"ประกันชีวิต"น้ำขึ้นรีบตักตวง เปิดพอร์ตมือใหม่ลงทุนอิงSET50


ผู้จัดการรายวัน(3 กันยายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

"ประกันชีวิต" เลือกช่วงนาทีทอง ดอกเบี้ยไถลรูด ทยอยเปิดตัวกรมธรรม์อิงดัชนีหุ้นSET50 เปิดพื้นที่ให้นักลงทุน "มือสมัครเล่น" กระเป๋าหนัก มีทางเลือกออมได้ผลตอบแทนสูงไร้ขีดจำกัด และเงินต้นยังอยู่ครบ ปะทะกองทุน แอลทีเอฟ อาร์เอ็มเอฟ ที่ค่อนข้างเสี่ยงสูงและแช่แข็งเงินไว้นานกว่าจะได้สิทธิ์ประโยชน์ภาษี ..."เมืองไทยประกันชีวิต" ออกสตาร์ทไล่ตามหลัง "เอเอซีพี" และ"เอไอเอ" พี่ใหญ่ ที่วิ่งออกตัวไปก่อนหน้านั้นหลายช่วงตัว เปิดตัว "เมืองไทย ไอ-ลิงค์ SET50" ขายผ่านตัวแทน โดยไม่พึ่งสาขาแบงก์...

กรมธรรม์สะสมทรัพย์ อิงดัชนี SET 50 ถือเป็นสินค้าประเภท "ประกันชีวิตพ่วงการลงทุน" ที่ธุรกิจประกันชีวิตหลายรายทยอยเปิดตัวไล่หลังกันติดๆ ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยร่วงรูดลงอย่างต่อเนื่อง น่าจะเป็นสัญญาณหนึ่งที่บอกได้ว่าชั่วโมงทองกำลังจะหมุนย้อนกลับมาอีกครั้ง สำหรับอุตสาหกรรมประกันชีวิต

ทั้งเอไอเอ หรือแม้แต่ อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันชีวิต (เอเอซีพี) ถือเป็นรายแรกๆ ที่หันมาเปิดพื้นที่ให้กับสินค้าประเภท "กรมธรรม์สะสมทรัพย์อิงดัชนี SET 50" อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ในช่วงที่ดอกผลจากบัญชีเงินฝากเรทติ้งเริ่มจะหล่นวูบพักใหญ่ ขณะที่ดัชนีSET50 กลับมีสถิติที่น่าสนใจ

"เมืองไทยประกันชีวิต" เป็นรายถัดมาที่เริ่มจะหันมาให้ความสำคัญกับสินค้าหน้าตาแปลกใหม่สำหรับลูกค้าผู้ซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิต แต่ยังไม่มีความรู้ด้านการลงทุนที่ซับซ้อนมากพอ

"เมืองไทย ไอ-ลิงค์ SET50" จึงหมายถึง กรมธรรม์สะสมทรัพย์มีเงินปันผล ที่ไม่ต่างจาก สินค้าของ เอไอเอหรือ เอเอซีพี คือ เลือกกลุ่มเป้าหมายกระเป๋าหนัก แต่เป็นมือใหม่หัดขับในแง่มุมของการลงทุน

สินค้าหน้าตาคล้ายคลึงกันทุกกระเบียดนิ้ว แต่ห้อยท้ายด้วยการลงทุนอิงดัชนี SET50 ของทั้ง 3 ราย จึงกลายเป็นการปฎิวัติรูปแบบของสินค้า หรือกรมธรรม์ที่แปลกไปกว่าธรรมชาติของธุรกิจประกันชีวิต ที่ส่วนใหญ่โฟกัสไปที่การคุ้มครองชีวิตเป็นหลัก

