"ยิบ&แย๊คส์ จากธุรกิจครอบครัวสู่ตลาดหุ้น"


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังจากถูกตลาดหลักทรัพย์ปฏิเสธที่จะรับเข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนด้วยเหตุผลที่ว่าบริษัทยิบอินซอยและแย๊คส์ (ยิบ&แย๊คส์) เป็นกิจการพาณิชย์ประเภทนำเข้าและส่งออกเท่านั้น มีลักษณะคล้ายตัวแทนการค้าซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ทุนในการขยายกิจการมากนัก

การปรับขบวนของยิบ&แย๊คส์จึงเกิดขึ้น บริษัทมีความพยายามเปลี่ยนจากสถานภาพผู้นำเข้าส่งออกและจัดจำหน่ายอย่างเดียวมาเป็นผู้ผลิตด้วย นับเป็นจุดหักเหที่สำคัญในประวัติศาสตร์ยาวนานของบริษัทเองเพราะย้อนหลังไปกว่าหกทศวรรษ ยิบ&แย๊คส์เป็นเพียงฝ่ายตลาดของบริษัทยิบอินซอยจำกัดเท่านั้น

ปี 2510 บริษัทยิบอินซอย จำกัด ได้ร่วมทุนกับบริษัทวิลเลี่ยมแย๊คส์ (มาเลเซีย) ด้วยอัตราส่วน 50/50 จัดตั้งบริษัทยิบอินซอยและแย๊คส์ขึ้นเพื่อเป็นบริษัทจัดจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์ก่อสร้างป้องกันภัย กันไฟ เคมีภัณฑ์ วิศวกรรมไฟฟ้า บริการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องเป็นต้น โดยโอนฝ่ายการตลาดทั้งหมดของบริษัทยิบอินซอยเข้าทำงานในยิบ&แย๊คส์

เดือนกรกฎาคม 2515 บริษัทยิบอินซอยจำกัด เข้าควบคุมการบริหารงานทั้งหมดของยิบ&แย๊คส์ ทำให้ยิบ&แย๊คส์เป็นบริษัทในเครือยิบอินซอยสมบูรณ์แบบ ธวัช ยิบอินซอย ประธานกรรมการบริษัทยิบอินซอยและแย๊คส์เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่าบริษัทได้ปรับแผนมาเป็นผู้ผลิตโดยการตั้งโรงงานผสมปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชขึ้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู สมุทรปราการเนื้อที่ 7.5 ไร่ เงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 100 ล้านบาท

ประสิทธิ์ศักดิ์ พันธุ์เพ็ง กรรมการและผู้จัดการแผนกเคมีเกษตร กล่าวเสริมว่าโครงการดังกล่าวจะแบ่งเป็นสองระยะ ต้นปี 2535 จะจัดตั้งโรงงานผสมยาปราบศัตรูพืชก่อน ส่วนปลายปีจะทำโรงงานผสมปุ๋ย คาดว่าจะแล้วเสร็จต้นปี 2536 แผนการผลิตยาปราบศัตรูพืชแบ่งเป็น 3 ขั้นตอนคือจะเริ่มจากการผลิตยาชนิดน้ำก่อนประมาณ 1 ปี ขั้นที่สองทำการผลิตชนิดเม็ดหลังจากนั้นใช้เวลาอีก 2 ปี จึงจะผลิตชนิดผง

ยาปราบศัตรูพืชมีมูลค่าตลาดประมาณ 7 พันล้านบาท บริษัทมีส่วนแบ่งประมาณ 2% ประมาณ 147 ล้านบาทคาดว่าส่วนแบ่งตลาดจะเพิ่มเป็น 4% เมื่อโรงงานดำเนินการผลิตเต็มกำลัง

"ตลาดนี้มีผู้เข้าแชร์ส่วนแบ่งถึง 50 รายด้วยกัน รายใหญ่จะมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 8% และเป็นต่างชาติเพราะเทคโนโลยีดีกว่าเรา อาทิ อีสต์เอเชียติ๊ก ซีทรีไกกี้ของสวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น"

โรงงานยาปราบศัตรูพืชมีพื้นที่ 4.5 ไร่กำลังมีการผลิต 10 ล้านลิตรต่อปี แต่ในปีแรกจะทำการผลิต 2 ล้านลิตรในปีที่ 2 ซึ่งก็ยังไม่สามารถรองรับตลาดส่วนใหญ่ได้เพราะความต้องการของตลาดมีถึง 26 ล้านลิตรต่อปี เฉลี่ยมีการใช้ยาปราบศัตรูพืชไร่ละ 30 บาท อัตราการเติบโตปีละ 15% แต่อัตราการเติบโตนี้ยังถือว่าน้อยมากถ้าเทียบกับต่างประเทศ เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน

เดิมบริษัทนำเข้ายาปราบศัตรูพืชสำเร็จรูป 100% ของยอดจำหน่าย มูลค่าต้นทุนนำเข้าประมาณ 20 ล้านบาท ต่อไปจะพยายามลดการนำเข้าแบบสำเร็จรูปลงเหลือ 20% ส่วนที่ยังคงการนำเข้าอยู่คือหัวเชื้อน้ำยาเคมีและยาปราบศัตรูพืชสำเร็จรูปสูตรผสมใหม่ ๆ เนื่องจากบริษัทยังไม่สามารถคิดสูตรผสมทางเคมีเองได้ ซึ่งสูตรผสมใหม่ ๆ ต้องใช้ระยะเวลาช่วงหนึ่งให้ผลิตภัณฑ์ติดตลาดก่อน บริษัทจึงจะขอซื้อสิทธิ์ในการผสมเอง ปีแรกที่โรงงานเปิดดำเนินการคาดว่าคงจะสามารถทำยอดขายได้ 120 ล้านบาทต่อปี มาจากการขายในช่วงฤดูฝนถึง 70-80 ล้านบาท เพราะในช่วงฤดูฝนจะขายดี แต่ในช่วงฤดูร้อนนั้นยอขายจะต่ำลง

ส่วนโรงงานปุ๋ยจะใช้พื้นที่ประมาณ 3 ไร่ เพื่อต้องการขยายส่วนแบ่งตลาดให้เพิ่มขึ้นถึงปีละ 20% จากที่ขายได้อยู่แล้วประมาณ 4-5 หมื่นตันต่อปี ทั้งนี้ยอดจำหน่ายในท้องตลาดปี 2534 ทั้งสิ้นประมาณ 2.03 ล้านตัน นิยม พงศ์ทรง ผู้จัดการแผนกปุ๋ย เผยว่า ปุ๋ยของบริษัทผสมสูตรไม่เหมือนบริษัทอื่น เพราะจะใช้สูตรเฉพาะกับพืชแต่ละพันธุ์ ในขณะที่บริษัทปุ๋ยแห่งอื่น ๆ จะใช้สูตรรวมคือมีไนโตรเจน ฟอสเฟต โปรแตสเซียม อย่างละ 15% โดยนำเข้าจากยุโรป อเมริกา เกาหลี ซึ่งไม่ตรงตามความต้องการของพืชเมืองไทยนัก อาทิยาสูบ ไม่ต้องการไนโตรเจนมากถึง 15% สูตรที่ขายยาสูบควรเป็นเพียง 6, 18, 24 หรือ 4, 16, 24

บริษัทนำเข้าปุ๋ยสำเร็จรูปประมาณ 60% และนำเข้าวัตถุดิบประมาณ 40% ต่อไปการนำเข้าสำเร็จรูปจะน้อยลง อาจจะเพิ่มในส่วนของวัตถุดิบเท่านั้นเพื่อลดต้นทุนการผลิต

ประสิทธิศักดิ์ ยังกล่าวต่ออีกว่าการที่ผสมปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลงเองนั้น ทำให้ต้นทุนลดลงถึง 18-20% จากการนำเข้าสำเร็จรูป ผลดีที่ตามมาคือทำให้บริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนด้านอื่นมากขึ้นโดยเฉพาะด้านการตลาดที่ได้วางเป้าหมายจะขยายไปในกลุ่มประเทศอินโดจีน เพราะรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ยกเลิกมาตรการควบคุมปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชแล้วหลังจากที่รัฐบาลไทยเคยประกาศควบคุมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสินค้ายุทธปัจจัยห้ามส่งออก ให้แก่ประเทศอินโดจีน เมื่อสมัยสงครามค่ายโลกคอมมิวนิสต์กับค่ายโลกเสรีระเบิด การยกเลิกดังกล่าว คาดว่าจะทำให้ตลาดปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืชโตประมาณ 30% ต่อปี

บริษัทได้เข้าทำการศึกษาและหาลู่ทางจำหน่ายสินค้าในเวียดนาม เขมร ลาวเมื่อไม่นานมานี้พบว่าประเทศเหล่านี้ต้องการปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชในอัตราสูง แต่ปัญหาก็คือไม่มีกำลังเงินซื้อ ประเทศเหล่านี้แสดงความจำนงต้องการปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช โดยใช้ระบบแลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งทำให้บริษัทต้องกลับมาทบทวนอีกที คืออาจจะรอเวลาระยะหนึ่ง ที่จะผลิตสินค้าราคาถูกเพื่อป้อนประเทศอินโดจีนโดยเฉพาะ

