พิษ“ซับไพรม์”ลามเกินสิ้นปี ปธ.เฟดส่ออุ้มดันหุ้นนอกคึก


ผู้จัดการรายวัน(31 สิงหาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

“ศุภวุฒิ” ฟันธงพิษ “ซับไพรม์” ลุกลามกินเวลานานเกินสิ้นปีนี้ แนะจับตาผลการดำเนินงานสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ที่จะเริ่มทยอยประกาศกลางเดือน ก.ย. น่าเป็นห่วง ขณะที่นักลงทุนต่างชาติรอความชัดเจนนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ ด้านตลาดหุ้นต่างประเทศวานนี้ดีดขึ้นจากการตีความจดหมายประธานเฟด ที่ส่งสัญญาณอุ้มซับไพรม์ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยเฟดฟันด์เรต

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ PHATRA กล่าวว่า ปัญหาความกังวลเกี่ยวกับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) จะยังไม่ยุติในเร็วๆ นี้ แม้ว่าหน่วยงานต่างๆ จะเข้ามาแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง เพราะปัญหาค่อนข้างฝังรากลึกเข้าสู่ระบบของสถาบันการเงินค่อนข้างมากแล้ว

“ผมมั่นใจว่าปัญหาซับไพรม์จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไปอีกนาน ซึ่งคาดว่าจะกินระยะยาวนานเกินปีนี้อย่างแน่นอน”

ทั้งนี้ ในช่วงกลายเดือนกันยายนนี้นักลงทุนจะต้องติดตามการประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 3/50 ของบริษัทในกลุ่มสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ซึ่งบางแห่งจะมีการประกาศออกมาก่อนสิ้นไตรมาส โดยผลการดำเนินการดังกล่าวจะสะท้อนถึงผลกระทบที่เกิดจากปัญหาซับไพรม์ได้ในระดับหนึ่ง โดยส่วนตัวเชื่อว่าตัวเลขที่จะประกาศออกมาจะต้องมีเรื่องที่น่าเป็นห่วงแน่นอน

“ปัญหาเรื่องบ้านในสหรัฐฯ ยอดการสร้างบ้านมีสูงกว่า 5 ล้านหลัง แต่มีกำลังซื้อจริงแค่ 2 ล้านกว่าหลัง ทำให้ปัญหาบ้านที่เหลืออีกประมาณ 3 ล้านหลัง กลายเป็นปัญหาเพราะหากจะต้องมีการปรับลดราคาผู้ประกอบก็ต้องขาดทุนอยู่ดี ดังนั้นปัญหานี้จึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการแก้ไข”นายศุภวุฒิ กล่าว

นอกจากนี้ สิ่งที่นักลงทุนต่างประเทศให้น้ำหนักค่อนข้างมากในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย นอกเหนือจากราคาหุ้นที่อยู่ในระดับต่ำแล้ว นโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นในช่วงปลายปีถือเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายจับตา หากนโยบายของรัฐบาลใหม่เป็นเรื่องที่นักลงทุนมีมุมมองในเชิงบวกจะส่งผลดีต่อตลาดทุนแน่นอน

“นักลงทุนต่างชาติมีทางเลือกในการลงทุนเยอะ ไม่เป็นจำเป็นที่ต้องมาลงทุนในประเทศ แม้ว่าราคาหุ้นถูก การสร้างความน่าสนใจเพื่อดึงดูดให้เข้ามาลงทุนเป็นสิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการ นโยบายของรัฐบาลใหม่ถือว่ามีน้ำหนักมากต่อการตัดสินใจเพราะตอนนี้การเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว”นายศุภวุฒิ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตลาดหุ้นทั่วโลกปัญหามาจากด้านตลาดตราสารหนี้ ทำให้นักลงทุนต้องมีการปรับลดความเสี่ยงจากการลงทุน ซึ่งเมื่อไหร่ที่มีความชัดเจนมากขึ้นจนสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนได้การกลับเข้ามาซื้อของนักลงทุนต่างชาติจะเกิดขึ้นตาม แต่ตอนนี้ยังประเมินได้ยากว่าการกลับเข้ามาซื้อจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และปริมาณการเข้ามาลงทุนจะสูงเท่าใด

จม.ประธานเฟดทำหุ้นดีดขึ้น

ทางด้านตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ พากันดีดกลับขึ้นมาอย่างระมัดระวัง โดยปัจจัยสำคัญมาจากจดหมายของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เบน เบอร์นันกี ซึ่งถูกนักลงทุนและนักวิเคราะห์ตีความว่า เป็นการส่งสัญญาณที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลง

ในจดหมายของเบอร์นันกี ซึ่งเป็นการตอบจดหมาย 2 ฉบับของ ชัค ชูเมอร์ วุฒิสมาชิกคนสำคัญของพรรคเดโมแครต เขาระบุว่าเฟดได้ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ในการเฝ้าติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด โดยที่เฟด “เตรียมพร้อมที่จะกระทำการเมื่อมีความจำเป็น เพื่อบรรเทาผลด้านกลับต่อเศรษฐกิจ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากความยุ่งเหยิงในตลาดการเงิน”

จดหมายประธานเฟดซึ่งลงวันที่วันจันทร์(27) แต่ถูกนำออกเผยแพร่วันพุธ(29) ถูกนักลงทุนและนักวิเคราะห์จำนวนมากตีความว่า หมายถึงเฟดพร้อมที่จะลดอัตราดอกเบี้ยเฟดฟันด์เรต ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน(เอฟโอเอ็มซี) ครั้งต่อไป วันที่ 18 กันยายนนี้

“เมื่อใดก็ตามที่คุณได้ยินอะไรออกมาจากเฟดที่บอกว่า เขากำลังเฝ้าติดตามสถานการณ์ มันก็ทำให้เกิดความแน่ใจขึ้นอีก ต่อความคิดที่ว่า พวกเขากำลังโน้มเอียงไปในทางลดดอกเบี้ย”เป็นความเห็นของ เบนเนตต์ เกเกอร์ กรรมการผู้จัดการแห่งสติเฟล นิโคลัส ในเมืองบัลติมอร์

เช่นเดียวกับ นิก พาร์สันส์ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ตลาดแห่งค่าย แน็บแคปิตอล ที่กล่าวว่า การที่ทรัพย์สินต่างๆ มีความเสี่ยงสูงในเวลานี้ คือตัวที่จะทำให้เฟดต้องเข้ามาทำให้มีความมั่นคงขึ้น ดังนั้น “เฟดจะลดดอกเบี้ยลง 25 จุด (0.25%) ในวันที่ 18 กันยายน เพราะความคาดหมายของตลาดที่ว่าจะมีการลด ดูจะเป็นตัวทำให้ราคาทรัพย์สินต่างๆ มีเสถียรภาพขึ้นมา”

กระนั้นก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนก็กังขาว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยจริงหรือ เพราะแม้การทำเช่นนั้นจะช่วยขจัดความเครียดซึ่งมีอยู่ในระบบ ทว่าก็จะทำให้นักลงทุนได้ใจคาดคิดว่าอย่างไรเสียเฟดก็ต้องเข้ามาช่วยในที่สุด ในอนาคตย่อมกระหายที่จะเสี่ยงเพิ่มขึ้นกว่าเดิมอีก

เกร็ก อิป คอลัมนิสต์นักเฝ้าติดตามเฟดของหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล ถึงกับเขียนโดยไม่อ้างอิงแหล่งข่าวใดๆ ว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ยหรอก เพราะต้องการให้นักลงทุนเลิกทัศนะที่ว่า ธนาคารกลางมีหน้าที่ช่วยเหลือไม่ให้พวกเขาเจ๊ง

อย่างไรก็ตาม อารมณ์คาดหมายเรื่องเฟดจะลดดอกเบี้ย บวกกับแรงไล่ซื้อของถูก ก็ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกพากันดีดขึ้น แม้ไม่สู้สูงนัก

ที่วอลล์สตรีทวันพุธ (29) ดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์ +247.44 จุด หรือ 1.90 เปอร์เซ็นต์, ดัชนีเอสแอนด์พี 500 +31.40 จุด หรือ 2.19% และดัชนีคอมโพสิตของตลาดแนสแดค +62.52 จุด หรือ 2.50 เปอร์เซ็นต์

ข้ามมาทางเอเชียวานนี้ โตเกียว + 0.88 เปอร์เซ็นต์, ฮ่องกง + 2.0 เปอร์เซ็นต์, กัวลาลัมเปอร์ + 0.80 เปอร์เซ็นต์, โซล + 0.9 เปอร์เซ็นต์, ซิดนีย์ + 0.6 เปอร์เซ็นต์ มีสิงคโปร์ที่สวนกระแส - 0.41 เปอร์เซ็นต์

ทว่า เมื่อวอลล์สตรีทเริ่มเปิดซื้อขายวานนี้ ปรากฏว่าความห่วงกังวลเรื่องสินเชื่อตึงตัวและวิกฤตซับไพรม์ดูจะฟื้นขึ้นมาอีก ดัชนีดาวโจนส์จึง - 94.21 จุด (0.71 เปอร์เซ็นต์), ดัชนีเอสแอนด์พี - 11.81 จุด (0.81 เปอร์เซ็นต์) และดัชนีของแนสแดค -17.44 จุด (0.68 เปอร์เซ็นต์)


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.