ถ้า "เอไอเอ" มี Secure SET50 ที่เปิดขายไปเมื่อปีก่อนถึง 2 ครั้ง 2 ครา "เอเอซีพี" ก็มี เอเอซีพี มายเซต อิงดัชนี SET50 และตามติดมาด้วย "อลิอันซ์ มาร์เก็ต วินเนอร์ 10/2 อิงกับดัชนีดาวโจนส์ยูโรสต็อค 50 ขณะที่ "เมืองไทยประกันชีวิต" จะใช้ชื่อ เมืองไทย ไอ-ลิงค์ SET50

ทั้ง 3 ค่ายเปิดศึกขายกรมธรรม์ที่เรียกเป็นทางการว่า "อินเวสเมนต์ ลิงค์" หรือ กรมธรรม์ประกันชีวิตพ่วงการลงทุน สินค้าที่เหมาะเจาะลงตัวในช่วงดอกเบี้ยดิ่งเหว

ขณะเดียวกัน ก็เป็นทางเลือกให้เจ้าของเงิน ที่เข้าไม่ถึงตลาดพันธบัตร ซึ่งต้องใช้เงินก้อนใหญ่ ซื้อผ่านธนาคาร หรือ ลงทุนผ่านสตรัคเจอร์โน๊ต ที่ไม่เปิดโอกาสให้บุคคลธรรมดาลงทุนได้เลย ยกเว้นนักลงทุนสถาบันเท่านั้น

สินค้าของ เอไอเอ เลือกเงินลงทุนขั้นต่ำที่ 1.5 แสนบาท จ่ายเบี้ยงวดเดียว อายุสัญญา 5ปี ส่วน มายเซต ของ เอเอซีพี จ่ายเบี้ย 2 แบบคือ ชำระเบี้ย 2 ปี คุ้มครอง 7 ปี และจ่ายเบี้ย 2 ปี คุ้มครอง 10 ปี ลงทุนขั้นต่ำ 1 แสนบาท ขณะที่ เมืองไทย ไอ-ลิงค์ SET50 เริ่มต้นลงทุนขั้นต่ำที่ 75,000 บาท อายุสัญญา 5 ปี

การเปิดขายสินค้าลักษณะนี้จึงต้องใช้เวลาโปรโมท และปิดการขายในช่วงเวลาสั้นเพื่อให้ได้เบี้ยไหลเข้ามาตามเป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 100-150 ล้านบาท

จากนั้นบริษัทก็จะนำเงินที่ได้ในรูปของเบี้ยไปลงทุนผ่าน "สตรัคเจอร์โน๊ต" ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุนหลายแห่งเปิดขายให้กับนักลงทุนสถาบัน ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

ตลาดของกรมธรรม์ประเภทนี้จึงหนักไปทางลูกค้ากระเป๋าหนัก แต่ยังไม่มีความรู้ด้านการลงทุนดีนัก ต่างจากการออกสินค้าประเภท กรมธรรม์พ่วงการลงทุนรูปแบบหนึ่ง หรือ"ยูนิเวอร์แซลไลฟ์" ที่เสนอขายผ่านสาขาแบงก์ แต่ก็มีความเสี่ยงแตกต่างกัน

"ยูนิเวอร์แซลไลฟ์" หรือ ยูแอล คือความหวังแรกของธุรกิจประกันชีวิต หลังทางการแช่แข็ง "ยูนิต ลิงค์" สินค้าประเภทกรมธรรม์ควบการลงทุน ที่มีความเสี่ยงสูงพอๆกับผลตอบแทนที่จะได้รับ เพราะลงทุนในหุ้นโดยตรง โดยที่ลูกค้าไม่สามารถรับรู้ได้ว่าลงทุนในหุ้นตัวใดบ้าง บวกกับไม่มีการการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำให้ลูกค้า ถ้าผลประกอบการขาดทุน

ขณะที่ยูแอล มีการรับประกันขั้นต่ำตามเปอร์เซ็นต์ที่บริษัทนั้นๆกำหนดโดยลงทุนในหุ้นโดยตรงเช่นกัน ความเสี่ยงที่ราคาหุ้นจะขึ้นหรือลงจึงใกล้เคียงกัน

