"ผู้จัดการกองทุนของบริษัทจัดการกองทุนเปรียบเสมือนยอดซามูไรที่ชี้ชะตาความสำเร็จหรือล้มเหลวในธุรกิจนี้
โดยมีเครื่องวัดมูลค่าสินทรัพย์สุทธิเป็นตัวตัดสิน"
สภาพเดิมของการลงทุนในหน่วยลงทุน (UNIT TRUST) ตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมาเรียกได้ว่าเป็น
"ภาวะของเด็กแคระแกร็น" ที่เกิดมาแล้วไม่ยอมโตด้วยความเชื่อที่ว่าผลตอบแทนของการถือหน่วยลงทุนไม่สามารถตอบสนองต่อนักลงทุนได้มากเท่ากับการลงทุนด้วยตนเอง
สภาพคล่องในตลาดน้อยมาก ส่งผลให้ภาวะราคาของหน่วยลงทุน DISCOUNT TO NAV มาโดยตลอด
ทั้งที่จริง ๆ แล้วบางหน่วยลงทุนให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าหุ้นบางตัวในตลาดถึง
20-30%
การเกิดใหม่ของบริษัทจัดการกองทุนรวม (บลจ.) ทั้ง 7 บริษัท ภายหลังการอนุมัติใบอนุญาตอย่างเป็นทางการจากกระทรวงการคลัง
เมื่อวันที่ 19 มีนาคมปีนี้จึงถือเป็นปรากฏการณ์ที่นักลงทุนควรจับตามองอย่างยิ่งว่าโฉมหน้าของการลงทุนในหน่วยลงทุนจะเปลี่ยนไปหรือไม่
บลจ. ทั้ง 7 บริษัทจะสามารถลบล้างความเชื่อเก่า ๆ และกระตุ้นพฤติกรรมการลงทุนที่ทิ้งร้างมานานได้มากน้อยเพียงใด!
บลจ. ที่เกิดขึ้นใหม่ 7 แห่ง ซึ่งช่วยสลายการผูกขาดโดยบริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวมเพียงแห่งเดียวนั้น
ได้แก่ บลจ. วรรณอินเวสเมนท์ ออมสิน บัวหลวง กสิกรไทย บริหารทุนไทย ไทยพาณิชย์
และไทยเอเซีย
แต่ละกองทุนเมื่อได้รับอนุญาตให้สามารถจัดการกองทุนได้ ก็ต้องรีบเตรียมการเพื่อก่อรูปร่าง
บลจ. ของตนขึ้นภายในระยะเวลาที่จำกัด ให้ได้ข้อเสนออันจะเป็นทางเลือกแก่นักลงทุนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย
โดยที่ทางเลือกเหล่านั้นในแต่ละ บลจ. อาจจะดูเหมือน หรือ ผิดแผกกันไป จุดนี้จึงถือได้ว่าเป็นโอกาสที่เปิดกว้างอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่สนใจ
ในแง่ของบุคคล หรือ กลุ่มบุคคลทั่วไป การจะพิจารณาเพื่อตัดสินใจว่าเป็นการสมควรหรือไม่ที่จะเข้าไปใช้โอกาสลงทุนในกองทุนซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอีกประมาณ
1-2 เดือนข้างหน้านี้
คำตอบสำหรับประเด็นนี้ สามารถหาได้โดยอาศัยการศึกษาองค์ประกอบที่สำคัญ
ๆ ของแต่ละกองทุนแล้วนำมาประมวลเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก่อนการตัดสินใจเลือกได้
นั่นคือ การพิจารณาถึงโครงสร้างผู้ถือหุ้น ลักษณะกองทุนที่ออกนโยบายการลงทุน
ผู้จัดการกองทุน (FUND MANAGER) กลยุทธ์ทางการตลาด และผลตอบแทนที่จะได้รับจากการถือหน่วยลงทุนนั้น
ๆ
สำหรับคุณสมบัติของผู้ถือหุ้นใน บลจ. ตามประกาศกฎกระทรวงของกระทรวงการคลังนั้นได้ระบุว่าจะต้องประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์
บริษัทจากต่างประเทศซึ่งเชี่ยวชาญการจัดการกองทุนและสถาบันการเงินต่าง ๆ
ซึ่งการรวมตัวของกลุ่มผู้ถือหุ้นเหล่านี้โดยพื้นฐานแล้วต้องสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้
(ดูตารางรายชื่อผู้ถือหุ้นของ 7 บลง.)
