ตี้ฯ ให้ข้อมูลเงินกองทุนปัจจุบันนอกจากไม่ติดลบ ก็เพิ่งเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 600 ล้านบาท เป็น 750 ล้านบาท โดยเป็นเงินที่เรียกชำระครบหมดแล้ว และในปี 2550 ก็ไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนอีก
" ปัจจุบันเรามีทรัพย์สินทั้งตัวตึก อาคาร 2 แห่ง ที่สำนักงานใหญ่เป็นพื้นที่ 10 ไร่ มีตึกในซอยทองหล่อ ที่ไม่ได้เช่าเป็นออฟฟิศ"
ศักดิ์เดช บอกว่า การแข่งขันด้านราคาทำให้หลายบริษัทมองเห็นแล้วว่าไม่เกิดประโยชน์ทั้งกับลูกค้าและบริษัทที่กระโดดเข้ามาเล่นสงครามราคาแต่ที่ถูกควรหันมาแข่งขันให้บริการ เพื่อสร้างความมั่นใจกลับคืนมา
ในระยะหลัง ลิเบอร์ตี้ฯจึงหันมาบุกเบิกการบริหารจัดการอู่ในเครือและอู่รับรถ รวมทั้งการเปิดบริการ "ลิเบอร์ตี้เอ็กซเพรส ซ่อมด่วนรอรับได้เลย" ที่นำร่องในเขตกรุงเทพ ปริมณฑลเป็นเฟสแรก โดยรับซ่อมรถแผลเล็ก 1-8 แผล โดยใช้เวลาไม่เกิน 8 ชั่วโมง หรือเสร็จใน 1 วัน
ก่อนจะขยายเปิดบริการ "ลิเบอร์ตี้เอ็กซเพรส ซ่อมด่วนทั่วประเทศ" โดยร่วมกับอู่ในเครือ 100 แห่ง และอู่รับรถอีก 100 แห่ง
โครงการนี้ลูกค้าไม่ต้องเสียค่าประกันเพิ่ม พร้อมรับประกันหลังซ่อม โดยรับประกันซ่อมสี 3 ปีสำหรับอู่ในเครือ ซ่อมสีไม่ดีพร้อมคืนทุนประกัน และจ่ายชดเชยถ้าซ่อมช้าวันละ 400 บาทนอกจากนั้น ยังเปิดบริการเสริมซ่อมแก้ให้ลูกค้าที่ไม่พอใจฟรีทั่วประเทศ
" ลูกค้ามีปัญหาเราต้องดูแลเขาได้ รถชนแล้วซ่อมได้ ซ่อมแล้วเบิกได้
อู่ได้รับเงิน ทั้งหมดคือโจทย์ที่เราต้องหันมาถามตัวเองว่า ทำอย่างไรจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค เราจึงต้องเปิดโครงการนี้ขึ้นมา"
ศักดิ์เดช บอกว่า โดยปรกติซ่อมสี ถ้าลูกค้าซ่อมที่อู่หนึ่งแล้วไม่ดี ก็จะไปซ่อมแก้ที่เดิม แต่โครงการนี้จะให้ลูกค้าซ่อมแก้ที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพราะอู่จะต้องออกค่าใช้จ่ายให้ลูกค้าถ้าซ่อมไม่ดี และไม่ยุ่งยากเลย แต่ก็ไม่ใช่ว่าลูกค้าทุกคนอยากจะทำก็ทำได้ เพราะบริษัทจะต้องหาว่าคันไหนที่ทำได้และทำไม่ได้
"ลิเบอร์ตี้จะแยกช่างในอู่ออกเป็นช่างปรกติ และช่างเอ็กซเพรสพร้อมกับมีคณะกรรมการตรวจอู่ เพื่อให้ได้มาตรฐานเดียวกันคือ ทำงานเร็ว รถลูกค้าไม่ตกค้าง ส่วนการซ่อมสีจะดีหรือไม่คงขึ้นกับดินฟ้าอากาศ และบรรยากาศรายรอบวันนั้นด้วย"
ศักดิ์เดช บอกว่า ข้อดีของอู่ในเครือลิเบอร์ตี้คือ มีการบริหารจัดการเรื่องอุปกรณ์ อะไหล่ เพื่อควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย ดังนั้นการสั่งซื้ออะไหล่ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ก็จะได้ราคาต่ำ โดยเฉพาะเรื่องสีสามารถควบคุมต้นทุนได้เดือนละ 1 ล้านบาท และลดต้นทุนทุกส่วนได้กว่าครึ่ง
ขณะที่อู่นอก ส่วนใหญ่มักจะมีต้นทุนด้านค่าเช่าสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ และค่าจ้างช่าง เวลาอู่ซื้ออะไหล่ ก็มักจะได้ส่วนลดเป็นเปอร์เซ็นต์จากร้านค้า แต่เวลามาเบิกบริษัทจะใช้ราคาเต็ม ตรงนี้ถือเป็นจุดรั่วไหลสำคัญ ดังนั้นการควบคุมอู่ในเครือได้เอง ก็จะสามารถควบคุมมาตรฐานและต้นทุน ค่าใช้จ่ายได้ค่อนข้างมาก
" แผลที่อื่นซ่อมถึง 3,000 บาท แต่เราจ่ายแค่ 1,500 บาท ทำอย่างนี้ได้ เพราะเรามีอู่ตัวเอง จึงคุมเรื่องอะไหล่ และราคาซ่อมได้ ทำให้ประหยัดได้มาก"
ศักดิ์เดช แนะนำว่า ส่วนใหญ่บริษัทจะมีอู่ในเครือและอู่รับงานบริการซ่อมรถให้ลูกค้า ดังนั้นลูกค้าควักเงินจ่ายไปก่อนเลย แต่ในกรณีที่ลูกค้าเลือกอู่ที่ไม่ได้ทำข้อตกลงกันไว้ ลูกค้าก็อาจจะควักจ่ายไปก่อน
การจะทำประกันรถยนต์กับบริษัทไหน จึงต้องคิดให้ถ้วนถี่ ทั้งศึกษาและติดตามข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะข้อมูลจากอู่ ถ้าเลือกได้ถูก ก็ไม่เดือดร้อน แต่ถ้าตรงกันข้าม เงินที่จ่ายไปนอกจากจะสูญไปกับเบี้ย ก็อาจจะควักจ่ายค่าซ่อมเองแบบงุนงง และเรียกกลับคืนมาไม่ได้...
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|