แผนการขยายตัวของบริษัทไม่จำกัดอยู่เฉพาะแถบอินโดจีนเท่านั้น บริษัทยังสนใจที่จะส่งออกไปยังแอฟริกาด้วย แต่ขณะนี้ยังติดปัญหาอยู่ 2 ประการคือประการแรกคือเรื่องเรือบรรทุกสินค้าไม่ยอมรับสินค้าประเภทยาเคมีเช่นยาปราบศัตรูพืชเป็นต้น เนื่องจากยาดังกล่าวถือเป็นวัตถุอันตรายมีพิษชนิดหนึ่ง ประการที่ 2 คือเรื่องกำลังการผลิตซึ่งไม่น่าหนักใจนักเพราะกำลังจะแก้ไขได้ในเร็ววัน

นอกจากนี้บริษัทจะขยายสินค้าตัวใหม่เพิ่มขึ้นคือหินลับมีด หินเจียระไน เครื่องเขียน คาร์บอนเปเปอร์ หมึกพิมพ์ อีกด้วย เดิมหินเจียรไนนี้บริษัทนำเข้าสำเร็จรูปจากอังกฤษ บราซิล อเมริกา จะต้องเสียภาษีนำเข้า 45% ต่อไปจะลงทุนผลิตเองโดยใช้เงินเบื้องต้นประมาณอีก 50 ล้านบาทในปี 2536 รวมทั้งขยายที่ดินเพิ่มเป็น 10 ไร่

สุวิทย์ เจียรประเสริฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทยิบอินซอยและแย๊คส์ กล่าวเสริมว่าการปรับตัวของบริษัทครั้งนี้จะถือว่าเป็นความพยายามเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ว่าได้ แต่จุดประสงค์ในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็คือเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของบริษัท

ธวัช บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่ามีเงินทุนมากจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น แม้ว่าบริษัทสามารถขอใช้สินเชื่อจากธนาคารได้ก็ตาม แต่การใช้สินเชื่อเท่ากับการเพิ่มหนี้ให้กับบริษัท ซึ่งมีผลกำไรน้อยลงและปันผลต่อหุ้นก็จะน้อยลงตามด้วย ปี 2534 บริษัทมีสินทรัพย์ 212 ล้านบาท ทุนจดทะเบียน 60 ล้านบาท กำไร 448 ล้านบาท และจำนวนพนักงาน 168 คน มีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน 0.7 ต่อ 1 การขยายกิจการครั้งนี้ทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุนเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่าตัว ในขณะที่กำไรของบริษัทจะมีเพียง 5-8% ของมูลค่าสินค้าที่ขายได้ และในจำนวนนี้ปุ๋ยจะกำไรน้อยที่สุด

บริษัทต้องการใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 300-400 ล้านบาทซึ่งก็ได้พยายามเพิ่มทุนไปแล้ว 1 ครั้งจำนวน 20 ล้านหุ้น พาร์ 10 บาทขายให้ผู้ถือหุ้นเดิม 20 บาทต่อหุ้น การเสนอเข้าตลาดครั้งนี้จะเพิ่มทุนและกระจายหุ้นให้ประชาชนประมาณ 1 ล้านหุ้น เสนอขายหุ้นละ 50 บาท อย่างไรก็ตามถ้าสถานการณ์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ดีราคาเสนอขายอาจจะลดลงเหลือหุ้นละ 40-43 บาท คาดว่าบริษัทจะสามารถยื่นเข้าตลาด อีกรอบภายในเดือนกรกฎาคมปีนี้

จากการที่บริษัทต้องการเงินในการลงทุนมาก ฉะนั้นจึงต้องทำทุกอย่างเพื่อเข้าตลาด นอกจากปรับเปลี่ยนลักษณะการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังจะมีการปรับเปลี่ยนรอบบัญชีจากสิ้นสุดรอบบัญชีเดือนมิถุนายนของทุกปีที่เป็นประเพณีปฏิบัติของบริษัทแม่มาเป็นสิ้นเดือนธันวาคมของทุกปีเช่นเดียวกับบริษัทอื่น ๆ เพื่อความสะดวกในการดูงบดุลและงบกำไรขาดทุนของนักลงทุน หลังจากเข้าตลาดฯ และขายหุ้นให้ประชาชนได้แล้วอาจจะต้องเพิ่มทุนอีกครั้ง โดยบริษัทเลือกบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตรเป็นที่ปรึกษาและเป็นแกนนำในการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายเนื่องจากบริษัทเป็นผู้ถือหุ้นของศรีมิตร

อย่างไรก็ตามการเข้าตลาดฯ ของบริษัทยังคงต้องรอกฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับการรับหลักทรัพย์ที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จะกำหนดขึ้นใหม่ เพื่อพิจารณาว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ รวมทั้งรอกฎหมายมหาชนประกาศหลักปฏิบัติอย่างแน่ชัดอีกทีเพราะไม่ต้องการพบกับปัญหายุ่งยากภายหลัง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.