ธนาคารพาณิชย์ (สัดส่วนการถือหุ้นไม่เกิน 25%) นับได้ว่าเป็นแม่แรงสำคัญยิ่งที่จะช่วยสร้างตลาดกลุ่มนักลงทุนระยะยาวจากตลาดเงินสู่ตลาดทุน
โดยระดมเงินออกจากประชาชนเข้าสู่การลงทุนในหน่วยลงทุนด้วยแขนขา คือสาขาที่กระจายอยู่อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ
ความสำคัญของสาขาในการระดมทุนนี้เป็นข้อจำกัดที่สำคัญของการบริหารกองทุนสมัยก่อนของ
บล. กองทุนรวมที่ทำให้ฐานลูกค้าที่เข้ามาลงทุนในหน่วยลงทุนไม่สามารถขยายฐานสู่ผู้มีเงินออมที่แท้จริงได้
สำหรับบริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์ (สัดส่วนการถือหุ้นรวมกันไม่เกิน
50%) ส่วนใหญ่จะอยู่ในฐานะของผู้จัดการกองทุนหรือตัวแทนจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนเนื่องจากความเชี่ยวชาญในตลาดหุ้นมาโดยตลอด
ส่วนบริษัทต่างประเทศซึ่งเชี่ยวชาญการจัดการลงทุน (สัดส่วนการถือหุ้นรวมกันไม่เกิน
25%) จะช่วยบริหารโดยอาศัยประสบการณ์ทางด้านจัดการกองทุนซึ่งมีด้วยกันหลายวิธีคือการเข้าร่วมเป็น
INVESTMENT COMMITTEE หรือการจัดสรรคนเป็น FUND MANAGER หรือถ่ายทอด KNOW
HOW โดยการฝึกอบรม
จุดสำคัญที่มีผลอย่างยิ่งต่อการพิจารณาเลือกลงทุน คือทิศทางในการลงทุนของแต่ละกองทุนว่าจะเดินไปอย่างไร
เพราะจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้สามารถคาดเดาถึงผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
"ปีแรกต้องคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานอย่างเดียว จะทำอะไรเสี่ยงเกินไปไม่ได้เพราะ
ระยะแรกภาพพจน์เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ต่อเมื่อทดสอบตลาดได้แล้วจึงค่อยเน้นหนักในหุ้นบางกลุ่ม"
ม.ล. ผกาแก้ว บุญเลี้ยง กรรมการผู้จัดการ บลจ. ออมสินให้ทัศนะเกี่ยวกับทิศทางการลงทุนซึ่งมีความแตกต่างกับกองทุนของ
บลจ. วรรณอินเวสท์เมนท์ โดยกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า
"เราถือว่าเราเป็นบริษัทใหม่เพิ่งเข้ามาทำธุรกิจในนี้ ดังนั้นลักษณะของสินค้าที่จะเสนอให้กับนักลงทุนควรจะมีความแตกต่างอย่างชัดเจนจากหน่วยลงทุนที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน"
อย่างไรก็ตามจากการสังเกตนโยบายการลงทุนทั้ง 7 บริษัท (ดูตารางนโยบายลงทุน)
ระยะแรกจะเป็นการลงทุนที่ยึดการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทเป็นหลัก
โดยมักเป็นการลงทุนในหุ้นที่มีอัตราการขยายตัวสูง
ระยะเวลาการลงทุนก็อยู่ระหว่าง 5-10 ปี โดยที่ระยะเวลา 5 ปี เป็นข้อกำหนดขั้นต่ำที่ทางการระบุไว้
สำหรับมูลค่าของกองทุนส่วนใหญ่ในระยะเริ่มต้นนี้อยู่ในช่วงประมาณ 1,500
ล้านบาท ยกเว้นของ บลจ. กสิกรไทยที่มีมูลค่ากองทุนสูงถึง 3,000 ล้านบาท
"จากการสำรวจทำ MARGET SURVEY 3 ครั้งต่อกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มคือ
นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ บุคคลทั่วไปและลูกค้าธนาคาร ผลปรากฏว่านักลงทุนในตลาดหุ้นปัจจุบันไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควรแต่ใน
2 กลุ่มหลังให้ความสนใจมากจนเรามั่นใจที่จะออกกองทุนแรกที่มีมูลค่าถึง 3
พันล้านบาท" ดัยนา บุนนาค กรรมการผู้จัดการ บลจ. กสิกรไทยกล่าวถึงเหตุผลการออกกองทุนมูลค่าสูง
การลงทุนของหน่วยกองทุนต่าง ๆ จะขึ้นกับดุลพินิจของ FUND MANAGER หรือผู้จัดการกองทุน
เพราะผู้อยู่ในตำแหน่งนี้จะมีผลต่อการตัดสินใจเลือกลงทุนเนื่องจากจะเป็นผู้ที่รู้รอบ
ผู้จัดการกองทุนจะทำงานประสานงานกับคณะกรรมการดูแลการลงทุน (INVESTMENT
COMMITTEE) ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยการตัดสินใจ โดยที่ FUND MANAGER
จะเป็นผู้มีบทบาทมากที่สุดต่อการนำเสนอแนวทางที่ประเมินแล้วว่าจะก่อให้เกิดผลตอบแทนอย่างสูงสุดต่อผู้ถือหน่วยลงทุน
กิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บลจ. วรรณอินเวสเมนท์ กล่าวสนับสนุนว่า
"FUND MANAGER แต่ละคนจะมีจุดแข็งของตน ซึ่งต้องโยงกันเพื่อให้การตัดสินใจออกมาในแนวทางเดียวกัน
แต่ใช่ว่าจะเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจเด็ดขาดเพียงผู้เดียว ต้องอาศัยข้อคิดเห็นจาก
INVESTMENT COMMITTEE เป็นสำคัญด้วย"
กลยุทธ์การบริหารกองทุนเป็นเรื่องที่มีความลับสุดยอด กิตติรัตน์ ณ ระนอง
ได้เปิดเผยให้ทราบในบางส่วนว่าหลักในการบริหารกองทุนของวรรณอินเวสท์เมนท์นั้น
FUND MANAGER ทั้ง 3 คนในขณะนี้จะร่วมกันดูแลกองทุนด้วยการผสมผสานความสามารถที่มีอยู่เฉพาะด้านเข้าด้วยกัน
กล่าวคือคนหนึ่งมีความชำนาญทางด้านเศรษฐกิจ ภาพรวมอีกคนหนึ่งมีความชำนาญในการลงทุนในหุ้นและอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นตัวแทนจากผู้ถือหุ้นต่างประเทศมีความชำนาญด้านตลาดต่างประเทศ
การลงทุนในหน่วยลงทุน การประหยัดจากขนาดหรือ ECONOMY OF SCALE เป็นหัวใจสำคัญที่จะสะท้อนออกมาในรูปผลตอบแทนที่ดีสำหรับนักลงทุนรายย่อย
เนื่องจากวงเงินกองทุนสูงย่อมต่อรองค่าใช้จ่ายในการลงทุนให้ลดน้อยได้ และช่วยกระจายความเสี่ยงเพราะสามารถลงทุนได้หลายหลักทรัพย์ในเวลาเดียวกัน
ผลตอบแทนจากการถือหน่วยลงทุนจะสะท้อนออกมาในรูปเงินปันผล และกำไรจากการซื้อขายหน่วยลงทุนโดยที่กำไรตรงนี้จะมีที่มาจากกำไรจากการเข้าไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
(CAPITAL GAIN) และกำไรที่ได้รับเมื่อถึงกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนคืนหน่วยลงทุน
จุดตัดสินใจที่สำคัญจะอยู่ที่ผลของการบริหารกองทุนแต่ละกองทุนหากบริษัทใดบริหารแล้วได้มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ
(NAV) โดยเฉลี่ยออกมาสูงกว่ารายอื่น ๆ ก็จะทราบได้เด่นชัดถึงฝีมือการบริหาร
ประมาณเดือนมิถุนายนนี้จะมี บลจ. หลายแห่งเริ่มลงทุนในตลาดหุ้นและต้องแสดงมูลค่า
NAV ของกองทุนในหน้าหนังสือพิมพ์
เวลานั้นคือ ผลการตัดสินใจสำหรับนักลงทุนที่จะดูว่าใครบริหารกองทุนได้เหนือกว่า