"MBA ฉบับย่นย่อ สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ"


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

การประกอบอาชีพอิสระอาจจะยังไม่ใช่จุดมุ่งหมายของคนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ โดยเฉพาะถ้าเทียบกับงานราชการหรืองานในภาคธุรกิจเอกชนที่มีสายวิชาชีพอันหลากหลายอย่างมากในปัจจุบัน

ผลการศึกษาเรื่องภาวะการหางานทำของบัณฑิตที่จัดทำโดยทบวงมหาวิทยาลัยบอกเล่าความจริงเอาไว้ในทำนองนั้น โดยตัวเลขจากการศึกษาก่อนปี 2530 แสดงให้เห็นว่า งานราชการยังคงมีสัดส่วนผู้เข้าทำงานสูงเป็นอันดับหนึ่งเช่นที่เคยเป็นมาแต่อดีต และรองลงมาก็คือทำกับบริษัทเอกชน

สำหรับในส่วนของการประกอบอาชีพอิสระ ผลของการศึกษาชิ้นเดียวกันได้ระบุว่าสัดส่วนยังเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับส่วนอื่น เพราะจำนวนของบัณฑิตที่ประกอบอาชีพอิสระนั้นมีเพียงไม่ถึง 10% อย่างไรก็ตามถ้าพิจารณาในเชิงของอัตราเพิ่มในแต่ละปีก็ปรากฏว่ามีบัณฑิตหันมาประกอบกิจการอิสระของตนเองเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

ข้อมูลเหล่านี้สามารถบ่งบอกถึงแนวโน้มบางอย่างได้ แต่ย่อมไม่ใช่ตัวชี้วัดเด็ดขาดถึงความนิยมจริง ๆ ของผู้จบการศึกษาว่ามีใจให้อาชีพในภาพส่วนใดมากที่สุด เนื่องจากความต้องการกับความเป็นจริงนั้นไม่ได้ตรงกันเสมอไป

การจะประกอบกิจการอิสระเป็นของตนเองนับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนเพียงนึกจะทำก็ทำได้ หากเป็นเรื่องที่ต้องการความพร้อมทั้งในด้านทุนและความสามารถทางการบริหารจัดการ ขาดด้านใดด้านหนึ่งก็ย่อมยากที่จะดำเนินการให้สำเร็จได้

ในทัศนะของ ผศ. อำนวย แสงโนรี อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังนั้นเห็นว่า ในปัจจุบันมีผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาจำนวนมากต้องการมีวิถีอิสระในทางการงาน มีกิจการเป็นของตนเอง โดยที่หนุ่มสาวจำนวนหนึ่งนั้นก็มีความพร้อมทางด้านปัจจัยพื้นฐานสำหรับการลงทุนอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะยังขาดความพร้อมในเชิงของความรู้ทางการบริหารจัดการธุรกิจ

กอบกับการตระหนักว่าในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาย่อมสามารถเสริมสร้างความงาม พร้อมในด้านของความรู้ได้เป็นอย่างดี ผศ. อำนวยจึงได้ริเริ่มทำโครงการส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ บัณฑิตสตรี (GRADUATE WOMAN SELF-EMPLOYMENT PROMOTION : GW-SEP) ขึ้นในนามของหน่วยงานที่สังกัดโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นผู้นำสตรี (WOMEN'S ECONOMIC LEADERSHIP DEVELOPMENT : WELD) ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลแคนาดาในนามองค์การซีด้า (CIDA - CANADIAN INTERNATIONAL DEVELOPMENT AGENCY) มีเป้าหมายการทำงานอยู่ที่การส่งเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลทั้งในด้านเศรษฐกิจและสถานภาพทางสังคมอยู่แล้ว เฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรบุคคลที่เป็นเพศหญิง

ส่วนงานถนัดของ ผศ. อำนวยนั้นคืองานด้านการฝึกอบรมไม่จำกัดเนื้อหาว่าด้วยเรื่องใดเป็นการเฉพาะ

"ผมได้ไปอบรมที่อังกฤษเรื่องการฝึกอบรม พบเห็นวิธีการที่แตกต่างจากที่เมืองไทยทำกันอยู่ก็อยากจะทำโครงการสักโครงการหนึ่งตามแบบที่ไปศึกษามา พอดีผมเรียนปริญญาเอกที่นิด้า สาขาประชากรและการพัฒนา เห็นช่วงนี้มีการเน้นเรื่องสตรีเยอะ จึงคิดว่าน่าสนใจที่จะทำโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาสตรี" ผู้ช่วยศาสตราจารย์หนุ่มว่าที่ Ph.D. ด้านประชากรและการพัฒนาอธิบายถึงที่มาของการหันมามุ่งกลุ่มเป้าหมายที่เป็นสตรี

จากข้อมูลดังกล่าวประกอบกับได้เห็นข้อมูลเกี่ยวกับการว่างงานของบัณฑิต ซึ่งมีความแตกต่างระหว่างบัณฑิตหญิงกับบัณฑิตชายอย่างน่าสนใจ ผศ. อำนวยจึงเห็นถึงช่องทางที่จะกำหนดเรื่องในการฝึกอบรม และเลือกกำหนดระดับกลุ่มเป้าหมายของเขาเอาไว้ที่สตรีที่มีการศึกษาระดับสูง

ปัญหาการว่างงานนั้นเป็นเรื่องที่มีอยู่จริง ตัวเลขของบัณฑิตว่างงานยังมีอัตราที่สูงมาก โดยบัณฑิตสตรีเป็นผู้ที่ต้องประสบกับปัญหานี้มากกว่าและอย่างต่อเนื่องกว่า!