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุด "ยูแอล" ก็ไปได้ไม่ไกล เพราะการขายผ่านสาขาแบงก์ ยูแอลต้องปะทะกับสินค้าที่แบงก์มีอยู่หลายตัว และน่าสนใจไม่แพ้กันในที่สุด ประกันชีวิตก็หันมาหาทางเลือกใหม่ เป็น "อินเวสเมนต์ ลิงค์" แทน

ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ กฎเกณฑ์การลงทุนในหุ้นของธุรกิจประกันชีวิตค่อนข้างเข้มงวด และมีเพดานการลงทุนชัดเจน ขณะที่ "อินเวสเมนต์ ลิงค์" กรมธรรม์อิงดัชนี SET50 จะต่างออกไป นั่นคือ ไม่ได้ลงทุนผ่านหุ้นโดยตรง

การลงทุนผ่านสตรัคเจอร์โน๊ต อิงดัชนี SET 50 ที่ไม่ได้ลงทุนในหุ้นโดยตรง แต่ก็เสมือนหนึ่งได้ลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า พันธบัตรรัฐบาล แต่ความเสี่ยงจะลดลงค่อนข้างมาก

นอกจากนั้น สินค้าใหม่ก็จะขยายวงไม่ให้ประกันชีวิตถูกจำกัดอยู่ในกรอบแคบๆ ในขณะที่สินค้าทางการเงินล้ำหน้าและซับซ้อนขึ้นทุกวัน

สาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ เมืองไทยประกันชีวิต คาดว่าเบี้ยขั้นต่ำสำหรับการเปิดขายระหว่างวันที่ 1-22 กันยายนนี้ จะอยู่ที่100 ล้านบาท หลังจากนั้น ถ้าตลาดตอบรับก็อาจจะต่อยอดไปอิงกับตลาดเกิดใหม่หรือไปลิงค์กับสิ่งน่าสนใจใหม่ๆ

ปราโมทย์ ศักดิ์กำจร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ เมืองไทยประกันชีวิต บอกว่า สินค้าใหม่จะเริ่มให้การศึกษากับนักลงทุน เจ้าของเงินที่ยังไม่มีความรู้ด้านการลงทุนมากนัก หรือ เป็นตลาดระดับกลางถึงสูง โดยมีตัวแทนขายเป็นผู้แนะนำและอธิบายอย่างใกล้ชิด

" เป็นการฉีกแคแรคเตอร์ใหม่หมด ทั้งในแง่ ตัวสินค้า ตัวลูกค้า และอุตสาหกรรมประกันชีวิต"

เจ้าของเงินจะต้องลงทุนขั้นต่ำ 7.5 หมื่นบาท ผ่านกรมธรรม์ที่อิงดัชนี SET50 ที่บริหารโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน ยูโอบี มีโอกาสจะได้ผลตอบแทบแบบไร้เพดาน ซึ่งขึ้นกับผลประกอบการ แต่ถ้าดัชนีติดลบ เงินต้นก็ยังอยู่ครบ

"เมื่อครบอายุสัญญา 5 ปี เจ้าของเงินที่ซื้อกรมธรรม์ จะได้รับผลประโยชน์ขั้นต่ำเท่ากับเบี้ยประกันที่ชำระ100% บวกกับเงินปันผลอิงดัชนี SET50 ถ้าเสียชีวิตในระยะเวลาเอาประกันภัยจะได้รับการคุ้มครองชีวิตในวงเงิน101% ของเบี้ยประกัน"

ว่ากันว่า ประกันชีวิตส่วนใหญ่เลือกการลงทุนรูปแบบนี้เพราะมองว่า ผลตอบแทนเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 7-8%หรืออาจจะมากกว่า ขณะที่พันธบัตรอายุ 5 ปี มีผลตอบแทนประมาณ 4% แต่ก็ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ ซื้อผ่านธนาคารที่ทำหน้าที่โบรกเกอร์