ในช่วงหลายปีมานี้ แม้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตค่อนข้างมาก มีการขยายตัวของภาคธุรกิจเอกชนที่สามารถรองรับแรงงานระดับปัญญาชนได้เป็นจำนวนไม่น้อย แต่ความต้องการของตลาดแรงงานระดับนี้ก็ยังคงน้อยกว่าการตอบสนองของคนที่ก้าวออกจากรั้วมหาวิทยาลัย

"ทางทบวงมห่วิทยาลัยเคยเสนอไว้ว่าให้แก้ปัญหาการว่างงานด้วยการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้จบปริญญาตรีให้มีทัศนคติที่ดีต่อการประกอบอาชีพอิสระ เพราะเมืองไทยเราต่อไปเศรษฐกิจพัฒนาขึ้น การไปทำอาชีพอิสระก็เท่ากับเป็นการไปสร้างให้เกิดสินค้าและการบริการมากขึ้น ไปสร้างให้เกิดกระแสหมุนเวียนได้ดีขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจวัดกันตรงนี้ ในการที่มีการหมุนเวียนของสินค้าและบริการไม่ใช่เรื่องของการรับราชการไปเป็นลูกจ้างไป ซึ่งไม่มีผลผลิตในประเทศที่พัฒนาแล้วธุรกิจรายย่อยเขาต้องหลากหลาย" ผศ. อำนวย แสงโนรี ผู้ริเริ่มและรับผิดชอบโครงการเล่าถึงแนวความคิด

ความหมายของคำว่าอาชีพอิสระ ณ ที่นี้ก็คือ การทำธุรกิจนั่นเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่โครงการจะมอบให้กับผู้เข้าร่วม ก็เป็นเรื่องของความรู้ทางธุรกิจ เกี่ยวกับการจัดการ การบริหารงาน โดยจะไม่มีการเน้นวิชาการ จนเกินพอดี วิทยากรที่ใช้ก็มิใช่นักวิชาการหรืออาจารย์ของสถาบัน แต่เป็นบุคลากรจากภาคเอกชนที่ทำงานด้านการจัดการและบริหารธุรกิจอยู่จริง ๆ

สำหรับรูปแบบโครงการก็มีความชัดเจนเช่นกัน นั่นคือเป็นการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการที่ดัดแปลงจาก OVERSEAS TECHNICAL TRAINER'S AWARD (OTTA) ของสหราชอาณาจักร

ลักษณะการฝึกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) การฝึกด้านการจัดการอาชีพอิสระด้วยรูปแบบของการอภิปรายการดูงาน และปฏิบัติการ 2) การฝึกประสบการณ์จริง โดยผู้เข้าอบรมทดลองดำเนินการธุรกิจที่ตนสนใจร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจนั้นอยู่แล้ว และ 3) การเสริมสร้างความเป็นผู้นำสตรี

"แทนที่จะต้องไปเรียนถึง 2-3 ปีให้ได้ MBA ซึ่งปัจจุบันนี้มีเยอะมากที่คนจบสาขาอื่นอยากทำธุรกิจ แต่ไม่รู้เรื่อง จะยืมเงินอย่างไร ค้าขายอย่างไร หาตลาดอย่างไร บางคนต้องลงทุนไปเรียนมินิ MBA เพื่อจะได้ความรู้เหล่านี้มาทำ แต่ผมว่าออกจะช้าและไม่ตรงในแง่ที่เป็นวิชาการมากเกินไป" ผศ. อำนวย แสงโนรีกล่าว

นอกจากนี้ ผศ. อำนวยก็เชื่อด้วยว่า "สตรีที่จบปริญญาตรีมีศักยภาพสูงอยู่แล้ว เขาอาจคิดที่จะทำธุรกิจอยู่ และสามารถทำได้ดี แต่บางทีไม่มีแบบอย่าง ไม่มีจุดเริ่มต้น โครงการนี้ก็อาจจะช่วยก่อร่างบางอย่างได้"

หลังระหว่างวันที่ 11 พฤษภาคม - 5 มิถุนายนนี้ ซึ่งเป็นการอบรมครั้งแรก ผู้เข้าอบรมหญิงล้วน ๆ เกือบ 20 คนคงจะเป็นผู้ตอบได้ว่า ความเชื่อดังกล่าวของ ผศ. อำนวยเป็นจริงได้เพียงใด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.