นอกจากนั้น เมื่อเทียบกับ การลงทุนผ่านกองทุนรวม ก็ใกล้เคียงกับกองทุนประเภทคุ้มครองเงินต้น แต่อาจจะเสียเปรียบ กองทุนประเภท กองทุนหุ้นระยะยาว(แอลทีเอฟ) และกองทุนรวมเพื่อเกษียณอายุ (อาร์เอ็มเอฟ)ที่ได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีสูงสุด 3 แสนบาท หรือแม้แต่ ยูแอล ที่ได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษี 50,000 บาท เมื่อจ่ายเบี้ยกรมธรรม์อายุ 10 ปีขึ้นไป

แต่ทั้งกองทุนแอลทีเอฟ และอาร์เอ็มเอฟ ก็มีข้อด้อยนั่นคือ รายแรกลูกค้าต้องรับความเสี่ยงเองทั้ง 100% ส่วนรายหลัง ต้องใช้เวลาลงทุนนานจึงจะได้รับสิทธิ์ประโยชน์จากภาษี

" วันนี้เราอาจจะเปลี่ยนคาแรคเตอร์ใหม่หมด ทั้งลูกค้า สินค้าและตัวแทนที่จะทำหน้าที่แนะนำสินค้าให้กับลูกค้า และเป็นการเรียนรู้ที่จะแตะการลงทุนเล็กๆ เพื่อนำร่องสร้างการรับรู้ให้มากขึ้น"

ปราโมทย์ บอกว่า ปัจจัยพื้นฐานที่ดีของสังคมและเศรษฐกิจไทย คือเหตุผลหลักที่เลือกจะเปิดตัวสินค้าเพื่อให้ความรู้กับลูกค้าไปด้วยในตัว ขณะที่ดัชนีฮั่งเสง หรือแม้แต่ดัชนีดาวโจนส์ยังมองเป็นเรื่องไกลตัว สำหรับลูกค้าที่ยังไม่เข้าใจเรื่องการลงทุนที่ซับซ้อนอย่างลึกซึ้ง

" คาแรคเตอร์ลูกค้าแบงก์ ก็จะมีความรู้เรื่องการเงินดี ก็เป็นอีกโลกหนึ่ง ส่วนการขายผ่านตัวแทนจะอยู่บนความสัมพันธ์และความเชื่อใจ ไว้วางใจกันระหว่างลูกค้าและตัวแทน"

กรมธรรม์สะสมทรัพย์ อิงดัชนี SET50 จึงเป็นทั้งเรื่องใหม่ ในมุมการเรียนรู้เรื่องการลงทุน นอกเหนือจากการโฟกัสไปที่การคุ้มครองชีวิต ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องเก่าสำหรับลูกค้า ที่มักจะไว้วางใจตัวแทน จนเงินหายจากกระเป๋าไปแบบไร้ร่องรอย

ปราโมทย์แนะนำว่า การเซ็นเช็คทุกครั้ง สำหรับการจ่ายเบี้ยก้อนโต ลูกค้าควรที่จะเรียกรับใบเสร็จรับเงินชั่วคราวจากตัวแทน เพื่อเป็นเกราะคุ้มกันตัวเองด้วย ในขณะที่บริษัทก็ต้องเรคคอร์ดทุกครั้ง ที่ตัวแทนเบิกใบเสร็จรับเงินชั่วคราวเพื่อไปเรียกเก็บเงินจากลูกค้า

เพราะทุกครั้งที่มีผลประโยชน์หรือเบี้ยก้อนโตเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็มักจะนำมาซึ่งปัญหาการฉ้อโกง หรือ มิจฉาชีพ ในร่างของ "ตัวแทน" ไม่รู้จักหยุดหย่อน....


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.